เหตุผลที่ Blockchain “ยังไม่ใช่” ทางออกของการเลือกตั้ง | Techsauce

เหตุผลที่ Blockchain “ยังไม่ใช่” ทางออกของการเลือกตั้ง

หลังจากประเทศไทยผ่านพ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนับคะแนนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความถูกต้องและความรวดเร็ว ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อนประเทศ

จากกระแสดังกล่าว ทำให้คนบางส่วนเริ่มมองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย “ยกระดับ” กระบวนการเลือกตั้งให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และโปร่งใส ซึ่งจาก 3-4 คำที่ว่ามานี้ คงเป็นเทคโนโลยีอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจาก Blockchain นั่นเอง

การจับคู่ Blockchain กับการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ แต่หากถามว่าการนำ Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้ง ถือเป็นทางออกได้หรือไม่ ก็ขอตอบว่า “ยังไม่ใช่” แต่จะไม่ใช่ด้วยเหตุใด เราจะพามาสำรวจแง่มุมต่างๆ ของเรื่องนี้กัน

Blockchain​ คืออะไร

Techsauce มีบทความที่อธิบายความเป็นมาของ Blockchain เอาไว้อย่างละเอียด สามารถอ่านได้ที่ เข้าใจ Blockchain ใน 5 นาที สำคัญอย่างไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Fintech

เราสามารถอธิบายได้โดยย่อว่า Blockchain คือเทคโนโลยีจัดการข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ที่เก็บบันทึกธุรกรรมและส่งบันทึกให้กับทุกคนในระบบเพื่อยืนยันว่า "ธุรกรรม" ที่ถูกบันทึกลงไปนั้น "เกิดขึ้นจริง" บันทึกจะถูกคำนวณด้วย Algorithm เพื่อเข้ารหัส ซึ่งการคำนวณจะ Sensitive ต่อค่าต่างๆ อย่างมาก หากมีการบิดเบือนค่านั้นจะผิดและไม่ตรงกับระบบทันทีจึงป้องกันการบิดเบือนจากภายในได้

ทำไมถึงมีการคิดจะใช้ Blockchain​ ในการเลือกตั้ง

แนวคิดการนำ​ Blockchain​ ​มาใช้เกิดจากความต้องการบริการ “เลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์” ​เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ช่วยให้บริการทั่วถึงมากขึ้นในพื้นที่ห่างไกล​ และช่วยให้กระบวนการทำงานทั้งหลายดำเนินไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะขั้นตอนการนับคะแนนที่จะรวดเร็วมากขึ้นเมื่ออยู่ในรูป Digital

แม้ว่าการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์จะมีข้อดีมากมาย แต่เทคโนโลยีที่แพร่หลายในปัจจุบัน กลับยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย ความโปร่งใส และการปกป้องคุ้มครองข้อมูล ดังนั้น จึงมีแนวคิดการนำ Blockchain ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องความโปร่งใส ความปลอดภัย และการปกป้องคุ้มครองข้อมูลมาใช้กับการเลือกตั้ง

ปัจจุบัน การใช้ Blockchain ในการเลือกตั้งกำลังอยู่ในขั้นทดลองใช้งาน โดยมี Startup เป็นผู้พัฒนา Platform นี้ขึ้น เช่น Follow My Vote และ Voatz ทั้งยังมีการทดลองใช้ในการเลือกตั้งกลางเทอมที่สหรัฐอเมริกา ในพื้นที่รัฐเวสต์ เวอจิเนีย ซึ่งผ่านไปได้ด้วยดี แต่ก็เป็นที่ถกเถียงของผู้เชี่ยวชาญแวดวงเทคโนโลยีไม่น้อย

Picture by geralt from Pixabay

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจึงขอรวบรวมข้อดีและข้อเสียของการใช้ Blockchain มาให้ทุกท่านได้รับทราบกัน

ข้อดีและจุดแข็ง

จากคุณสมบัติของ Blockchain ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ เราจึงรวบรวมและนำคุณสมบัติที่ Blockchain เหมาะสมกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ดังนี้

  • การเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์และเชื่อมประสาน Decentralisation and Distributing นับเป็นจุดแข็งของ Blockchain ที่ช่วยให้ข้อมูลภายในไม่ถูกเจาะและเป็นของแท้เสมอ ผ่านการเชื่อมประสานผู้ใช้แต่ละรายให้ยืนยันความถูกต้องของชุดข้อมูลร่วมกันตลอดเวลา รวมถึงยังแบ่งเก็บข้อมูลทำให้ข้อมูลในระบบไม่อาจถูกทำลายให้หายไปได้ การกระจายศูนย์และเชื่อมประสานยังเป็นการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่จะเข้ามาใหม่​ และหากต้องการแก้ไขข้อมูลในระบบ​เพื่อให้เป็นไปตามต้องการ​ ก็ต้องแก้ไขที่ผู้ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งระบบเป็นอย่างน้อย​ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
  • การติดตามข้อมูล Trackability ข้อมูลที่บรรจุใน Blockchain จะมีลักษณะเป็นสายโซ่ทำให้สามารถติดตามรวมถึงดูเส้นทางการวิ่งของข้อมูลย้อนหลังได้ แน่นอนข้อมูลเหล่านี้คือคะแนนเสียงที่เราสามารถติดตามได้ว่าถูกนับลงไปในสิ่งที่เราเลือกจริงๆ
  • การปกป้องระบบและข้อมูล Security คุณสมบัติข้อมูลกระจายศูนย์และการติดตามข้อมูลคงเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ หากไม่สามารถ “คุ้มครองการเข้าถึง” ข้อมูลจากบุคคลไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น Blockchain จึงมักมาพร้อมระบบป้องกันที่เรียกว่า Cryptography ที่แปลงข้อมูลเป็นตัวเลขอันซับซ้อนจนคอมพิวเตอร์ธรรมดาต้องใช้เวลาถอดรหัสนานนับปี ซึ่งผู้ที่จะเข้าถึงได้นั้น คือผู้ที่มีกุญแจที่ถูกต้อง ซึ่งระบบส่วนใหญ่จะมอบให้กับ “ผู้ส่งข้อมูล” และ “ผู้รับข้อมูล” เท่านั้น ซึ่งทั้งสองจะได้รับข้อมูลตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น อีกทั้ง Cryptography ยังสามารถจำกัดการเข้าถึงชื่อหรือข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคนในระบบได้ด้วย
  • เลือกตั้งระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต​ อีกหนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจของการใช้ Blockchain คือการปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในต่างประเทศหรือพื้นที่ห่างไกลโดยยกกระบวนการเลือกตั้งที่สร้างจากเทคโนโลยี Blockchain ไปไว้บนอินเทอร์เน็ต
  • นับคะแนนได้ทันทีเมื่อเป็น Digital การยกระบบเลือกตั้งไว้บนโลกออนไลน์จะทำให้ได้คุณสมบัติการจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติ จึงสามารถประกาศนับคะแนนและคำนวณผลการเลือกตั้งได้ทันที

ข้อด้อยและจุดบอด

ต้องยอมรับว่าคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้นของ Blockchain นับว่าตอบโจทย์การปกป้องและติดตามข้อมูล ไม่เช่นนั้น สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ภาครัฐ จะพิจารณาเทคโนโลยีชนิดนี้ในการเก็บรักษาข้อมูลสำคัญ แต่ Blockchain เองก็มีจุดบอดใหญ่มากที่ทำให้มัน “ไม่เหมาะ” กับการเลือกตั้งเช่นกัน ได้แก่

