ธุรกิจท่องเที่ยวต้องทำอย่างไร ถึงแข่งขันได้หลังเปิดประเทศ ? | Techsauce

ธุรกิจท่องเที่ยวต้องทำอย่างไร ถึงแข่งขันได้หลังเปิดประเทศ ?

การเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและต้อนรับการท่องเที่ยว รวมถึงการออกมาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของภาคเอกชนได้บ้าง เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศระหว่างการแพร่ระบาดได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีมาตรการหลาย ๆ ส่วนที่ควรเร่งพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้พ้นจากภาวะวิกฤตินี้โดยเร็ว 

ท่องเที่ยว

ถ้ายังจำได้สมัยก่อนกระแสการท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เฉพาะจากประเทศโซนยุโรป แม้กระทั่งโซนเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและจีนเองก็เคยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เคยเข้ามาในไทยตลอด มาวันนี้กระแสกลับเงียบหายทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เคยทำไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องปิดกิจการและปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อเตรียมรับการเปิดประเทศอีกครั้ง แต่ยังต้องตระหนักด้วยว่าทุกสิ่งจะไม่กลับเป็นแบบเดิมทั้งด้านของจำนวนและวิถีการท่องเที่ยว

กระแสท่องเที่ยวที่พลิกกลับภายในไม่กี่ปี

ภาคท่องเที่ยวและให้บริการเคยเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยมาเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งเกิดการระบาดครั้งใหญ่และล็อคดาวทั้งประเทศตลอดเวลาเกือบ 3 ปี แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในจุดท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในประเทศและตอกย้ำว่าการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักมีความเสี่ยงและส่งผลกระทบกับแรงงานในภาคนี้อย่างมาก เดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 ที่สร้างรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือ 11% ของ GDP เหลือเพียง 5 แสนคนในปี 2564 และคาดการณ์ว่าจะเป็น 10 ล้านคนในปีนี้ นักท่องเที่ยวคนไทยเองก็มีแนวโน้มจะเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากหลายประเทศก็เริ่มกลับมารับนักท่องเที่ยวเช่นกัน ตัวเลขเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงเทรนด์การท่องเที่ยวที่จะไม่กลับมาเป็นแบบเดิม 

โลกหลังจากนี้การแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป แม้ว่ามาตรการผ่อนปรนการสวมหน้ากากและการกลับมาให้บริการในภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ตัวนักท่องเที่ยวเองก็ไม่กลับไปมีพฤติกรรมแบบก่อนโควิด-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในปี 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยออกบทความวิเคราะห์การท่องเที่ยวแบบใหม่เพื่อรับมือกับโลกหลังโควิด-19 ซึ่งบทความระบุถึงความจำเป็นในการรื้อโครงสร้างโมเดลการท่องเที่ยวแบบเดิมของไทยเป็นแบบใหม่และต้องวางกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป

การปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวไปโมเดลใหม่นี้ จะสร้างการลงทุนในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อาทิ 

การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนกระแส Contactless และแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและการลงทุนในระบบการคมนาคม จากปัจจุบันที่ไทยลงทุนเพียงแค่ 13% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยว เทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่มีสัดส่วนที่ 21% และ 27% ตามลำดับซึ่งต้องเพิ่มตัวเลขการลงทุนนี้ขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรการผลิต ทั้งสินค้าและบริการ เครื่องจักร และแรงงานไปในที่ที่จะได้รับผลดีสูงสุดและจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพการให้บริการท่องเที่ยว

โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคถูกสถานการณ์บังคับเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เป็นอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างในชีวิตถูกปรับไปเป็นดิจิทัลหมดเมื่อการท่องเที่ยวและการเดินทางกลับมา นักท่องเที่ยวได้มองหาข้อเสนอจากช่องทางออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีทำ content และวิธีการสื่อสาร เพราะเมื่อช่องทางสื่อสารกลายเป็นโทรศัพท์มือถือ ทุกอย่างจึงควรต้องกระชับ ตรงประเด็น เข้าใจง่าย และต้องน่าสนใจ ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้ในเวลาเดียวกัน ปัจจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน รวมทั้งความสนใจต่อสถานที่ท่องเที่ยวเช่นกัน

เทรนด์ไหนกำลังมาและต้องทำอย่างไร

โมเดลท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปและสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้โดยวิเคราะห์จากเทรนด์ของโลกและข้อกังวลของนักท่องเที่ยวมี 3 ตัวนั่นก็คือ 1. Wellness tourism 2. Green & community-based tourism และ 3. MICE tourism

