วิเคราะห์แผนครองโลกดิจิทอลของแบงก์สีเขียว กสิกรไทยกำลังคิดอะไรอยู่? | Techsauce

วิเคราะห์แผนครองโลกดิจิทอลของแบงก์สีเขียว กสิกรไทยกำลังคิดอะไรอยู่?

ในรอบปีที่ผ่านมา ถ้าจะพูดถึงบริษัทในประเทศไทยที่ปรับตัวเรื่องดิจิตอลได้เร็วที่สุด มีสีสันที่สุด แถลงข่าวระดับกระเทือนวงการ ก็คงจะหนีไม่พ้น ธนาคารกสิกรไทย เมื่อพูดถึงองค์กรที่มีพนักงานหลักหมื่นคน การจะเปลี่ยนแปลงองค์กรย่อมช้า ใช้เวลา สู้ Startup ไม่ได้ แต่สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยได้แสดงให้เห็นในปี 2018 คือ ธนาคารก็สามารถ Move Fast ได้

มาดูกันว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้ทำอะไรไปบ้าง

  1. เปิดตัว K Plus โฉมใหม่และกล้าลุยอีคอมเมิร์ซ ที่ผมว่าน่าสนใจสุดสำหรับแอปเวอร์ชั่นใหม่คือการทำให้แอปนี้ไม่ใช่แอปธนาคาร แต่คือแอปสำหรับซื้อของ K Plus โฉมใหม่โปรโมท K+Market เต็มตัว อยากให้คนมาซื้อของบน K Plus หมายความว่าทางกสิกรไทยก็หวังแข่งในตลาด E-Commerce เหมือนกัน โดยชูจุดขายคือใช้พอยท์บัตรเครดิตกสิกรไทยได้รวมกับจุดแข็งด้าน SME ของธนาคาร เพราะ K Plus เป็นแอปที่มีคนใช้มากสุดฝั่งผู้ใช้ทั่วไป และธนาคารก็เป็นธนาคารที่ SME นิยมใช้มากสุด (อ่านเพิ่มเติม : K PLUS โฉมใหม่ มีอะไรใหม่ อะไรเปลี่ยน? พร้อม AI ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง)
  2. ลงทุนใน Startup ที่ช่วยพัฒนา product ของธนาคาร ในปีที่ผ่านมา Beacon Venture ในเครือกสิกรไทย ได้ลงทุนใน Ookbee และ Instarem ดีลที่ลงใน Instarem นั้นน่าสนใจมาก เพราะ Instarem เป็นสตาร์ทอัพด้านการโอนเงินข้ามประเทศ ให้บริการครอบคลุมกว่า 40 ประเทศ ซึ่งสามารถต่อยอดกับกสิกรไทยได้เป็นอย่างดี (อ่านเพิ่มเติม : Beacon VC ร่วมลงทุน 'InstaReM' ในระดับ Series C)
  3.  Partnership กับทุกแอปและแพลตฟอร์มยอดนิยมของไทย ดีลแรกคือ Facebook Messenger เพื่อรุกตลาด social commerce เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่สองถัดจาก 2C2P ที่ได้เป็นทางเลือกนึงในการจ่ายเงินเวลาคนซื้อของบน Facebook Messenger (อ่านเพิ่มเติม KBank เชื่อมระบบจ่ายเงินเข้ากับ Facebook Messenger เป็นธนาคารแรกในไทย) ดีลที่สองคือ ลงทุนใน Grab แบบ exclusive (อ่านเพิ่มเติม : กสิกรไทย ประกาศลงทุนใน Grab 1,600 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว ‘GrabPay by KBank) และดีลที่เพิ่งเกิดล่าสุดคือ ลงทุนตั้งบริษัทใหม่กับ Line แบบ exclusive เช่นกัน(อ่านเพิ่มเติม : กสิกรไทย จับมือ LINE จัดตั้งบริษัทร่วมกัน “บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด” เตรียมเปิดตัวบริการใหม่ในปี 2019)
  4. ลดจำนวนสาขาและตั้งแบงกิ้งเอเยนต์กับไปรษณีไทย เมื่อสาขาไม่คุ้มค่ากับจำนวนพนักงานและค่าเช่าที่ ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งก็ปิดสาขากันอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยนั้นก็ได้เซ็นสัญญาให้ไปรษณีไทยและคาเฟ่อเมซอน การได้ไปรษณีไทยมาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทย เพราะไปรษณีไทยนั้นมีจำนวนสาขากว่า 5,000 แห่ง น่าจะเป็นรองแค่ 7-11 ที่เดียวในประเทศ  (อ่านเพิ่มเติม https://techsauce.co/news/kbank-appoints-thailand-post-as-the-first-banking-agent-to-provide-kbank-service/)
  5. กวาดต้อนตลาดนักศึกษาผ่านการพัฒนาระบบดิจิทอลให้กับมหาวิทยาลัย ที่เป็นข่าวเรื่องเซ็นสัญญากันในปีนี้ คือ จุฬาลงกรณ์ หอการค้าไทย ธุรกิจบัณฑิตย์ ศิลปากร และหัวเฉียว รวม 5 มหาวิทยาลัย ซึ่งมาพร้อมกับบัตรนักศึกษาที่เปิดบัญชีกับกสิกรไทย สามารถใช้กดเงินได้ (อ่านเพิ่มเติม https://techsauce.co/news/cu-launches-application-collab-with-kbank/)
  6. รุกหนักตลาด ecommerce payment gateway ผมเคยจะซื้อสินค้าบนเว็บอีคอมเมิร์ซของไทย topvalue.com ช่วงเดือนที่แล้วผมได้เข้าไปที่เว็บอีกครั้งก็พบว่า ทาง topvalue ได้เปลี่ยนมาใช้ payment gateway หน้าที่ใช้กรอกข้อมูลตัดบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทยแล้ว ในตลาด payment gateway บริษัทที่ทำมาก่อนใครคือ 2C2P และมี Omise ที่มาแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากหนึ่งตัวอย่างที่ผมเห็น ผมคิดว่าทางกสิกรไทยกำลังบุกตลาด payment gateway โดยการแข่งลดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต เพื่อชิงร้านอีคอมเมิร์ซมาให้ได้มากที่สุด

ธนาคารกสิกรไทยกำลังวางแผนทำอะไร?

ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่แบงก์สีเขียวกำลังพยายามสร้าง

1. ยึดครอง Data บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการจ่ายเงิน

ในยุคก่อนธนาคารแข่งขันกันด้วยการเปิดสาขา ซึ่งสามารถไล่ทันกันได้ กับการหา Niche ในแต่ละตลาด ไม่ค่อนมีความแตกต่างด้านข้อมูล เพราะใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรเป็นหลักเหมือนกัน แต่ในยุคดิจิตอล ธนาคารจะแข่งกันด้วยจำนวนผู้ใช้ ข้อมูล และความสามารถด้านดิจิตอลของพนักงาน

การจะรู้ข้อมูลการใช้จ่ายของคนบนโลกออนไลน์นั้นทำได้หลายวิธี วิธีแรกคือให้คนจ่ายเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิตของธนาคาร วิธีสองคือไปเป็นระบบรับจ่ายเงินของร้านค้า ทั้งสองวิธีธนาคารจะรู้ว่าลูกค้าจ่ายเงินเท่าไร ให้ที่ไหน และใช้วิธีอะไรจ่าย วิธีที่ได้ข้อมูลเยอะที่สุดคือ ให้คนมาซื้อของบนแพลตฟอร์มของตัวเอง วิธีนี้ธนาคารจะรู้เลยว่าลูกค้าซื้อของอะไร ชอบอะไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีกว่าข้อมูลบน Facebook ว่าเรา Like เพจอะไรเสียอีก

การอยากได้ข้อมูลให้เยอะที่สุด น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักว่าทำไมธนาคารถึงกล้าทำแอปแข่ง Shopee กับ Lazada ดีลที่จะเปิดบริษัทกับ Line เพื่อทำ social banking ก็น่าสนใจมาก เพราะ”อาจ”ทำให้กสิกรไทยสามารถใช้ข้อมูลการแชทบน Line ซึ่งมหาศาลมากๆ มาทำประโยชน์ได้

2. ยึดครองแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์สำหรับพาร์ตเนอร์ชิพการจ่ายเงิน

ตัวธนาคารเองไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนมาทำทุกอย่างบนแอปธนาคาร เพราะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นลูกค้าใช้แอปไหนบ่อย ซื้อของเว็บไหนบ่อย ธนาคารก็จะไปเป็น Payment Gateway เพื่อให้ได้ทั้งค่าธรรมเนียมและข้อมูล ซึ่งรวมถึงข้อมูลของคนที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร และถ้าเป็นไปได้ ก็ทำพาร์ตเนอร์ชิพแบบ Exclusive เพื่อให้แตกต่าง ธนาคารอื่นทำตามไม่ได้

ถ้าถามว่าแอปไหนที่ปัจจุบันและอนาคตคนไทยจะใช้เยอะเข้าบ่อยและไม่ใช่แอปธนาคาร คำตอบ ณ วันนี้ก็คือ Facebook, Line, และ Grab

ณ วินาทีนี้คือ ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปเป็น partner หมดแล้ว ในอนาคตแอปไหนจะชนะ ธนาคารกสิกรไทยก็จะอยู่ตรงนั้น ชนะแน่นอน แอปพวกนี้ก็เหมือนสาขาในสมัยก่อน ที่ดีกว่าสาขามากคือคนเข้าไปใช้เวลาตลอดเวลา และสามารถเซ็นสัญญาห้ามให้คู่แข่งมาอยู่ด้วย

รูปแบบของ partnership นั้นเป็นไปได้ทั้ง การเป็นระบบรับชำระเงิน การเชื่อมต่อการจ่ายเงินกับแอป K Plus ให้สามารถจ่ายเงินได้เพียงคลิกเดียว การให้สมัครสินเชื่อเวลาลูกค้าจ่ายเงินหรือให้กับคนขับแกรบ

3. ยึดครองผู้ใช้ เพิ่มจำนวนผู้ใช้ K Plus เพื่อให้เป็นที่หนึ่งตลอดไป และหนีห่างคู่แข่ง

เหตุผลหลักที่ partner ทั้งสามรายเลือกกสิกรไทย นอกจากเรื่องความพร้อมด้านเทคโนโลยีและความรวดเร็วในการเข้าหาแล้ว ก็คือจำนวนผู้ใช้แอป K Plus กว่า 10 ล้านคน มากสุดเป็นอันดับหนึ่ง

ตลาดหลักที่กสิกรไทยรุกหนักคือ ตลาดนักศึกษา เพราะเป็นวัยที่ต้องเริ่มบริหารเงินเอง การรุกตลาดนี้ก็ไม่ยาก เพราะดีลกับมหาวิทยาลัยโดยตรง ดีลหนึ่งดีลได้ลูกค้าเพิ่มหลักพันคน เมื่อทำให้นักศึกษาใช้บัญชีกสิกรไทยเป็นหลัก พอพวกเขาโตขึ้น ก็ยากที่จะทำให้คู่แข่งเข้ามา เพราะจริงๆแล้ว ตัวแอปและโปรดักต์ของแต่ละธนาคารก็ไม่ต่างกันมาก

