บ่ายวันอังคารกลางเดือนกันยายน ในวันที่ฝนตกโปรยปรายอย่างต่อเนื่อง เราเดินทางฝ่ารถติดกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อไปยัง ‘ชั้น 1 - หอศิลป์ฯ’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘Gallery กาแฟดริป’ และเป็นสถานที่นัดหมายกับ ‘ดร.ก้อง - พณชิต กิตติปัญญางาม’ คนในวงการ Startup ต่างรู้จักเขาดีในฐานะ dtac Accelerate Alumni Batch 7 หากสนิทกับแวดวง Startup ขึ้นมาอีกนิด จะรู้ว่าเขาคือหนึ่งผู้เล่นบทบาทสำคัญที่ขับเคลื่อน Startup Ecosystem ในเมืองไทย ผู้ซึ่ง ‘แกรด’ จากตำแหน่งนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และวันนี้เราจะชวนผู้อ่านมาคุยกับเขาในฐานะ ‘บาริสต้า’ และ ‘ผู้ร่วมก่อตั้ง Ztrus’ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการแปลงข้อมูลจากเอกสารที่เป็นกระดาษไปสู่ไฟล์ดิจิทัล โดยมุ่งแก้ ‘ปัญหาคอขวด’ ในองค์กร ที่กำลังทำ Digital Transformation
ชีวิตที่เร่งรีบในเมืองใหญ่ถูกทำให้ช้าลงด้วยกลิ่นไอจากกรวยดริปกาแฟ ที่ ‘ดร.ก้อง - พณชิต’ กำลังบรรจง ‘ดริป’ ให้ ความชื้นแฉะและความแออัดบนท้องถนนพระราม 1 ถูกกั้นเอาไว้ด้วยบานกระจกใสของหอศิลป์ฯ ความเนิบช้าด้านในที่ปรุงแต่งด้วยกลิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของร้านกาแฟแห่งนี้จึงกลายเป็นห้องหลบความวุ่นวายในเมืองใหญ่ชั้นดี
กาแฟหอมกรุ่นถูกบรรจงเทถ่ายลงในแก้วเคลือบดินเผาและส่งต่อมาถึงมือเรา เราค่อยๆ รับกลิ่นไอจากแก้วกาแฟ บรรจงจิบและสัมผัสรสไปพร้อมๆ กับฟัง ‘ดร.ก้อง’ สาธยายถึงเมล็ดกาแฟก่อนที่จะมาอยู่ในแก้วใบนี้ กระทั่งกระบวนการคั่ว การคัดสรรเมล็ด เวลาผ่านไปหลายนาทีเขายังคงเล่าถึงที่มาของกาแฟแก้วนี้ด้วยแววตาเปล่งประกาย จนพาเราย้อนไปไกลถึงสถานที่ปลูกเลยทีเดียว
กาแฟยังคงร้อนอยู่ ใจที่เต้นรัวเพราะความเร่งรีบเริ่มกลับเข้าสู่จังหวะปกติแล้ว เราชวน ‘ดร.ก้อง’ ออกจากไร่กาแฟกลับมาสู่ความวุ่นวายในเมืองใหญ่ด้วยคำถามเดิมๆ ก่อนจะชวนสานไปสู่บทสนทนาถัดไป
ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต่างถูกคลื่นดิจิทัลลูกใหญ่โถมกระหน่ำเข้าใส่ หลายธุรกิจตั้งรับไม่ทันก็ล้มหายตายจากไป จากนั้นแนวคิด Digital Transformation จึงถูกพูดถึงอย่างหนาหูในประเทศไทย ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต่างก็เข้าใจดีว่าการปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำ
‘‘ผมมองว่า Digital Transformation ไม่ใช่เพียงแค่การทำทุกอย่างบนไฟล์ ‘ดิจิทัล’ แต่เป็นการตั้งคำถามว่าธุรกิจของเราจะอยู่อย่างไรในโลกที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล เพราะในวันนี้เครื่องมือดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้’
‘ดร.พณชิต’ เสริมต่อว่า ต้องเข้าใจและมองภาพให้ออกว่าธุรกิจนั้นจะอยู่รอดได้อย่างไร จะใช้เครื่องมืออะไรและจะเข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบไหน นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว ธุรกิจยิ่งต้องเข้าถึงเครื่องมือที่ดีและเครื่องมือที่จะเข้าถึงลูกค้าก็ต้องดีด้วยเช่นกัน นั่นเพราะ Digital Disruption ไม่ได้มา Disrupt แค่ในเรื่องของ Speed แต่มัน Disrupt ในเรื่องของ Demand Shift และ Supply Shift ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าความต้องการของตลาดเปลี่ยนไปแล้ว Supply ที่วิ่งเข้าหา Demand ได้เร็วกว่า ด้วย ‘เครื่องมือ’ ที่ตอบโจทย์กว่า ก็จะสามารถครองใจ Demand นั้นได้ ในขณะเดียวกันธุรกิจในวันนี้ก็ต้อง Transform ตัวเองผ่านการ Disrupt ของ Demand และ Supply ที่มี Supply Chain รวมถึงผู้ซื้อ-ผู้ขายของ Supply Chain เหล่านั้นเป็นทอดๆ ให้ได้ด้วย
"เมื่อทุกคนกำลัง Shift Value Chain ไปสู่ดิจิทัล ในโลกใหม่ที่ทุกอย่างย้ายที่หมดแล้ว เรายังจะอยู่ที่เดิมไหม?"
การแพร่ระบาดของ Covid-19 บีบบังคับให้คนต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลและบีบบังคับให้คนปรับพฤติกรรมโดยจำยอม ทำให้โครงสร้างต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงและยังส่งผลให้การทำ Digital Transformation ถูก Speed Up ขึ้นประมาณ 1.5 - 2 เท่า ในเวลานี้เราต่างก็ได้เห็นแล้วว่า Demand บางส่วนหายไป ขณะเดียวกัน Demand ใหม่ก็เกิดขึ้น ดังนั้น ธุรกิจต้องย้ายตัวเองไปสู่ Value Chain ใหม่ให้ได้
เมื่อการแข่งกันในยุคนี้สัมพันธ์กันระหว่าง ‘Data’ กับ ‘ความเร็ว’ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นกลับอยู่ในรูปแบบของเอกสารบนกระดาษ การจัดเก็บและการนำออกมาใช้จึงกลายเป็น ‘ปัญหาคอขวด’ ในองค์กร โดยที่หลายๆ ธุรกิจอาจจะมองข้ามว่าปัญหานี้เป็นต้นตอความล่าช้าของการทำ Digital Transformation
หลังจบโปรแกรมบ่มเพาะ Startup จากโครงการ dtac Accelerate ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา Ztrus ก็ได้พบว่าบริษัทหลายแห่งมีปัญหาด้านการจัดการข้อมูลในรูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษ โดยในแต่ละเดือนมีเอกสารมากกว่า 5,000 ชุด และเอกสารเหล่านี้ก็เป็น ‘ต้นตอของปัญหา’ ในการทำ ‘Digital Transformation’ ของบรรดาบริษัทใหญ่ รวมไปถึงธุรกิจ SME ที่มีรายได้มูลค่า 200-300 ล้านบาท/ปี ด้วย
จากปัญหาที่พบ Ztrus จึงถอยกลับมาตั้งโจทย์ใหม่ โดยมองว่า Data ว่าเป็น ‘จดหมายเหตุ’ แต่การจดบันทึกทุกอย่างนั้น อาจจะได้มาทั้งข้อมูลที่สำคัญและข้อมูลที่เป็นขยะ ตามหลักคิดของ IT คำว่า Data คือ ‘ข้อมูล’ แต่ Information นั้นเป็น ‘สิ่งที่ถูกนำมาจัดเรียงแล้ว’ ดังนั้นการเก็บข้อมูลจะต้องกลั่นกรองก่อนจึงจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อที่จะย่อย สังเคราะห์และนำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
Ztrus ได้พัฒนาเทคโนโลยี OCR หรือ ‘Optical Character Recognition’ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี AI หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่พัฒนาขึ้นมาให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ประเภทของข้อมูลเทียบเคียงกับสมองของมนุษย์ มีศักยภาพในการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลกระทั่งมีความสามารถในการดึงข้อมูลจากเอกสารที่มีความซับซ้อนของเอกสารแต่ละแบบฟอร์มออกมาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ที่สำคัญยังมีความยืดหยุ่นในการระบุตำแหน่งของข้อมูลบนเอกสารและยังสามารถปรับการทำงานกับทุกรูปแบบเอกสารได้ด้วย
เมื่อแปลงข้อมูลจากเอกสารแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำไปเก็บรักษาบนฐานข้อมูล (database) ตามจำแนกประเภทข้อมูลโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคนแบบเดิมอีกต่อไป ข้อมูลจึงถูกจัดเก็บได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วกว่า ปลอดภัยและสะดวกต่อการเรียกใช้งานมากขึ้น
นอกจากนี้ Ztrus OCR ยังถูกพัฒนาให้มี Logicในการอ่านข้อมูลเทียบเท่ากับความสามารถของมนุษย์ ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลเอกสารได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่มีโครงสร้างทางภาษาที่ซับซ้อน โดยระบบจะทำความเข้าใจ Data Structure ของลูกค้าก่อน จากนั้นระบบจะเรียนรู้และเลือกบันทึกเฉพาะข้อมูลที่ลูกค้าต้องการ การทำงานแบบ Automation ของ Ztrus OCR นี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยขยายการเติบโตของธุรกิจ ที่จะจ่ายในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่มีประสิทธิภาพมากกว่า
‘หัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยี’ คือ การเข้าใจและการปรับตัวเข้าหาปัญหาของลูกค้า โดย Ztrus เองก็ได้วางตัวเองไว้ในฐานะ ‘พันธมิตร’ ผู้ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาและมุ่งมั่นจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องให้เป็นเครื่องมือและเป็นกำลังเสริมในการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจแก่ ‘พันธมิตรผู้ใช้บริการ’ ทั้งในแง่การลดต้นทุนและการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ การมองตัวเองอย่างถ่อมตนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ Ztrus ได้พบกับตลาดใหม่ที่กว้างกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงตลาดในเมืองไทยแต่ Ztrus Technology นี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเติบโตในตลาดต่างประเทศได้
ปัจจุบันตลาด OCR ในเมืองไทยมีมูลค่า 31.6 ล้าน USD หรือประมาณพันกว่าล้านบาท และตลาดโลกจะอยู่ที่ 5.27 Bliilion USD หรืออยู่ที่ประมาณ 13,000 USD ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโต 13.5% ต่อปี โดยคาดการณ์ว่าตลาดนี้จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต
การถอยหลังกลับเพื่อมองภาพใหญ่ให้ได้เห็นว่าจะใช้หมากรุกตัวไหนเดินบนกระดานเกม บวกกับการไม่หยุดพัฒนา ส่งผลให้ Ztrus ได้รับเงินลงระดมทุนจาก NVest Venture ซึ่งเป็นกองทุนจากธนาคารออมสินและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Startup เป็นกลไกหนึ่งที่จะไปเพิ่มการมีอยู่ของเงินในระบบเศรษฐกิจ เพราะลูกค้าของ Startup คือ Supplier และธุรกิจ SME แต่หากสมรภูมิธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศ ‘Startup’ คงเปรียบได้กับ ‘นักรบเศรษฐกิจใหม่’ ที่จะเป็นกำลังหนุนและส่งเสริมให้กับทั้งธุรกิจ SME และ Corporate เพื่อเสริม ‘ทัพ’ ให้แข็งแกร่งขึ้น แล้วหากภาครัฐสามารถเชื่อมโยงให้ Demand กับ Supply มาพบกันได้ ก็จะสามารถพาทั้งระบบให้ติดปีกไปข้างหน้าและจะสามารถพาเศรษฐกิจในประเทศรอดได้ทั้ง Ecosystem
