ฉีกตำราสู้พิษเศรษฐกิจจาก COVID-19 กับ 'ทิม พิธา' ประเทศไทยควรหาโอกาสอย่างไร ? | Techsauce

ฉีกตำราสู้พิษเศรษฐกิจจาก COVID-19 กับ 'ทิม พิธา' ประเทศไทยควรหาโอกาสอย่างไร ?

"เมื่อช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจมหภาคและ GDP เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจของประชาชนได้ว่าพวกเขาอดอยากขนาดไหน แต่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป และสิ่งที่ต้องรีบแก้ไขคืออะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"

ในงาน Techsauce Virtual Conference 2020 เราได้เชิญคุณทิม - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ มาพูดคุยมุมมองผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤตระดับโลก ที่จะต้องมองทั้งในภาพใหญ่ และภาพย่อย หรือตั้งแต่ระดับมหภาค แล้วย่อยลงมาจนถึงระดับจุลภาค เพื่อให้เห็นถึงปัญหาในกลุ่มเปราะบางของประเทศไทย ที่กำลังรอการเยียวยาจากภาครัฐเช่นกัน รวมไปถึงแนวทางหรือนโยบายที่ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เกิดภาวะถดถอยในระยะยาว 

ติดตามชม session  ย้อนหลังฉบับเต็มได้ที่นี่ 

วิกฤตในปัจจุบันมีความร้ายแรงเทียบเท่ากับในช่วง Great Depression โดยเทียบได้จากข้อมูลของสหรัฐ

คุณพิธา กล่าวว่า สถานการณ์ในมิติของเศรษฐกิจทุกวันนี้ สิ่งที่มักจะเห็นกันบ่อย คือ การเปรียบเทียบกับ Great Depression ในปี 1930 โดย ณ ตอนนั้น อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.2 % และเพิ่มไปเป็น 25% ภายใน 4 ปี แต่ปัจจุบันนี้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.5% และเพิ่มเป็น 18% ใน 4 สัปดาห์ นั่นหมายความว่าหากเอาคนสหรัฐอเมริกามายืนเรียงกัน 5 คน จะมี 1 คนที่ไม่มีงานทำ โดยการเกิด Great Depression ในสมัยนั้นจะมีวิกฤติประกอบกัน 3 เหตุการณ์ 

หนึ่ง  ฟองสบู่การเงินด้วย สอง สงครามการค้าที่สหรัฐเป็นผู้เริ่ม และสาม ภัยแล้ง แต่ในวิกฤต COVID-19 นี้แค่ภายใน 4 สัปดาห์ในเดือนเมษายน 2020 อัตราการว่างงานพุ่งสูงอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ถือเป็นวิกฤตที่ร้ายแรง ซึ่งแยกกันไม่ออกแล้วระหว่างวิกฤตทางสาธารณสุข  และวิกฤตทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีภาวะผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกตลอดเวลา  เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ก็ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกหวั่นไหวไปด้วย

เศรษฐกิจของทั้งโลกเผชิญวิกฤติทั้งหมด จีนเผย GDP ไตรมาสแรกติดลบถึง 6.8% 

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะวิกฤตทั้งหมด โดยปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อสูงกว่า 2 ล้านคนแล้ว ซึ่งในแง่ของเศรษฐกิจก็มีความรุนแรงที่สุดในรอบร้อยปี โดยจีนได้เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสแรกติดลบกว่า 6.8% ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า จะติดลบกว่า 4%  เยอรมันคาดว่าจะติดลบกว่า 1.9%  

วิกฤต COVID-19 จะส่งผลต่อ GDP ไทยในระดับเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง 

สำหรับประเทศไทยแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมักจะมีการนำไปเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เฉพาะฝั่งเอเชีย โดยตอนนั้นมีสถาบันการเงินถูกปิดไปกว่า 50 สถาบัน ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ที่หนักหนาสำหรับประเทศไทย และอินโดนีเซีย แต่วิกฤตตอนนั้นเป็นของคนรวย ซึ่ง GDP ของไทยเมื่อปี 2541 ติดลบกว่า 7.6% 

