ไทยควรวางตัวอย่างไรใน TECH WAR แล้วจบแบบไหนถึงจะดีกับทุกฝ่าย? | Techsauce

ไทยควรวางตัวอย่างไรใน TECH WAR แล้วจบแบบไหนถึงจะดีกับทุกฝ่าย?

ความขัดแย้งกันระหว่างประเทศผู้นำโลกอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งด้านความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจ งานวิจัย ระบบ Supply Chain โดยเฉพาะด้านระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของประเทศที่เป็นคู่ค้าและต้องพึ่งพาทั้งสองประเทศนี้ สาเหตุหลักน่าจะมาจากสหรัฐอเมริกา ไม่เชื่อใจในเทคโนโลยีของจีน โดยคิดว่าอาจมีอะไรซ่อนอยู่ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ ประกอบกับมีหลายเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าจีนพยายามล้วงความลับทางการค้าและนวัตกรรมจากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ทางจีนเองก็มองหาโอกาสที่จะแสดงความเป็นประเทศผู้นำในเวทีโลก ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างเหตุการณ์ Tech War ของทั้งสองประเทศที่ปะทะชนกันหลายด้าน โดยที่ต่างฝ่ายต่างมีไพ่ที่เป็นต่อกันอยู่

1. ส่วนที่เป็นระดับรากฐานด้านสารกึ่งตัวนำ (semiconductor)

สหรัฐอเมริกาเริ่มตัด supplier ที่มาจากประเทศจีน เพราะอเมริกามีความล้ำหน้าด้านการใช้ Silicon ในการผลิต Semiconductor Chip มากกว่าจีน โดยเฉพาะการแปรรูปชิป (Fabrication) ที่ระดับ 7-10 นิวตันเมตร (ที่เพิ่มความจุของ Transistor ปริมาณสูง) และต้องการใช้หมากนี้ในการชะลอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ของจีนด้วย

ในขณะที่บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิต Silicon Chip ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 48% ก็ได้มีนโยบายคว่ำบาตร หยุดการผลิตให้แก่บริษัท Huawei ตามคำของสหรัฐอเมริกา เพราะเครื่องจักรที่ทางบริษัทใช้อยู่นั้นล้วนนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา

ล่าสุดบริษัท NVDIA ในสหรัฐอเมริกาที่ผลิต Processor สำหรับงาน graphic และ AI กำลังจะซื้อบริษัท ARM ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบ Processor ที่มีประสิทธิภาพในด้านพลังงาน ซึ่งเหมาะกับ Mobile และ license บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งจีน ซึ่ง ARM มีบริษัทร่วมทุนในจีนที่อาจเป็นประเด็นว่า ผู้ควบคุมดูแลกฎของจีนจะยอมให้ NVDIA ซื้อ ARM หรือไม่ 

อีกสิ่งที่สร้างความลำบากให้กับบริษัทผลิตชิปในอเมริกาก็คือ จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทชิปเหล่านี้ หากรัฐบาลออกมาตรการให้บริษัทเหล่านี้งดการขายให้จีน ก็จะทำให้รายได้ลดลงไป กระทบกับงบวิจัยซึ่งกลายเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของอเมริกาในอนาคต

ในเชิงตลาดวัตถุดิบ (Raw Material) จีนเป็นผู้ผลิต Silicon ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้ง Gallium ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในอนาคตสำหรับการผลิต Gallium Nitride Chip ซึ่งเป็นชิปแบบใหม่ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการสูญเสียความร้อนต่ำ เหมาะกับการใช้งานกับสถานีฐาน 5G การครอบครองตลาดวัตถุดิบสำคัญนี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบของจีน ซึ่งส่งผลต่อปัญหาด้านความมั่นคงที่สหรัฐอเมริกากำลังจับตามอง

2. ระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5G

5G เป็นเครือข่ายความเร็วสูงที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคต เช่น Self-Driving Car และ IoT sensor ที่ใช้กับ Smart City

ต้องยอมรับว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของจีนโดยเฉพาะ Huawei มีความก้าวหน้าและความพร้อมของระบบ 5G มากกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น Samsung (เกาหลีใต้) Nokia (ฟินแลนด์) Ericsson (สวีเดน) และ ZTE (จีน) รวมทั้งมีระบบเสาอากาศ (antennas) แบบ massive multiple-input and multiple-output (MIMO) ที่มีประสิทธิภาพทำให้บริษัทสามารถติดตั้งได้รวดเร็ว บวกกับตลาดภายในของจีนที่มีขนาดใหญ่ มีส่วนช่วยทำให้การขยายฐานเครือข่าย 5G ทำได้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ รวมกันเสียอีก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้มีเทคโนโลยี 5G เป็นของตัวเอง มีเพียงบริษัท Qualcomm ที่เป็นผู้ผลิตชิปทางด้านการสื่อสารเท่านั้น ทำให้การพัฒนาระบบ 5G ยังคงต้องพึ่งพาระบบของคนอื่นอยู่ เมื่อมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่าอเมริกามีความเสียเปรียบอยู่มาก

3. Platform และ AI

การที่จีนปิดไม่ให้ใช้ platform ต่างชาติ เนื่องจากต้องการควบคุมข่าวสารข้อมูลที่เข้าออกประเทศ ทำให้จีนต้องพึ่งพาใช้เทคโนโลยีของตนเองภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล จีนเองก็มี platform ที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงได้กับสหรัฐอเมริกา เช่น Baidu (Search), Alibaba (E-Commerce) และ WeChat/Tencent (Social Media) ซึ่งข้อได้เปรียบเรื่องตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากประชากรในการนำไปสอน Machine Learning และสร้าง model ให้มีความแม่นยำสูง ด้วยปริมาณข้อมูลที่จีนมีมากกว่า พร้อมการทำงานแบบ 996 (9 โมงเช้าถึง 9 โมงเย็น 6 วัน) ทำให้การพัฒนางาน รวมทั้งงานวิจัยด้าน AI ของจีนไปได้อย่างรวดเร็วมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความสำเร็จของบริษัท TikTok ที่มีต้นกำเนิดจากจีนที่มี AI Algorithm ที่เลือก content ได้ถูกใจคนใช้งาน ทำให้ยอด engagement สูงลิ่ว และเป็นเป้าหมายของบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเช่น Oracle หรือ Walmart ที่อยากจะเข้าถือหุ้นหรือร่วมลงทุนเพื่อนำไปใช้ด้านการตลาดในอนาคต แต่จีนกลับมองว่า การที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท อาจส่งผลให้สหรัฐอเมริกามีสิทธิเข้ามาใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ทางจีนจึงพยายามจะแก้ด้วยการกำหนด Export Control ประเด็นนี้ต้องคอยติดตามต่อไปว่าจะปิดดีลกันอย่างไร

ส่วนความก้าวหน้าด้าน AI ที่นำไปสู่ระบบอัตโนมัติ (automation) ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้เป็นองค์ประกอบของอาวุธสงคราม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าจับตามองทิศทางของทั้งสองประเทศนี้ต่อไป

อนาคตของความสัมพันธ์นี้อาจเป็นไปได้หลายอย่าง หนึ่งเลยคือ สงครามนี้ยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ เพราะนี่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเป็นผู้นำโลก จีนและอเมริกาคงพยายามหาทางอยู่กันอย่างลิ้นกับฟัน ที่มีทั้งความร่วมมือกันและปะทะกันในบางเรื่อง เพื่อคงความเป็นผู้นำโลกทั้งคู่ ส่วนในขณะที่อเมริกายังคงล้มลุกคลุกคลานจากพิษ COVID-19 และฟื้นตัวจากความไม่แน่นอนของทรัมป์ ถ้าหากจีนสามารถพลิกโอกาสในช่วงนี้และคลายความกดดันจากการลดความร่วมมือกับอเมริกา หันมาเน้นสร้างความสามารถและใช้ประโยชน์จากตลาดภายในประเทศ บวกกับนโยบาย Made in China 2025 ผมว่าจีนมีโอกาสที่จะมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าอเมริกาได้ในเวทีโลก จีนอาจจะได้เปรียบในการมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G AI Platform ที่ล้ำหน้า ที่ขยายการใช้งานไปกับประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียและแอฟริกา ไปสู่การสร้างอำนาจครอบครองทางเทคโนโลยี ทำให้การย้ายค่ายไปใช้ของที่ไม่ใช่ของจีนยากขึ้น

แล้วคำถามที่ว่า ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร? จีนมีอิทธิพลอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากประเทศจะอยู่ใกล้กันแล้ว ยังมีการลงทุนในภูมิภาคนี้ทั้งไทย ลาว กัมพูชา รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง โทรคมนาคม 5G หรือการนำเอา Platform E-Commerce หรือ Data Center เข้ามาใช้ในอาเซียน สิ่งที่เราควรทำคือ ระวังถูกครอบงำหรือผูกขาดทางเทคโนโลยีจากค่ายใดค่ายหนึ่ง เราควรเรียนรู้จากเหตุการณ์ของทั้งสองประเทศนี้ เพื่อที่วันหนึ่งเราจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองได้ เพราะทุกวันนี้ การเป็นเจ้าของ Technology Platform หรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน แปลว่าเราเป็นเจ้าของข้อมูลมหาศาลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อีกมากมาย ลองคิดดูว่า ถ้าต่างประเทศได้กลายมาเป็นเจ้าของทุก platform ที่เราใช้ในไทย หมายความว่า เราจะตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีของประเทศนั้น ๆ เลยก็ว่าได้ แล้วเราจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน ที่ได้ช่วยอ่านและให้คำแนะนำดี ๆ ด้วยครับ

บทความโดย คุณจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist and VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

References:

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...