เราควรประพฤติตัวอย่างไรในยุคที่จักรกลท้าทายมนุษย์ - The Most Human Human | Techsauce

เราควรประพฤติตัวอย่างไรในยุคที่จักรกลท้าทายมนุษย์ - The Most Human Human

ถ้าจักรกลมีความคิดเป็นของตัวเอง โลกนี้จะเป็นอย่างไร

ก็มีมุมมองที่เด่น ๆ อยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ Singularity คือคนที่เชื่อว่าซักวันเราจะสามารถสร้างจักรกลที่ฉลาดกว่ามนุษย์ และจักรกลก็จะสร้างจักรกลที่ฉลาดกว่าพวกมันไปเรื่อย ๆ ความเร็วในการพัฒนาจะถูกเร่งจนไม่สามารถคาดเดาได้ มนุษย์ก็อัพโหลดจิตของเราขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ต แม้ร่างกายจะสลายไป แต่จิตใจจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์

อีกแบบคือมองว่าจักรกลจะเติบใหญ่จนบดบังแสงอาทิตย์ มีความคิดจะครองโลก ถ้าไม่กำจัดพวกเราในทันทีก็จะจับพวกเราขังในโพรงและใช้ประโยชน์จากความร้อนในร่างกายเราไปตลอดกาล 

เอาล่ะ หนังสือเล่มนี้ไม่เห็นด้วยทั้งสองแบบเพราะมันสุดโต่งเกินไป ผู้เขียนก็มีมุมมองของเขาเช่นกัน แต่ผมว่าที่น่าสนใจกว่าคือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่ที่จักรกลมีความคิดเป็นของตัวเอง 

Alan Turing ผู้มีชื่อเสียงในวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์พยายามตอบคำถามนี้ เขาจึงเสนอการทดลองขึ้นมา โดยในการทดลองจะให้กรรมการพูดคุยกับอีกฝ่ายผ่านคอมพิวเตอร์ จะได้คุยทั้งมนุษย์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานของกรรมการคือแยกให้ออกว่าใครเป็นใคร 

 ไม่มีข้อจำกัดว่ากรรมการจะพูดอะไรได้บ้าง อาจจะเป็นเรื่องจิปาถะทั่วไป ความรู้รอบตัว ซุบซิบดารา จะถกปรัชญาก็ได้ หรือก็คือทุกอย่างที่มนุษย์คุยกัน เราเรียกการทดลองนี้ว่า Turing Test

Brian Christian ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วม Turing Test ในปี 2009 ในแต่ละรอบเขาจะถูกจับคู่กับปัญญาประดิษฐ์และกรรมการ ที่เขาต้องทำคือจูงใจใหกรรมการเชื่อว่าเขานี่แหละมนุษย์จริง ๆ 

เกณฑ์ที่ Turing วางไว้คือถ้าคอมพิวเตอร์สามารถหลอกกรรมการได้ถึง 30% ด้วยบทสนทนายาว 5 นาที จะถือว่าเมื่อนั้นแหละที่เราจะเรียกว่าคอมพิวเตอร์มีความคิดเป็นของตัวเอง  

คอมพิวเตอร์ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด (ไม่ว่ามันจะได้คณะกรรมการได้ถึง 30% หรือไม่ก็ตาม) จะได้ตำแหน่ง “คอมพิวเตอร์ที่เป็นมนุษย์ที่สุด” มันเป็นรางวัลที่ทีมวิจัยทั้งหลายต้องการ และสำหรับมนุษย์ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้ตำแหน่ง “มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ที่สุด” (The Most Human Human) 

ลองสมมติว่าคุณได้ไปแข่งรายการนี้ แล้วเกิดพลาดท่าจนกรรมการคิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นมนุษย์มากกว่าคุณ มันคงเป็นความรู้สึกที่เสียวพิลึก ที่จริงก็มีคำแนะนำหนึ่งที่ให้กับผู้เข้าแข่งขันแทบทุกปีนั่นคือ “อย่าลืมว่าคุณเป็นมนุษย์นะ แค่เป็นตัวเองก็พอ”