4. ใช้ข้อมูลที่ได้มาทำเงิน

รายได้หลักของธนาคารคือดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ แต่ก่อน ธนาคารจะปล่อยกู้จากเงินเดือน ประวัติการเงินในเครดิตบูโร หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ในยุคนี้ทุกธนาคารเห็นตัวอย่างที่ต่างประเทศโดยเฉพาะที่จีน ที่ใช้ข้อมูลอื่น เช่น ข้อมูลในโทรศัพท์ ข้อมูลการซื้อของออนไลน์ มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานประจำหรือมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ดีลที่จะเปิดบริษัทกับ Line นั้น”อาจ”ทำให้กสิกรไทยสามารถใช้ข้อมูลการแชทบน Line ซึ่งมหาศาลมากๆ มาประกอบการพิจารณาว่าลูกค้าคนนี้เครดิตดีหรือไม่ เช่น ถ้าลูกค้า วันที่ยื่นขอกํู้ เพิ่งไลน์ไปขอยืมเงินเพื่อน ข้อมูลนี้แสดงว่าลูกค้าคนนี้หมดตัวจริงๆ คะแนนเครดิตก็จะน้อยมาก

หรือแม้แต่โอกาสในการพัฒนาไปเป็นแพลตฟอร์มด้านการโฆษณา บริษัทที่จะมาจ่ายเงินลงโฆษณาจะสามารถวัดผลได้ถึงขั้นที่ว่าผู้ใช้ที่เห็นโฆษณาไปใช้เงินที่ร้านจริงหรือไม่

ยิ่งปีนีธนาคารแห่งประเทศไทยแก้กฎระเบียบเรื่องการยืนยันตัวตนให้สามารถเปิดบัญชีออนไลน์และสมัครสินเชื่อออนไลน์ได้ ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ธนาคารกสิกรไทยและคู่แข่งรุกหนักเรื่องการสมัครสินเชื่อออนไลน์และอนุมัติในทันที

ผมได้เข้าไปดูที่หน้าสมัครงานของธนาคารกสิกรไทย และเจอประกาศหางานตำแหน่ง Digital Lending Planning and Strategy Specialist และ Digital Lending Business Development Specialist ซึ่งก็ชัดเจนว่าธนาคารจะรุกหนักด้านนี้และจะทำผ่านพาร์ตเนอร์ (คนไหนสนใจ สามารถสมัครได้ที่ https://kasikornbank.com/th/career)

ถ้าให้เดา โมเดลน่าจะเป็นรูปแบบของการเอาปุ่มโฆษณาการสมัครสินเชื่อไปวางไว้บนหน้าชำระเงินของเว็บและแอปพันธมิตร เพื่อให้คนที่สนใจสามารถสมัครสินเชื่อและรู้ผลได้ทันที เวลาจะซื้อของออนไลน์ โดยที่ร้านค้าก็แฮปปี้ เพราะลูกค้าสามารถขอกู้มาซื้อของได้ ส่วนธนาคารก็ได้ลูกค้าเพิ่ม

สรุป

ธนาคารกสิกรไทยได้สร้างรากฐานที่แข็งแรงและยากที่คู่แข่งจะแข่งได้ในโลกยุคดิจิตอล ด้วยจำนวนผู้ใช้ K Plus เกิน 10 ล้านคน ที่ไม่น่าจะมีแบงก์ไหนแซงได้ และการได้ exclusive partnership กับแอปยอดนิยม ทำให้ธนาคารไปอยู่ทุกที่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเวลาต้องการเงินเพิ่มและเวลาจ่ายเงิน

ทั้งหมดนี้ทำให้ธนาคารมีข้อมูลมหาศาลที่คู่แข่งไม่มี ทำให้ธนาคารสามารถเข้าใจลูกค้า นำเสนอ product ที่ตรงใจและตรงเวลาที่ลูกค้าต้องการ วิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีกว่า สามารถขยายให้สินเชื่อลูกค้าที่ข้อมูลเครดิตบูโรไม่ดีแต่ข้อมูลออนไลน์ดี หรือให้ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ดีกว่า เป็นการปรับตัวที่รวดเร็วน่าประทับใจอย่างยิ่งของธนาคารที่มีพนักงานกว่า 20,000 คน

ปี 2019 น่าจะเป็นปีที่สนุกที่เราน่าจะได้เห็นโปรดักต์ใหม่และพาร์ตเนอร์ชิพใหม่จากธนาคารกสิกรไทยทำให้ธนาคารหนีห่างจากคู่แข่งไปไกลขึ้นอีก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...