ปี 2016 สอนให้เราได้รู้ว่าแพลตฟอร์ม E-commerce นั้น เป็นเวทีของยักษ์ แล้วสามัญชนอย่างเรา SMEs ไทยอย่างเรา ควรรู้อะไร ควรปรับตัวอย่างไร ในปี 2017 นี้
[toc]
มีโอกาสได้ฟัง Startup Pitching อยู่เรื่อยๆ ดูเหมือนว่าไอเดีย "E-commerce Marketplace" จะยังคงเป็นไอเดียที่คนรุ่นใหม่อยากทำ
แต่จากการเขียนสรุปข่าวในปีที่ผ่านมา ก็ได้เห็นว่า มันเป็นสงครามที่ใหญ่โต ขนาดรายที่ว่าใหญ่แล้ว ก็ยังต้องพ่ายแพ่ Ensogo บอกลา แม้แต่เจ้าใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง Rakuten ก็บอกลาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทำไมรายใหญ่ถึงชนะ?
"เงิน" เป็นปัจจัยสำคัญในการปั้น Marketplace ให้เกิด การแข่งขันทำการตลาด ทำโปรโมชัน มันจึงไม่ใช่เรื่องของคนตัวเล็กๆ ที่มีความฝัน แล้วนั่งเขียนโปรแกรมอยู่ในโรงรถ
ถ้าไม่ใช่เรื่องเงิน ก็เป็นเรื่องของสุดยอด Creative + Technology อย่างตัวอย่างของ Jet.com ที่ Wal-Mart ซื้อไปในปีที่แล้วในราคา 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หวังจะป้องกันตนเองจาก Amazon.com โดย Jet.com นั้นพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการเป็นเจ้าพ่อของการ Optimization ทุกๆ โอกาสเล็กโอกาสน้อยที่มองเห็น (แต่การจะสร้างจุดแข็งในเชิง Operation ได้ระดับนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรายเล็กอยู่ดี)
สำหรับในไทย ช่องว่างที่ยังมีอยู่คือ B2B ลองศึกษาให้ดี หาช่องว่างนั้นให้เจอ (Techsauce ได้จัดทำกรณีศึกษาของ B2B ในไทย เป็นบทความภาษาอังกฤษ ตามอ่านได้ที่นี่)
เรื่องนี้อาจจะยังไม่เห็นชัดเจนในปี 2017 แต่อนาคตหลังจากนี้ก็ไม่แน่
การเกิดขึ้นของโมเดลซื้อมาขายไป เป็นเพราะเจ้าของสินค้ายังไม่มี Distribution channel ที่เข้มแข็งพอ จึงเกิดโอกาสของคนกลาง ในการ Distribute ต่อ
แต่ในวันที่โลกเรา จะเหลือ E-commerce Platform ไม่กี่ราย และล้วนเป็นรายใหญ่ บางทีการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยไป อาจทำได้ง่ายขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ ถือเป็นโอกาสของเจ้าของสินค้า โดยเฉพาะสินค้า consumers ทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องมีตัวแทนจำหน่ายมากนัก
ส่วนคนที่ซื้อมาขายไป คงต้องสร้างความแตกต่างในการให้บริการ และหาฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นของตัวเองให้เจอ
การขายใน Marketplace ก็ไม่ใช่ถนนเส้นโล่งๆ คุณยังต้องแข่งกับเจ้าอื่นๆ ภายในนั้นอีกมาก หากสินค้าใน Marketplace ดูๆ แล้วก็เหมือนกันหมด แล้วลูกค้าจะเลือกคลิกที่เจ้าไหน?
การตั้งชื่อสินค้า, การเขียนคำบรรยาย, การถ่ายภาพ, การตั้งราคา ทุกๆ อย่างล้วนเป็นปัจจัย
...แต่มันก็ยากที่จะสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น
เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเอง คุณต้องสร้างแบรนด์ตัวเองไปด้วย บทวิเคราะห์ของคุณ Sheji Ho เองก็กล่าวว่า แบรนด์จะหันมาทำเว็บไซต์ Brand.com ของตัวเอง
นอกจากจะเป็นการสร้างตัวตนของตัวเองแล้ว เราจะได้เป็นเจ้าของ Data ของตัวเองด้วย มองเห็นเอง ควบคุมเอง ไม่ใช่ฝาก Data เอาไว้ให้ Marketplace เขาได้ Insight ไปทั้งหมด
ความท้าทายใหม่คือ การสร้าง Brand.com ดีๆ ขึ้นมาซักตัวก็ไม่ง่ายเหมือนกัน มันไม่ใช่เพียงเรื่องของแพลตฟอร์ม แต่ยังเป็นเรื่องของการให้บริการ อย่างการขนส่ง เป็นต้น จึงเหมาะกับบริษัทที่มีเงินทุนสูง แปลว่าค่อนข้างเหมาะกับบริษัทไซส์ L และ M
อย่าคาดหวังว่าเป็นสินค้าไทย แล้วคนไทยจะซื้อ
สิ่งที่ทำให้ Alibaba ซื้อ Lazada เป็นเรื่องน่ากลัวคือ Alibaba จะได้ข้อมูลและ Insight ว่าสินค้าอะไรขายดีใน Lazada - ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า จะนำสินค้าอะไรจากจีนเข้ามาขายบ้าง
ของจีนที่หน้าตาเหมือนๆ กัน แถมเผลอๆ ทำออกมาได้ถูกกว่า..
สินค้าไทย ไม่ควรหวังพึ่งแต่ Marketplace ในไทย และขายให้คนไทยอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ควรมองเรื่อง Cross border มองเรื่องการขายสินค้าของตนออกไปยังต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายตลาดให้ตัวเอง
สำหรับไซส์ S การลงทุนกับเทคโนโลยี (ในการการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง) อาจจะยังไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในตอนนี้ สิ่งที่ควรทำกว่าคือการเรียนรู้และตามเทคโนโลยีให้ทัน และใช้ประโยชน์จากมันในการทำ Branding ทำ Marketing และการเพิ่มความสามารถด้านงานขายให้ตัวเอง
Social Commerce (การขายของบน Social Media) เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับคนไซส์ S ปัจจุบัน Social Media มีฟังก์ชันมากมายที่ช่วยให้คุณขายของได้บนแพลตฟอร์มเขา มาถึงตอนนี้ก็คือการต่อสู้ด้วย "ศิลปะการสร้างแรงจูงใจ"
Facebook Group ปัจจุบันมีฟังก์ชันเปิดเป็น Group ขายของได้แล้ว ความน่าสนใจคือ การขายบน Facebook นั้น คนจะเห็นหน้าค่าตาโปรไฟล์ของคุณ คุณจึงเป็นบุคคลจริงๆ ที่จับต้องได้ และนั่นแปลว่า Branding ของตัวคุณจะเข้ามามีบทบาท
อีกฟังก์ชันอย่าง Facebook Live ก็ปรากฏออกมาว่า คนไทยนิยมนำมาประยุกต์ใช้ ทำเป็น Live video เพื่อการขายของ เข้าถึงคนทีละมากๆ ด้วยการ Live ครั้งเดียว มีความ Interactive สร้าง Engagement กับคนได้ เหลือแค่ว่าคุณต้องเอาเวทีให้อยู่
ยิ่งเล็ก ก็ยิ่งต้องใช้ความจับต้องได้ เข้าถึงง่าย เป็นจุดแข็งของตัวเอง "คอนเทนต์" จะเป็นคีย์สำคัญที่ช่วยให้คุณแตกต่าง
บทความนี้มีการอ้างอิงจากข้อมูลจากการเข้าฟังบรรยาย เดินหน้า E-commerce ไทย ก้าวอย่างไรให้อยู่รอด ? บรรยายโดยพี่ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ (Tarad และ E-frastructure) และนำมาเรียบเรียงในแบบของผู้เขียนเอง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด สามารถคุยกันได้ค่ะ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด