Big Tech ครองแชมป์ลงทุน Clean Energy มากสุดในสหรัฐฯ นำโดย Amazon Meta Google

The American Clean Power Association (ACP) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการลงทุนในพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy ของบริษัทในสหรัฐฯ โดยในปี 2022 เป็นปีที่องค์กรต่าง ๆ ซื้อพลังงานสะอาดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 73% จากปีที่แล้ว 

โดย “กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี” คือ กลุ่มบริษัทที่ลงทุนกับพลังงานสะอาดมากที่สุด โดยมี Amazon Meta และ Google ผู้นำสามอันดับแรก ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน จากรายงานยังระบุว่า บอเทคกลายเป็นกำลังสำคัญในตลาดพลังงานสะอาด กระตุ้นการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดในสหรัฐฯ มากขึ้น

บริษัทเทคโนโลยีลงทุนกับพลังงานสะอาดมากที่สุด  

จากการเก็บข้อมูลถึงช่วงสิ้นปี 2022 มีบริษัททั้งหมด 326 แห่งในสหรัฐฯ ทำข้อตกลงในการจัดซื้อและลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 77.4 กิกะวัตต์ (ดำเนินการอยู่จริง 36 กิกะวัตต์) แบ่งออกเป็นพลังงานแสดงอาทิตย์ 45.052 กิกะวัตต์ พลังงานลม 28.83 กิกะวัตต์ และแบตเตอรี่ 0.974 กิกะวัตต์

ด้วยปริมาณดังกล่าว สามารถจ่ายพลังงานให้กับ Data Center กว่าพันแห่ง หรือแจกจ่ายตามบ้านได้ถึง 18 ล้านหลังคาเรือน

เมื่อแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นผู้นำในการลงทุนกับพลังงานสะอาด ด้วยยอดรวมเกือบ 37 กิกะวัตต์  ตามมาด้วยภาคพลังงาน (6.7 กิกะวัตต์)  โทรคมนาคม (6.3 กิกะวัตต์) และอันดับที่สี่คือ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

บริษัทเทคฯ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มแรก ๆ ที่สนใจลงทุนและนำพลังงานสะอาดมาใช้ พร้อมกับผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน หลายแห่งเริ่มประกาศจัดซื้อพลังงานสะอาดตั้งแต่ปี 2010 และทำข้อตกลงด้านไฟฟ้าที่ยั่งยืน (Green PPA) เพื่อจ่ายพลังงานให้กับศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ของตน ซึ่งมีการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในภาคส่วนเทคโนโลยีจะเพิ่มถึง 20% ในปี 2030 จากการเติบโตของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ไม่นับเทรนด์ธุรกิจคลาวด์ หรือ AI ที่ต้องใช้การประมวลผลขนาดใหญ่บน Data Centers แน่นอนว่าต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากขึ้น การเข้าสู่ตลาดพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนอาจทำให้มีภาพลักษณ์ที่ดีมีความรับผิดชอบ แต่พลังงานหมุนเวียนนั้นสมเหตุสมผลทางธุรกิจ สอดคล้องกับความต้องการลดค่าไฟ แถมยังช่วยสิ่งแวดล้อม

ภาพจาก : cleanpower.org

“ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นให้องค์กรการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทำให้การจัดหาพลังงานสะอาดขององค์กรเพิ่มขึ้น 100 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมลดลง 71% และ 47% ตามลำดับ ทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับองค์กรที่ซื้อ” JC Sandberg CEO ชั่วคราวและ Chief Advocacy Officer ของ  American Clean Power Association (ACP) กล่าว

Amazon ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง 

ภาพจาก : cleanpower.org

จากรายงานจะเห็นว่า บริษัทเทคโนโลยีมีบทบาทในการสนับสนุนทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาลและท้องถิ่น  ทั้งในฐานะผู้ซื้อและพันธมิตรคู่ค้า โดยในจำนวนองค์กรที่ลงทุนในพลังงานสะอาด 326 แห่ง Amazon เป็นบริษัทที่ลงทุนกับพลังงานสะอาดสูงที่สุด โดยมีการทำสัญญาในพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ รวม 12.4 กิกะวัตต์ ตามมาด้วย Meta ที่ 8.7 กิกะวัตต์ และ Google 6.2 กิกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณในแง่ของการลงทุนในพลังงานสะอาดที่กำลังดำเนินการอยู่ Meta จะกลายเป็นผู้นำ ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 4.8 กิกะวัตต์ ในขณะที่การลงทุนพลังงานสะอาดทั้งหมดของ Amazon มีเพียง 19% เท่านั้นที่กำลังดำเนินการจริง ๆ ในปัจจุบัน และที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา 

ภาพจาก : cleanpower.org

ข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ 

  • กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน  Shell  เป็นผู้นำการลงทุนในพลังงานสะอาด ด้วยกำลังการผลิต 1.2 กิกะวัตต์ 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  Verizon เป็นผู้นำการลงทุนในพลังงานสะอาด ด้วยกำลังการผลิต 3 กิกะวัตต์ 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้นำการลงทุนในพลังงานสะอาดได้แก่ McDonald ด้วยกำลังการผลิต 1.7 กิกะวัตต์
  • โครงการผลิตพลังงานสะอาดทั้งหมด 540 โครงการ ใน 49 รัฐ รวมถึง Washington DC และ Puerto Rico Texas เป็นรัฐที่เป็นฐานที่ตั้งของการผลิตพลังงานสะอาดส่วนใหญ่ (35%) ตามมาด้วย Illinois  (7%) และ Ohio (6%)
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุนกับพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดได้แก่ พลังงาน, ยานยนต์ และการผลิต ตามลำดับ
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุนกับพลังงานลมมากที่สุดได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค, การเงิน/ที่ปรึกษา และค้าปลีก ตามลำดับ 

อ้างอิง : cleanpower.org , cnbc

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

VTT จับมือ Refinity ถ่ายทอดเทคโนโลยี Olefy พลิกโฉมการรีไซเคิลพลาสติกแบบผสมสู่เวทีโลก

VTT หน่วยงานวิจัยและพัฒนาแห่งชาติของฟินแลนด์ ได้ลงนามถ่ายทอดสิทธิการใช้ Olefy เทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกแบบผสม (mixed plastic recycling) ให้กับบริษัท Refinity...

Responsive image

Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2006 กล่าวอะไรบ้างบนเวที BIMSTEC Young Gen Forum

Pro.Muhammad Yunus เดินทางมาร่วมงาน BIMSTEC Young Gen Forum: Where the Future Meets งานสัมมนาคู่ขนานกับการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สาระสำคัญมีอะไรบ้า...

Responsive image

"Fungal Battery" แบตเตอรี่ชีวภาพจากเชื้อรา พิมพ์ 3D ได้ ผลิตไฟฟ้าเองได้ ย่อยสลายได้จริง

แบตเตอรี่ชีวภาพจากเชื้อรา นวัตกรรมใหม่จากสวิตเซอร์แลนด์ ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ผสมเชื้อราสร้างแบตเตอรี่ที่ผลิตไฟฟ้าได้จริง ย่อยสลายตัวเองได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมพลิกวงการ...