ถ้าจะบอกว่านี่คือยุครุ่งเรืองของช็อกโกแลตก็คงไม่ผิดนัก ตั้งแต่กระแสช็อกโกแลตดูไบ ที่มาพร้อมไส้ซอสพิทาชิโอ้สุดละมุนและเส้นคูนาฟ่า ไปจนถึงเทรนด์ใหม่ล่าสุดอย่างเบอร์รี่เคลือบช็อกโกแลตที่กระจายไปทั่วโซเชียล แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนช็อกยิ่งกว่ารสชาติแสนละมุน ก็คือราคาที่พุ่งทะยานแตะกล่องละ 400 - 500 บาท แบบไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
จนเกิดเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัยว่า ทำไมราคาช็อกโกแลตถึง ‘แพงขึ้น’ มากมายขนาดนี้ ?
หากติดตามข่าวสารสินค้าเกษตรจะพอรู้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2024 เป็นต้นมา วัตถุดิบทางการเกษตรหลายชนิดมีราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และหนึ่งในสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คือ โกโก้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของช็อกโกแลต ราคาพุ่งขึ้นถึง 3 เท่าตัว ภายในปีเดียว จนตอนนี้แพงกว่าราคาทองแดงไปแล้ว!
ผู้ประกอบการขนมหวานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว และแน่นอนว่า... ราคาขายหน้าร้านก็ต้องปรับขึ้นตามไปด้วย แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โกโก้และช็อกโกแลตราคาสูงขึ้นขนาดนี้
อุตสาหกรรมช็อกโกแลตทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาลกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.58 ล้านล้านบาท) แต่ปัญหาคือ 70% ของโกโก้ทั้งหมดถูกปลูกในแอฟริกาตะวันตก โดยพึ่งพาแค่ 4 ประเทศหลัก ได้แก่ โกตดิวัวร์ กานา แคเมอรูน และไนจีเรีย
โกโก้ต้องการสภาพอากาศที่เฉพาะตัวถึงจะเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นฝนตกสม่ำเสมอ อุณหภูมิที่ไม่สูงเกินไป ดินที่อุดมไปด้วยไนโตรเจน และร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ แต่ภาวะโลกร้อนกำลังทำลายทุกเงื่อนไขที่ต้นโกโก้ต้องการ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงเกิน 32°C ทำให้ต้นโกโก้ขาดน้ำ เติบโตช้าลง และให้ผลผลิตน้อยลง
จากการวิเคราะห์ของ Climate Central เผยข้อมูล ย้อนหลัง 2015-2024 พบว่า:
นอกจากโกโก้จะมีปริมาณลดลงแล้ว นักวิจัยยังพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้รสชาติและเนื้อสัมผัสของโกโก้เปลี่ยนไป ซึ่งหมายความว่าแม้จะยังมีโกโก้เหลืออยู่ แต่ก็อาจไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่ใช้ทำช็อกโกแลตคุณภาพดี ทำให้ช็อกโกแลตที่มีรสชาติแบบดั้งเดิมยิ่งหายากขึ้นไปอีก ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาช็อกโกแลตพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ที่แย่กว่านั้นคือ ไม่ใช่แค่โกโก้ที่โดนผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่น้ำตาลก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน ปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลพุ่งสูง เพราะสภาพอากาศสุดขั้วทำให้ไร่อ้อยทั่วโลกลดการผลิตลง
อัลลา เซเมโนวา นักเศรษฐศาสตร์จาก St. Mary’s College of Maryland อธิบายว่า "การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไม่ได้กระทบแค่ปริมาณโกโก้ แต่มันส่งผลต่อวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ทำช็อกโกแลต" แปลว่า ช็อกโกแลตอาจไม่ได้แค่แพงขึ้น แต่รสชาติและเนื้อสัมผัสก็อาจไม่เหมือนเดิม
พอราคาวัตถุดิบพุ่งสูง ผู้ผลิตช็อกโกแลตแบรนด์ดังอย่าง Mars และ Hershey ก็ต้องหาทางเอาตัวรอด บางแบรนด์ลดปริมาณโกโก้ในสูตร เพื่อควบคุมต้นทุน หรือแม้แต่พัฒนาขนมสูตรใหม่ที่ไม่มีโกโก้เลย เพื่อปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ราคาของโกโก้พุ่งขึ้น ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2024 ที่ราคาอยู่ที่ 10.32 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม (ประมาณ 370 บาท/กก.) กระโดดไปแตะ 10.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม (ประมาณ 385 บาท/กก.) ในเดือนมกราคม 2025 สิ่งนี้กำลังสะท้อนถึงวิกฤติที่อุตสาหกรรมช็อกโกแลตกำลังเผชิญ
ถ้าย้อนดูตัวเลขในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของราคาโกโก้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ในขณะที่ผู้บริโภคยังคงตกใจกับราคาช็อกโกแลตที่พุ่งสูง ผู้ประกอบการขนมหวานและเบเกอรี่กลับต้องเผชิญกับแรงกดดันที่หนักหนากว่าเดิมหลายเท่า ต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งไม่หยุด ไม่ใช่แค่โกโก้ แต่รวมถึงน้ำตาล นม และส่วนผสมอื่นๆ กำลังทำให้การผลิตช็อกโกแลตคุณภาพสูงกลายเป็นความท้าทาย
ร้านขนมเล็กๆ หลายแห่งต้องเลือกระหว่าง "ขึ้นราคา" หรือ "ลดคุณภาพ" บางร้านอาจจำเป็นต้องลดปริมาณโกโก้ในสูตรหรือใช้สารทดแทนเพื่อให้สินค้ายังอยู่ในระดับราคาที่ลูกค้ารับไหว ขณะที่แบรนด์ใหญ่บางเจ้ากำลังทดลองหันไปหาส่วนผสมใหม่ที่ไม่ใช้โกโก้เลยเพื่อสร้างขนมที่ยั่งยืนขึ้น
แต่คำถามที่ยังคงค้างอยู่ก็คือ “ถ้าต้นทุนยังพุ่งขึ้นแบบนี้ อุตสาหกรรมขนมหวานจะรับมือได้นานแค่ไหน?” สิ่งที่แน่นอนคือ ภาวะโลกร้อนและความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของช็อกโกแลตที่เรารู้จักไปอย่างสิ้นเชิง ในอนาคตช็อกโกแลตที่เข้มข้นและละมุนลิ้นแบบเดิมอาจกลายเป็นของหายากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าที่เคยเป็น
สุดท้ายแล้ว ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว แต่ผู้บริโภคเองก็อาจต้องเตรียมใจรับมือกับยุคใหม่ของช็อกโกแลต ที่อาจแพงขึ้น มีรสชาติเปลี่ยนไป
อ้างอิง: gizmodo , foodnavigator
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด