จริงจังแต่ไม่จริงใจ Rainbow washing การตลาดสุดฮิตแห่งเดือน Pride month | Techsauce

จริงจังแต่ไม่จริงใจ Rainbow washing การตลาดสุดฮิตแห่งเดือน Pride month

ทุกปีเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ล้วนเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นสีรุ้ง และเปิดตัวสินค้าผลิตภัณฑ์ในธีมสีรุ้งมากมาย เพื่อเจาะตลาดกลุ่ม LGBTQ+ 

ด้วยความคิดที่ว่าธงสีรุ้งคือสัญลักษณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงคิดว่าการนำเอาสีรุ้งเข้ามารวมอยู่ในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์คือการแสดงออกถึงการสนับสนุนคนกลุ่มนี้

ในขณะที่ปัจจุบันผู้คนต่างมีความคิดและทัศนคติที่ก้าวหน้ามากขึ้น แคมเปญที่จะเกิดขึ้นจึงไม่ง่ายอีกต่อไป หลายบริษัทโดนต่อต้านและถูกมองว่าฉาบฉวย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักความหมายที่แท้จริงของธงสีรุ้งและปัญหาของการตลาดที่เรียกว่า Rainbow washing

ธงสีรุ้งคืออะไร

ธงสีรุ้ง คือสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1978 โดยศิลปินที่ชื่อ Gilbert Baker ได้ออกแบบธงด้วย 8 แถบสี เพื่อใช้ในวันเสรีภาพของชาวเกย์ที่ซานฟรานซิสโก

จากนั้นมีการใช้ธงสีรุ้งอย่างแพร่หลายทั่วอเมริกา และในปี 1990 ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับผู้คนที่พยายามเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคม

ในส่วนของสีสว่างนั้นใช้แทนสัญลักษณ์ของความแตกต่าง หมายถึงทุกคนต้องไม่ถูกกีดกันออกจากสังคมไม่ว่าพวกเขาจะรักใครหรือรู้สึกอย่างไรกับตนเอง และเพื่อแสดงการสนับสนุนต่อชุมชน

แถบเฉดสีแดงสื่อถึงชีวิต สีส้มคือการเยียวยา สีเหลืองหมายถึงแสงแดด สีเขียวหมายถึงธรรมชาติ สีน้ำเงินหมายถึงศิลปะ และสีม่วงหมายถึงจิตวิญญาณของมนุษย์

และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธงก็มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเพื่อให้แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนในกลุ่มมากขึ้น ปัจจุบันเหลือเพียง 6 สี ได้แก่ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน และม่วง

Rainbow Washing เป็นปัญหาอย่างไร

Rainbow Washing คือ แนวทางปฏิบัติของการใช้สัญลักษณ์ธีมสีรุ้งในการสร้างแบรนด์ การโฆษณา สินค้า หรือสื่อสังคมออนไลน์ ให้ดูเหมือนเป็นการสนับสนุนชาว LGBTQ+ ในช่วงเดือน Pride month แต่ไม่ได้มาจากการสนับสนุนตัวตนหรือสิทธิของคนกลุ่มนี้อย่างแท้จริง และเป็นการกระทำที่ตื้นเขิน 

ทำให้คำว่า Rainbow Washing หรือ Pinkwashing ถูกใช้เพื่อเรียกองค์กรหรือบริษัทที่ใช้ Pride อย่างไม่เหมาะสม ใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและใช้สร้างภาพลักษณ์ว่าสนับสนุน LGBTQ+ 

คล้ายกับคำว่า Greenwashing ที่บริษัทต่าง ๆ อ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในขณะที่ยังคงดำเนินการหรือสนับสนุนแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าในปัจจุบันสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และเปิดกว้างกับความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่ในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมนั้นยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง มีคนในกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนไม่น้อยที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเพศวิถีของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ที่ทำงาน หรือในสังคมทั่วไป 

หากบริษัทเลือกที่จะสร้างแคมเปญเกี่ยวกับ Pride แต่ในอดีตมีการกระทำที่เพิกเฉยหรือต่อต้านความเท่าเทียมของกลุ่มคน LGBTQ+ หยิบยกเอาอัตลักษณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้มาใช้ในการหารายได้ให้องค์กร ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สร้างหรือส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก หรือให้ความสำคัญต่อเพศวิถีของพวกเขาเลย ผู้บริโภคจึงมองว่าเป็นการกระทำที่ตื้นเขินและฉวยโอกาส

เช่น มีรายงานว่า 25 แบรนด์ที่มีแคมเปญ Pride ได้ร่วมกันบริจาคเงินมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ให้กับนักการเมืองที่ผลักดันกฎหมายต่อต้านเกย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การตลาดสีรุ้งไม่เพียงแต่มีสีสันที่สดใสสวยงามเท่านั้น ยังเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของชาว LGBTQ+ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีโอกาสเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งในแง่บวกและลบ หากนำมาใช้ในการหาผลประโยชน์ 

เมื่อผ่านพ้นเดือนมิถุนายนไป และเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม องค์กร บริษัทนำเอาธงหรือผลิตภัณฑ์สีรุ้งออกไป หากแต่ความเข้าอกเข้าใจ หรือความเท่าเทียมสำหรับชาว LGBTQ+ ยังมีเท่าเดิม ตัวตนของพวกเขายังคงไม่ถูกยอมรับ 

ทำอย่างไรถึงจะไม่เรียกว่าเป็นการ Rainbow washing 

เมื่อบริษัทเปลี่ยนโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียเป็นเวอร์ชันสีรุ้ง หรือแสดงการสนับสนุน LGBTQ+ ในเดือนมิถุนายน ผู้บริโภคบางส่วนจะทราบว่าโฆษณาของบริษัทเหล่านั้นสนับสนุนคอมมูนิตี้มาตลอดหรือไม่ 

ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงาน LGBTQ+ ให้พวกเขาอยู่ในตำแหน่งหัวหน้า และสนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและการสนับสนุนทางกฎหมาย หากไม่เป็นเช่นนั้น การสนับสนุนของบริษัทในเดือนมิถุนายนนั้นก็จะเป็นเพียงการหาผลประโยชน์ให้อบค์กรเท่านั้น

อย่างน้อยที่สุดบริษัทต้องมีนโยบายองค์กรเพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายบริหารสนับสนุน มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเกื้อกูลสำหรับพนักงาน LGBTQ+ นี่คือการใช้อำนาจขององค์กรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่กว้างขึ้น ถึงจะเรียกได้ว่าบริษัทนั้นได้ทำการสนับสนุนคอมมูอย่างแท้จริง

การสนับสนุนคอมมูนิตี้ที่ดี 

  1. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

หัวหน้าต้องใช้อำนาจของตนเองในการสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ริเริ่มและให้ความรู้กับทีมของพวกเขาอยู่ตลอด เพื่อสร้างความน่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยก LGBTQ+ เป็นคอมมูนิตี้ส่วนสำคัญในทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีพนักงานกว่า 40% ที่ปิดบังตัวตน LGBTQ+ ในที่ทำงาน

  1. การมีสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยก

ผู้คนกำลังมองหาผู้นำทางธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้นำที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยกและผู้คนสามารถนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของตนได้ จะได้รับประโยชน์ในเรื่องอัตราการผลิต นวัตกรรม และผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สูงขึ้น 

Tim Cook “การเป็นเกย์นั้นยากและอึดอัดในบางครั้ง แต่มันทำให้มั่นใจในตัวเอง เดินตามเส้นทางของตัวเอง และอยู่เหนือความทุกข์ยากและความอคติ”

Peter Arvai “ฉันรู้สึกว่าการเป็นเกย์อย่างเปิดเผยนั้นท้าทายให้เป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น และสิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อส่งเสริมการเปิดกว้าง คือการเปิดใจกับตัวตนของพวกเขาเอง และเปิดใจที่จะพบปะผู้คนอื่น ๆ ที่มีความหลากหลาย”

Claudia Brind-Woody “เมื่อพนักงานของเราไม่ต้องดิ้นรนเพื่อผลประโยชน์ การยอมรับในตัวตน หรือกังวลในเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพการทำงานก็เพิ่มขึ้น”

  1. การประเมินความก้าวหน้า

การรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (HRC) มีดัชนีความเสมอภาคขององค์กร (CEI): HRC เผยแพร่ CEI เป็นประจำทุกปี ซึ่งให้คะแนนบริษัทขนาดใหญ่และสำนักงานกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมสิทธิของ LGBTQ+ ดัชนีนี้ตรวจสอบจากนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ ผลประโยชน์ การคุ้มครองพนักงาน และการมีส่วนร่วมในประเด็น LGBTQ+ 

ธุรกิจ LGBTQ+ Friendly ทำกำไรได้มากกว่า

บริษัทที่มีนโยบายเป็นมิตรกับ LGBT มักจะได้รับทั้งผลกำไรและมูลค่าทางตลาดที่สูงขึ้น แม้ว่าการแสดงจุดยืนต่อสาธารณะในประเด็นทางสังคมหรือการเมืองอาจมีความละเอียดอ่อนและนำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงบวก และความได้เปรียบในการแข่งขัน ผลกระทบจากการสนับสนุนทางสังคมก็อาจส่งผลเสียได้หากจุดยืนไม่สอดคล้องกับความชอบและค่านิยมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของบริษัท

นโยบายองค์กรที่เป็นมิตรกับ LGBT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท การรักษาพนักงานและความพึงพอใจมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเพราะองค์กรมีการส่งเสริมความหลากหลายอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงว่าจะเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เชื้อชาติ เพศวิถี หรือความหลากหลายอื่น ๆ

ตัวอย่างบริษัทที่สนับสนุน LGBTQ+ อย่างเหมาะสม

  1. Sansiri

มีการรับสมัครพนักงาน LGBTQ+ และปฏิบัติอย่างเท่าเทียม มีสวัสดิการสำหรับพนักงานที่มีความหลากหลายในองค์กร ได้แก่ ลาสมรส, ลาผ่าตัดแปลงเพศ, ลาณาปนกิจคู่ชีวิต ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม และยังมีสวัสดิการวัคซีนทางเลือก ประกันสุขภาพให้แก่คู่ชีวิตของพนักงานอีกด้วย

  1. LINE MAN wongnai

มีสวัสดิการมอบเงินก้นถุงให้เมื่อพนักงานแต่งงาน วันลาเตรียมพร้อมเลี้ยงบุตรบุญธรรม ลาผ่าตัดแปลงเพศ ระหว่างพักฟื้น บริษัทจ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

  1. Electronic Arts 

บริษัทมองว่าสิทธิเท่าเทียมทางเพศของทรานส์และสตรีเป็นสิทธิมนุษยชน และยืนหยัดในจุดยืนสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเสมอมา 

บริษัทได้สนับสนุนองค์กรแนวหน้าที่แบ่งปันคุณค่าและเป็นกระบอกเสียงและแนวร่วมในขบวนการให้แก่คอมมูนิตี้ ทำงานร่วมกับองค์กรสิทธิของชาว LGBTQ+ มานานกว่า 5 ปี ไม่ว่าจะเป็น ACLU, GLAAD, HRC, the National Center for Transgender Equality, and Out and Equal และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ลงนามร่วมกับ HRC ในการต่อต้านกฎหมายและนโยบายการเลือกปฏิบัติที่นำมาใช้ในเท็กซัสและเมืองอื่น ๆ 

นอกจากนี้ยังมีการประกาศจุดยืนผ่านเกมต่าง ๆ ในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น The sims4 มีการเพิ่มตัวเลือกเพศวิถีให้หลากหลายยิ่งขึ้นในตัวละครซิม และ FIFA สนับสนุนความเท่าเทียมโดยมีนักฟุตบอลและทีมแข่งที่เป็นผู้หญิง

  1. Starbuck

นอกจากจะเป็นกระบอกเสียงในเรื่องสิทธิของ LGBT+ มาเป็นเวลานาน สนับสนุนการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ยังมีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกค้า LGBT+ ด้วย มีการทำแคมเปญที่นำเสนอเกี่ยวกับกลุ่มคนข้ามเพศ สนับสนุนให้กล้าที่จะพูดชื่อพวกเขาออกมา 

  1. Converse 

ได้ทำแคมเปญร่วมกับครีเอทีฟ LGBTQ+ 5 คน และเหล่า Ally กว่า 50 คน แคมเปญของพวกเขาไม่ใช่แค่คอลเลกชั่นที่ปรับแต่งได้เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงออกในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ Converse ยังบริจาคเงินกว่า 1.3 ล้านดอลลาร์ให้กับองค์กร LGBTQ+ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อคอมมูนิตี้


เมื่อองค์กรตัดสินใจเข้าร่วมในการสนับสนุนในรูปแบบใดก็ตาม พวกเขาจำเป็นต้องพิจารณาว่าการสนับสนุนระยะยาวนั้นมีลักษณะอย่างไร พวกเขาจะเต็มใจให้การสนับสนุนนั้นเป็นคุณค่าสำหรับสินค้าของตนหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็คงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาควรจะสนับสนุน

เพราะการคว่ำบาตรนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและเกิดผลกระทบจริงในปัจจุบัน ลูกค้าที่โกรธจะไม่สนใจองค์กรนั้นอีกต่อไป และจะหันไปสนับสนุนองค์กรอื่นที่ดีกว่า

การยืนหยัดร่วมกับกลุ่มคน LGBTQ+ คือการเดินทางของการเติบโต และการสะท้อนตัวตน องค์กรต่าง ๆ อาจมีทัศนคติที่ผิด ก็ควรที่จะเปิดใจเรียนรู้ รับฟังคำแนะนำจากกลุ่มคน LGBTQ+ และปรับการกระทำให้เหมาะสม การสนับสนุนคนชายขอบไม่ใช่เรื่องรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา แต่คือการสนับสนุนและยกระดับเสียงของคนเหล่านั้นให้เท่าเทียมกับทุกคนในสังคม

ในวันที่เกิดความเท่าเทียมทั้งสิทธิและเสรีภาพสำหรับกลุ่มคน LGBTQ+ อย่างแท้จริงแล้ว ปัญหาและข้อถกเถียงต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำแคมเปญสีรุ้งขององค์กรอาจจะหมดไปได้ 


อ้างอิง: bbc, entrepreneur, cnbc, fairplanet, forbes, businessinsider

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...