Work from Home ให้เวิร์ค รวม Tips ทำงานที่บ้านช่วง COVID-19 ให้ได้งานและมีความสุข | Techsauce

Work from Home ให้เวิร์ค รวม Tips ทำงานที่บ้านช่วง COVID-19 ให้ได้งานและมีความสุข

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราหลายๆ คน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป งานที่ยังไม่เสร็จคงต้องเป็นเราเป็นผู้สำเร็จ และเพื่อลดผลกระทบจากภาวะดังกล่าว หลายบริษัทจึงมีนโยบาย Work from home แน่นอนว่านโยบายนี้ช่วยลดผลกระทบทั้ง แต่ดังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งหากเตรียมตัวไม่ดีก็จะกลายเป็นภาระของคนทำงาน พาลให้บริษัทไม่ได้งานที่พึงปราถนาไว้ก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปใหญ่ ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนำเสนอ Tips ที่ควรรู้สำหรับคนที่ต้องหันมาทำงานที่บ้านที่คิดมาสำหรับพนักงานทุกระดับและทุกแผนกมาให้ทุกคนได้ลองปรับใช้กัน

ตกแต่งตำแหน่งทำงานให้น่า “นั่ง” ยาวๆ

หลายคนคิดว่าการนั่งทำงานที่บ้านคือทำงานตรงไหนก็ได้ของบ้านที่เรารู้สึกสบาย แต่อันที่จริงแล้ว ยิ่งที่ที่ทำให้เราสบายที่สุด มักจะเป็นที่ที่บั่นทอนความขยันของเรามากที่สุด วิธีที่ดีสำหรับการทำงานที่บ้านคือการจัดที่นั่งทำงานให้กลายเป็นที่นั่งทำงานอย่างจริงจังและแยกออกจากพื้นที่หย่อนใจภายในบ้าน การแยกพื้นที่จะช่วยให้เรามีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำมากขึ้น 

การแยกพื้นที่ไม่จำเป็นต้องถึงกับแยกห้องใหม่ เราอาจจะทำการเปลี่ยนบรรยากาศได้แบบง่ายๆ เช่น ปรับเก้าอี้ของเราให้สูงกว่าปกติ ย้ายไปนั่งอีกฝั่งของโต๊ะกินข้าว เอาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานวางไว้บนโต๊ะ หรือแม้แต่สร้าง Login Account สำหรับการทำงานเป็นการเฉพาะใน Laptop ของเรา ก็ช่วยให้เราปรับ Focus ให้อยู่กับงานได้ดีขึ้น

แต่หากไม่สามารถมีสมาธิที่บ้านได้จริงๆ การไปยังสถานที่สาธารณะที่คนไม่พลุกพล่านมากนักก็อาจจำเป็นสำหรับบางคน แต่อย่าลืมนำหน้ากากอนามัยติดตัว พร้อมกับหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วย

กำหนดตารางเวลาของวันให้ชัด และอย่าลืมช่วงพักเบรก

หลายคนคิดว่าการทำงานที่บ้านคนเดียว อาจทำให้เรามีอิสระที่จะทำงานตอนไหนของวันก็ได้ แต่อันที่จริงแล้ว เราจำเป็นต้องกำหนดตารางเวลาการทำงานให้ชัดกว่าเดิม เพราะบรรยากาศการทำงานที่บ้านจะนิ่งกว่าการทำงานร่วมกันในสำนักงาน ทำให้หลายคนหลงลืมกำหนดเวลาที่เหมาะสม เราอาจใช้เครื่องมืออย่าง Schedule หรือ Reminder กำหนดช่วงเวลาทำงานให้เหมือนกับตอนอยู่สำนักงาน อีกทั้งการอยู่ในกรอบเวลา จะช่วยให้เรามีสมาธิและเป้าหมายซึ่งช่วยให้เราผลิตชิ้นงานออกมาได้

อีกเรื่องที่คำนึงไว้ด้วยคือ เวลาพัก เนื่องจากการ Work from home ส่วนใหญ่ เราจะทำงานคนเดียวที่บ้านซึ่งบรรยากาศจะไม่เปลี่ยนมากนัก แม้จะเป็นเวลาพักเที่ยงก็มีโอกาสที่เผลอจะทำงานอย่างไหลลื่นจนลืมมื้อเที่ยงจนได้ การกำหนดช่วงเวลาพักในตารางเวลาของวันจะช่วยให้เราได้หยุดพักทั้งร่างกายและสมองจนสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง อาจจะลองกำหนดเวลาพักเป็นช่วงเที่ยงตรงและบ่ายสามโมงของวันดูก็ได้

สื่อสารให้มากขึ้นและชัดเจนกว่าปกติ

สาเหตุหนึ่งที่การทำงานที่บ้านของหลายองค์กรไม่เวิร์คคือ การสื่อสารที่น้อยเกินไป เนื่องจากการทำงานที่บ้าน เราไม่มีโอกาสพบปะเห็นหน้าเพื่อนร่วมงานบางคนทำให้เราไม่อาจถ่ายทอดสารได้เต็มที่ ดังนั้น เราต้องตระหนักว่าควรสื่อสารกับทีม “ให้มากกว่าปกติ” โดยเฉพาะกับคนที่ควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับเรา รู้ว่าเราทำงานส่วนไหนอยู่ งานของเราติดขัดอะไร งานของเราชิ้นใดที่เสร็จแล้ว ชิ้นใดที่ต้องการความคืบหน้าจากคนอื่น หรือหากต้องลาพัก เราจะลาพักวันไหน เป็นเวลากี่วัน

การสื่อสารที่ดีไม่จำเป็นต้องยืดยาวหรือเป็นทางการมากนัก เพียงแค่ต้องสื่อสารด้วยข้อความที่ชัดเจน มุ่งเน้นสิ่งที่เกิดขึ้น และสื่อสารให้บ่อยครั้งกว่าปกติ วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือการกำหนดช่วงเวลาเพื่ออัพเดทงานและสถานะภายในทีมร่วมกัน การได้เห็นความคืบหน้าและจำนวนงานช่วยให้การจัดการงานเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

คุยกับคนที่บ้านให้เข้าใจว่าเราต้องทำงาน

เชื่อว่าหลายคนที่ต้องหันมาทำงานที่บ้านช่วงนี้ อาจอาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีลูกหลานหรือญาติผู้ใหญ่ด้วย เราจำเป็นต้องตกลงกับคนที่บ้านว่า เราพร้อมจะทำอะไรให้กับคนที่บ้านในช่วงไหนของวัน โดยให้ยึดตารางการทำงานเหมือนกับเวลาที่เราทำงานในสำนักงาน เพื่อลดการรบกวนซึ่งบั่นทอนประสิทธิภาพของเรา ทั้งนี้ หากคนที่บ้านเข้าใจความสำคัญและสภาวะที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ก็อาจกลายเป็นผู้สนับสนุนที่ทำให้การ Work from home ของเรามีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้นทีเดียว

เตรียมอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ให้พร้อม

อีกข้อหนึ่งที่หลายคนละเลยคือการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งานตามขอบเขตงานของเรา โดยเฉพาะทีมที่มีโอกาสต้องติดต่องานกับบุคคลภายนอกและมักใช้ห้องประชุมเป็นที่ติดต่อหลัก แล้วต้องเปลี่ยนมาใช้ Online Communication Platform (เช่น Zoom, Google Hangout ฯลฯ) แทน ก็ต้องมีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์และเครือข่ายด้วยทั้งในแง่ความสะดวกและความปลอดภัยของระบบตามมาตรฐานก่อนที่จะใช้งานจริง ซึ่งหากบริษัทสามารถดำเนินการส่วนนี้จนเสถียรก็จะเปิดทางเลือกในการทำงานของทีมในภาวะปกติ อันเป็นข้อได้เปรียบและดึงดูดบุคลากรได้ในอนาคตด้วย

ทักไปเม้ามอยกับเพื่อนร่วมงานบ้าง

เราไม่อาจปฏิเสธความเหงาจากการทำงานที่บ้านคนเดียวได้ อยู่ๆ บรรยากาศการทำงานที่คึกคักก็เปลี่ยนไปเป็นเสียงพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศหึ่งๆ ที่ห้องแซมด้วยเสียงแชทรัวๆ ที่มีแต่เรื่องงาน ดังนั้น เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ก็ไม่ควรพลาดที่จะ “เม้ามอย” กับเพื่อนร่วมงานเมื่อสะดวกบ้าง เมื่อมีโอกาสพูดคุยกัน เช่น ตอนประชุม  ประสานงาน ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ ก็อย่าลืมถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างกันบ้าง หรืออาจจะเล่นสนุกด้วยการส่ง Meme ให้ดูในแชทที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานก็เป็นวิธีคลายเครียดร่วมกันที่ดี

คิดบวกไว้ดีกว่า หาโอกาสพัฒนาตัวเองจากความเปลี่ยนแปลง

การทำงานที่บ้านอาจเกิดความขลุกขลักจากการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อดีไม่น้อย ทั้งการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่คุ้นเคย หลายคนมีโอกาสหันมาจัดบ้านใหม่ให้เหมาะสมกับที่ต้องอยู่ทั้งวันมากขึ้น การไม่ต้องเดินทางเองก็ทำให้เรามีเวลามากขึ้น เราสามารถเอาเวลาไปอ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือแม้แต่สิ่งง่ายๆ ในบ้านที่เราไม่มีโอกาสได้ทำหากต้องเดินทาง เช่น ทำอาหารกินเอง ใช้เวลาพูดคุยกับคนที่บ้านมากขึ้น ทั้งหมดนี้ เราจะสามารถมองเห็นได้จากการคิดในแง่บวก ไม่แน่ว่าการ Work from home อาจจะเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้ชีวิตเราเจอเป้าหมายใหม่ที่สำคัญสำหรับเราก็เป็นได้

จะเห็นได้ว่าหลายข้อที่เรานำเสนอไปถือเป็นโอกาสสำหรับทั้งบุคคลและองค์กรในระยะยาวไม่น้อยทีเดียว ซึ่งเราหวังว่าสิ่งที่เรานำเสนอไปจะช่วยให้ทุกท่าน Work from home อย่างมีความสุขมากขึ้น สุดท้ายี้ ขอให้ทุกท่านอยู่รอดปลอดภัยท้ังสุขภาพกาย ใจ และการเงิน แล้วเราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก time.com และ pcmag.com

ขอบคุณภาพประกอบจาก Djurdjica Boskovic ที่ unsplash

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...