เตรียมพร้อมรับมือการหยุดชะงักด้านพลังงานจาก AI ในอนาคต | Techsauce

เตรียมพร้อมรับมือการหยุดชะงักด้านพลังงานจาก AI ในอนาคต

การเติบโตอย่างรวดเร็วของไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับการใช้งาน AI และ GenAI กำลังก่อให้เกิดความต้องการพลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด เกินกว่าความสามารถในการจ่ายไฟของผู้ให้บริการไฟฟ้าในปัจจุบัน

จากการคาดการณ์ของการ์ทเนอร์ระบุว่าในอีกสองปีข้างหน้าอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์อาจเติบโตสูงถึง 160% และการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้อาจส่งผลกระทบต่อความพร้อมใช้งานของพลังงานและนำไปสู่ภาวะขาดแคลนไฟฟ้า

การ์ทเนอร์คาดการณ์ภายในอีกสองปี (ค.ศ. 2027) 40% ของดาต้าเซ็นเตอร์ AI ที่มีอยู่จะถูกจำกัดการดำเนินงานด้วยปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งจะสร้างความท้าทายอย่างมากสำหรับองค์กรที่วางแผนจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกลยุทธ์ด้านคลาวด์ โดยราคาอาจเพิ่มขึ้น 10 ถึง 100 เท่าของราคาปัจจุบันเนื่องจากการใช้พลังงานจาก AI ที่เพิ่มขึ้น

มีการวางแผนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ใหม่ ๆ เพื่อรองรับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จำเป็นสำหรับฝึกฝนและใช้งาน Large Language Models (LLMs) ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาแอปพลิเคชัน GenAI 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศกำลังระงับการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ การขออนุญาตสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในยุโรปถูกปฏิเสธเนื่องจากความต้องการพลังงานเกินกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในท้องถิ่น บางพื้นที่ เช่น ไอร์แลนด์และสิงคโปร์ จำกัดหรือหยุดการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากข้อกังวลด้านพลังงาน

ไม่ว่ารูปการณ์จะเป็นอย่างไร การสร้างระบบส่งไฟฟ้า การจัดจำหน่าย และกำลังการผลิตใหม่อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มใช้งานได้และไม่สามารถบรรเทาปัญหาในปัจจุบันจนกว่าจะมีทางออก องค์กรต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

การตัดสินใจนำ AI มาใช้อย่างรอบคอบ

องค์กรต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พลังงานสำหรับการใช้งานและติดตั้ง AI ทั้งในองค์กรและบนคลาวด์ สิ่งนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักทางธุรกิจและแม้แต่การปิดกิจการ เนื่องจากอุปสงค์ด้านพลังงานเกินกว่าอุปทานที่มี

ศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และสถาปัตยกรรมองค์กรแบบใหม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง แม้การ์ทเนอร์คาดว่าจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านเหล่านี้ แต่ในอีก 36 เดือนข้างหน้าจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เนื่องจากทั้งผู้เล่นรายเดิมที่กำลังเติบโตและผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาแข่งขันกันในตลาดต่างต้องการเป็นผู้นำตลาด

สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องพิจารณาหาทางเลือกใหม่ ๆ ด้านการจัดหาพลังงาน เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอใช้เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และในอดีตแสดงให้เห็นแล้วว่าโรงไฟฟ้าสามารถอัปเกรดเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเมื่อถึงจุดที่ต้องทำ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นคือโครงสร้างพื้นฐานสายทองแดงของระบบไฟฟ้า ซึ่งมีการพัฒนาน้อยมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หรือนับตั้งแต่ผลิตขึ้นครั้งแรก สิ่งนี้เป็นข้อจำกัดในการจ่ายไฟฟ้าที่สามารถแก้ไขได้ชั่วคราวโดยการวางดาต้าเซ็นเตอร์ไว้ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ตัวอย่างเช่น Amazon Web Services (AWS) ที่เพิ่งดำเนินการไป โดยตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 750MW (เมกะวัตต์) ไว้ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 2.3GW (กิกะวัตต์) ในรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ และจะไม่ประสบปัญหาการหยุดชะงักด้านพลังงาน

แน่นอนว่าตอนนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้ในประเทศเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นของการทบทวนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan 2024 (PDP) ที่จะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Nuclear Reactors (SMR) โดยมีกำลังผลิตสูงสุด 300 เมกกะวัตต์ต่อหน่วย

การสร้างรายได้จากข้อมูลและบริการ AI

สิ่งที่เป็นผลตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น องค์กรควรพิจารณาชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นสำหรับการติดตั้งและนำ AI มาใช้งาน โดยสรรหาวิธีสร้างรายได้จากข้อมูลและบริการ AI

ตัวอย่างเช่น Tesla กำลังแก้ปัญหาที่กำลังขยายเพิ่มนี้ โดยสร้างศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Dojo เพื่อตอบสนองความต้องการของยานพาหนะในการขับขี่อัตโนมัติระดับ 5 ซึ่งรถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม เป้าหมายนี้จะไม่สำเร็จได้เลยหากไม่มีพลังงานหรือกำลังประมวลผลเพียงพอในรถยนต์แต่ละคัน ดังนั้นองค์กรจึงสร้างรายได้จากความสามารถนี้ผ่านศูนย์ Dojo

ในอนาคต จะไม่มีพลังงาน กำลังประมวลผลและความจุหน่วยความจำบนอุปกรณ์เพียงพอในหลายแอปพลิเคชัน หรือในอุปกรณ์พกพา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย สำหรับองค์กรที่จะส่งมอบบริการ AI ในระดับที่ตลาดคาดหวัง การย้ายไปใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเองหรือใช้ผู้ให้บริการคลาวด์ภายนอก อาจเป็นวิธีที่ดีในการสร้างรายได้จากวิสัยทัศน์ภาพรวม โดยไม่ถูกจำกัดด้วยขนาดของอุปกรณ์หรือแพลตฟอร์ม

นั่นหมายถึงแนวทางใหม่สำหรับโปรเซสเซอร์เซมิคอนดักเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเรียนรู้และการอนุมาน และแนวทางใหม่สำหรับการบรรจุชิปเพื่อปรับปรุงความเร็วอินพุต/เอาต์พุต (I/O) และการระบายความร้อน ตามรายงานจาก Tesla ศูนย์ Dojo ประมวลผลสตรีมวิดีโอจากยานพาหนะแบบเรียลไทม์ใช้พลังงานน้อยกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วไปถึง 30%

ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อื่น ๆ กำลังพัฒนาและติดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเองเพื่อทำสิ่งที่คล้ายคลึงกัน การแข่งขันเพื่อลดการใช้พลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพของ AI จะสร้างประโยชน์อย่างมากสำหรับคนรุ่นต่อไป อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชิปเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนความจำเป็นในการพัฒนาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ AI และสถาปัตยกรรมองค์กรได้

ต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการคลาวด์สามารถจัดหาพลังงานได้เพียงพอ

ก่อนที่จะนำหรือใช้โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับแอปพลิเคชัน AI และ GenAI องค์กรควรตรวจสอบภาพรวมการใช้พลังงานของผู้ให้บริการคลาวด์ และดูเครื่องมือที่แสดงกำลังการผลิต ณ ปัจจุบันและที่มีอยู่แบบเรียลไทม์

องค์กรจำเป็นต้องกำหนดแผนสำรองในกรณีที่พลังงานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลบางประเทศกำหนดมาตรการเชิงรุกระงับการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เนื่องจากขาดแคลนพลังงานในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตต้องไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของดาต้าเซ็นเตอร์ แนวคิดเก่าที่เคยใช้คือ สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ที่ไหนก็ได้แล้วค่อยต่อไฟเข้าไป แต่ตอนนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ หาแหล่งพลังงานก่อน แล้วค่อยสร้างดาต้าเซ็นเตอร์บริเวณใกล้เคียง

ประเทศ รัฐและเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการรักษาความได้เปรียบสำหรับแข่งขันด้านดาต้าเซ็นเตอร์ จะต้องลงทุนในกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานใหม่สำหรับการจัดจำหน่าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รักโลกต้องทำงาน 4 วัน ทั้งปลดล็อกชีวิตสมดุล และลดคาร์บอนปีละ 127 ล้านตัน

จะดีแค่ไหน หากการมีวันหยุดเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตสมดุลขึ้น แต่ยังช่วยรักษ์โลกได้อีกด้วย? รายงานล่าสุดเผยว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่เพียงเพิ่มเวลาว่างถึง 50% ...

Responsive image

ปัญหา Jobs Gap กำลังเปลี่ยนโลกแรงงาน อีก 10 ปีข้างหน้า 800 ล้านคนอาจไม่มีงานทำ

สำรวจความท้าทายด้านการจ้างงานในอนาคตเมื่อ AI เข้ามามีบทบาท พร้อมแนวทางแก้ไขช่องว่างงานกว่า 400 ล้านตำแหน่งทั่วโลกจากการเสวนาในงาน World Economic Forum 2025...

Responsive image

สรุป 35 ความเสี่ยงจาก Global Risks Report 2025 ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

เจาะลึก Global Risks Report 2025 โดย World Economic Forum วิเคราะห์ 35 ความเสี่ยงระดับโลกที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี พร้อมแนวโน้มสำคัญในปี 2025, 2027 แ...