ฟังดูเป็นคำแนะนำที่เรียบง่ายและใช้ได้จริง “แค่เป็นตัวเอง” จะไปยากอะไร แต่เดี๋ยวก่อน Christian คิดว่าเราต้องมองให้ลึกซึ้งกว่านี้ ในเมื่อปัญญาประดิษฐ์พวกนี้เก่งขึ้นกันทุกปี ถ้าเราคิดแบบตื้น ๆ จะไปชนะพวกมันได้ยังไง และโดยปกติพวกคำกล่าวสั้น ๆ ก็มักจะมีความหมายที่ลึกกว่าที่คิดอยู่แล้ว

พอ Christian ลองครุ่นคิดกับวลีนี้ เขาก็พบว่า “แค่เป็นตัวเอง” ก็คือการค้นหาตัวตนอันแท้จริง เราต้องหาให้ได้ว่าตัวตนจริงแท้ของเราเป็นยังไง เราต้องเข้าใกล้มันให้มากขึ้น ลอกเปลือกภายนอกที่ใช้เข้าสังคม แล้วพยายามใช้ชีวิตตอบสนองตัวตนนั้นอย่างจริงแท้ที่สุด 

คุณอาจจะบอกว่าช่างเป็นปรัชญาเหลือเกิน ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเล่มนี้เป็นเหมือนหนังสือปรัชญามากกว่าหนังสือเทคโนโลยีซะอีก ตอนที่ผมซื้อเล่มนี้มาก็ตั้งใจจะศึกษาว่าสมองของปัญญาประดิษฐ์เป็นยังไงกันแน่ อ่านไปอ่านมาก็เริ่มรู้สึกว่าสงสัยเลือกเล่มผิดซะแล้ว ไม่เป็นไร สิ่งที่ได้กลับมาคือมองความเป็นมนุษย์ให้ลึกซึ้งกว่าเดิม และเรื่องนี้สำคัญมากในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เก่งขึ้นเรื่อย ๆ 

==

ถ้าถามว่าทำไมต้องศึกษาความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าก็เพื่อจะได้แยกแยะให้ออกว่ามนุษย์เรามีจุดเด่นอะไร อะไรที่มนุษย์ทำได้ แต่หุ่นยนต์ทำได้ดีกว่า อะไรที่มนุษย์มี แต่หุ่นยนต์ไม่สามารถมีได้ 

คงปฏิเสธไม่ได้ที่บางครั้งเราจะมองว่าหุ่นยนต์มาแย่งงานของเรา (หรืออย่างน้อยก็มองว่าเป็นคู่แข่ง) ซึ่งถ้าคุณมีมุมมองแบบนี้ก็เหมาะมากที่จะอ่านเล่มนี้ เพราะตามหน้าข่าวหรือบทความก็จะมีแต่พูดถึงความยอดเยี่ยมของปัญญาประดิษฐ์ ถ้าเอาตัวเองไปเทียบบ่อย ๆ ก็อาจจะรู้สึกแย่ไปเลย ดังนั้นข้อดีของหนังสือเล่มนี้คืออธิบายว่ามนุษย์เรามีดียังไง 

สิ่งที่มนุษย์ถูกโจมตีบ่อยมากคือ “อารมณ์” ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่มีปัญหาเรื่องจิตใจ ไม่เคยทะเลาะกับคนที่บ้าน การที่พวกมันคิดแบบมีตรรกะ ไม่ใช้อารมณ์ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม มนุษย์เราถ้าตัดสินใจโดยใช้เหตุผลก็สามารถทำได้เยี่ยมเช่นกัน อย่างในตลาดหุ้น คนที่ทำกำไรได้สม่ำเสมอต่างก็ไม่ใช่คนที่ลงทุนด้วยอารมณ์ทั้งนั้น

การที่ “เหตุผล” ทำประโยชน์ได้มาก ทำให้เรามอง “อารมณ์” ในแง่ลบ แต่จริง ๆ แล้วอารมณ์มีแต่ข้อเสียจริงหรือ ถ้ามันไม่มีอะไรดี แล้วทำไมเราถึงไม่วิวัฒนาการให้ใช้แต่เหตุผลซะเลยล่ะ บางคนอาจจะบอกว่า “ก็กำลังวิวัฒนาการอยู่นี่ไง แต่มันยังไม่เร็วพอ” แต่คำตอบที่ดูเข้าท่ากว่าคือ “อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจที่ดี” 

ในชีวิตเราต้องเจอปัญหาอยู่มากมาย มีทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ถ้าเป็นเรื่องใหญ่เราต้องอาศัยข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องเล็กนั้นเราแทบไม่ต้องการข้อมูลอะไรเลย ซึ่งในกรณีนี้ถ้าคุณไม่ใช้อารมณ์ คุณจะลำบาก 

สมมติว่าคุณต้องเลือกปากกาด้ามใดด้ามหนึ่ง ระหว่างด้ามน้ำเงินกับแดง คุณสมบัติมันเหมือน ๆ กัน แทบไม่มีอะไรแตกต่าง ถ้าคุณเลือกด้วยเหตุผล คุณก็อาจจะเริ่มด้วยเขียนข้อดี-ข้อเสียแต่ละแท่ง เปรียบเทียบจุดเล็ก ๆ ที่น่าจะมองข้าม แต่เหมือนการพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น

ปัญหาทั่วไปนั้นไม่มีทางเลือกไหนทีดีที่สุด ถ้าใช้แต่เหตุผล คุณจะอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สุดท้ายก็จะเป็นบ้า เหมือนกับเรื่องเล่าที่ลาตัวหนึ่งเดินกลับไปกลับมาระหว่างกองฟาง 2 กอง มันตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกินฟางกองไหนดี สุดท้ายมันก็นอนหิวตายอยู่ตรงนั้น 

แต่ถ้าใช้อารมณ์ตัดสินใจก็อีกเรื่องเลย คุณชอบสีไหน คุณก็เลือกไป คุณไม่ต้องการตัวเลือกที่ถูกต้อง คุณแค่เลือกเพราะคุณพอใจ 

==

อันที่จริงเรื่องทั่วไปแบบนี้แหละที่จักรกลไม่สามารถทำได้ดีแบบเรา ถึงแม้เหล่า Chatbot ใน Turing Test จะถูกออกแบบให้สามารถคุยเรื่องทั่วไปได้ แต่ถ้าเจอกรรมการถามว่า “วันนี้คุณ A ใส่เสื้อสีอะไร” “คุณไปกินอาหารที่ขายข้างนอกหรือยัง” “คุณชอบงานศิลปะในล็อบบี้มั้ย” มันก็ง่ายมากที่กรรมการจะรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์ 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะสามารถคุยเรื่องทั่วไปได้ดีกว่า Chatbot ก็ใช่ว่าเราจะทำตัวต่างจากพวกมัน 

สมมติถ้าเราชวนคนที่พึ่งรู้จักพูดคุย เราก็คงสร้างบทสนทนาคล้าย ๆ กัน เช่น เดินทางมาจากไหน ทำงานอะไร ซึ่งแม้แต่ Chatbot ก็สามารถคุยแบบนั้นได้ และกรรมการก็แยกไม่ออกว่าอีกฝ่ายเป็นมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์ 

มันก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องแสดงจุดเด่นออกมา อย่าลืมว่างานนี้นอกจากจะต้องไม่เสียคะแนนให้กับหุ่นยนต์แล้ว ถ้าอยากจะได้ตำแหน่งมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ที่สุด ก็ต้องทำตัวให้โดดเด่นกว่ามนุษย์คนอื่นด้วย 

Charles Platt เป็นหนึ่งในผู้ชนะ Turing Test ในปี 1994 ได้บอกเคล็ดลับวิธีชนะในการแข่งว่า เขาทำตัว “ขี้หงุดหงิด น่ารำคาญ และน่ารังเกียจ” 

อืมม เป็นความจริงที่ตลกและเศร้าในเวลาเดียวกัน อันที่จริงคุณจะลองทำตามนั้นก็ได้ แต่ก็ต้องทำแบบมีชั้นเชิง ถ้าคุณจะทำตัวน่ารังเกียจด้วยการด่าทออาจจะไม่เพียงพอ เพราะ Chatbot อย่าง MGonz ก็ทำได้ อันที่จริงบทสนทนาที่มีแต่การด่าทอไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลย ลองนึกถึงเวลาที่คุณเถียงด่ากับเพื่อนก็ได้ เนื้อหากลายเป็นเรื่องงี่เง่าและออกนอกหัวข้อเดิมไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ 

Christian ถึงกับบอกว่า “เมื่อได้เห็น MGonz เลียนแบบการด่าได้เหมือนมนุษย์เพียงใด เราก็อาจจะขายหน้าจนต้องประพฤติตัวให้ดีขึ้น” 

วิธีหนึ่งที่ Christian ใช้สร้างบทสนทนาที่โดดเด่นคือ การพูดแทรกระหว่างที่กรรมการพิมพ์อยู่ เพื่อนนักเขียนบทละครของเขาได้บอกว่า “การแยกแยะว่าบทละครชิ้นไหนเป็นของมือสมัครเล่นนั้นไม่ยาก เพราะตัวละครของมือสมัครเล่นจะพูดจนจบประโยคสมบูรณ์ ไม่มีใครพูดแบบนั้นในชีวิตจริงหรอก” ซึ่งก็จริงแฮะ 

นอกจากนี้ความสนใจของคอมพิวเตอร์และมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน (ที่จริงคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้คิดหรอกว่ากำลังคุยอะไรกับอีกฝ่าย) สมมติว่าคุณหรือ Chatbot ถามกรรมการว่าเดินทางมาไกลไหม กรรมการก็อาจตอบว่า “อ๋อ ขับรถม้ามา 2 ชั่วโมงเอง ไม่ไกลมาก” 

ตัววิเคราะห์ไวยากรณ์ของ Chatbot อาจจะลดรูปประโยคเหลือ “2 ชั่วโมง ไม่ไกล” แต่มนุษย์จะตื่นเต้นกับการที่ใครซักคนขับรถม้าโบราณจนลืมถามเรื่องการจราจร 

ผมว่าหนังสือเล่มนี้มันดีตรงที่สอนให้เราคอยมองหาความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราตื่นเต้นและอยากที่จะใช้ชีวิตต่อ การที่เราต้องการความแตกต่างมาคอยเติมเต็มนี่แหละทำให้งานศิลปะยังจำเป็นต่อโลกนี้ ถึงแม้ว่าจักรกลจะทำผลงานได้ดีพอ ๆ กัน

==

ข้อดีของปัญญาประดิษฐ์คือ มันสามารถทำงานได้รวดเร็วและสร้างปริมาณมาก ๆ ได้ แต่ Glenn Murcutt สถาปนิกชื่อดังก็บอกว่า “ชีวิตไม่ใช่การทำทุกอย่างให้มากที่สุดเสมอไป” และงานศิลปะก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกผลิดคราวละมาก ๆ ได้ 

Murcutt เห็นว่าความเร็วและความซ้ำซากไม่นำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง การปรับมุมมองต่างหากที่จะทำให้เห็นทางออก Jean Nouvel สถาปนิกชื่อดังอีกคนก็เห็นว่าคอมพิวเตอร์อาจจะทำให้ทำงานได้สะดวก แต่สุดท้ายก็จะได้ตึกหน้าตาดาด ๆ เหมือนกัน 

“ผมพยายามเป็นสถาปนิกที่สนองต่อบริบท สำหรับตึกแต่ละหลังแล้วมีเหตุผลเสมอว่าทำไมมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งที่ผมทำกับตึกหลังนี้ตรงนี้มันไม่อาจทำกับตึกหลังอื่นที่อื่นได้ ทำไม่ได้” Nouvel กล่าว 

ศิลปินแนวอื่นก็ต้องทำตัวให้ผิดไปจากแบบแผนเช่นเดียวกัน และการผิดไปจากแผนนี่แหละคือข้อได้เปรียบของมนุษย์ มันคงเป็นเรื่องน่าเบื่อถ้าคุณไปดูคอนเสิร์ต แล้วนักดนตรีทั้งวงก็แค่เล่นตามชุดเพลงที่เตรียมไว้ 

นักแสดงละครเวทีจะต้องทำอย่างไรกับการแสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากถึงสัปดาห์ละ 8 รอบ เป็นเวลาหลายเดือน คนเหล่านี้จะคงความเป็นศิลปินได้อย่างไรเมื่อต้องแสดงรอบที่ 10 รอบที่ 25 รอบที่ 100 

คำตอบคือ ดูบริบทในแต่ละค่ำคืนและทำสิ่งที่ดูเสี่ยงเพื่อสร้างความตื่นเต้น 

การไม่ทำตามแผนจะทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงก็จริง แต่มันก็สร้างอารมณ์ร่วมจนต้องกลืนน้ำลาย 

และนั่นคือสัญญาณว่าเรายังมีชีวิต 

==

ในปี 1996 Garry Kasparov เซียนหมากรุกสามารถเอาชนะโปรแกรมเล่นหมากรุก Deep Blue ได้ขาดลอย แต่ต่อมาในปี 1997 Kasparov เป็นฝ่ายแพ้ ในกระดานสุดท้ายเขาไม่ได้เดินตามตำรา เขาเดินหมากแบบอื่นที่เสี่ยงกว่า และทำให้เขาแพ้ในกระดานนั้นอย่างรวดเร็ว 

คนบางคนที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า “หมากรุกเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด เปรียบเหมือนอย่างการประพันธ์เพลงหรือวรรณกรรม” แต่เมื่อได้เห็นหุ่นยนต์เอาชนะ Kasparov ได้ก็กลับคำ “หมากรุกไม่ใช่เกมที่อาศัยปัญญาเท่ากับดนตรีและการเขียนอีกแล้ว เพราะ 2 อย่างหลังนั้นต้องอาศัยจิตวิญญาณด้วย” 

ซึ่งก็คงจะหมายถึงว่าหมากรุกได้กลายเป็นเกมที่ต้องใช้ตรรกะและการคำนวณที่ซับซ้อนเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นแบบนี้มนุษย์ก็ไม่สามารถเอาชนะหุ่นยนต์ได้ 

อย่างไรก็ตาม แต่ไหนแต่ไรเราครองโลกด้วยความสามารถในการปรับตัว ความคิดเชิงนวัตกรรม และความสามารถในการเรียนรู้ที่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ดังนั้นเราจะไม่พ่ายแพ้แล้วนอนอยู่เฉย ๆ 

ปี 1998 Kasparov ท้าสู้กับ Deep Blue อีกครั้ง แต่ทาง IBM ปฏิเสธ พวกเขาถอดปลั๊กและแยกมันเป็นส่วนเก็บเข้ากรุ 

ในการแข่ง Turing Test เมื่อใดก็ตามที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถผ่านการทดสอบได้ ก็จะมีผู้คนคิดว่ามันจะผ่านตลอดไป แต่ Christian ไม่เชื่อเช่นนั้น 

ถึงแม้ปีแรกที่หุ่นยนต์ผ่านการทดสอบจะถูกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ที่น่าสนใจคือปีถัดไปต่างหาก เพราะมันจะเป็นปีที่มนุษย์ยืนหยัดอีกครั้งหลังจากที่ถูกน็อกลงไปกองกับพื้น 

แล้วถ้ามนุษย์สามารถเอาชนะได้ครั้งแล้วครั้งเล่าจะเป็นอย่างไร Kasparov บอกว่า 

หนึ่งในศัตรูที่อันตรายที่สุดที่คุณอาจเผชิญคือความชะล่าใจ...เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกว่าบางอย่างเป็นของตาย เมื่อนั้นแหละที่คุณมีโอกาสพ่ายแพ้ให้แก่คนที่พยายามต่อสู้หนักกว่า

มีข้อคิดหนึ่งที่ Christian ให้ไว้ในท้ายเล่ม ผมชอบมาก 

มนุษย์เราอาจจะเป็นผลสำเร็จชั้นยอดของวิวัฒนาการ แต่บางครั้งสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวก็แพร่เชื้อหวัดจนทำให้เราต้องนอนซมไปหลายวัน 

==

หนังสือ: ปัญญา-มนุษย์-ประดิษฐ์ (The Most Human Human)
ผู้เขียน: Brian Christian
ผู้แปล: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
สำนักพิมพ์: Salt Publishing

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...