ควันไอเสียรถ ยิ่งดมเยอะ สมาธิยิ่งสั้น กระทบพัฒนาการสมองเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายมีความเสี่ยงสูง
การศึกษาล่าสุดบน Environment International โดยนักวิจัยจาก Barcelona Institute for Global Health (ISGlobal) ชี้ให้เห็นว่าการสัมผัสกับไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือ NO2 ก๊าซพิษที่สามารถพบได้ทั่วไปบนท้องถนน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็กและทารกในครรภ์ ส่งผลให้ attention span หรือระยะเวลาที่สามารถมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งหนึ่งลดตํ่าลงหรือก็คือทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลง
ไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือ NO2 ถือเป็นมลพิษทางอากาศ เป็นก๊าซที่สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติหรือเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในอุณหภูมิสูง ตัวอย่างเช่น ควันเสียจากรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน และอุตสาหกรรมน้ำมัน เป็นต้น
นอกจากนี้ไนโตรเจนไดออกไซด์ยังสามารถรวมตัวกับหมอกเกิดเป็นควันพิษที่มีผลก่อโรคทางเดินหายใจ และจากการศึกษาล่าสุดโดยนักวิจัยจาก Barcelona Institute for Global Health (ISGlobal) ชี้ให้เห็นว่าการรับไนโตรเจนไดออกไซด์มากอย่างต่อเนื่องจะส่งผลการพัฒนาสมอง
นักวิจัยศึกษาจากผู้หญิงมากกว่า 1,700 คนและลูกของพวกเขาใน 4 ภูมิภาคของสเปนตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึง 6 ขวบ พบว่าเด็กที่ได้รับไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่สูง เด็กจะมีความไวต่อมลพิษนี้สูงสุดอยู่ที่วัย 2 ขวบ และมีแนวโน้มที่เด็กจะมีสมาธิสั้นลงเมื่ออายุ 4-6 ขวบ
ในเด็กผู้ชายการรับมลพิษที่มากไปจะมีผลกระทบต่อเนื่องได้จนถึงอายุ 6-8 ขวบ เนื่องจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ วางแผน หรือสมองกลีบหน้าส่วนต้น (Prefrontal Cortex) เติบโตเต็มที่ช้ากว่า จึงมีความเสี่ยงที่สมาธิจะสั้นลงมีมากกว่าเด็กผู้หญิงในวัยเดียวกัน
“การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าช่วง 2 ขวบแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการหาแนวทางป้องกัน” Binter หนึ่งในนักวิจัยกล่าว
และนอกจากผลกระทบต่อการพัฒนาสมองในเด็กแล้วมลพิษทางอากาศยังก่อให้เกิดโรคเรื้อรังในเด็กรวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 311,000 คน ในปี 2020
เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านลบของมลพิษทางอากาศต่อการพัฒนาสมอง ระบบการขนส่งแบบลดคาร์บอนถือเป็นแนวทางสำคัญในการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ
อ้างอิง: euronews, lung.org, greenpeace.org
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด