อนาคตคนไทยต้องกินข้าวจานละกี่บาท ? เมื่อ Climate Change ดันสินค้าเกษตรราคาพุ่ง | Techsauce

อนาคตคนไทยต้องกินข้าวจานละกี่บาท ? เมื่อ Climate Change ดันสินค้าเกษตรราคาพุ่ง

รู้สึกไหมว่าปีนี้ราคาอาหารแพงขึ้นเป็นเท่าตัว ?  ใครๆ ก็ต่างพูดว่าเป็นเพราะเงินเฟ้อและพิษเศรษฐกิจ แต่เชื่อไหมว่าความจริงแล้วสาเหตุหลักที่ดันให้ราคาอาหารแพงมาจาก ภาวะสภาพอากาศแปรปรวน (Climate Change) ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามไปเพราะหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว

‘สภาพอากาศแปรปรวน’ สาเหตุหลักที่ทำให้อาหารแพง

สภาพอากาศแปรปรวนอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด เพราะผลของมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ดันให้ราคาอาหารในประเทศไทยพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด  

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า จากการเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (Core CPI) เดือนเมษายนปี 2567 กับปี 2566 พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19% ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในหมวดอาหารที่เฟ้อถึง 0.28% 

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อในหมวดอาหาร สนค.ชีว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก แต่สาเหตุหลักมาจากปัญหาสภาพอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นผลมาจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน 

แล้วมันเกี่ยวข้องยังไงกับเงินเฟ้อ ?

ตามกลไกตลาดหนึ่งในสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อมาจากการที่ ความต้องการสินค้า ในตลาดมีมากกว่า จำนวนสินค้า จึงดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น (Demand มีมากกว่า Supply)

ในกรณีของประเทศไทย เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเอลนีโญที่เข้ามาเสริมกำลังกับภาวะสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้อากาศยิ่งทวีคูณความแห้งแล้งและร้อนขึ้นไปมากกว่าเดิม โดยอุณหภูมิสูงสุดของประเทศแตะ 44 องศาเซลเซียสแล้ว

ปัญหาด้านความร้อนและความแล้งทำให้เราผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ได้น้อยลง แต่ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้ายังคงมีเท่าเดิม (หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ) เมื่อของขายมีน้อยลง แต่ความต้องการของคนซื้อยังมีเท่าเดิม มันจึงดันให้ราคาพืชผักผลไม้ไทยมีราคาแพงขึ้น

สุดท้ายเมื่อสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบที่อยู่ต้นน้ำการผลิตมีราคาสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้กับราคาอาหาร เช่น ข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง หรืออาหารอื่นๆ ต้องปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นนั่นเอง

สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ชนิดไหนที่แพงขึ้นแล้วบาง ?

จากปัญหาสภาพอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ไทยราคาพุ่งสูงกว่าเดิมไปหลายชนิดแล้ว แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัดและกระทบชีวิตคนไทยมากที่สุดก็จะมีอยู่ 5 ชนิดหลักๆ ได้แก่

ข้าว: อาหารหลักของคนไทย ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ราคาข้าวเปลือกนาปรังปี 2567 ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ราคาข้าวสูงขึ้นมาประมาณ 2,000-3,000 บาท/ตัน (ราคาเฉลี่ยล่าสุดเดือนเมษายน 67: 13,995 บาท/ตัน) 

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2024 ภาวะ Climate Change อาจรุนแรงขึ้นอีก จากทั้งเอลนีโญและลานีญาที่ทำให้เกิดน้ำแล้งและน้ำท่วมในปีเดียวกัน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของไทยทั้ง 3 ภาค อาจลดลง 10% เหลือเพียงแค่ 30.4 ล้านตัน 

ไข่ไก่: วัตถุดิบพื้นฐานที่ทุกบ้านต้องซื้อ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาราคาไข่ไก่มีการปรับขึ้นถึง 2 ครั้งในเดือนเดียว โดยครั้งแรกเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกาศขึ้นราคาแผงละ 6 บาทในวันที่ 17 เมษายน 67 และผ่านมาไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็ได้มีการปรับขึ้นอีก 6 บาทในวันที่ 27 เมษายน 67 

นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลางกล่าวว่า “สภาพอากาศร้อนส่งผลไก่ออกไข่ลดลง 10-15%” ซึ่งรวมแล้วแค่เดือนเมษายนเพียงเดือนเดียวมีการขึ้นราคาไข่ไก่ไปแล้ว 12 บาท ทำให้ราคาไข่ไก่เฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่แผงละ 114 บาท หรือตกฟองละ 3.80 บาท

พริก: หนึ่งในวัตถุดิบหลักที่อยู่ในเกือบทุกเมนูของอาหารไทย สำนักข่าวมติชนรายงานว่า ราคาพริกเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยเฉพาะพริกขี้หนูสวนที่ปัจุบันราคา 500 บาท/กก. (ราคาเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 67) จากเดิมเพียงแค่ 250 บาทเท่านั้น ด้านแม้ค่าพริกเผยว่าขณะนี้พริกขาดตลาด ทำให้ต้องนำเข้าจากเวียดนามมาขายด้วย

เนื้อหมู: ตั้งแต่เดือนเมษายนราคาหมูหน้าฟาร์มมีการปรับขึ้นถึง 4 ครั้ง โดยที่ปรับขึ้น 12 บาทในเดือนเมษายน และปรับขึ้นอีก 2 บาทในเดือนพฤษภาคม รวมแล้วปัจจุบันราคาหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ 80 บาท/กก. 

มีสาเหตุหลักของการขึ้นราคามาจากต้นทุนอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูเช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีราคาสูงขึ้น เพราะผลผลิตน้อยลงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปวนที่กระทบการเพาะปลูก รวมถึงธัญพืชเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล

เนื้อไก่: กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจการปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์แจ้งปรับราคาไก่เนื้อเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ให้ขึ้นมาอยู่อยู่ที่ 44 บาท/กก. จากเดิมราคา 43 บาท เนื่องปัญหาด้านต้นทุนอาหารที่ราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับกรณีของเนื้อหมู

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบว่า อากาศร้อนในช่วงที่ผ่านมาดันให้ราคาผักกว่า 10 ชนิดสูงขึ้นถึง 40% เช่น ผักชี ขึ้นฉ่าย แตงกวา ถั่วฝักยาว มะระจีน คะน้า ต้นหอม และถั่วฝักยาว ซึ่งกระทบค่าครองชีพเกือบทุกห่วงโซ่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยกว่า 24 ล้านครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร 6.8 แสนล้านราย หรือแม้แต่ธุรกิจแปรรูปอาหารจากผักและผลไม้กว่า 1,753 รายทั่วประเทศ

มีโอกาศที่ราคาอาหารจะลดลงไหม ?

สนค.คาดการณ์เอาไว้ว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญจากพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดขึ้นราคา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านราคาไฟฟ้า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น 

จึงดูเหมือนว่าเงินเฟ้อลดและอาหารราคาถูกลงจะมีโอกาสเป็นไปได้อยากมากๆ หากเรายังต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำให้อากาศที่ร้อนจัดและขาดแคลนน้ำอยู่แบบนี้

แต่ถ้าประเทศไทยเข้าสู้หน้าฝน ราคาสินค้าเกษตรก็มีโอกาสถูกลงใช่ไหม ?

คำตอบคือ ‘ไม่เสมอไป’ เพราะคำว่า สภาพอากาศแปรปรวน นั้นไม่ได้หมายถึงแค่การที่โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเหมารวมความแปรปรวนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อนจัดในหน้าฝน เสี่ยงต่อการเกิดโรคเชื้อราในพืช ก็มีส่วนทำให้ผลผลิตน้อยลงได้เหมือนกัน

สำหรับประเทศไทยแล้วจึงไม่ใช่เพียงแค่หน้าร้อนเท่านั้นที่ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์จะลดลง แต่มีโอกาสสูงมากที่จะต้องเจอปัญหานี้ไปตลอดทั้งปี

อีก 5 ปีคนไทยต้องกินกระเพราจานละกี่บาท ?

ราคาอาหารแพง อาจเป็นสัญญาณเตือนที่เป็นรูปธรรมที่สุดให้คนไทยรู้ว่า โลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวนนั้นส่งผลและเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรง และในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า หากเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศได้ ราคาอาหารที่คนไทยในปี 2572 จะต้องกินข้าวจานละกี่บาท ?

จากการลองคำนวณคร่าวๆ ด้วยการใช้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย 3% ต่อปีในการคาดการณ์ ‘ราคาต้นทุนข้าวกระเพราหมูสับไข่ดาว’ ในปี 2572 โดยสามารถแยกรายละเอียดราคาได้ดังนี้

ส่วนผสมและราคาต่อหน่วยในปี 2567

  1. พริกขี้หนู: 500 บาท/กิโลกรัม
  2. กระเทียม: 120 บาท/กิโลกรัม
  3. หมูบด: 80 บาท/กิโลกรัม
  4. น้ำตาลทราย: 2 บาท/กิโลกรัม
  5. ซอสปรุงรส: 28 บาท/600 มิลลิลิตร
  6. ซอสหอยนางรม: 50 บาท/600 มิลลิลิตร
  7. ใบกะเพรา: 40 บาท/กิโลกรัม
  8. น้ำมันพืช: 53 บาท/ลิตร
  9. ไข่ไก่: 3.80 บาท/ฟอง
  10. ข้าว: 13,995 บาท/ตัน (หรือ 13.995 บาท/กิโลกรัม)

ปริมาณส่วนผสมต่อจาน

  1. พริกขี้หนู: 5 กรัม = 0.005 กิโลกรัม
  2. กระเทียม: 10 เม็ด ≈ 10 กรัม = 0.01 กิโลกรัม
  3. หมูบด: 250 กรัม = 0.25 กิโลกรัม
  4. น้ำตาลทราย: 1 ช้อนโต๊ะ ≈ 15 กรัม = 0.015 กิโลกรัม
  5. ซอสปรุงรส: 1 ช้อนโต๊ะ ≈ 15 มิลลิลิตร
  6. ซอสหอยนางรม: 1 ช้อนโต๊ะ ≈ 15 มิลลิลิตร
  7. ใบกะเพรา: 1 ถ้วย ≈ 30 กรัม = 0.03 กิโลกรัม
  8. น้ำมันพืช: 2 ช้อนโต๊ะ ≈ 30 มิลลิลิตร
  9. ไข่ไก่: 1 ฟอง
  10. ข้าว: 200 กรัม = 0.2 กิโลกรัม

คำนวณราคาต้นทุนกระเพรา 1 จานในปี 2567

*ปริมาณที่ใช้ต่อครั้ง หารด้วยราคาต่อหน่วย

  1. พริกขี้หนู: 0.005 กิโลกรัม ประมาณ 2.50 บาท
  2. กระเทียม: 0.01 กิโลกรัม ประมาณ 1.20 บาท
  3. หมูบด: 0.25 กิโลกรัม ประมาณ 20 บาท
  4. น้ำตาลทราย: 0.015 กิโลกรัม ประมาณ 0.03 บาท
  5. ซอสปรุงรส: 15 มิลลิลิตร ประมาณ 0.70 บาท
  6. ซอสหอยนางรม: 15 มิลลิลิตร ประมาณ 1.25 บาท
  7. ใบกะเพรา: 0.03 กิโลกรัม ประมาณ 1.20 บาท
  8. น้ำมันพืช: 30 มิลลิลิตร ประมาณ 1.59 บาท
  9. ไข่ไก่: 3.80 บาท
  10. ข้าว: 0.2 กิโลกรัม ประมาณ 2.80 บาท

รวมราคาต้นทุนในปี 2567 = 2.50 + 1.20 + 20 + 0.03 + 0.70 + 1.25 + 1.20 + 1.59 + 3.80 + 2.80 = 35.07 บาท

คำนวณต้นทุนในปี พ.ศ. 2572 ด้วยเงินเฟ้อ 3% ต่อปี*

ใช้สูตรคำนวณมูลค่าในอนาคต (Future Value of Money): FV = PV(1+r)^n 

  • FV คือ ราคาต้นทุนข้าวกะเพราในปี 2572 
  • PV คือ ราคาต้นทุนข้าวกะเพราในปี 2567 = 35.07 บาท
  • (1+r) คือ อัตราเงินเฟ้อ (3% หรือ 0.03) 
  • n คือ จำนวนปีระหว่างปี 2567 ถึงปี 2572 = 5 ปี

ราคาต้นทุนข้าวกะเพราในปี 2572 = 35.07 × (1+0.03)^5

ราคาต้นทุนข้าวกะเพราในปี 2572 = 35.07 × 1.1592740743

ราคาต้นทุนข้าวกะเพราในปี 2572 ≈ 40.65

ดังนั้น ราคาข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาว 1 จานในปี 2572 จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 40.65 บาท โดยการคำนวณจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนด้านค่าแรง ค่าแก๊ส และค่าไฟ หากรวมทั้งหมดและบวกกำไรต่อจานแล้ว ทุกคนคิดว่า ข้าวกระเพราหมูสับไข่ดาวจานนี้จะมีราคาอยู่ที่เท่าไหร่กัน ?

*หมายเหตุ: อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในระยะปานกลางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1-3% อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย

#Disclaimer:  เป็นเพียงการคำนวนเพื่อ *ประมาณราคาต้นทุนของข้าวกะเพรา 1 จาน ไม่ใช่ราคาที่ใช้ขายจริง* โดยอ้างอิงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี และปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการทำข้าวกะเพราโดยเฉลี่ย (อาจเพิ่มหรือลดได้ ไม่ใช่ปริมาณที่ตายตัว) 

ราคาต้นทุนแปรผันตามปัจจัยเช่นปริมาณการซื้อ แหล่งที่ซื้อ อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันโลก การขนส่ง ฯลฯ การคำนวณนี้ไม่ใช่สูตรวิธีการปรุงข้าวผัดกะเพราทุกจานทั่วประเทศไทย

ปริมาณวัตถุดิบการทำกะเพราหมูสับไข่ดาว 1 จานอ้างอิงจากเว็บไซต์: www.wongnai.comcooking.kapook.com

อ้างอิง: bot.or.th, oae.go.th, talaadthai

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

KOMSAN EAKCHAI
KOMSAN EAKCHAI
5 m. ago

ในสูตรคำนวณร้านค้าจริงๆ มันตกต้นทุนจานละ 15-20 บาทเองมั้ง
ไม่ได้แพงเหมือนเคสที่ยกมาเขียนในโพสต์
โดยเฉพาะร้านที่ขายกระเพราห่อ กระเพรากล่องสำเร็จ ที่ราคาขายหน้าร้านแค่ 25-30 บาทเองนะ แสดงว่าต้นทุนเพียงแค่ 10-15 บาทเท่านั้น

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีด้านโครงการระดับโลกของ MIT Sloan เผยเหตุผลที่สถาบันเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้ไทยเป็นฮับอาเซียน ในการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา การแก้ปั...

Responsive image

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่...