  • โจมตีช่องว่างก่อนสิทธิ์ของเราจะเข้าสู่ Digital การบันทึกคะแนนเสียงเลือกตั้งบน Blockchain ต้องมีการ “ใส่ข้อมูล” ในรูปแบบ Digital ไม่ว่าจะอย่างไร เราหรือคนทำหน้าที่ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อบางอย่างเพื่อถ่ายทอดคะแนนเสียงลงไป ซึ่งหากต้องการ “บิดเบือน” การลงคะแนนเสียงของเราจริงๆ ก็สามารถกระทำได้ในขั้นตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบิดเบือนที่ Hardware เช่น นำ Device ที่ดัดแปลงมาให้ใช้ หรือ Software เช่น การฝังโปรแกรมบางอย่างลงใน Application เลือกตั้ง แม้ว่าแน่นอนว่าพอจะมีทางป้องกัน แต่ก็ซับซ้อนพอสมควร
  • Cryptography เจาะยากแต่เจาะได้ แม้เราจะทราบว่า​ Cryptography จะถูกแก้รหัสเพื่อเอาข้อมูลได้ยาก​ แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันการเจาะได้​ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งหากถูกเจาะ​แม้ว่าจะไม่นำไปสู่การแก้ไขข้อมูล​ แต่อาจนำไปสู่ประเด็นที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือเข้าถึงข้อมูลเพื่อเช็กผลการ “ซื้อเสียง”
  • Blockchain ไม่ได้ป้องกันการสวมรอย นับเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนอาจไม่คำนึงถึง สืบเนื่องจากข้อก่อนหน้านี้ที่กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของผู้ใช้ใน Blockchain มาจากรายการธุรกรรมเดิม นี่คือจุดอ่อนที่ทำให้ต้องใช้ระบบอื่นเข้าเสริม และทำให้เกิดความเสี่ยงในการสวม "อัตลักษณ์ดิจิทัล" เพื่อลงคะแนนในระบบไดด้ แน่นอนว่าเมื่อถูกสวมรอยแล้ว Blockchain​ จะไม่อนุญาตให้เราย้อนกระบวนการ​ นั่นทำให้สิทธิ์ที่ผิดพลาดในโลกความจริง​ถูกบันทึกและแก้ไขไม่ได้​ นอกเสียจากทำการเพิ่มข้อมูลเข้าไปใหม่ผ่านการป้อนคำสั่งใหม่และลงคะแนนซ้ำ​ ก็ยิ่งทำให้การทำงานในระบบซับซ้อนยิ่งขึ้น
  • ความเป็นกล่องลี้ลับที่คนไม่เข้าใจและยอมรับ แม้ว่าเราอาจจะยอมรับการโอนเงินโดยไม่มีธนบัตรให้จับต้อง แต่บางคนอาจไม่ยอมรับการนับคะแนนที่ไม่มีใครมายืนนับให้เห็นกับตา การใช้ Blockchain ที่แปลงคะแนนเสียงของเราเป็นไฟฟ้าอาจนำมาสู่ความวุ่นวายของคนที่เคลือบแคลงในระบบที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้จัดการเลือกตั้งขนาดใหญ่ต้องให้ความสนใจ หากความโปร่งใสเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนพึงได้เห็น
  • ปัญหาอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสืบเนื่องที่ส่งผลต่อระบบการเลือกตั้งที่เรายังไม่ขอลงรายละเอียดในเวลานี้ เช่น ระบบที่ใช้จะเป็น Public หรือ Private, จะพัฒนาเครือข่ายขึ้นใหม่หรือเลือกใช้เครือข่ายที่มีอยู่เดิม การใช้เครือข่ายที่มีอยู่เดิมจะโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน เครือข่ายที่พัฒนาขึ้นใหม่จะมีใครเป็นเจ้าภาพ คุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในพื้นที่ห่างไกล ไปจนถึงการออกแบบ Flow การใช้งานระบบจะเป็นอย่างไร

ถ้าจะใช้ Blockchain ในการเลือกตั้งจริงๆ ต้องมีอะไรบ้าง

ได้รับทราบข้อดีข้อเสียไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะอยากจำลองสถานการณ์ว่าถ้าเราต้องเลือกตั้งด้วย Blockchain จริงๆ รูปแบบมันควรจะประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • Hardware ที่ทุกคนเข้าถึงได้​ ปัจจุบัน เรายังไม่มีวิธี Interface กับ Digital โดยไม่ผ่าน Hardware ดังนั้น สิ่งที่เราต้องมีคือ Device ที่รองรับลงคะแนน Digital ที่อาจทำได้หลายวิธี ทั้งออกแบบคูหาเลือกตั้งที่มี Device ให้ใช้งาน หรือแจกจ่าย Application ลงใน Device ของประชาชน ซึ่งทั้งสองวิธี ประชาชนสามารถลงคะแนนตรงสู่ระบบได้เลย แต่ก็มีข้อเสียที่วิธีแรกมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนวิธีที่สองก็มีความเสี่ยงเรื่องการควบคุมความปลอดภัยในตัวเครื่องที่ยากกว่า
  • Software ต้องใช้ง่าย Security ต้องเจาะยาก ไม่เพียงแต่ Hardware เท่านั้น แต่ Software ต้องถูกออกแบบให้ทั้งครอบคลุมและปลอดภัยต่อการใช้งานที่สุด ตัว Software ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คนทั้งด้านภายภาพและการใช้งานที่ง่ายที่สุด ทั้งยังต้องคงความปลอดภัยในหลายๆ ด้าน เพื่อให้สิทธิ์การลงคะแนนเป็นไปตามประสงค์ของแต่ละคน
  • ผู้มีสิทธิ์ทุกคนอาจต้องใช้ Digital ID อีกปัญหาหนึ่งคือกระบวนการยืนยันตัวตนหากต้องนำข้อมูลเข้าสู่ Digital ซึ่งหนึ่งใน Model ที่กำลังได้รับความสนใจคือ Digital ID โดยให้บริษัทนำส่งข้อมูลดิจิทัลของเราเพื่อเป็นการยืนยันการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ธุรกรรมที่ทำจะถูกบันทึกบน Blockchain ไว้เสมอ ทำให้เราสามารถยืนยันตัวตนผ่านธุรกรรมเดิมได้ ซึ่งการเลือกตั้งนั้นเป็นวาระที่การยืนยันตัวตนจะผิดพลาดไม่ได้ การใช้ Digital ID จึงช่วยลดโอกาสผิดพลาดส่วนนี้ลงไปได้มาก
  • Blockchain ต้องเป็น Infrastructure ด้านการเมืองไปเลย แทนที่จะหยุดการใช้ Blockchain อยู่แค่การเลือกตั้ง เราสามารถพัฒนา Blockchain ไปรองรับการเคลื่อนไหวตามกติกาในด้านอื่นๆ เช่น การเสนอชื่อถอดถอนผู้แทนหรือสมาชิก หรือการทำประชามติ ซึ่งส่วนนี้ Blockchain จะกลายเป็นการบันทึกธุรกรรมที่มีประโยชน์มากกว่าแค่การเลือกตั้ง ตัวอย่างการใช้งานที่น่าสนใจคือ e-Estonia จากประเทศเอสโทเนีย ระบบที่ช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมกับภาครัฐฯ ได้อย่างครบวงจรผ่าน Blockchain แต่ทั้งนี้ ประเทศเอสโทเนียมีการเลือกตั้งออนไลน์ i-Voting ตั้งแต่ปี 2005 โดยยังไม่ได้ใช้ Blockchain ในกระบวนการเลือกตั้งจนถึงตอนนี้

ที่เราต้องการคือ “ระบบกลไก” เพราะเทคโนโลยีเป็นได้แค่เครื่องมือ

ด้วยความเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน ระบบการลงคะแนนเสียงบน Digital จะมาถึงเราแน่นอน แต่การจะเลือกใช้ Blockchain หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่อยู่ที่การออกแบบระบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ แล้วเลือกใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

การที่เรายกข้อเสียของ Blockchain ขึ้นมา เพียงเพื่อต้องการบอกว่าการใช้เทคโนโลยีใดๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ จำเป็นต้องมีวิธีการอื่นๆ เข้ามาร่วมประกอบด้วยเพื่ออุดช่องว่างต่างๆ เช่น ในการเลือกตั้งหรือกระบวนการใดๆ ก็ตาม Blockchain จะมีประโยชน์เต็มที่เมื่อข้อมูลทั้งหมดถูกลำเลียงเข้าสู่ Digital แต่กระบวนการก่อนที่ข้อมูลจะเป็น Digital นั้นจะต้องทำอย่างไรให้ง่ายและโปร่งใส ก็ยังมีเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป

ทั้งนี้ หากถามถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้ง การใช้ Blockchain ที่เด่นในเรื่องนี้ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ แต่หากผู้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ตอบคำถามตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก ต่อให้ใช้ Blockchain ระบบก็ยังคงน่ากังขาอยู่ดี เพราะมีจุดบอดและช่องโหว่อย่างที่เรานำเสนอไป

สุดท้ายแล้ว เราอาจจะต้องการมีผู้จัดที่ยืนยันว่าสิทธื์ของทุกคนจะไม่ถูกบิดหรือเขย่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก cnet.com, nbcnews.com, arstechnica.com, forbes.com, cbinsights.com, followmyvote.com, thefederalist.com และ marketwatch.com

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...