Deloitte เผยมุมมอง ESG และผลกระทบที่มีต่อมูลค่ากิจการ | Techsauce

Deloitte เผยมุมมอง ESG และผลกระทบที่มีต่อมูลค่ากิจการ

Deloitte เปิดเผยว่า จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 17 ข้อ และเป้าหมายรอง 169 ข้อ และความร่วมมือกันของประชาคมโลกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติของทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการลงทุนที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้าน ESG มากขึ้นในการพิจารณาการลงทุน 

การเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) หรือการเงินสีเขียว (green finance) มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ในทุกกระบวนการ เช่น การจัดสรรงบประมาณ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน 

รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้าน ESG สร้างผลประกอบการที่ยั่งยืน และสร้างความพร้อมให้แก่องค์กรในการจัดการกับภาวะวิกฤต ขณะเดียวกันภาคการลงทุนซึ่งมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนก็มีความตระหนักถึงปัจจัยด้าน ESG และมุ่งส่งเสริมการลงทุนในโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น

รายงานการจัดอันดับองค์กรที่สะท้อนเป้าหมายความยั่งยืน (ESG ratings) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย สถาบันการเงิน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร ใช้ประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ขององค์กร ทั้งนี้ การจัดทำรายงาน ESG ratings จะพิจารณาปัจจัยที่เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ มีตัวชี้วัดที่หลากหลาย และไม่มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่าข้อมูลด้าน ESG ไม่มีผลกระทบในเชิงการเงิน 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้าน ESG นับว่าเป็นมิติที่สามารถสะท้อนศักยภาพทางการเงินและความยั่งยืนของกิจการในระยะยาวได้ โดย International Valuation Standards Council (IVSC) ให้ความเห็นว่าปัจจัยด้าน ESG ขององค์กรจัดเป็นข้อมูลทางการเงินเบื้องต้นที่ผู้ประเมินควรใช้พิจารณาประกอบการประเมินมูลค่ากิจการด้วยเช่นกัน

แม้ว่าการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG จะเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ยังคงมีข้อสงสัยว่าผลการดำเนินงานด้าน ESG จะมีผลกระทบต่อมูลค่าของกิจการหรือไม่ มิติใดของ ESG ที่มีผลกระทบต่อมูลค่ากิจการมากที่สุด และกิจการที่มีผลการดำเนินงานด้านESG ที่ดีจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ 

ทั้งนี้ มาตรฐานสากลสำหรับการประเมินและรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานด้าน ESG ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งรวมถึงมาตรฐานการรายงานของ International Sustainability Standards Board เพื่อให้เป็นข้อมูลที่สามารถใช้เปรียบเทียบกันได้ อย่างไรก็ตาม ESG ratings ที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับในปัจจุบันสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ดีในระดับหนึ่งแม้ว่าผล ESG ratings จากแต่ละสถาบันอาจมีความแตกต่างกันเนื่องจากมีวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน

บทความของ Deloitte ในหัวข้อ “Does ESG impact company valuations? An Australian perspective” (April 2022) ได้สรุปผลการศึกษาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในดัชนีหลักทรัพย์ ASX200 ซึ่งใช้เป็นตัวแทนตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียในช่วงปี2562 – 2564 ดังนี้ 

  • ขนาดของบริษัทมีผลต่อการจัดอันดับ (size effect) โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมี ESG ratings ที่ดีกว่า
  • ESG ratings มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้น (total shareholder returns) 
  • ESG ratings ที่ปรับตัวดีขึ้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่ออัตราส่วนมูลค่ากิจการ (earnings multiples) เช่น อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไร EBITDA (EV/EBITDA) อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อรายได้ (EV/Revenue) และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E)

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม (E) มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้น (total shareholder returns) มากที่สุด ในขณะที่คะแนนด้านสังคม (S) มีความสัมพันธ์กับ earnings multiples ที่เพิ่มขึ้น มากที่สุด

แม้ว่าผลการวิจัยโดยทั่วไปพบว่ากิจการที่สามารถปรับปรุงตัวชี้วัดด้าน ESG ให้ดีขึ้นได้จะสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้โดยพิจารณาจากแนวโน้มการลงทุนที่เน้นสนับสนุนโครงการด้าน ESG แต่ผลการศึกษาของดีลอยท์ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ด้งกล่าวในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่ทำการศึกษา

ดังนั้น จึงมีคำถามว่ากิจการจะสามารถพัฒนาผลการดำเนินงานด้าน ESG ได้อย่างไรเพื่อเพิ่มมูลค่าและรักษาผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวได้ ซึ่งทุกฝ่ายควรเน้นให้ความสำคัญในด้านต่อไปนี้

• เข้าใจมิติของ ESG ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ห่วงโซ่อุปทาน และผู้มีส่วนได้เสียหลักขององค์กร

• เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ด้วยความโปร่งใสและมีความสม่ำเสมอ

• ให้ความสำคัญกับแผนงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

กล่าวโดยสรุปคือ การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและการเงินเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กิจการสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ratings ในการกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืน ปรับปรุงผลการดำเนินงาน และดึงดูดแหล่งเงินทุน ผู้ลงทุนมีความคาดหวังให้กิจการที่ตนเข้าไปลงทุนมีมาตรการเชิงรุกและมีความรับผิดชอบในทุกมิติของ ESG และเน้นส่งเสริมกิจการที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี และผู้ประเมินต้องพิจารณาใช้ตัวชี้วัดด้าน ESG ที่มีความน่าชื่อถือและมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อสามารถใช้เปรียบเทียบในระดับองค์กร ระดับภูมิภาค และในแต่ละช่วงเวลาได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Deloitte ชี้ 85% ของผู้นำ ลงทุนด้านความยั่งยืน สะท้อนความตื่นตัวของภาคธุรกิจ

รายงาน Deloitte’s 2024 CxO Sustainability Report: Signs of a shift in business climate action ฉบับล่าสุดเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการรับรู้ของผู้นำธุรกิจระดับ C-suite ...

Responsive image

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืน

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืนได้...

Responsive image

SCB เดินหน้าภารกิจ "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" เคียงข้างลูกค้าสู่ Net Zero ในปี 2030 เน้นเทคโนโลยีขับเคลื่อนความยั่งยืน

SCB เดินหน้าภารกิจ "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" เคียงข้างลูกค้าสู่ Net Zero ในปี 2030 เน้นเทคโนโลยีขับเคลื่อนความยั่งยืน...