ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong | Techsauce

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกตั้งคำถามว่า Fastwork ธุรกิจของเจ้าตัวเองก่อตั้งมาแล้วถึง 8 ปี แต่ไม่สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง เพราะอะไร ? 

Techsauce ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ รวมถึงมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ CK Cheong ซีอีโอ คนดัง ที่จะมาตอบทุกประเด็นที่คนสงสัย ตั้งแต่เหตุผลที่เข้าซื้อ Fastwork วิธีการบริหาร สาเหตุที่ Fastwork ยังไม่สามารถทำกำไรได้ และอนาคตของธุรกิจนี้ 

CK Cheong ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง Fastwork

ข้อแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ คือ CK Cheong ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง Fastwork ธุรกิจนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คน คือ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์ และ อาพร พลานุเวช โดยทั้งสองมีดีกรีเป็นนักเรียนนอก มีประสบการณ์การทำงานฟรีแลนซ์ตอนอยู่ต่างประเทศ ทำให้เห็นปัญหาของอาชีพฟรีแลนซ์ จึงเกิดเป็นที่มาของการสร้างธุรกิจ Fastwork เพื่อพัฒนาระบบให้ผู้รับงานและผู้จ้างงานมาเจอกัน

จากจุดรุ่งเรือง สู่จุดวิกฤตของ Fastwork 

หลังจากก่อตั้ง Fastwork มีการระดมทุนมาหลายรอบ ได้รับเงินทุนจากแหล่งเงินทุนชั้นนำของไทยหลายแห่ง ซึ่งดีลที่น่าจับตามองคือ การระดมทุนรอบ Series A ในปี 2018 มูลค่า 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้รับเงินทุนจาก 4 ประเทศ ได้แก่ Gobi Partner VC จากประเทศจีน เป็นผู้ลงทุนหลัก, Partech VC จากฝรั่งเศส, Vicker Ventures Partner Angel VC จากประเทศสิงคโปร์ และ LINE Ventures Corporate VC จากญี่ปุ่น

งบกำไรขาดทุนของ บริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยีส์ จำกัด

จากเงินทุนที่ได้รับมา Fastwork นำไปขยายธุรกิจจนเติบโต แต่สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หลังปี 2019 เกิดการระบาดของ Covid-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก รวมถึง Fastwork ที่ต้องชะลอแผนการระดมทุนรอบใหม่ 

ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่นักลงทุน และ VC ยังไม่กล้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ Fastwork จึงจำเป็นต้องนำเงินทุนที่มีมาบริหารธุรกิจจนเกือบหมด จนทำให้บริษัทไปถึงจุด ‘เกือบล้มละลาย’

ประจวบเหมาะกับตอนที่ CK Cheong ซึ่งกำลังมองหาลู่ทางการทำธุรกิจในไทย หลังจากขายหุ้นใน HAUP ธุรกิจ Mobility Sharing ที่เจ้าตัวเคยบริหารอยู่ในช่วงปี 2018-2021 โดยเจ้าตัวรู้จักกับผู้ก่อตั้ง Fastwork จากเกม DOTA ตั้งแต่สมัยอยู่ที่อเมริกา จึงได้ลองพูดคุย และหาความเป็นไปได้ในการส่งไม้ต่อบริษัทนี้สู่มือของ CK Cheong 

ช่วงที่ CK Cheong เข้ามารับไม้ต่อ หน้าที่ของเขาคือ การขายธุรกิจนี้ออกไปให้ได้เพื่อจ่ายหนี้ที่มีอยู่ โดยหลังจากนำเสนอขายกับนักลงทุนหลายราย และพบกับดีลที่ไม่เป็นใจนัก CK Cheong เลยเลือกที่จะนำเงินจากธุรกิจเก่าที่เพิ่งขายออกไปมูลค่า 12 ล้านบาท มาลงทุนกับ Fastwork แทน จึงทำให้เขากลายเป็นผู้บริหาร Fastwork นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ซื้อ Fastwork เพราะรักล้วนๆ

เหตุผลแรกที่ผมซื้อนะครับ เป็นเพราะว่าทีมงานรัก Fastwork มาก

CK Cheong ย้ำชัดเจนว่าไม่ได้ซื้อ Fastwork เพราะตัวธุรกิจทำกำไรมหาศาล แต่เป็นเพราะเห็น "ความรัก" ในองค์กรของทีมงานที่ยังคงทำงานหนัก แม้ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนเดิมจะถอดใจไปแล้ว เขาเห็นคุณค่าในตัวบุคคลเหล่านี้ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถร่วมงานกันเพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้

CK Cheong ทำงานกับทีมงาน Fastwork มาปีกว่าๆ ก่อนตัดสินใจซื้อกิจการ ช่วงเวลานั้นทำให้เขาเห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพของทีม เขาเชื่อว่าทีมงานนี้มีดีพอที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้เติบโตไปได้ไกลกว่าเดิม

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี แต่ CK ยังทำต่อ ?

หากย้อนกลับไปในยุคของ CEO คนเก่า Fastwork ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่ฟรีแลนซ์ชาวไทยใช้ทำงานอย่างมี work-life balance ชีวิตที่สมดุลและการทำงานที่ยืดหยุ่นคือหัวใจสำคัญขององค์กรในตอนนั้น

แต่เมื่อ CK Cheong ก้าวเข้ามา ทุกอย่างเปลี่ยนไป เขาเห็น Fastwork เป็นมากกว่าพื้นที่ทำงานสำหรับฟรีแลนซ์ CK Cheong มองว่าแพลตฟอร์มนี้คือ "เครื่องมือที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" เขาเชื่อว่า Fastwork สามารถกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ห่างไกล ให้คนทำงานจากบ้านได้ และช่วยผลักดันบริการของคนไทยไปสู่ตลาดโลก

CK Cheong เชื่อว่า “ประเทศไทยจะแข่งกับโลกไม่ได้ ถ้าไม่มีมันสมอง” และการพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากการพัฒนาคน เขาอยากให้คนไทยรอบรู้มากขึ้น ฉลาดมากขึ้น และกล้าที่จะฝันใหญ่ การเข้ามาทำ Fastwork จึงไม่ได้มองแค่เรื่องรายได้ระยะสั้น แต่หวังผลลึกถึงโครงสร้างความคิดและความกล้าในการสร้างสรรค์ของคนไทย

ในโลกที่ประเทศอื่นส่งออกสินค้าคุณ CK Cheong มองต่างและเล่าให้กับทาง Techsauce ฟังว่า

 “ผมอยากส่งออกบริการ” เขาอยากให้ Fastwork เป็นแหล่งรวมบริการของคนไทย ที่พร้อมแข่งขันในระดับโลก ไม่ใช่แค่ในแง่ของฝีมือ แต่ยังเป็นการผลักดันวัฒนธรรมและศักยภาพของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับ

การทำกำไรจึงไม่ใช่คำตอบ เพราะเป้าหมายคือการเปลี่ยนประเทศ

แม้ธุรกิจจะ burn เงินราวล้านบาทต่อเดือน CK ยืนยันว่าเขาไม่เคยคิดเรื่อง breakeven (จุดที่ธุรกิจไม่ขาดทุน)

ถ้าผมอยาก breakeven ผมทำได้พรุ่งนี้เลย ผมไล่ทีมออก 50% ก็พอ

แต่สำหรับเขา การทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อประเทศ นั่นต่างหากคือ ความล้มเหลวที่แท้จริง


break-even แต่ประเทศไม่ได้อะไรเลย ผมว่าเจ๊งไปดีกว่า 

CK Cheong ย้ำว่า Fastwork สำหรับเขาคือการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ใช่แค่ในเชิงธุรกิจ แต่เพื่อสร้างผลกระทบในระดับสังคมไทย เขาเชื่อว่าทุกบาทที่ burn ไปคือการลงทุนเพื่อให้แพลตฟอร์มนี้เติบโต และสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ไม่มีใครเคยทำ


ผมไม่ทำ Fastwork เพื่อกำไร ผมทำเพื่ออนาคตของประเทศไทย


ประโยคนี้จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนของคำถามที่ว่า ทำไมยังทุ่มเทกับ Fastwork ทั้งที่ธุรกิจนี้ยังคง burn เงินทุกเดือน ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของคุณ CK Cheong ที่เลือกมองเป้าหมายใหญ่กว่าตัวเลขในบัญชี 

ทั่วโลกต้องจ้างงานคนไทย



อีกเป้าหมายหนึ่งของ Fastwork คือ การทำให้ทั่วโลกสามารถจ้างงานคนไทยผ่าน Fastwork ได้โดยทำลายข้อจำกัดด้านกำแพงภาษา ซึ่งจะมีการนำเอาเทคโนโลยี AI แปลภาษาต่างๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า และโอกาสธุรกิจ โดยมีแผนขยายตลาดไปยัง 2-3 ประเทศ

นอกจากนี้ Fastwork วางแผนที่จะขยายไปยังบริการด้านไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น การทำเล็บ, ต่อขนตา, ตัดผมที่บ้าน และบริการช่างต่างๆ เช่น ช่างไฟ, ช่างแอร์, ช่างไม้ เป็นต้น เปรียบเสมือน "Everything Store" สำหรับบริการต่างๆ ทำให้ทุกคนนึกถึง Fastwork เมื่อต้องการใช้บริการเหล่านี้ 

รวมทั้งยังวางแผนสร้างความเชื่อมั่น และลดภาระให้กับฟรีแลนซ์ Fastwork ด้วยการลดค่าคอมมิชชั่นจาก 17% เหลือเพียง 5% และเปลี่ยนจากโมเดลการคิดค่าบริการแบบเปอร์เซ็นต์ มาเป็นแบบ Pay-per-click คล้ายกับ Google Ads 

CK ย้ำตลอดการสัมภาษณ์ว่า เป้าหมายสูงสุด หรือ Ultimate Goal คือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพราะประเทศไทยคือ ‘บ้าน’ เป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะ และฟูมฟักจนมี CK ทุกวันนี้ บ้านหลังนี้จะพา CK ไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่นั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไป

เตรียมติดตามคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ CK Cheong ฉบับเต็มจาก Techsauce ได้เร็วๆ นี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จัก Gen Beta ผู้ไม่รู้จัก ‘โลกในยุคไร้ AI’ เจนเนอเรชั่นกำเนิดใหม่ของปี 2025

เจเนอเรชัน Beta (Gen Beta) กำลังจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดในปี 2025-2039 พวกเขาเติบโตในโลกที่ AI และเทคโนโลยีเชื่อมโยงชีวิตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเน้นความยั่งย...

Responsive image

อ่านตามผู้นำระดับโลก 20 หนังสือที่ Elon Musk, Jeff Bezos และ Bill Gates แนะนำให้อ่าน

ผู้บริหารระดับสูงหลายคนได้กล่าวว่า พวกเขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญทางธุรกิจจากหนังสือ ซึ่ง Elon Musk, Jeff Bezos และ Bill Gates ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทั้งหมดยังเห็นพ้องกันว่า การเรียนรู้...

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...