จากการประเมินของ Global Wellness Institute การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ในภาพรวมระดับโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าจะหยุดชะงักในปี 2563 เนื่องจากโควิดที่เข้ามา แต่มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มูลค่าได้กลับมาเท่ากับ 652,000 ล้านดอลล่าร์หรือกลับมาเติบโตถึง 20.9% แต่ตัวเลขการใช้จ่ายกลับมีความน่าสนใจมากว่าเพราะ นักท่องเที่ยวด้านสุขภาพต่างประเทศใช้จ่ายเฉลี่ย 1,601 ดอลลาร์ต่อเที่ยวในปี 2563 ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปถึง 35% และนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในประเทศใช้จ่าย 619 ดอลลาร์ต่อเที่ยว มากกว่านักท่องเที่ยวในประเทศโดยเฉลี่ย 177% ยิ่งประกอบกับการที่ในปี 2565 นี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นเทรนด์การท่องเที่ยวด้านสุขภาพที่รองรับผู้สูงอายุจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่นักท่องเที่ยวเลือกมองหา ซึ่งตรงกับโมเดลที่ธปท.เคยนำเสนอว่าจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวแทนที่การพึ่งจำนวนนักท่องเที่ยว กล่าวคือเปลี่ยนจากจำนวนที่มากเป็นเน้นการใช้จ่ายต่อหัวที่เยอะแต่ไม่อิงปริมาณนักท่องเที่ยว

อีกเทรนด์ก็คือกลุ่ม Green & community-based tourism ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองและลด over-tourism อีกทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจถึงประมาณ 60-80% ของรายได้ที่ได้รับอีกด้วย โดยหลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (community-based tourism) นั้น มีด้วยกัน 10 ข้อ คือ

  1. ชุมชนเป็นเจ้าของ

  2. ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ

  3. ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง

  4. ยกระดับคุณภาพชีวิต

  5. มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม

  6. ชุมชนยังคงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น

  7. ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม

  8. เข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

  9. เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น

  10. มีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

การท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นสามารถเป็นทั้งทางเลือกในการสร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชนดึงดูนักท่องเที่ยวที่หากิจกรรมใหม่ ๆ และประสบการณ์ที่ไม่เคยพบ แม้ว่าตลาดนี้จะเป็น Niche market ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในไทยแต่ค่อนข้างได้รับความสนใจจากต่างชาติมากประกอบกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่กระจายตัวมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด และเป็นการบังคับผู้ประกอบการในกลุ่มเมืองรองและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ให้พร้อมสำหรับการใช้เทคโนโลยีมาจับในการท่องเที่ยวไม่ไม่ว่าจะเป็นระบบ e-payment ที่ตอนนี้กลายเป็นความคุ้นเคยของคนทั่วไปแล้วหรือการเปิดให้จองออนไลน์และการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการท่องเที่ยวแบบ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) เน้นที่กลุ่มนักลงทุน และ Professional staffs ที่เข้ามาทำงานในไทย หรือมาจัดสัมมนาในไทย รวมถึงกลุ่ม Work from anywhere และผู้ติดตาม ซึ่งจะเป็นกลุ่มศักยภาพที่ใช้จ่ายสูงเพราะมีแนวโน้มที่จะอยู่นาน สถานที่พักผ่อนหรือโรงแรมหลายแห่งก็มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับกลุ่มนี้ เช่นการมีห้องประชุมสัมมนาที่รองรับทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ การสร้างห้องนอนให้เหมาะกับการทำงานออนไลน์ หรือการมีออแกไนซ์รับจัดงานต่าง ๆ 

ภาคแรงงานต้องเพิ่มทักษะหรือปรับเปลี่ยนความถนัดให้สอดคล้องเทรนด์ใหม่นี้ ในขณะที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับสถานที่ เส้นทาง และกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงที่พัก เพิ่มความน่าสนใจของเมืองรองและช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายและใช้จ่ายสูงขึ้น ด้านผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ให้ตรงใจพฤติกรรมใหม่ของนักท่องเที่ยว ทั้งเรื่องความสะอาด ปลอดภัย การดำเนินการที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสถานการณ์ และที่สำคัญต้องต่อยอดด้วยเทคโนโลยีที่จะทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพและสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับลูกค้า

สรุปไทยยังคงมีทรัพยากรที่เข้มแข็งทั้งทุนธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงการให้บริการที่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ทำให้ความคาดหวังจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเป็นตัวดึงจีดีพีและกลับมาช่วยกู้เศรษฐกิจในรายจังหวัดได้ แต่สิ่งที่รออยู่ในช่วงสิ้นปีนี้คือความสามารถของคนไทยที่ต้องปรับตัวรอรับการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปและรับมือกับความผันผวนในอนาคต

อ้างอิง unwto , bot , globalwellnessinstitute  , nso

บทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจรายสัปดาห์  



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...