ณ เวลาปัจจุบันในเดือนมิถุนายน เรายังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนสำหรับทั้งปี 2020 แต่แนวโน้มอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในฮ่องกงยังคงสดใส เนื่องจากฮ่องกงมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสตาร์ทอัพในการทดลองตลาดและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตไปจนถึงกลุ่มมีความมั่นคงแล้ว และมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยฮ่องกงมีทั้งโอกาสทั้งด้านการระดมทุน การเข้าถึงตลาด เครือข่าย และทรัพยากรบุคคล
การเปิดใช้งานสะพานฮ่องกง – จูไห่ – มาเก๊า และรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า (Greater Bay Area) มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่งผลให้สตาร์ทอัพในฮ่องกงสามารถเข้าถึงประชากรกว่า 70 ล้านคน และตลาดที่มีมูลค่าจีดีพีรวมถึง 11.9 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยมีระยะห่างเพียงแค่ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ จุดที่ตั้งของฮ่องกงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์นวัตกรรมในเสิ่นเจิ้น และศูนย์กลางการผลิตในจงซานและจูไห่ ยังทำให้ฮ่องกงสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในด้านศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโลยี ระบบกฎหมาย รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยี (I&T) รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มทางธุรกิจสำหรับธุรกิจที่มองหาโอกาสในการเจาะตลาดในเอเชียและตลาดโลกอีกด้วย
ในส่วนของธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ เมืองอัจฉริยะ และเทคโนโลยีด้านการเงิน ถูกจัดให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งในปี 2017 โดยสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2022 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งการเติบโตของนวัตกรรมในฮ่องกง
สตาร์ทอัพกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทายในปี 2020 ไม่ต่างกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในฮ่องกงยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2019 สตาร์ทอัพในฮ่องกงมีจำนวน 3,184 แห่ง เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 12,000 ตำแหน่ง หรือขยายตัว 31%
ท่ามกลางภาวะโรคระบาด การระดมทุนสตาร์ทอัพยังคงดำเนินต่อไปตามสถานการณ์ปกติ เช่น Airwallex สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านเทคโนโลยีจากออสเตรเลียระดมทุนไปได้ 160 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนเมษายน 2020 ในขณะที่ธุรกิจฟินเทค WeLab ซึ่งเป็นหนึ่งใน Virtual Bank แห่งแรกๆ ในฮ่องกง ได้ระดมทุนไป 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนธันวาคม 2019 นอกจากนี้ เรายังได้เห็นสตาร์ทอัพอีกมากมายที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงและขยายธุรกิจ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาดปัจจุบันอีกด้วย
รัฐบาลฮ่องกงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ตั้งแต่การงดเว้นค่าเช่า การสนับสนุนเงินทุนสำหรับเทคโนโลยีในการ Work From Home ภายใต้ Distance Business Program เงินทุนสนับสนุนเพื่อการวางระบบ 5G และขยายมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ เป็นต้น
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 เป็นต้นมา รัฐบาลฮ่องกงได้ขยายมาตรการสนับสนุนภายใต้โครงการ Technology Voucher Program เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฮ่องกงมีการใช้บริการด้านเทคโนโลยีและโซลูชันต่างๆ ในเพิ่มผลผลิต (Productivity) หรือยกระดับและ Transform กระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลได้เพิ่มสัดส่วนเงินสนับสนุน จากเดิมคือ 2 ใน 3 เป็น 3 ใน 4รวมทั้งปรับเพดานเงินสนับสนุนจาก 400,000 เป็น 600,000 ดอลลาร์ฮ่องกง และจำนวนโครงการที่สนับสนุนจาก 4 เป็นทั้งหมด 6 โครงการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินโครงการ Innovation and Technology Venture Fund (ITVF) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้าน venture capital ในกลุ่มสตาร์ทอัพท้องถิ่นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี (I&T) โดยรัฐบาลจะร่วมสนับสนุนเงินทุนในสัดส่วนประมาณ 1 ต่อ 2 ของมูลค่าการลงทุน
ตามแผนงบประมาณปี 2020-21 รัฐบาลจะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจขนาดกลางถึงและขนาดย่อม วงเงินรวม 20,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ภายใต้โครงการ SME Financing Guarantee Scheme โดยให้วงเงินอนุมัติสูงสุด 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และพิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างและค่าเช่าเป็นระยะเวลา 6 เดือน ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี และข้อเสนอในการพักชำระเงินต้นในช่วง 6 เดือนแรก (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) รวมถึงยังมีโครงการสนับสนุนด้านเงินทุนอื่นๆ สำหรับเอสเอ็มอีโดยกรมการค้าและอุตสาหกรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ สำนักคณะกรรมการนวัตกรรมและเทคโนโลยี (ITC) ยังได้เปิดตัวโครงการ Distance Business Program หรือ D-Biz เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการต่อไปได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงการนี้จะทำการสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถนำไอทีโซลูชันต่างๆ มาใช้งานได้เร็วขึ้นในระหว่างที่ไม่สามารถทำงานจากออฟฟิศได้ โดยในทุกๆ การใช้จ่ายด้านไอทีโซลูชันและการอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง สำนักคณะกรรมการฯ จะสนับสนุนเงินทุนไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (เงินสนับสนุนด้านการอบรมที่เกี่ยวข้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีโซลูชัน) และแต่ละบริษัทสามารถรับเงินสนับสนุนรวมได้ไม่เกิน 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยโครงการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
(ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.startmeup.hk/startup-resources/government-funding-scheme-and-support/)
การทำงานแบบ Work from Home เป็นเทรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สตาร์ทอัพที่สามารถปรับตัวและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์นี้ได้จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มด้าน Virtual Conference ผู้ให้บริการด้าน VR Tour ธุรกิจด้าน Telehealth และด้านอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตโดดเด่นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
การระดมทุนสตาร์ทอัพยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในฮ่องกงชี้ให้เห็นว่ายังมีโอกาสมากมาย ดังนั้น สตาร์ทอัพจึงควรมองหาโอกาสในการเติบโตในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจในวงกว้างขึ้น
งาน StartmeupHK Festival 2020 ที่กำลังจะจัดขึ้นถือเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพต่างๆ ได้นำเสนอโซลูชันทางเทคโนโลยีของตน แลกเปลี่ยนความคิด และพูดคุยกับคนในธุรกิจ โดยเราได้ใช้เทคโนโลยีด้าน virtual event มาช่วยในการนำกิจกรรมเกือบทั้งหมดมาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ และสถานที่เสมือนจริงที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้การร่วมงานอีเวนต์แบบเดิม
StartmeupHK Festival 2020 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 2563 โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว ตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับผู้นำในแวดวงสตาร์ทอัพและธุรกิจอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึง Startup Village และ Service Marketplace นอกจากนี้ยังมี Jobs Fair และ Business Matching เพื่อเหล่าสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ งานนี้เปิดให้เข้าชมฟรีได้จากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งมีกิจกรรมพิเศษที่ต้องซื้อบัตรเข้างานเพิ่มเติม โดยผู้ร่วมงานจะได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดทั้งในด้านสมาร์ทซิตี้ เทคโนโลยีค้าปลีก ไลฟ์สไตล์ดิจิทัล เทรนด์สตาร์ทอัพระดับโลก และมุมมองจากสตาร์ทอัพที่กำลังน่าจับตา นักลงทุน และบริษัทชั้นนำของโลก
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งและการเชื่อมต่อกับประเทศจีน ยังทำให้ฮ่องกงมีจุดแข็งในด้านประชากรชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลยที่ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและดำเนินธุรกิจในส่วนอื่นๆ ของโลก ด้วยคุณสมบัติความเป็นเมืองนานาชาติที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้เอง ฮ่องกงจึงถือเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนด้านความคิดและผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเติบโตของสตาร์ทอัพ
มีสตาร์ทอัพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยที่เติบโตได้ดีในฮ่องกง และ StartmeupHK ก็มีประสบการณ์ในการสนับสนุนให้กิจการเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ รวมถึงนำเสนอทรัพยากรด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโต ยกตัวอย่างเช่น GetLinks แพลตฟอร์มด้านการจัดหางานด้านเทคโนโลยีซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย ได้ขยายกิจการไปที่ฮ่องกงในปี 2562 ด้วยเป้าหมายในเป็นตัวกลางระหว่างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและบริษัทต่างๆ ทั่วเอเชีย GetLinks จึงมีศักยภาพที่จะเติบโตในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพของภูมิภาค
สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจจะเข้ามาตั้งสำนักงานในฮ่องกง หรือใช้ฮ่องกงเป็นฐานในการขยายธุรกิจในประเทศจีน และตลาดต่างประเทศอื่นๆ สามารถติดต่อกับ StartmeupHK ได้ โดยเราเป็นองค์กรภายใต้ InvestHK ซึ่งมีจุดเป้าหมายเพื่อสนับสนุนผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพจากต่างประเทศในการทำธุรกิจในฮ่องกง บริการของเราครอบคลุมตั้งแต่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอีโคซิสเต็มในฮ่องกง การสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่ง การจัดงานที่เกี่ยวข้อง และช่วยผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้
นอกจากอีโคซิสเต็มด้านสตาร์ทอัพแข็งแกร่งแล้ว สตาร์ทอัพไทยยังสามารถได้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายรูปแบบ ประเทศไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่เป็นลำดับ 9 ของฮ่องกง และเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ฮ่องกงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุด อีกทั้งยังมีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยธุรกิจไทยในกลุ่มนี้มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศภายใต้โครงการ Belt and Road ของจีน และเล็งเห็นโอกาสในการเริ่มหรือเพิ่มการลงทุนในฮ่องกง ดังนั้น รัฐบาลฮ่องกงจึงให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศกลุ่มอาเซียน และได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของฮ่องกงในประเทศไทย (Hong Kong Economic and Trade Office หรือ ETO) ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยสำนักงานที่กรุงเทพฯ นี้ดูแลงานต่างๆ ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ และบังคลาเทศ นอกจากนี้ ยังมีสำนักงาน ETO ในสิงคโปร์และจาการ์ตา ซึ่งรับผิดชอบโครงการในประเทศอาเซียนอื่นๆ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมความร่วมมือในหลายด้าน เช่น การค้าและการลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บริการด้านการเงิน การส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี และการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล
ในความร่วมมือด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพและกิจการด้านเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะร่วมสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรต่างๆ สนับสนุนให้สตาร์ทอัพและกิจการด้านเทคโนโลยีของแต่ละประเทศเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น และหาความร่วมมือในการทำวิจัยและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีในด้านการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจอีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด