สูตรลับพลิกแบรนด์อย่าง Creative แบบ ธนา เธียรอัจฉริยะ | Techsauce

สูตรลับพลิกแบรนด์อย่าง Creative แบบ ธนา เธียรอัจฉริยะ


Creative เป็นหนึ่งมิติที่สะท้อนตัวตนของ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้เริ่มก้าวแรกจากสถานการณ์ไร้ทางเลือกแล้วพลิกผันให้ตัวตนหรือแบรนด์ของ ‘ธนา’ เป็นที่จดจำ สร้างทักษะแห่งการเป็นนักคิดใหม่ทำใหม่ที่ผสมผสานขึ้นจากศาสตร์และศิลป ซึ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาระหว่างเส้นทางชีิวิตการทำงานสายการเงินและการตลาด ที่มีทั้งล้มและรอด

ทั้งนี้ธนาเคยผ่านประสบการณ์ทำงานสายวิชาชีพการเงินมาเกือบครึ่งชีวิตจากหลายองค์กรธุรกิจก่อนจะเริ่มหันเหสู่สายงานใหม่ ๆ เมื่อครั้งอยู่บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กระทั่งปัจจุบันที่เขามีภารกิจหลักในฐานะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสที่ดูแลกลุ่มงานการตลาด (CMO) ของธนาคารไทยพาณิชย์

Thanna--CMO-SCB

secret sauce ของการพลิกแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จในสายธุรกิจคืออะไร

ในมุมของการพลิกแบรนด์ตัวเองนั้น secret sauce คือ การที่ไม่มีทางเลือกหรือ no choice ซึ่งการมีทางเลือกมาก ๆ อาจเป็นเรื่องโชคร้ายก็ได้ ดังนั้นจึงสามารถทำให้จากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ทำงานสายการเงินที่บริษัทบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงและรับเงินเดือน 25,000 บาท กลายเป็นพนักงานที่ได้รับการจับตามองในวันหนึ่ง แล้วนำไปสู่โอกาสอื่น ๆ ตามมาในอนาคต

ที่บอกว่า no choice เพราะจริง ๆ ไม่ได้เป็นคนเก่ง สู้เพื่อนทำงานด้านการเงินด้วยกันไม่ได้ แต่ในเมื่อต้องการงานที่ให้ผลตอบแทนดีกว่านี้จึงเริ่มมองหาโอกาสใหม่ แล้วก็มีคนแนะนำว่าให้ไปลองสมัครงานตำแหน่ง Investor Relation หรือ IR ที่ TAC หรือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อทางการค้าเป็น DTAC เมื่อปี 2544)

แม้ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าตำแหน่งนี้ทำอะไร เพราะเมืองไทยยังไม่เคยมีตำแหน่งนี้ แต่ก็ตัดสินใจไปลองดู เนื่องจากในเวลานั้น TAC จดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange : SGX) แล้วต้องการหาคนที่รับหน้าที่ให้ข้อมูลกับนักลงทุน โดยต้องรู้เรื่องการเงินระดับหนึ่งแต่ไม่ต้องรู้มาก ที่สำคัญคือให้เงินเดือนค่อนข้างสูงในเวลานั้น

กระทั่งเข้าไปแล้วถึงรู้ว่าทำไมให้เงินเดือนสูงและรู้ว่านรกคืออะไร เพราะ IR เป็นงานที่โหดมาก ต้องเจอนักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างชาติมาถามข้อมูลเชิงลึก ซึ่งผู้บริหารระดับสูงที่บริษัทก็ไม่ค่อยยอมเข้าไปประชุมด้วย จึงกลายเป็นเด็กอายุ 27 ปีที่ข้อมูลก็ไม่ค่อยแน่นแล้วต้องมาตอบคำถามจากคนเก่ง ๆ ที่ตั้งใจมาพบกับ CEO แต่กลายเป็นมาเจอพนักงานเด็ก ๆ แทน จึงไม่พอใจและมักตั้งคำถามยาก ๆ ซึ่งผมต้องเจอกับการประชุมแบบนี้ 6-7 รอบต่อวันและวนอยู่แบบนี้ราว 1 ปี จึงต้องอดทนและพยายามปรับตัว

ด้วยความที่กลัวเผชิญกับสถานการณ์ลำบาก จึงต้องพยายามหาข้อมูล และทำแบบจำลองทางการเงิน (financail model) ด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถตอบคำถามเชิงลึกได้ จึงเป็นที่มาจนทำให้มีข้อมูลที่แม่นยำ รู้จักบริษัทในแทบทุกแง่มุม และที่สำคัญคือทำให้ได้มีโอกาเข้าไปในการประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อรับรู้ข้อมูลและตอบคำถามในมุมมองของนักลงทุน เพราะผมคือคนเดียวที่ได้เจอกับนักลงทุนจริง ๆ จากจุดนี้เองที่พลิกให้พนักงานระดับล่างคนหนึ่งได้เริ่มมีตัวตนขึ้นมา ด้วยเพราะไม่มีทางเลือกจึงต้องทำงานที่ตอนนั้นไม่มีใครทำแต่ก็พัฒนาให้เราเติบโต

แม้แต่ครั้งหนึ่งที่เกิดวิกฤตทางการเงินของบริษัท ซึ่งตอนนั้นผมอายุเพียง 29 ปีแต่ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมในการเจรจากับเจ้าหนี้ (ธนาคารพาณิชย์) 51 ราย ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากและทำให้เราเติบโตเร็ว เช่นเดียวกับมีหน้าที่ให้ข้อมูลของบริษัทในช่วงที่ Telenor Group มาซื้อหุ้นของ TAC จึงทำให้กลายเป็นดาวรุ่งที่ผู้บริหารจาก Telenor รู้จักมากที่สุด ดังนั้นจึงมักได้รับเลือกให้ไปทำโครงการใหม่ ๆ เช่น Mobile Internet และเป็นจังหวะที่ทำให้ได้ออกจากงานสายการเงินไปทำด้านอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

การพลิกแบรนด์ตัวเองครั้งแรกเกิดจากที่ no choice เลยต้องไปทำงานที่คนอื่นไม่อยากทำ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทำให้ต้องสู้ยิบตาและพยายามหาทางออกให้ได้

มีวิธีให้กำลังใจตัวเองอย่างไร จนสามารถกลับมาสู้ต่อในภาวะที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังหรือล้มเหลว

ผมเป็นมนุษย์ที่ท้อถอยและหมดแรงง่ายมาก ด้วยความที่เป็นคน sensitive กับคำพูดคนจึงทำให้เข้าใจอารมณ์ของคน ซึ่งถือว่าช่วยให้ทำงานด้านการตลาดได้ดี แต่ข้อเสียคือเวลาโดนด่าหรือตำหนิจะรู้สึก fail ได้ง่าย จึงต้องพยายามจัดการกับอารมณ์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น หรือเลือกใช้ชีวิตง่าย ๆ ที่จะไม่ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว

มีคำพูดหนึ่งที่ดีมากคือมากจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง One-Punch Man ซึ่งเป็นเรื่องราวของตัวละครชื่อ Saitama เป็นซูเปอร์ฮีโรที่ใช้ชีวิตแบบสูงสุดคืนสู่สามัญที่วันหนึ่งเกิดมีปัญหาในชีวิตก็เลยบอกกับตัวเองว่า “ปัญหาของวันพรุ่งนี้ก็ให้ตัวเราในวันพรุ่งนี้มาจัดการ”

เช่นเดียวประโยคหนึ่งในหนังสือที่หนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) เขียนแล้วหยิบยกคำพูดของพระอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นสัจธรรมมาก คือ “ปัญหามีสองแบบที่แก้ได้กับแก้ไม่ได้ ที่แก้ไม่ได้ก็อย่าไปยุ่งเพราะแก้ไม่ได้ ให้ยุ่งเฉพาะที่แก้ได้ก็พอ” ซึ่งจากคำพูดนี้ช่วยลดการหมกมุ่นกับปัญหาที่แก้ไม่ได้ไปมาก เช่น เรื่องเจ้านาย เรื่องตลาดหุ้นตก เป็นต้น

ปัญหามีเข้ามาเรื่อย ๆ ขึ้นกับว่าเราใช้ลอจิกไหนเข้าไปจัดเรียง

ทุกครั้งที่เปลี่ยนสายธุรกิจที่ทำงาน จำเป็นต้อง upskill หรือl reskill มากแค่ไหน

สำหรับงานด้านการเงินหรือสายวิทยาศาสตร์ที่ทำมาเกือบครึ่งชีวิตมองว่าเป็น skill ที่ต้องผ่านการเรียนให้มีพื้นฐานก่อนแล้วหากได้ลงมือทำจริงจึงค่อยมาเพิ่มศักยภาพภายหลัง หรือที่ผมเรียกว่า ‘เป๊ะๆ’ ขณะที่งานด้านการตลาดและสื่อสารหรือสายศิลปะนั้นสามารถรู้เพียงพื้นฐานคร่าว ๆ ได้แต่พัฒนาทักษะจากการผสมผสานประสบการณ์ที่ได้ทำงานผ่านการลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากผลงานของคนเก่งหรือพี่ผมเรียกว่า ‘กะๆ’

อย่างไรก็ตามสมัยก่อนการทำงานหลากหลายจะถูกมองว่าเปลี่ยนงานบ่อย แต่ตอนนี้มองว่าเป็นเรื่องดีที่เราสามารถนำประสบการณ์จากหลาย ๆ ธุรกิจมาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะที่ดีขึ้น

แต่ที่ช่วยให้ upskill ได้คือการที่นำ ‘เป๊ะๆ’ และ ‘กะ’” มารวมกันเป็น ‘คละๆ’ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์สามารถเกิดจากตรงนี้ ถือว่าเราโชคดีที่ได้ทำงานสองด้าน

อะไรเป็นเคล็ดลับในการพัฒนาให้ตัวเองให้มี creative

ผมมองว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดได้หลายทาง แต่เชื่อในเรื่องการนำมาผสมกัน นั่นคือต้องเริ่มจากมี  “เป๊ะๆ” ก่อนแล้วผสมด้วย ‘กะๆ’

สองคือเชื่อในเรื่องเล่นจริงเจ็บจริง อย่างที่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งเป็นผู้ที่ creative สูงมากคนหนึ่งเคยบอกว่า “คุณจะเป็นผู้เล่นหรือผู้ดู เพราะถ้าเป็นผู้ดูก็นั่งบนอัฒจรรย์ก็จะได้ประสบการณ์แบบหนึ่ง หากเป็นผู้เล่นก็จะได้วิธีการคิดที่ฝังลึกและจำแม่น ซึ่งยิ่งผิดพลาดหรือล้มเหลวก็ยิ่งจดจำ ยิ่งมีแผลก็ยิ่งสร้างประสบการณ์”

ด้วยประสบการณ์ที่เราสั่งสมมารวมกับสิ่งที่มีอยู่แล้วคือความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นที่เรียกว่า Empathy เพราะเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้เราเข้าใจ pain ต่าง ๆ แต่ที่สำคัญคือต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเราทำเพื่ออะไร แล้วความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นเอง

คนที่ creative มาก ๆ จะมีรอยแผลที่หลังเต็มไปหมด ไม่มีใครที่อยู่ดี ๆ แล้วบรรลุได้เอง แต่ส่วนใหญ่มักไม่เคยเห็นแผลแต่จะเห็นแค่ผลงานที่ปรากฏ

ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่เชี่ยวชาญด้านคัดคนเก่งเข้าร่วมทีมงาน จึงอยากรู้ว่ามีหลักในการเลือกคนทำงานอย่างไร

อันดับแรกคือ ทัศนคติที่ดี เพราะจากที่เล่าไปแล้วว่าเป็นคนที่ sensitive ในเรื่องคน ดังนั้นเวลาทำงานแล้วแค่มีคนที่เศร้า เช่น อกหัก แค่คนเดียวก็ทำให้คนที่เหลือในทีมหม่นหมองได้ หรือแค่มีคนไม่ดีแค่ 1 ใน 10 คนสามารถทำให้ทั้งทีมรู้สึกแย่ได้เลย เพราะคนที่ attitude ไม่ดีคนเดียวต่อให้เก่งแค่ไหน ก็สามารถแพร่เชื่อให้อีก 9 คนที่เหลือแย่ได้ สองคือ น้ำไม่เต็มแก้ว หรือ มีความสามารถในการเรียนรู้เสมอจึงนับเป็นคนเก่ง หากเป็นคนปิดตัวเองก็ลำบาก ยิ่งสำหรับคนทำงานที่เป็นรุ่นใหญ่อายุ 40-50 ปีก็จำเป็นต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ สำหรับโลกทุกวันนี้จะบอกว่ารู้ทุกอย่างหมดแล้วยิ่งไม่ได้

ที่สำคัญคือเมื่อมาร่วมทีมกันแล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้ต่าง trust ซึ่งกันและกัน นั่นคือต้องไม่ทำตัวเป็นนาย แต่ต้องการใช้คำว่า coach มากกว่า นั่นคือไม่ได้ดูแลทีมงานเหมือนเป็นครอบครัวแต่เป็น sport team นั่นคือ หากเป็นครอบครัวต่อให้คนใดในทีมทำงานไม่ได้หรือมีอาการบาดเจ็บก็ต้องดูแล แต่ sport team ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะต้องทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นจึงทำงานร่วมกันเป็นทีม มีบทบาทเท่าเทียมกัน แต่หากใครนิสัยไม่ดีหรือไม่ perform ก็ไปนั่งข้างสนามก่อน

โดยที่ coach ต้องมีหน้าที่ทำให้ทีมเปล่งพลังแฝงออกมาให้มากที่สุด เหมือนทีม Manchester United   ที่ Ole Gunnar Solskjaer มาแล้วผลงานเปลี่ยนเลย โดยใช้จิตวิทยาที่ดีสร้างพลังคิดบวกและสนับสนุนให้ทำเต็มที่ นอกจากนี้คือต้องไม่ไปแทรกแซงมากเกินไป

“ทีมที่ดีจะไม่ได้วัดตอนที่สำเร็จ แต่วัดตอนล้มเหลวว่ากอดคอร้องไห้ด้วยกันแล้วลุกขึ้นสู้ใหม่หรือไม่ หรือมาชี้นิ้วว่าใครผิด”

เช่นเดียวกับที่วิธีการที่ทีมปฎิบัติกับเรา หลังจากที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าลูกน้องกันแล้วด้วย อีกทั้งผมเป็นคนที่ชอบดูแลคนตัวเล็ก หรือคนที่ชอบหลบมุมไม่ค่อยกล้าพูด เพราะเราเคยเป็นลูกน้องมก่อนเรารู้ว่าคนเหล่านั้นคิดอย่างไร เช่น เมื่อก่อนเคยไม่อยากให้เจ้านายทำแบบใดกับเรา ๆ ก็ต้องไม่ทำแบบนั้นกับลูกน้อง

อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเปลี่ยนงานบ่อย เจอเจ้านายมาหลายแบบ ทั้งที่แย่มากสุดในชีิวิต ซึ่งเป็นข้อดีเพราะทำให้หลังจากนั้นก็จะไม่เจอใครที่แย่กว่านี้อีกแล้ว ขณะที่ทำให้ได้รู้ว่าเจ้านายที่ดีต้องเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักลืมว่าตอนเป็นลูกน้องต้องการเจ้านายแบบไหน แต่ผมพยายามย้อนกลับไปว่าเราคิดอย่างไรแล้วพยายามเป็นเจ้านายแบบนั้น

ส่วนเหตุผลที่ทำอย่างไรถึงได้คนเก่งมาทำงานด้วยเรื่อย ๆ ก่อนอื่นต้องคิดก่อนว่าเราไม่เก่ง เพราะเมื่อเราไม่เก่งก็จะอยากได้ทีมงานที่เก่งกว่าในแต่ละด้านมาช่วย อย่างปัจจุบันมีทีมงาน ซึ่งมีจุดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น เลือกคนรสนิยมดีมาช่วยตัดสินใจเรื่องโฆษณา เลือกคนที่มีความละเอียดมาดูแลเรื่อง customer experience เป็นต้น ขณะที่ตัวเราดูภาพรวมและทำให้ทีมงานมีความสุขกับการมาทำงานในทุกเช้า

ถ้าคนทัศนคติดีแล้วมาทำงาน ก็ย่อมทำให้งานดี แล้วก็จะดึงคนเก่งเข้ามาเองแบบบอกต่อ ๆ กันไป แล้วทีมงานก็จะแข็งแกร่งเองโดยธรรมชาติ

มีวิธีสร้าง Work-life balance อย่างไร

ด้วยการที่เราเป็นคน introvert (ผู้มีบุคลิกภาพที่มีภาวะหรือความโน้มเอียงที่จะเกี่ยวข้องและสนใจชีวิตภายในใจของตนทั้งหมดหรือโดยส่วนใหญ่) ที่ถนัดซ้าย เปรียบเทียบง่าย ๆ คือเวลาต้องไปงานที่มีคนมาก ๆ ยิ่งดูดพลัง และต้องเตรียมตัวไป แล้วก็ไม่ชอบบทสนทนาแบบสองต่อสองจะรู้สึกอึดอัด นอกจากนี้คือชอบอยู่บ้าน

สำหรับเป้าหมายในการทำงานหาเลี้ยงชีพของเราคือลูกสาวสองคน ที่เป็นแรงกระตุ้นให้เราตื่นมาทำงานทุกเช้า มีความสุขที่ได้ไปเที่ยวกับลูก เพราะถ้าเฉพาะตัวเองไม่ได้ต้องการไปไหนเลยแต่ถ้าไปกับลูกก็ไปได้ทุกที่ซึ่งลูกชอบ

มีช่วงหนึ่งตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่สุ บุเลี้ยงแต่งเพลงชื่อ อะไรที่สำคัญกว่า ซึ่งช่วยเตือนสติได้ดีมาก ด้วยเนื้อหาเพลงที่ตั้งคำถามว่าอะไรสำคัญหากเราหยิบของหนีน้ำได้ไม่กี่อย่าง เช่น กรอบรูป สมุดไดอารี่ สุนัข หรือถ้าเป็นผู้เฒ่าผู้แก่คือบ้าน จึงไม่ไปไหนเพราะบ้านสำคัญที่สุด

ดังนั้นจึงทำให้เรามาคิดว่าแล้วอะไรที่สำคัญกว่า สำหรับผมคือลูกสาว สุขภาพ (เคยป่วยอยู่ช่วงหนึ่ง) และงาน ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบการเรียงหิน ก็คือหินก้อนใหญ่หรือสิ่งสำคัญที่สุดต้องลงไปก่อน แต่หากเอาก้อนเล็กหรือสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าลงไปก่อน จะไม่สามารถเรียงหินก้อนใหญ่ลงไปได้ เมื่อเราได้ลำดับความสำคัญในชีวิตแล้วก็จัดเวลาได้ง่าย

Work-life balance ของพี่ก็คือถ้าอะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ไปจะเลือกอยู่บ้าน พี่ไม่ชอบไปงานแต่งงานและงานศพนอกจากสำคัญจริง ๆ ก็ไปบ้าง ดังนั้นส่วนก็จะอยู่บ้านกับลูกและออกกำลังกาย ที่มีบางคนบอกว่าอยู่บ้านคือว่างนี้ สำหรับเราจริง ๆ คือไม่ว่างเพราะเราจงใจที่จะอยู่บ้านจึงใช้เวลาที่จะอยู่บ้านมาก

ถ้าย้อนเวลากลับไปในวัย 20 กว่าที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ จะอยากบอกอะไรกับตัวเอง

อย่างแรกเลยจะบอกให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสำหรับผมคือต้องป่วยก่อนถึงเริ่มออกกำลังกาย ตอนอายุ 20 คงบอกให้ตัวเองวิ่งอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย หากเป็นไปได้ให้วิ่งมาราธอน เพราะเคยอ่านเจอจากหนังสือที่เขียนโดยนิ้วกลมที่เล่าว่าที่เมืองนอกมีชั้นเรียนที่สอนเรื่องความเป็นผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งไม่ได้มีสอนวิชาอะไรมากแต่ระบุว่าหากวิ่งมาราธอนได้ในช่วง 4 เดือนถือว่าได้เกรด A

เนื่องจากการวิ่งมาราธอนคือการฝึกความอดทน ทำให้รู้จัก Kaizen หรือการค่อย ๆ เพิ่ม (มาจากภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพื่อให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง) มีเรื่องการวางแผน และการไม่ยอมแพ้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวของกับการเป็นผู้ประกอบการที่ดี

ตอนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาไปเห็นภาษาละตินอยู่ประโยคที่เขียนว่าจิตใจที่ดีจะอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงเท่าน้น แต่ตอนที่ยังเด็กก็ไม่เข้าใจ กระทั่งมาป่วยจึงรู้ว่าถ้าร่างกายเราไม่ดี ใจก็ไม่มีทางที่จะดี พอป่วยก็เลยมาเริ่มวิ่งตอนอายุ 37 ปีแล้ว

การตื่นมาวิ่งตอนเช้าได้เป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะใจตัวเองมาก ต้องต่อสู้กับเสียงนาฬิกาปลุกไม่รู้กี่ครั้ง แล้วจะทำให้วิ่งอย่างสม่ำเสมอได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเอาชนะตัวเองตอนเช้าได้แล้วทั้งวันก็ไม่ยาก

อีกเรื่องคือพยายามทำให้ตัวเองไปอยู่ในภาวะที่ไม่มีทางเลือกเหมือนที่ผ่านมา แล้วก็ตัดสินใจไปเมืองจีน เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมากและที่เจ๋งมากคือเมืองจีน ซึ่งสู้กันระห่ำเปรียบเหมือนเป็นกีฬาโอลิมปิกของโลกธุรกิจ ถ้าเรายังอยู่ฝึกอยู่แถวนี้ก็เป็นได้แค่นักกีฬาแข่งระดับซีเกมส์ แต่หากไปเมืองจีนแล้วต่อให้แพ้กลับมาน่าจะได้เหรียญทองจากการแข่งซีเกมส์

“ไปแบบไม่ต้องรู้ภาษาจีนเลย อยู่สัก 3 ปี ถ้ากลับมาแล้วเราน่าจะเจ๋ง”

นอกจากนี้คือบอกตัวเองว่าให้ไปทำงานกับคนเก่ง ๆ จะช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วหากไปเห็นคนเก่งว่าทำอย่างไร ได้มีโอกาสพูดคุย ไปติดตาม ใช้ชีวิตด้วย ซึ่งผมก็มีโอกาสได้เจอคนเก่งแบบ Sigve Brekke (CEO of Telenor Group) ที่เป็นเหมือนสุดยอดแห่งโค้ชและเป็นผู้นำระดับโลก จึงเป็นการเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่

หนังสือที่ชื่นชอบและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่านคือ

ถ้าให้แนะนำคืออ่านหนังสือทุกเล่มของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยิ่งน้อง ๆ สม้ยนี้ยิ่งต้องควรอ่าน เพราะนอกจากท่านเป็นพหูสูตรแล้วแต่ความคลาสสิกคือวิธีการเขีียนเล่าเรื่องของท่านที่ทำให้อ่านง่ายไม่ว่าใครอ่านก็สนุก และไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนวไหนก็ตาม ทั้งแนวชีววิทยากึ่งพระพุทธศาสนาอย่าง ห้วงมหรรณพ แม้แต่ หลายชีวิต ซึ่งเป็นนวนิยายที่สนุกมาก ตลอดจนเล่มอื่น ๆ เช่น สี่แผ่นดิน

ที่แนะนำเพราะนอกจากได้ความรู้แล้ว ในปัจจุบันหัวใจหลักของการประสบความสำเร็จอีกข้อคือการเล่าเรื่อง ซึ่งหากเราสามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ชวนฟัง ชวนให้คนคิดตาม แล้วปฏิบัติตามได้จะเป็นเรื่องที่สุดยอดมาก

จากการอ่านหนังสือของมรว.คึกฤทธิ์ ก็ทำให้ได้วิธีการเล่าเรื่องมาอยู่ในเส้นเลือดมาบ้างแม้จะแค่ 1 ใน 100 แต่ก็ทำให้เราเขียนหนังสือแบบที่ให้เข้าใจง่าย และเขียนแล้ว flow ได้ ส่วนปัจจุบันนักเขียนที่เล่าเรื่องแล้วอ่านเข้าใจง่าย ก็มี วาณิช จรุงกิจอนันต์ ประภาส ชลศรานนท์ หนุ่มเมืองจันท์ นิ้วกลม และ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นต้น

คนที่เก่งแค่ไหน แต่ถ้าเล่าเรื่องไม่ได้ พลังก็หายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนคนที่เล่าเรื่องได้อาจไม่เก่งเท่าไหร่ แต่เหมือนจะไปไกลกว่า ซึ่งการที่อ่านมาก ๆ แล้วเริ่มเขียนก็จะพาเราไปสู่เทคนิคการสื่อสารในอีกแบบ

อยากแนะนำอะไรสำหรับคนรุ่น Gen Z ที่จะเติบโตเป็น the new workforce

ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จได้เราต้องไม่เหมือนคนอื่นก่อน เพราะตอนนี้ Average is Over คือต้องไม่เหมือนคนอื่นในยุคเดียวกัน ไล่มาตั้งแต่รุ่นพ่อที่จะอดทนทำงานที่เดิมมาเป็น 10 ปี ซึ่งยุคนั้นคนที่รู้เรื่องไอทีและภาษาอังกฤษจะไปไกลมาก เพราะคนยังรู้กันน้อย พอมายุคผมคนเริ่มกลับจากเรียนเมืองนอกกันทุกคนก็พอพูดภาษาอังกฤษได้ทำให้คนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีก็จะโดดเด่น

สำหรับยุคนี้คนที่มีคุณสมบัติเรื่องความอดทนหรือที่เรียกว่า ‘วิชาลำบาก’ นั่นคือ อด ในสิ่งที่ยากได้แต่ไม่ได้ ทน ในสิ่งที่รับไม่ได้แต่ทนได้ จะทำให้คนนั้นเจ๋งมาก อย่างภาษาจีนคำว่าอดทน เป็นรูปมีดปักอยู่กลางตัว นั่นคือมีมีดปักอยู่แต่ทนได้

เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อดทนกับอะไรทั้งนั้น หากใครสามารถอดทนได้จะรุ่งมาก เช่น หากต้องเลือกคนมาทำงานระหว่างเด็กผลการเรียนเด่นมาตลอดมีประสบการณ์ทำงานองค์กรใหญ่ ๆ อย่าง SCG มาแล้ว กับเด็กที่เรียนไม่เก่งนักแต่ผ่านประสบการณ์ไปทำงานที่เมืองจีนมา 4 ปีก่อนแล้วรอดกลับมา ผมจะเลือกคนหลัง

เราต้องหาที่ฝึกวิชาความอดทนหรือควมลำบาก ถ้าเราอดทนได้เราจะโดดเด่นมาก

อาจจะเป็นวิธีคิดที่ย้อนแย้ง นั่นคือ แม้เราอยากสบายอยากมีทางเลือกมาก แต่จริง ๆ สิ่งที่เห็นคือคนที่ประสบความสำเร็จมักไม่ค่อยมี choice และเคยล้มเหลวมาหลายครั้ง เหมือนเวลาเราอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วรู้สึกสนุกมาก ถ้าไปอ่านดูจะเห็นว่าคนเหล่านี้ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งล้มเหลวและต่อสู้ขึ้นมาใหม่ได้จนสำเร็จ ผมเชื่อว่าไม่หนังสือเล่มไหนขายได้แน่ถ้าเรื่องราวชีวิตของคนเหล่านั้นราบเรียบไร้อุปสรรค

คำถามคือแล้วเราอยากเป็นหนังสือที่มีคนอ่านหรือไม่ เพราะคนชอบเรื่องราวที่ล้มเหลวแล้วเรียนรู้จนต่อสู้ขึ้นมาใหม่ได้ สุดท้ายคือแล้วคืออยากเขียนหนังสือเรื่องราวชีิวิตของเราในแบบไหน หากต้องการให้มีสีสันแบบนี้แล้วควรเริ่มตัวเราเองจากแบบไหน แต่ไม่ว่าเป็นหนังสือแบบไหนก็ถูกต้องทั้งคู่อยู่ที่เราเลือก

Choice is Yours เราอยากใช้ชีวิตแบบไหนเราเลือกได้

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...