แต่แล้วเราก็ใช้เวลาในการแก้ปัญหาไม่นาน จะเห็นได้ว่าในปี 2542 สามารถรีเทิร์นกลับมา เป็นรูปตัว  V ตัวแรกในเศรษฐกิจมหาภาคของไทย หลังจากนั้นในปี 2552 ก็มาถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นวิกฤตการเงินที่จำกัดอยู่ในวงทางฝั่งสหรัฐอเมริกา  แต่ก็ได้มีการมีการใช้งบประมานจำนวนมากในการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing :QE) ที่อัดกลับเข้าไป ก็เลยทำให้กลับมาเป็นตัว V ที่สองของประเทศไทยได้

ต่อมาก็มาวิกฤตที่สามของไทย คือ น้ำท่วมเมื่อปี 2554  โดยธุรกิจที่ยากลำบากมาก ก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่ไม่สามารถผลิตได้ก็จะมีปัญหาตรงส่วน supply chain กับต่างประเทศ แต่เราก็ใช้ระยะเวลาไม่นานก็สามารถกระดอนเป็นตัว V กลับมาได้อีกครั้ง

Hockey Stick  Economy หรือ Boomerang Economy ?

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า GDP ของไทยปีนี้จะติดลบ 5.3%  ซึ่งใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยก่อนหน้านี้เป็นเวลา 70 เดือนมาแล้ว ทางด้านความมั่นใจของผู้บริโภค หรือนักลงทุนต่างก็อยู่ในระดับที่แย่อยู่แล้ว และในปีนี้ยังมาเจอวิกฤติโรคระบาดที่เป็น Global Pandemic อีกที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

สำหรับการคาดการณ์ของ กนง. เราสามารถถกเถียงกันได้ว่าโอกาสที่มันจะเป็นแบบนี้เป็นไปได้อย่างไร แล้วปัจจัยที่เราสามารถจะควบคุมได้มีมากน้อยแค่ไหน ?

ดังนั้นเราต้องรู้ว่าภายใน GDP ของเรามันมีปัจจัยจากอะไรบ้างที่บอกได้ว่าจะเป็น Boomerang Economy การที่เศรษฐกิจตกต่ำลงไปแล้วสามารถกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้เป็นกราฟรูปตัว V หรือว่า Hockey Stick  Economy การที่เศรษฐกิจตกต่ำลงไปแล้วมีการฟื้นตัวในระดับต่ำและซบเซาระยะยาว

เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องมีการ Lockdown ในระดับเมือง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่สามารถที่จะมีการเคลื่อนย้ายของคน การบริการของสินค้าได้ ความรู้สึกของ political economy ตอนนี้คือ anti-globalization มากขึ้น  

เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเรา ขึ้นอยู่กับ 2T ได้แก่ Trade และ Tourism โดยส่งออกมูลค่าอยู่ที่ 7.5 ล้านล้าน ท่องเที่ยวมูลค่าอยู่ที่ 2 ล้านล้าน คาดการณ์เป็นตัวเลขก็อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้าน คิดเป็น 60% ของ GDP ไทยทั้งหมดที่มีอยู่มูลค่า 17 ล้านล้าน 

จะเห็นได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น Domestic economy แต่เป็นการพึ่งพาโลกภายนอก หรือเป็น International economy โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว ถ้าหาก 2 ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงเวลาและพอเหมาะ คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบ Hockey Stick

โอกาสของประเทศไทยในฐานะ 'ครัวของโลก'

คุณพิธา กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีวิกฤติ COVID-19 เกิดขึ้นการค้าขายระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักลง โดยเมื่อ  100 วันที่ผ่านมา ตัวเลขลดลงอยู่ที่ 32% และทางองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)  องค์การค้าโลก (World Trade Organization :WTO) หรือ ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA) ต่างก็ออกมาบอกว่า 1 ใน 3 ของการค้าขายทั่วโลกจะชะงักลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือยที่เกี่ยวกับ Auto Electronic ต่างก็หยุดชะงักหมด แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่กลับกลายเป็นที่ต้องการของทั่วโลกตอนนี้ คือ อาหาร

ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 15 เมษายน ชานชุนซิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ ออกมาประกาศว่าสิงคโปร์ ต้อนรับอาหารปลอดภัยจากประเทศนิวซีแลนด์ ขอให้ประชาชนคนสิงโปร์ ไว้วางใจว่าสิงคโปร์จะมีความมั่นคงทางอาหารจากประเทศนี้ เพราะสิงคโปร์ได้มีการพูดคุยกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ไปเมื่อปีที่แล้ว  และยังจะมีการพูดคุยกับ ออสเตรเลีย บรูไน  แคนาดา ชิลี ลาว พม่า และอุรุกกวัย ว่าจะไม่มีการขึ้นภาษี และทำมาค้าขาย ส่งออกนำเข้ากันอย่างมีมนุษยธรรม แล้วก็ทำทุกทางที่ให้สินค้าที่เข้ามาในกลุ่มประเทศนี้มีความปลอดภัย  

จากตัวอย่างของเหตุการณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่าตรงนี้ถือเป็น New Normal ทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะปกติถ้าเป็นเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องนึกถึงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) NAFTA และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านี้ ต่างก็มีการตกลงกันเองถึงการดูแลประชาชน และความมั่นคงทางอาหารของประเทศเขาผ่านทางการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่า global trade จะหายไป 32% แต่สิ่งที่เป็นปัจจัย 4 มันหยุดไม่ได้ โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร

สิ่งที่น่าสงสัย และตั้งคำถามต่อไปคือ ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ‘ไทยเป็นครัวของโลก’ 

'เงินทอง คือ มายา ข้าวปลา คือ ของจริง' New Normal ของ Global Trade

คุณพิธา เสนอว่า นี่เป็นโอกาสที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการดูแลเกษตรกรของเรา แล้วก็ทำให้ Trade ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่หายไปมาก  และมีโอกาสที่จะทำให้  GDP ของเราย้อนกลับมาได้ เพราะช่วงนี้มันเป็นวิกฤตที่เป็นโอกาสได้ โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร

ในช่วงเวลาเช่นนี้เป็นโอกาสที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้เกิดการเสริมศักยภาพแรงงาน  โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ มีความเข้าใจใน E-commerce หรือบางคนอาจจะมีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการ ด้านอุตสาหกรรม กระจายไปอยู่ต่างจังหวัด และหากเราไม่ต้องการให้เกิดการกระจุกตัวอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป เมื่อมีการกระจายของคน สิ่งที่ตามมาคือ การกระจายโอกาส และต้องมีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดิน หนี้สิน ระบบชลประทาน ตามกระดุมห้าเม็ดที่เคยได้อภิปรายไปในสภาฯ

New Nomal ของ Global Trade  มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างที่เขาว่ากันว่า เงินทอง คือ มายา ข้าวปลา คือ ของจริง  ดังนั้นประเทศไทยมีโอกาสสูงมากจากด้านเกษตรกรรม

Virtual Tourism ทางเลือกใหม่ของการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสกระจายรายได้สู่รากหญ้า

แน่นอนว่าตัวเลขที่กระทบทางด้านการท่องเที่ยวตอนนี้ ผู้คนหยุดเดินทาง ซึ่งคิดเป็น  1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด  หากคิดเป็นมูลค่าที่หายไปจากระบบอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหประชาชาติก็มองว่า ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด คือ การท่องเที่ยวจะซึมยาวกว่า 5 ปี ที่จะไม่มีการเจริญเติบโต ถ้าเป็นเช่นนี้แนวโน้มเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็จะเป็นแบบ Hockey Stick เช่นกัน เพราะการท่องเที่ยวในไทยก็เป็นส่วนสำคัญของ GDP 

ดังนั้นคุณพิธา จึงเสนอว่า ในการที่จะทำให้ระดับของการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้งนั้น จะยกตัวอย่างจากสิ่งที่ บิล เกตส์ ได้พูดไว้ถึงการท่องเที่ยวของประเทศกรีซ ที่มีเว็บไซต์ Greecefromhome ซึ่งเป็นการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวมิติใหม่อย่าง Virtual Tourism ด้วยการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนอย่าง Virtual Reality (VR) , Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR) มาใช้  

เพราะในเมื่อเราไม่สามารถเอานักท่องเที่ยวมาเที่ยวกลับมาในช่วงที่เกิดโรคระบาดได้ แต่ช่วงที่คนอยู่บ้าน แน่นอนว่าหลายคนก็กำลังคิดว่าเมื่อมีการเปิดประเทศ และโรคระบาดควบคุมได้ ก็ต้องการที่จะท่องเที่ยวพักผ่อนในที่ที่ปลอดภัย รวมถึงมีมาตรฐานทางสาธารณสุขที่พร้อม ดังนั้นเศรษฐกิจหลัง COVID-19 จะมีเทรนด์ใหม่ ๆ ของผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเทรนด์ของการใช้เทคโนโลยี 

อย่างไรก็ตาม ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็จะต้องให้เข้าถึงรากหญ้าให้ได้เช่นกัน เพราะ มันก็เป็นวิกฤตที่มีโอกาสคล้าย ๆ กับเกษตรกร โดยตอนนี้ในประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ลดลงต่อเนื่อง 14 วัน และสำหรับจังหวัดที่นักท่องเที่ยวอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อนเมื่อมาท่องเที่ยวประเทศไทย อย่างเช่น แพร่ สิงห์บุรี ลพบุรี กำแพงเพชร 

ซึ่งที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในไทยมักจะกระจุกตัวอยู่แค่หัวเมืองใหญ่อย่าง  กรุงเทพ  ภูเก็ต พัทยา แต่ในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดเมืองให้สามารถกลับมาเที่ยวได้  เราก็อาจจะไปดูว่ามีเมืองไหนที่ประชาชนไม่กระจุก มีความสงบสงบ มีจุดขาย มีสนามบินพร้อม และไม่กระทบกับมาตรการ Social Distancing จากทางสาธารณสุข  อาจจะมีการกลับมาทบทวนถึงการทำ Destination Planning ใหม่ โดยให้มีจังหวัดที่เคยเป็น off radar หรือนักท่องเที่ยวไม่เคยคิดถึงมาก่อน แต่เราสามารถโฆษณาได้ว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย มีความสงบ  มีความพร้อมทางการแพทย์  ถ้ามาเที่ยวเมืองเหล่านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะซื้อประกันให้ เป็นต้น เมื่อคิดถึงตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะปรับโครงสร้างให้คนรากหญ้าได้มีโอกาส มีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วก็ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงมาแนะนำให้กับนักท่องเที่ยวได้รู้จักจังหวัดเหล่านี้มากขึ้น

ถ้าประเทศไทยอยากจะให้เศรษฐกิจเป็นแบบ Boomerang ได้นั้น ต้องรู้ว่าจะโฟกัสที่จุดไหน ถ้ามีเงื่อนไขเหล่านี้ แล้วหลังจากนั้นค่อย ๆ เปราะทีละเล็กน้อย ผ่อนคลายมาตรการทีละจังหวัด ไม่ใช่มองทั้งประเทศในคลี่คลาย แล้วค่อยดำเนินการ ดังนั้นอย่างที่บอกว่าเรื่องของเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องที่ต้องมองกันตั้งแต่มหภาค จุลภาค และเฉพาะหน้าจริง ๆ 

อย่างไรก็ตาม คุณพิธากล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ต้องบอกว่าประเทศไทยยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เดือดร้อน และยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในเมือง และไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000  บาท จากการที่ถูกระบบการลงทะเบียนปฏิเสธด้วยสถานะการเป็นเกษตรกร 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน และไม่สามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งมาตรการเยียวยาในการแจกเงิน 5,000 บาทกับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบเพียง 9  ล้านคน แต่มีประชาชนอีก 50-60 ล้านคนที่ได้ผลกระทบ รัฐบาลจะสามารถเยียวยาให้ได้ถ้วนหน้าได้อย่างไร  ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องมาพิสูจน์สิทธิ์ด้วยเทคโนโลยีที่มันไม่พร้อม หรือด้วยมุมมองของความเป็นมนุษย์ที่บังคับคนให้พิสูจน์ความจนมันลดทอน  มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องเยียวยาถ้วนหน้า 

สำหรับการกู้เงินเพื่อมาเป็นงบประมาณในช่วงวิกฤตตรงนี้อีก 1.9 ล้านล้านบาท การเป็นหนี้สาธารณะตรงนี้ มีโอกาสที่จะประคับประคองเพื่อให้กลุ่มเปราะบาง และคนไทยทุกคนรอดจากวิกฤตนี้ไปได้ และในขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนเริ่มที่จะตั้งหลักได้ เราก็ต้องย้อนกลับมาดูถึงนโยบายที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้สามารถกลับมาได้อีกครั้ง


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...