เกิดอะไร เหตุใด 1 Euro = 1 Dollar ? สิ่งนี้กระทบคนยุโรปและทั่วโลกอย่างไร | Techsauce

เกิดอะไร เหตุใด 1 Euro = 1 Dollar ? สิ่งนี้กระทบคนยุโรปและทั่วโลกอย่างไร

เป็นที่ทราบดีว่าสกุลเงินยูโรมีเสถียรภาพ และมีมูลค่าสูงมาโดยตลอด แต่สัปดาห์ที่แล้ว เงินยูโรกลับอ่อนค่า ลดลงเหลือ 1.00 Dollar/Euro หรือที่ประมาณ 36-37 บาท (ณ 12 ก.ค. 2022) เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินที่แข็งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสิ่งนี้จะซ้ำเติมความหวาดวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ รวมทั้งส่งผลกับพฤติกรรมของคนในยุโรปและทั่วโลกอย่างไร 

เกิดอะไร เหตุใด 1 Euro = 1 Dollar ? สิ่งนี้กระทบคนยุโรปและทั่วโลกอย่างไร

หากเปรียบเทียบว่าเงินยูโรมีเสถียรภาพเพียงใด ต้องย้อนกลับไปเมื่อครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ในครั้งนั้น เงินยูโรยังสามารถแข็งค่าอยู่ที่ 1.60 ดอลลาร์/ยูโร นอกเหนือจากนี้ยังสามารถผ่านวิกฤตการเงินย่อยๆ มาได้หลายครั้งด้วยกัน

แต่ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรในตอนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เหนือการคาดเดา เพราะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า เงินยูโรมีสิทธิ์ลดลงมาเหลือ 1 ยูโร = 1 ดอลลาร์ เพราะส่อแนวโน้มให้เห็นมา 14 เดือนแล้วที่มูลค่าเงินยูโรลดลงมา 20% โดยเฉลี่ย 

สาเหตุยูโรอ่อนค่า ชะตากรรมที่ขึ้นกับวิกฤตพลังงาน

ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เงินยูโรอ่อนค่าครั้งนี้ เกิดจากเหตุการณ์ ท่อส่ง Nord Stream 1 ท่อส่งก๊าซเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปซึ่งส่งก๊าซจากรัสเซียสู่เยอรมนีปิดทำการ โดยเหตุผลในการปิดคือเพื่อทำการบำรุงรักษาประจำปี และมีกำหนดปิดเป็นเวลา 10 วัน แต่ทั้งรัฐบาล และภาคเอกชนต่างๆ ล้วนกังวลว่าการปิดท่อครั้งนี้อาจยืดเยื้อออกไปเนื่องจากสงครามในยูเครน การปิดท่อก๊าซนี้จึงอาจเป็นการซ้ำเติมความบาดหมางที่ยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียให้รุนแรงยิ่งขึ้น

อีกประเด็นที่ซ้ำเติมให้เงินยูโรเกือบเข้าใกล้วิกฤตคือ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ซึ่งเป็นปัจจัยมหภาคที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และสภาพเงินเฟ้อของทวีปยุโรปนั้นภาพรวมก็ดูรุนแรงไม่แพ้กัน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้ บรรดาประเทศในยุโรป มีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 8.8% (ณ 15 ก.ค. 2022) ด้วยซ้ำ  

ในมุมกลับกัน ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสุดในรอบ 20 ปี

เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสวนทางเงินยูโรนับว่าเป็นปัจจัยบวกของสหรัฐฯ ที่พอจะสู้กับอัตราเงินเฟ้อได้บ้าง ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ได้เกิดจากโมเมนตัมปกติ แต่เกิดจากนโยบายที่แข็งขันของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรับขึ้น-ลงอัตราดอกเบี้ย และมีการอัดฉีดเงินกระตุ้นตลาดหรือดึงเงินกลับจากตลาดเป็นบางครั้ง ซึ่งล่าสุดได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.75% เป็น 1.50%-1.75% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้กับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นน่าติดตามอีกว่า Fed กำลังจะจัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 26-27 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นที่น่าจับตาว่า Fed อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 1% หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าที่คาด 

รูป ท่อส่ง Nord Stream 1 Cr. CNBC

สิ่งนี้จะส่งผลต่อคนยุโรปและคนทั่วโลกอย่างไร

เหตุความไม่ปกติของค่าเงินนี้ นับว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับชาวยุโรป เพราะการที่สกุลเงินอ่อนค่า จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของประเทศในโซนยุโรปมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ อย่าง เชื้อเพลิงและน้ำมัน ซึ่งชาวยุโรปจะต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้า หรือก็คือสามารถซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ได้น้อยลงนั่นเอง ซึ่งกลับกันนี่เป็นข่าวดีสำหรับชาวสหรัฐฯ ที่สามารถซื้อสินค้ายุโรปได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ สำหรับชาวยุโรปนั้นมี 3 ประเด็นหลักที่จะเกิดผลกระทบที่เปลี่ยนแปลง คือเรื่อง การส่งออก การลงทุน และค่าครองชีพ ดังนี้

1. การส่งออกของทวีปยุโรปจะมีแนวโน้มมากขึ้น 

เพราะราคาสินค้ายุโรปถูกลงในสายตาคนนอกยุโรป แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าสินค้าที่ยุโรปส่งออกส่วนใหญ่ เน้นหนักไปในด้านใด เพราะสินค้าที่ยุโรปส่งออกนั้นจะขึ้นชื่อว่าทำกำไร Margin ได้สูง ทั้งไอที ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเงินยูโรที่อ่อนค่านี้จะเป็นผลดีอยู่บ้างก็อาจทำให้ยุโรปเกิดดุลการค้าเป็นบวกได้

ขณะเดียวกันการส่งออกของชาติต่างๆ รวมถึงประเทศไทยไปยังกลุ่มยูโรโซนอาจจะน้อยลง เพราะสินค้าของคนนอกจะมีราคาแพงขึ้นในสายตาชาวยุโรป ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นมียอดดุลการค้ากับทวีปยุโรปหดตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งกลับมาเป็นลบครั้งแรกในรอบ 15 เดือน (27 พฤษภาคม 2022)

2. ผลกระทบการลงทุนทั้งในระยะสั้น และระยะยาว 

จากผลกระทบทั้งอัตราเงินเฟ้อ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และยิ่งมีวิกฤตค่าเงินยูโร ก็ยิ่งดูเหมือนตอกย้ำให้บริษัทและหน่วยงานของยุโรปอาจชะลอการลงทุนเชิงรุกลงไป และเพิ่มการลงทุนแนวหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ที่ทนต่อสภาวะผันผวน เพื่อต้านเงินเฟ้อมากขึ้น ส่วนนักลงทุนก็จะลดการเล่นรอบหุ้นวัฏจักร หรือ Cyclical stock ลง ทั้งนี้ ตลาดทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาด Emerging Market ก็ไม่ได้ดีกว่ากันนัก ไทยเราที่จัดว่าอยู่ในโซน Emerging ก็น่าจะไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนชาวยุโรปได้มากเท่าไหร่

3. ค่าครองชีพคนยุโรปสูงขึ้น 

ชาวยุโรปจะมีแนวโน้มใช้จ่ายเงินน้อยลง อย่างเช่นที่เห็นใน ข่าวที่ชาวอังกฤษยอมลดมื้ออาหารเพื่อประหยัดเงินและ แนวโน้มวัยรุ่นนิยมปลูกผักกินเองมากขึ้น เนื่องจากกังวลเรื่องค่าครองชีพและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ยังรวมถึงแนวโน้มที่ผู้คนเริ่มลังเลต่อการซื้อของฟุ่มเฟือย ลดการใช้ของหรือสินค้าจากต่างประเทศ และลดการท่องเที่ยวในภูมิภาคไกลๆ กลับกัน การที่เงินยูโรมีค่าลดลงจะส่งผลให้นักท่องเที่ยว EU หันไปเที่ยวในภูมิภาคยุโรปซึ่งอยู่ใกล้กันแทน

เมื่อความเคลื่อนไหวของรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่สงบ สถานการณ์ของภาคพื้นยุโรปก็ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเศรษฐศาสตร์บางราย อาทิ Mr. Holger Schmieding ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรฐศาสตร์จาก Barenberg Bank เชื่อว่าเงินยูโรจะสามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์เงินยูโร และจับตาดูวันที่ 10 ของการปิดท่อแก๊ส (วันที่ 21 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้) ซึ่งอาจจะเป็นตัวกระตุ้นอีกครั้งว่า ราคาเงินยูโรจะยิ่งดิ่งลง หรือจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น


อ้างอิงข้อมูลประกอบจาก 

Harmonized index of consumer prices (HICP) inflation rate of the European Union in May 2022, by country

Fed hawks say they want 75 basis point rate hike in July

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย

UK inflation hits new 40-year high of 9.1% as food and energy price surge persists

Euro drops to 20-year low, approaches parity with dollar

EPSC - The State of Investment in Europe and the World.pdf

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...