‘แต่การส่งเสริมและผลักดันเทคโนโลยีให้มีศักยภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ของต่างชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ การสนับสนุนจากทุกคนและทุกฝ่ายในการเปิดรับ - เปิดใจให้กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ของคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งในวันนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบหากเทียบกับเทคโนโลยีที่มาจากประเทศผู้นำอื่นๆ อย่าง อเมริกาหรือจีน เพราะ Demand ของประเทศเราเพิ่งเกิด แต่หากทุกฝ่ายร่วมกันผลักดัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทยก็จะสามารถไปได้ไกลและตอบโจทย์ได้เทียบเท่ากับสิ่งที่เรารับมาจากต่างประเทศ’ - ‘ดร. พณชิต’ ขยายภาพของ Startup ภายใต้แวดล้อมการเกื้อหนุน
ปริมาณของกาแฟในแก้วเริ่มลดลง บทสนทนาที่ผ่อนคลายในช่วงเริ่มต้นก็ทวีคูณความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นไปว่าคาเฟอีนจากแก้วกาแฟดริปที่อยู่ในมือ ได้เติมถ่ายความเข้มข้นในตลอดการสนทนานี้
เรายกแก้วกระดกกาแฟเฮือกสุดท้าย กาแฟจากก้นแก้วค่อยๆ ไหลลงมาสู่ปากแก้วแต่จมูกยังคงสัมผัสได้ถึงกลิ่นสารจากก้นแก้ว รสชาติกาแฟที่เย็นแล้วยังคงแน่น กลมกล่อมและให้สัมผัสที่นุ่มนวลไม่ต่างจากสัมผัสแรกเลย สำหรับชาวกาแฟดริป คงรู้ดีกว่า ‘กาแฟดี’ นั้นมาจากความตั้งใจของเกษตรกรผู้ปลูก รวมถึงแวดล้อมที่มาจากหลากหลายองค์ประกอบ เฉกเช่นกับ ‘เทคโนโลยีที่ดี’
เข็มนาฬิกาขยับผ่านตัวเลขไปหลายนาทีแล้ว ก่อนที่จะแยกจากกัน เราป้อนคำถามชุดสุดท้าย
เราสังเกตุได้ถึงการกลับมาของรอยยิ้มและแววตาที่เป็นประกายอีกครั้ง หลังคำถามนี้
‘ผมอยากมองตัวเองว่ากำลังดริปเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ ‘น่าน - เกอิชา’ ปลูกที่จังหวัดน่าน เพราะเกอิชาเป็นกาแฟสายพันธุ์ที่ราคาแพงที่สุด ดีที่สุดและหอมที่สุดในโลก แต่ข้อเสียคือปลูกยาก โตยากและตายง่าย ต้องใช้ความตั้งใจและการดูแลอย่างทะนุถนอมของเกษตรกรในการที่จะปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้
AI ที่เราสร้าง มันเป็น Deep Technology และผมเชื่อว่ามันมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ในระดับโลก เช่นเดียวกับ “เกอิชา” กาแฟคุณภาพดี ที่ทุกคนต่างอยากได้อยากมี แต่การปลูกกาแฟสายพันธ์ุนี้ในประเทศนี้มันยากมาก
มันต้องใช้ความตั้งใจ ความทุ่มเท ต้องรับมือกับความเสี่ยงหลากหลายปัจจัยและไม่ใช่ผมปลูกได้คนเดียว การสร้าง AI ในประเทศก็เหมือนกัน มันอาศัยสภาพแวดล้อมทั้งหมด สภาพแวดล้อมที่ว่านี้ได้แก่ เกษตรกรผู้ดูแล บาริสต้าผู้ควบคุมรสชาติการสกัดกาแฟ คนที่ช่วยพัฒนาสายพันธุ์ คนกินกาแฟ รวมไปถึงสภาพน้ำและอากาศก็ต้องสมบูรณ์ด้วย ฉะนั้น เราต้องการหลายอย่างที่จะมาเป็นปัจจัยในการทำให้ “เมล็ดกาแฟพันธุ์เกอิชา” รอดได้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก’
เขาไม่ได้มองตัวเองในฐานะบาริสต้า แต่เขามองว่าเขากำลัง ‘ดริปกาแฟ’ ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและกำลังเล่าเรื่องความยากของ ‘การสกัดกาแฟ’ แก้วนี้ให้อร่อย ได้อย่างไร
‘พอเราปลูกเสร็จและได้ผลพันธุ์ที่ดีมาแล้ว ก็เปรียบได้กับที่เรามีเทคโนโลยี AI ที่ดี แต่สุดท้ายเวลาลูกค้าใช้งาน เราก็ต้องมีทีมที่ลงไปทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อบอกเขาว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้รสชาติที่ดีที่สุด หอมที่สุดและตอบโจทย์ที่สุดจากเมล็ดกาแฟนี้ ทั้งผมและทีม Ztrus จะดริปกาแฟและคั่วให้ดี เพื่อให้ผู้ดื่มได้สัมผัสถึงกลิ่นและรสที่ดีของมัน
แต่หากเปรียบผมเป็นเกษตรกรหรือเป็นคนที่อยู่ต้นน้ำ ผมอาจจะไม่ต้องเป็นคนคั่วหรือดริปกาแฟเองก็ได้ ผมจะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เขาเหล่านั้นจะมาช่วยคั่ว ช่วยดริปและถ่ายทอดความเจ๋งของเมล็ดกาแฟที่ผมปลูกให้กับลูกค้าของพวกเขาในรสชาติใหม่ๆ ผมพร้อมที่จะเปิดรับพันธมิตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Software House หรือ Startup ที่พร้อมจะเอาเมล็ดกาแฟที่ผมปลูกไปคั่ว ไปดริป ไปสกัดในแบบของตัวเองเพื่อให้คนอื่นได้ชิมในแบบของเขา เหมือนที่เรากำลังสร้าง “เมล็ดพันธุ์น่าน - เกอิชา” ที่มีความท้าทายอยู่ตลาดเวลา ในขณะเดียวกันเราก็จะสร้างพันธมิตรกาแฟหรือพันธมิตรที่จะเอาเทคโนโลยีของเราไปใช้เพื่อเล่าเรื่องว่า คนไทยก็มีเมล็ดพันธุ์สุดยอดของโลกอยู่นะ’
คำตอบภายใต้รอยยิ้มและแววตาประกาย เมื่อเทียบ 'เกอิชา' กาแฟดริปที่อยู่ในแก้ว กับ ‘Ztrus’ เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายความท้าทาย ที่ชายผู้อยู่ข้างหน้าเรากำลังบอกเล่าว่าการบ่มเพาะ ‘เมล็ดกาแฟดี’ กับการสร้าง ’เทคโนโลยีที่ดี’ นั้น มันเป็นความท้าทายเดียวกันและต้องการกลไกในการขับเคลื่อนเหมือนๆ กัน
‘ผมคิดว่ามันดีที่สุดในตอนนี้แต่มันยังดีได้อีก และผมก็เชื่อว่ากาแฟแก้วที่ดีที่สุดไม่มีในโลก แต่ผมจะดริปกาแฟแก้วที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแต่ละคน เพราะลูกค้าแต่ละคนดื่มกาแฟรสชาติไม่เหมือนกัน ผมอาจจะไม่สามารถดริปกาแฟให้ทุกคนบนโลกได้ แต่ผมเชื่อว่าพันธมิตรของผมจะสามารถช่วยกันคั่วและดริปกาแฟที่เหมาะกับคนที่ดื่มกาแฟจากแก้วของเขาได้ แล้วเล่าเรื่องเทคโนโลยีของผมให้ออกมาได้ดีเหมือนกัน’
เขาจบประโยคสนทนาสุดท้าย ก่อนวางแก้วกาแฟพิเศษใบนั้นและแยกย้ายจากกันหลังฝนซา
‘มันไม่มีดีที่สุด แต่มันดีกับลูกค้าในราคาที่เขาจ่ายได้ ทำให้เขาแข่งขันในระดับโลกได้และทำให้ทุกคนอยู่ได้’
นี่คือภาพของ Ztrus เมื่อเปรียบเทียบกับกาแฟที่ดีที่สุดในแบบที่ Ztrus อยากเห็น เฉกเช่นกับที่ ‘ดร.ก้อง - พณชิต’ ได้บรรจงเลือกเมล็ดกาแฟ จากกว่าร้อยชนิดที่เขามีให้กับ ‘พันธมิตรสายกาแฟดริป’ แต่ละคนที่แวะเวียนไปที่ออฟฟิศย่านราชเทวี อันเป็นที่ตั้งของ Ztrus เสมอๆ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด