ถ้าพอจำกันได้ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 เราก็ได้เผชิญกับข่าวใหญ่ที่สั่นคลอนทั้งวงการยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีน นั่นก็คือเหตุการณ์ที่ Ant Group บริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินในเครือ Alibaba ของมหาเศรษฐี Jack Ma โดน รัฐบาลจีนระงับแผนเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะ (IPO) กลางคัน ส่งผลให้ หุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นหายวับไปกับตา
ซึ่งเวลาผ่านไป ใครจะไปรู้ว่า นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นการแทรกแซงของรัฐบาลจีนในบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น...
เกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลจีน? แรงจูงใจเบื้องหลังการไล่เช็คบิลบริษัทเทคโนโลยีคืออะไร? แล้วผลกระทบ และราคาที่ต้องจ่ายหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ?
จุดเปลี่ยนที่ทำให้จีนได้กลับมาทบทวน และเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ที่ถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ได้เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 ที่ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ได้รวมตัวกันเพื่อหารือเสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 5 ปี (Five-Year Plan) ฉบับที่ 14 เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับปี 2021 จนถึง ปี 2025
ซึ่งแผนการนี้ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ปี 2021 แผนนี้มีความสำคัญสำหรับจีนมาก เพราะเป็นเหมือนรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสังคมนิยมของจีน และที่ผ่านมากว่า 90% จีนก็สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ และนำพาประเทศให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศครั้งที่ 14 นี้แตกต่างกว่าครั้งก่อนอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากช่วงเวลาการวางแผนนั้นเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่จีนได้รับรู้ถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เผชิญกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ
ยิ่งไปกว่านั้น การบังคับใช้แผนพัฒนา 5 ปีก็ได้เกิดขึ้นใกล้กับช่วงเวลาการครบรอบ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนพอดีในปี 2021 นี้ จึงทำให้เป้าหมายหลักของแผนพัฒนาครั้งนี้จะต้องนำพาจีนไปสู่มหาอำนาจเศรษฐกิจของโลกให้ได้
และการพัฒนาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องดำเนินการสอดคล้องกับความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติของพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อยกระดับในจีนก้าวขึ้นเป็น “เสี่ยวคัง” (Xiaokang) หรือ ประเทศสังคมนิยมที่มีความมั่งคั่งระดับปานกลาง
กล่าวได้โดยรวมว่า สังคมในอุดมคติของจีนต่อจากนี้ คือสังคมที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเท่าเทียม รวมไปถึงปัญหาความอดอยากจะต้องหมดไปจากประเทศ
โดยในเอกสารแผนพัฒนาธุรกิจระยะเวลา 5 ปี (Five-Year Blueprint) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ก็ได้ระบุว่า ทางการต้อง “ทำงานอย่างแข็งขัน” ในกฎหมายด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงความมั่นคงของชาติ เทคโนโลยี และการผูกขาด เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และการแข่งขันทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินการไม่เข้าข่ายตามที่จีนวางแผนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน จึงถูกสอดส่องและเรียกมาตรวจสอบอย่างละเอียด โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ที่มีรูปแบบการดำเนินการธุรกิจที่ผูกขาด มีเนื้อหาที่ไม่เหมาสม รวมไปถึงมีส่วนทำให้สังคมในประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำในด้านใดด้านหนึ่ง
ในช่วงแรกเราอาจสังเกตว่าธุรกิจที่ถูกรัฐบาลจีนสอบสวนและดำเนินการลงโทษทางกฎหมายมักจะเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ อาทิ Ant Group, Alibaba, JD.com, Tencent ฯลฯ แต่แท้จริงแล้ว รัฐบาลจีนดำเนินการกับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 50 แห่ง จนทำให้ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จก็ดี หรือ Startup หน้าใหม่ที่พึ่งเกิดในตลาด ต่างหวั่นเกรงถึงมาตรการใหม่ของรัฐบาลจีนที่อาจปล่อยออกมาในเวลาใดก็ได้ โดยอุตสาหกรรมที่เจอแรงกดดันด้านกฎระเบียบของจีนในขณะนี้มีดังต่อไปนี้
แม้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมอาจไม่ได้ถูกรัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายโดยตรง แต่ก็บอบช้ำทางอ้อมจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้จำกัดระยะเวลาการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากรัฐบาลเกรงว่าการเล่นเกมเป็นเวลานานจะเสี่ยงต่ออาการเสพติดเกมและมีผลต่อชีวิตประจำวัน
สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (State Administration for Market Regulation - SAMR) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าทางการจีนจะจับตามองธุรกิจที่ดำเนินการแบบ Sharing Economy หรือแบ่งปันทรัพยากรระหว่างผู้ใช้ที่มีท่าทีในทางที่ผูกขาดธุรกิจอื่นอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันพาหนะ (Ride-sharing) แบ่งปันจักรยาน (bike-sharing) แบ่งปันที่อยู่อาศัย (home sharing) แม้กระทั่งธุรกิจบริการชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟน
ทางการจีนอยู่ระหว่างกำหนดระเบียบที่จะห้ามบริษัทเทคโนโลยีที่อาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลไม่ให้ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
รัฐบาลจีนเตรียมสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลผ่าน Cloud ของตนเอง เรียกว่า “Guo zi yun” ซึ่งอาจส่งผลต่อวิถีการดำเนินการยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีคลาวด์อย่าง Alibaba, Huawei และ Tencent Holdings นอกจากนี้จีนยังได้เรียกร้องให้เทศบาลบางแห่งโยกย้ายข้อมูล Cloud จากบริษัทเอกชนอย่าง Alibaba Group และ Tencent Holdings ไปยังระบบ Cloud ที่สนับสนุนโดยรัฐ
รัฐบาลจีนพยายามควบคุมบริษัทที่ใช้ทำงานด้วยเทคโนโลยีอัลกอริทึม อาทิ แพลตฟอร์ม E-Commerce และโซเชียลมีเดีย โดยหน่วยงานกำกับดูแลบริหารและจัดการไซเบอร์สเปซของจีน หรือ Cyberspace Administration of China (CAC) ได้แถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. ว่าบริษัทจะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมทางธุรกิจ และหลักความเที่ยงธรรมของธุรกิจ และไม่ควรตั้งค่าอัลกอริทึมที่โน้มน้าวให้ประชาชนต้องใช้จ่ายสินค้าและบริการจนเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังกำหนดค่าปรับสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่ฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติว่าด้วยสิทธิผู้บริโภคและแรงงาน
ตัวอย่างที่เกิดขึ้น ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับของจีนก็ได้ปรับ JD.com แพลตฟอร์ม E-Commerce รายใหญ่ของจีนเป็นเงิน 300,000 หยวน ฐานที่บริษัทส่งเสริมการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัท
รัฐบาลจีนได้ปราบปรามวัฒนธรรมแฟนคลับของไอดอลจีน เนื่องจากว่ามีกรณีที่ศิลปินฝ่าฝืนกฎหมาย จึงทำให้จีนได้กำหนดให้แพลตฟอร์มบันเทิงต่าง ๆ ห้ามเผยแพร่รายการแข่งขันไอดอล และควบคุมการขายสินค้าของแฟนคลับ หลังจากที่มีการโต้เถียงว่าด้วยถึงราคาสินค้า และมีเหตุการณ์หลอกขายสินค้าของศิลปินดังกล่าว
นอกจาก รัฐบาลจีนได้ออกกฎไม่ให้บริษัทโรงเรียนกวดวิชาแสวงหากำไรจากการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังรวมไปด้วยว่าศูนย์กวดวิชาภายในประเทศต้องลงทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ห้ามดำเนินการสอนวิชาที่มีอยู่แล้วในโรงเรียน และห้ามให้มีการสอนกวดวิชาในวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยสาเหตุหลักมาจากที่การมีอยู่ของโรงเรียนกวดวิชาทำให้เด็กต้องแข่งขันทางการเรียน และเกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาสำหรับเด็กบางส่วนที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา
ก่อนหน้าที่ Ant Group บริษัทบริการทางการเงินภายใต้การดูแลของ Alibaba จะถูกระงับการขายหุ้น IPO นั้น หน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของจีนก็ได้ออกร่างกฎเกณฑ์ที่เรียกร้องให้มีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Ant Group ที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อออนไลน์ และอาจมีส่วนทำให้หน่วยงานกำกับดูแลระงับการเสนอขาย IPO ของ Ant Group ในเดือนเมษายน 2021
ในเดือนมิถุนายน 2021 หน่วยงานกำกับดูแลบริหารและจัดการไซเบอร์สเปซของจีน หรือ Cyberspace Administration of China (CAC) ได้แจ้งให้ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกรถชั้นนำให้หยุดรับสมัครสมาชิกใหม่ อีกทั้งนำแอปพลิเคชันออกจาก App Store หลังจากจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้ไม่กี่วัน โดยอ้างว่า Didi Chuxing ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ซึ่งนำไปสู่การร่างข้อบังคับเพื่อดำเนินการตรวจสอบบริษัทให้ปลอดภัยก่อนที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
ในเดือนพฤษภาคม 2021 หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีนได้ห้ามธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางการชำระเงิน หรือรับการชำระเงินจากลูกค้า อีกทั้งยังออกมาตรการรัฐให้ควบคุมการขุด Bitcoin จนทำให้เหมืองขุดบิทคอยน์นั้นต้องปิดทำการทั่วประเทศในระยะสั้น
นอกจากอุตสาหกรรมที่กล่าวข้างต้นนี้ Rory Green นักเศรษฐศาสตร์จาก TS Lombard คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมที่อาจได้ผลกระทบจากจีนต่อไปอาจเป็น อสังหาริมทรัพย์ และสุขภาพ (Healthcare) โดยให้เหตุผลว่าเป็นธุรกิจที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนั่นก็คือ สุขภาพและการอยู่อาศัย ซึ่งตลาดทุนของอุตสาหกรรมดังกล่าวเสาะหากำไรมากเกินไป อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของประชาชนได้ แน่นอนว่าเป้าหมายต่อจากนี้ รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นว่าจะรักษาระดับของราคาจากธุรกิจดังกล่าวให้สมเหตุสมผล ไม่ว่าใครก็เอื้อมถึงที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพที่ดี
เบื้องต้นแล้ว การปราบปรามธุรกิจยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลจีนนั้นก็ได้สร้างความหวั่นเกรงให้กับนักลงทุนต่างชาติในช่วงเวลานี้ ซึ่งนับตั้งแต่จุดเริ่มของเหตุการณ์การสอบสวนธุรกิจ กระแสเงินไหลออกจากยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนไปกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งราคาหุ้น Alibaba และ Tencent ปรับลงกว่า 40%
ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช จำกัดระบุว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น มีเม็ดเงินไหลเข้าเพียง 1,400 ล้านบาทในกองทุนหุ้นจีน จากที่เคยเป็นดาวเด่น การตรวจสอบจากทางการจีนก็ได้ทำให้กองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนติดลบมากที่สุด และต่ำที่สุดในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกันนี้ จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนเข้าสอบสวนก็ได้ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนนั้นชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผนวกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ก็ได้สร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทาน และทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง
ซึ่ง Scott Kennedy ที่ปรึกษาอาวุโสและประธานผู้ดูแลผลประโยชน์ด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของจีนที่ศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ ประเมินว่าจีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าจากการเน้นบริโภคภายในประเทศ และไม่สนับสนุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ Kennedy มองอีกว่า หากรัฐบาลจีนได้เข้ามาสอบสวนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีก ก็อาจจะทำให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจของทั้งประเทศลดลงได้ ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์คิดสัดส่วนสูงสุด 29% ของ GDP ประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้แสวงหากำไรอาจสร้างอานิสงส์ต่อโรงเรียนรัฐบาล ทำให้เพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูต่อไปว่า สถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้จีนนำไปสู่เป้าหมายที่ตนเองต้องการหรือไม่
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด