บทความโดย คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สืบเนื่องจาก 2 บทความที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงการพัฒนาตนเองในภาวะวิกฤติจากสถานการณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจากสถานการณ์โควิด 19 ในภาพรวม และ จากสถานการณ์ Spike Load จากหุ้น IPO รวมถึงมักจะจบบทความในเชิงชื่นชมและให้กำลังใจในการพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นจากสภาวะนั้นเสมอ
เหตุผลเบื้องหลังก็คือ ตัวผมเองก็เรียกว่าได้รับบทเรียนจากภาวะวิกฤติมาค่อนข้างมากตลอดชีวิตการทำงานเนื่องจากได้โอกาสในการทำสิ่งใหม่หลายเรื่อง เช่น Settrade Streaming เป็นต้น แต่กว่า Streaming จะลืมตาอ้าปากได้ก็เรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็นอยู่หลายครั้งมาก จนความคิดเริ่มตกผลึกว่า ความล้มเหลวนั้น หลายครั้งสอนเราได้มากกว่าความสำเร็จเสียด้วยซ้ำไป แต่เรื่องนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเรายังไม่ถึงตาย ถ้าตายก็ Game Over
หากท่านผู้อ่านที่อายุเกิน 30 ปี อาจจะเคยได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งคือเรื่อง Dragon Ball ตัวเอกชื่อ โกคู เป็นชาวไซย่า ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความแปลกอยู่อย่าง คือหากเผ่าพันธุ์ไซย่านี้ ได้รับบาดเจ็บเจียนตายแต่ยังไม่ตาย แล้วสามารถรักษากลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่ ร่างกายจะเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่ง โกคู เองก็เรียกว่าได้ผ่านขั้นตอนบาดเจ็บเจียนตายมานับไม่ถ้วนจนร่างกายสามารถพัฒนาเข้าถึง ซูเปอร์ไซย่า ได้ในที่สุด คิดกลับไปแล้ว ผมก็เริ่มเห็นว่าคนเราก็เช่นกัน หากได้ผ่านความเจ็บปวดเจียนตายแต่ผ่านมันมาได้ ก็จะได้ทักษะใหม่ ทั้งในด้าน Hard skill ว่าเราทำพลาดเรื่องอะไร จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือเรียนรู้จากเรื่องที่ผ่านมาได้อย่างไรบ้าง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้าน Soft skill เช่น เรื่องความอดทน ความเข้าใจชีวิต รวมถึง บางทีเป็นโอกาสที่เราจะได้พบเห็น กัลยาณมิตรที่แท้จริง ที่ไม่ทอดทิ้งและช่วยเหลือเราในช่วงที่ลำบาก ซึ่งเรื่องพวกนี้จะไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เลยหากเราไม่อยู่ในสภาวะวิกฤติจริงๆ
ผมเองก็เคยเอาเรื่องนี้มาพูดเล่นเป็น โจ๊ก กับน้องๆในทีมอยู่บ้างว่า ไม่ว่าจะเจอความล้มเหลว หรือ ผิดพลาด อะไรอย่างไร จะล้มแรงแค่ไหน จุดสำคัญคือต้องไม่ยอมตาย หรือในความหมายก็คือยอมแพ้ ล้มเลิกไป นั่นเอง เพราะถ้าขอให้ไม่ล้มเลิกแล้ว ทุกสิ่งจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีเสมอ เพราะตัวผมเองก็เรียกว่าได้รับประสบการณ์ที่ดีแบบนี้มาไม่น้อยเช่นกัน
โดยผมมักจะยกตัวอย่างจากการทำงานในช่วงก่อตั้งบริษัท Settrade.com ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปี 2000 โดยผู้ก่อตั้งคือ ดร. สุรัตน์ พลาลิขิต และ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ โดยคุณสมคิดรับเป็น CEO คนแรกของบริษัท ในช่วงเริ่มต้นมีลูกค้าเพียง 6 ราย มี Concurrent users ในปีแรกแค่หลักร้อย ผ่านมา 20 ปี บริษัทก็เติบโตขึ้นตามลำดับ มีลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์มากกว่า 30 ราย มี Concurrent สูงสุด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากหุ้นขวัญใจมหาชน PTT OR ไปถึงมากกว่า 320,000 concurrent users
แต่ยอมรับอย่างไม่อายว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ Settrade ก็ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเปิดให้บริการที่เป็นช่วงที่เราโดน Spike Load ประมาณช่วงปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงตลาดกระทิง แต่เนื่องจากเราเพิ่งเปิดมาได้ไม่กี่ปี ระบบยังมีจุดอ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อผู้ใช้งาน Concurrent เพิ่มจากหลักหลายร้อยเป็นหลักหลายพัน ระบบก็เริ่มจะรองรับ Spike Load ไม่ไหว เนื่องจากผู้ใช้ทุกคนเลือกที่จะเข้าใช้ระบบในเวลาเดียวกัน คือช่วงเปิดตลาดหลักทรัพย์ตอน 10 โมงเช้า ทำให้ในช่วงนั้น ผู้ใช้งานระบบพบปัญหาการเข้าใช้งานล่าช้าเป็นอย่างมากแทบทุกวัน ตอนนั้น Facebook ยังไม่เกิด ผู้ใช้ก็ไปถล่มที่ Pantip Webboard แทน ผมเองต้องยอมรับเลยว่าช่วงนั้น จิตตกค่อนข้างมาก เพราะต้องตื่นเช้ามาทำงานทุกวันโดยที่เราเองก็รู้ว่าจะต้องมีไฟไหม้ตอน 10 โมงที่จะต้องมาดับไฟอยู่ทุกวัน ไหนจะต้องพยายามแก้ไขต้นเหตุของปัญหา ซึ่งมาจากการออกแบบระบบในลักษณะ Scale up ไม่ใช่ Scale out ทำให้ไม่สามารถเพิ่ม Server เพื่อมาช่วยรองรับ Load ได้
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมาดับไฟ วันต่อวัน เพราะระบบทำงานหน่วงในช่วงเช้าทุกวัน บางวันเรียกได้ว่าถึงขนาดระบบล่มเลยด้วยซ้ำไป เลยต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจำกัดการเข้าใช้ Users ในช่วง Spike Load ทั้งด้านการปรับจูน Application และการ Config parameter ของ web server และ app server engine คือ ยอมช้าบ้าง Reject ผู้ใช้บางส่วนไปบ้าง เพื่อให้อย่างน้อยระบบยังไม่ร่วงลงไปทั้งระบบ รวมถึงมีการปรับ Prioritize services เช่น ปรับลด Priority ให้การทำงานที่ความสำคัญไม่มากนัก เช่นการดู confirmation report หรือการดู portfolio เพื่อไปเพิ่มให้การทำงานที่มีความสำคัญสูง เช่นการส่ง Order การดู order เพื่อทำการยกเลิกคำสั่ง เป็นต้น คือยอมให้ในช่วง Spike load นั้น ผู้ใช้อาจจะดู report แทบไม่ได้แต่อย่างน้อยยังพอส่ง Order ได้ไปก่อน ก็เรียกได้ว่า เล่นทุกกระบวนท่าเพื่อให้รอดกันเลยทีเดียว ถึงกระนั้น ก็ยังมีเหตุการณ์หนักๆอีกหลายครั้งที่เกิด Side Effect รุนแรงจากความพยายามดับไฟหน้างาน
เหตุการณ์ที่หนักที่สุดครั้งหนึ่ง คือ ระบบทำการส่งคำสั่งซื้อขายผิดพลาดเป็นจำนวนหลายร้อยคำสั่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทุกความผิดพลาดคือความเสียหายด้านการเงินที่ทางบริษัท Settrade ต้องโดนเรียกร้องค่าเสียหายเป็นอย่างหนัก ยอมรับอย่างไม่อายเลยว่า ในวันนั้น ผมมีฉุกคิดขึ้นมาช่วงหนึ่งเลยว่า หรือว่าบริษัท Settrade จะต้องมาปิดเพราะความผิดพลาดของเรา แต่ก็มาคิดได้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ทำได้มีเพียงการไม่ยอมแพ้ แล้วก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ดีที่สุดก็พอ ซึ่ง CEO ในตอนนั้นคือ ดร. วิทยา วัชรวิทยากุล ท่านก็ได้เห็นเราทำงานเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา ไม่ยอมแพ้ ท่านก็วางใจ ปล่อยให้ผมทำงานได้อย่างเต็มที่ จนสุดท้ายเราก็ผ่านเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติที่หนักที่สุดของ Settrade มาได้ ก็ต้องขอขอบคุณ อาจารย์วิทยา และน้องๆทีมงาน Settrade ทุกๆคนในวันนั้น ที่ช่วยให้เราได้มีวันนี้นะครับ
(เล่าเรื่องนี้แล้ว คิดถึงเนื้อเพลง ตีนที่มองไม่เห็น ของวงนั่งเล่น ขึ้นมาเลย เพราะคล้ายชีวิตในตอนนั้นมาก “จม ไม่จม ไม่มีเวลาให้มัวระทมใดๆ ตาย ไม่ตาย ยังไงๆ ต้องตะกายให้ถึงฝั่ง”)
นอกจากเรื่องที่ผมและทีมงานจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องการออกแบบระบบที่ดี การดับไฟให้ได้แบบไม่ให้ถึงตายแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสให้ได้เห็นอีกหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะในด้าน Soft side เรื่องคน ทั้งคนภายนอกเช่น ลูกค้าและคู่ค้าว่าคนไหน เข้าใจเราและพร้อมช่วยเหลือ รวมถึงคนภายใน ว่าน้องๆคนไหนพร้อมสู้ไปกับเราอย่างเต็มที่ คนไหนมีกำลังใจดี ซึ่งจากเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้ผมค้นพบ Keyman หลายคน ที่ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็น ซูเปอร์ไซย่า และได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนา Settrade มาได้จนถึงปัจจุบันครับ ซึ่งต้องถือว่าวันนั้นเป็นสถานการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้บริษัท Settrade สามารถปรับตัว ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงหลังอีกหลายครั้งได้ จนเติบโตเป็นบริษัทที่ทีมงานในอดีตถึงปัจจุบัน สามารถมองกลับมาได้ด้วยความภาคภูมิใจ
จะขออนุญาตจบบทความด้วย เนื้อเพลง ตีนที่มองไม่เห็น ที่คิดว่าตรงใจและน่าจะเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ทั้งกับคนที่โดนตีนที่มองไม่เห็นถีบไปแล้ว เหมือนผม หรือ คนที่ยังไม่โดนถีบ เพื่อหากถ้าวันหนึ่งโดนขึ้นมา จะได้พร้อมลุกขึ้นมาแบบไม่หวั่นไหวได้ด้วยกันทุกคนนะครับ ขอบคุณครับ
ถ้าไม่มีวันนั้น คงไม่มีวันนี้ ไม่มีเสี้ยวนาทีให้จดจำอย่างภาคภูมิใจ จะเดินก้าวไปช้าๆ จ้องตากับปัญหาไม่หวั่นไหว ใช้ชีวิตต่อไป อย่างเข้าใจและยอมรับมัน
บทความโดย คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด