แกะรอย Startup ไทยไปโตต่างแดน กับ กรวัฒน์ เจียรวนนท์ | Techsauce

แกะรอย Startup ไทยไปโตต่างแดน กับ กรวัฒน์ เจียรวนนท์


Startup สัญชาติไทย ที่สยายปีกไปเปิดตลาด App สำหรับองค์กรทั่วโลก ล่าสุดเปิดรับทุนรอบ series B ที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 660 ล้านบาท) เพื่อบุกตลาดยุโรปและอเมริกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก SMD Ventures (SMDV) ร่วมด้วย RedBeat Ventures CVC ของสายการบิน Air Asia ทำให้ Eko ที่ก่อตั้งโดย กรวัฒน์ เจียวรวนนท์ กลายเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงสุดประจำปี 2561 โดยครั้งนี้ Techsauce ได้ร่วมพูดคุยเพื่อนำแนวคิดและทิศทางที่ Startup รายนี้ต้องการมุ่งไปมาบอกเล่าอีกครั้ง

Eko-startup-ceo

ภาพรวมของ Eko ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

บริษัทของเราทำ Mobile Team Communication Platform สำหรับใช้สื่อสารภายในองค์กร ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทมหาชน ซึ่งแตกต่างจากผู้พัฒนารายอื่นตรงที่รวมทุกการใช้งานที่องค์กรต้องการไว้ในที่เดียว จึงทำให้สะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและการจัดการบริหารงานภายในองค์กร รวมถึงพัฒนาช่องทางที่มีความปลอดภัย มีฟังก์ชันที่ใช้งานง่ายและจำเป็นสำหรับองค์กร

ทั้งการติดต่อสื่อสารแบบเรียลไทม์ การจัดการขั้นตอนและกระบวนการในการทำงาน (Workflow), การจัดการบริหารโครงการ, การจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) พร้อม API (Application Programming Interface) ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไอทีเดิมขององค์กร และบอท (Bots) อื่นๆ ได้

Eko เป็น app ที่รวมทุกเรื่องที่องค์กรต้องการไว้ที่เดียวแบบ all in one platform

ใช้กลยุทธ์อะไรในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศทั้งจีนและยุโรป

นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้หลายอย่างและได้ผ่านช่วงเวลายากลำบากมาไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นกรณีประเทศจีนก็เข้าตลาดได้ค่อนข้างยาก เพราะมีคู่แข่งจำนวนมาก ขณะที่พบว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีคู่แข่งมากและไม่ได้ต้องสู้หนักมากด้วยความที่ App ของเราค่อนข้างแตกต่าง

จริง ๆ ถือว่าเราเป็น Game of Survivor เพราะการเติบโตของซอฟท์แวร์สำหรับองค์กรพวกนี้ขึ้นกับขนาดของธุรกิจ ดังนั้นหากเราต้องการแข่งในตลาดโลกได้ก็ต้องไปอยู่ในตลาดที่ใหญ่ เพราะ Enterprise Software Market ในอาเซียนยังไม่ถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับมูลค่า GDP เช่น Enterprise Software Market ของ EU อยู่ที่ราว 1 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งใหญ่กว่าของอาเซียนถึง 20 เท่า

แม้ว่าเราจะมี Commercial Base อยู่ที่ London แต่ด้วยเรื่อง Brexit ทำให้ต้องมีสำนักงานที่ Amsterdam ด้วย เพราะเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและยังมีคนเก่ง ๆ จำนวนมาก และมีหลายบริษัทที่ก่อตั้งที่นี่ เช่น booking.com ล่าสุด Eko กำลังจะเปิดสำนักงานใหญ่สำหรับฝั่งอเมริกาเหนือที่เมือง Austin รัฐ Texas แล้วตามมาด้วยสำนักงานแห่งที่สองใน New York ที่เป็น Business Development ส่วนที่เปิดทำการไปก่อนหน้านี้แล้วมีทั้งในกรุงทพ (ที่เพิ่งย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ ณ True Digital Park) Amsterdam Berlin London New York และ Warsaw

ถ้าต้องการเติบโตถึงระดับโลกก็ต้องไปตลาดใหญ่ ๆ ไม่อย่างนั้นคู่แข่งจากทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็มาเมืองไทยอยู่ดี เราจึงต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะสู้ได้

กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ Eko เป็นธุรกิจประเภทใด

สมาชิกผู้ใช้งานซึ่งมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดคือกลุ่มธุรกิจ Hospitality ส่วนกลุ่มธุรกิจ Retail ก็กำลังไล่ตามมาติดๆ โดยปัจจุบันลูกค้าที่ได้เป็นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด ซึ่งมีข้อตกลงที่จะให้ส่วนแบ่งรายได้กับพันธมิตรถึง 50% ของราคาขายต่อเดือนตลอดไป จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถดึงพันธมิตรทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ได้มาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่รู้สึกประทับใจคือเมื่อลูกค้ารู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากเมืองไทยก็ไม่ได้ดูถูกและไม่สนใจว่าพัฒนาจากที่ไหน เพราะมองที่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ถ้าเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีก็ใช้ แต่ที่สำคัญคือเราเป็น International Company

เราสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องและคนที่อำนาจตัดสินใจได้ค่อนข้างเร็ว ผ่านการขายของพันธมิตร จึงมีส่วนที่ทำให้ขยายตลาดได้เร็ว

อัตราส่วนของทีมงานระหว่างไทยและต่างชาติเป็นอย่างไร

เป็นคนไทย 50% และต่างชาติที่รวมๆ กัน 16 สัญชาติราว 50% ที่มาจากทั้งเอเชียและยุโรป

มีวิธีการเช่นไรในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คนจากหลาย ๆ ชาติมาทำงานร่วมกัน

ก่อนจะรับเข้ามาทำงานต้องรู้ก่อนว่ามีทัศนคติที่เหมาะสมและเปิดกว้าง ซึ่งการเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงไม่สามารถเปิดรับวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ ไม่ได้ นอกจากนี้ทีมงานของเราถือว่ามีความเป็นระดับโลกสูงมากทั้งในส่วนของคนไทยและต่างชาติ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบ Universal Startup Culture แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร เพราะตอนแรกก็มีประเด็นในเรื่องพวกนี้มากเหมือนกัน แต่ถึงวันนี้ก็ถือว่าทำได้ดี เช่น มีีทีมงานที่ต้องการเรียนรู้ทั้งฝั่งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

คิดอย่างไรกับที่คนมองว่าเราเป็นเจ้าของกิจการรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทของตระกูลนักธุรกิจใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสและแต้มต่อมากกว่า

เรื่องนี้เป็นความจริง ซึ่งผมเองก็ไม่ได้มองว่าใครจะคิดอย่างไร เพราะทุกคนมีโอกาสที่ต่างกันและมีหลายเรื่องที่เราก็เลือกไม่ได้ เช่น กรณีของ Bill Gates ที่หากพ่อแม่ของเขาไม่ใช่คนแรก ๆ ที่ได้ซื้อคอมพิวเตอร์ ตัวเขาก็อาจไม่ได้มีโอกาสทำ Microsoft หรือแม้แต่บางคนก็บอกว่าคนที่สหรัฐฯ มีโอกาสดีกว่าเรา แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่โอกาสน้อยกว่าเราเป็นสิบ ๆ เท่า

อย่างไรก็ตามผมเองก็ได้โอกาสในแบบของผม ถือว่าโชคดีมากที่มีครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ นอกจากนี้คำสอนที่เราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็มีส่วนสร้างเราขึ้นมา แต่จริง ๆ แล้วครอบครัวผมไม่ได้เหมือนที่คนอื่นคิด เพราะหากทางบ้านช่วยลงเงินเพื่อสร้างกิจการทั้งหมด ผมก็คงไม่ได้เรียนรู้อะไร

คุณพ่อบอกเสมอว่า ถ้าคุณสำเร็จผมก็ดีใจด้วย แต่ถ้าคุณล้มเหลวผมก็ยินดีเพราะคุณได้เรียนรู้ ซึ่งสำคัญกว่าความสำเร็จ จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็มีบางช่วงเวลาที่น่ากลัวเหมือนกันทำให้เราต้อง downside เพราะเงินทุนไม่พอ

รับมือกับสถานการณ์ที่มีปัญหาเข้ามาอย่างไร

ผมโชคดีที่มีคุณพ่อและคุณปู่ ที่ทำให้เรารู้เรื่องราวว่า behind the scenes ของการสร้างธุรกิจไม่ได้เหมือนกับในภาพยนตร์หรือหนังสือที่เราอ่าน เพราะความจริงแล้วไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่มีเรื่องราวเบื้องหลังมากมายที่คนไม่ได้พูดหรือไม่ได้เขียนถึง

จัดการอย่างไรให้ Work–life balance ลงตัว

ผมสนุกกับสิ่งที่ทำ ช่วงนี้ยังทำได้เพราะอายุเพิ่ง 24 ปี แม้ต้องเดินทางบ่อยๆ แต่ร่างกายก็ยังรับไหว ที่สำคัญมากคือกลุ่มคนที่ทำงานกับเราต้องเก่งที่สุดในด้านนั้น ๆ และผมเชื่อมั่นในทีมงานสูงมาก แต่บางครั้งก็ต้องไปพบเพื่อพูดคุยกับลูกค้าเอง เพราะต้องการเข้าใจความต้องการจริงๆ  ซึ่งการฟังอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้สำเร็จในตลาดนี้ให้ได้

มีเคล็ดลับอะไรในการดึงคนเก่ง ๆ มาทำงานกับ Eko

ถ้า Startup ของไทยมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแล้ว ย่อมมีคนเก่ง ๆ ต้องการมาทำงานด้วย เพราะสำหรับคนที่เก่งนั้นแม้ว่าเงินจะเป็นเรื่องสำคัญแต่สิ่งที่ดึงดูดคนอย่างแท้จริงคือการได้แสดงศักยภาพ เนื่องจากคนเก่งจะเชื่อในเรื่อง Global Vision หรือ Global Dream ซึ่งบริษัทเราก็สามารถดึงคนจาก Startup ระดับโลกได้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น Head of Europe ที่มาจาก McAfee

มองว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้ Startup ของเมืองไทยยังไม่ได้เป็น Unicorn

เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่มาก เพราะแค่ทำธุรกิจในประเทศเท่านั้นก็เพียงพอจะเป็น Unicorn ได้ ขณะที่สิงคโปร์กับมาเลเซีียแม้ว่าเป็นประเทศที่เล็กกว่าเมืองไทยแต่ Startup ที่ผมเจอจะมี mindset ตั้งแต่แรกตั้งธุรกิจแล้วว่าต้องออกไปเติบโตนอกประเทศและมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจให้เป็นระดับภูมิภาค

ขณะที่เมืองไทยไม่ได้ใหญ่มากเหมือนอินโดนีเซียจนสามารถทำธุรกิจแค่ในประเทศก็เพียงพอ แต่ก็ไม่ได้เล็กมากจนไม่สามารถจะคิดวางแนวทางธุรกิจให้เติบโตตั้งแต่แรก เช่นเดียวกับเรื่องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาของประเทศก็สำคัญด้วยหากจะทำให้คนมีความมั่นใจที่จะทำอะไรระดับโลกได้

แต่หนทางเดียวที่เมืองไทยจะมี Startup ที่สามารถระดมเงินทุนและดำเนินกิจการในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ก็ต้องมีแนวคิดและนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกด้วยเช่นกัน

อะไรคือ secret sauce ที่ทำให้ Eko เติบโตมาถึงวันนี้

ผมว่าไม่มีนะ แต่ที่แน่นอนสำหรับกิจการ Startup คือถ้าเรารอดก็ได้เรียนรู้ ต้องเปิดรับที่จะเรียนรู้จากทุกทาง ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่เรื่อยๆ และต้องมี teamwork ที่ดีด้วย เช่น Brian Chesky ผู้ก่อตั้ง Airbnb ที่เติบโตจากนักเรียนศิลปะมาเป็นเจ้าของกิจการมูลค่า 5 หมื่นกว่าล้านเหรียญภายใน 10 ปี ซึ่งที่ว่าเร็วมาก ซึ่งผมมักจะพูดกับพนักงานเสมอว่าถ้าบริษัทเติบโตขึ้น 3 เท่าแล้วตัวคุณเติบโตขึ้นท่ากันหรือหรือไม่ ถ้าไม่ใช่นั่นคือคุณกำลังถอยหลังแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญมากคือ ต้องคิดไว้เสมอว่าแม้จะระดมทุนได้มาก แต่ถ้าเทียบกับที่ Silicon Valley แล้วถือว่า ‘nothing’ ซึ่งผมมองว่าเราธรรมดามากเมื่อเทีียบกับระดับโลก อีกทั้งมองว่าเราเพิ่งเริ่มและจะสำเร็จได้ต้องเรียนรู้จากระดับโลกหรือระดับภูมิภาค

หากระดมทุนได้แค่นี้ แล้วเราคิดแค่นี้ ก็จบแค่นี้ ก็คงไม่สามารถเป็น Unicorn ได้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...