Exxon Chevron Shell ยักษ์ใหญ่พลังงานของโลก กำลังเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก | Techsauce

Exxon Chevron Shell ยักษ์ใหญ่พลังงานของโลก กำลังเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นวาระเร่งด่วนระดับโลก ที่ภาคธุรกิจต้องหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นขั้ว โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ นักลงทุนใน Wall Street เริ่มมีการปรับนโยบายกองทุนหันมามุ่งเน้นความยั่งยืน โดยเฉพาะการลงทุนในบริษัทที่มีนโยบาย ESG หรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) แต่ในประเด็นดังกล่าว  ได้กลายเป็นปัจจัยความท้าทายของบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมที่จะต้องมีการปรับนโยบายการดำเนินงานให้ตอบสนองต่อเทรนด์ของโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ต้องมีการลงทุนที่สูงในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างกรณีของ 3 บริษัทพลังงานของโลก ได้แก่ ExxonMobil Chevron และ Shell 

ความขัดแย้งของผู้ถือหุ้น ExxonMobil จากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายความยั่งยืน

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา นับว่ามีความเคลื่อนไหวที่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการพลังงานเป็นอย่างมาก จากการที่ ExxonMobil บริษัทพลังงานข้ามชาติรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ต้องเข้าสู่โหมดปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เนื่องจากในการประชุมผู้ถือหุ้นมีการปรับบอร์ดบริหารครั้งใหญ่ ด้วยการเรียกร้องจากผู้ลงทุน เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างองค์กร และวางนโยบายใหม่ ที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากกว่านี้ 

เมื่อปี 2020 เป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้ว่า ExxonMobil ขาดทุนเป็นครั้งแรก หลังจากที่เคยเป็น 1 ใน 6 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกมาตลอดตั้งแต่ปี 1996-2017 

ผลประกอบการในปี 2020 พบว่า ExxonMobil ขาดทุนกว่า 22,400 ล้านดอลลาร์ จากปี 2019 โดยให้เหตุผลว่า เป็นผลกระทบมาจากการการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ความต้องการการใช้น้ำมันลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงด้วยเช่นกัน

จากประเด็นที่ดีมานด์ของพลังงานฟอสซิลลดลงอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์โลก  Exxon ก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อชี้แจงว่า ยืนยัน หรือ ปฏิเสธ เกี่ยวกับ การปรับตัวด้วยการไปลงทุนเพิ่มในพลังงานสะอาด ซึ่งถือว่ามีความคลุมเครือต่อนโยบายด้านความยั่งยืนไม่น้อย

นโยบายด้านความยั่งยืนของ Exxon มีเพียงแค่ การออกมาแจ้งว่า ได้มีการลงทุนกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ไปกับโปรเจกต์ที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปี 2025 และจะเพิ่มธุรกิจที่เน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ทาง Exxon ได้มีการจ้างทำ PR ไปหลายสิบล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะโปรโมทการทำงานในส่วนของการลดคาร์บอนไดออกไซด์และอื่น ๆ ของ Exxon 

ในมุมมองของนักลงทุนกลับเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเหมือน คำพูดซ้ำซาก และเป็นการปั่นให้อีกฝ่ายเชื่อถือมาโดยตลอดหลายปี

จากการกระทำที่คลุมเครือของ  Exxon ส่งผลให้เมื่อช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา เฮดจ์ฟันด์น้องใหม่ที่ก่อตั้งได้ไม่กี่สัปดาห์ ชื่อ Engine No.1 ได้ออกมาแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ ExxonMobile ปรับรูปแบบธุรกิจสู่การลดก๊าซคาร์บอนดออกไซด์ให้ได้ 

6 เดือนต่อมา หรือในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ในการประชุมผู้ถือหุ้นของ ExxonMobile  ก็ได้มีการปลดคณะกรรมการเดิมของ Exxon ออก และ Engine No.1 ก็ได้มีการส่งตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปนั่งบอร์ดบริหารได้ถึง 2 ที่นั่งด้วยกัน เพื่อทำงานร่วมกับคณะกรรมการของ Exxon 

การเข้ามาของ Engine No.1 ถือเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับผู้บริหารของ Exxon ในด้านการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงความชัดเจนที่จะลงทุนเพื่อลดการปล่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น 

ทั้งๆ ที่ผ่านมา  Darren Wood ซึ่งเป็น CEO ของ Exxon พยายามที่จะโน้มน้าวให้บอร์ดบริหารให้ล้มเลิกความสนใจในการปรับธุรกิจนี้ โดยให้เหตุผลว่าตอนนี้ได้มีการลงทุนในโปรเจกต์เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้ว

แต่ Exxon ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายความยั่งยืนของบริษัทเท่านั้น แต่มีฝั่งที่สนับสนุนนโยบายของ Exxon ด้วยเช่นกัน อย่าง Inclusive Capital Partners กองทุนขับเคลื่อนการลงทุน และส่งเสริมองค์กรที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อมิถุนายน 2020 โดย Jeffrey Ubben หนึ่งในสมาชิกบอร์ดบริหารของ Exxon โดยกองทุนดังกล่าวถือหุ้นของ Exxon อยู่ 1.6 ล้านหุ้น มีมูลค่าประมาณ 93.6 ล้านดอลลาร์ 

สำหรับ Inclusive Capital Partners เป็นฝ่ายที่ยืนยันจะเคียงข้าง Exxon ในการยืนหยัดรูปแบบการบริหารครั้งนี้ และก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า Exxon ได้มีการลงทุนในพลังงานสะอาด และนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจังแล้ว

นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจาก BlackRock Inc ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ของ Exxon ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะคอยสนับสนุนความเห็นของนักลงทุน รวมไปถึงสนับสนุน Jeffrey Ubben  ที่มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงานไปสู่รูปแบบของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะส่งเสริมให้บริษัทมีความสามารถที่จะแข่งขันกับบริษัทอื่นในประเด็นดังกล่าว

Chevron อีกหนึ่งบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ที่นักลงทุนเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Chevron เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่เผชิญกับความท้าทายด้านนโยบายความยั่งยืน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม ที่ธุรกิจพลังงานนั้นได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป

ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564  ที่ผ่านมา Follow This ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์จากความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงบริษัทพลังงานให้มาใส่ใจสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ได้นำทีมนักลงทุนออกมาเรียกร้อง Chevron ในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากการใช้พลังงานฟอสซิสปริมาณมากในการผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมต่อโลกในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ Follow This ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้าไปผลักดันให้ Shell และ BP มีการออกมารับผิดชอบให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจัง และได้เดินหน้าต่อมาเรียกร้องให้ทาง Chevron บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

เป้าหมายหลักในการเรียกร้องของกลุ่มนักลงทุน คือ ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ระดับโลกหยุดการพัฒนาและผลิตพลังงานจากน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน เพื่อลดการการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้หมดจดภายในปี 2050 ให้ได้ ซึ่งเป็นข้อตกลงปารีส ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ

เมื่อปี 2015 ทาง Mark van Baal ซึ่งได้ก่อตั้ง Follow This ขึ้นมาเพื่อสร้างแรงกดดันให้กับบริษัทพลังงานอย่างจริงจัง เริ่มต้นด้วยการส่งผู้ถือหุ้นเข้าบริษัท Shell และในระยะเวลา 6 ปี 

แคมเปญนี้ของ Follow This ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมประจำปีของ Shell และบริษัทพลังงานอื่น ๆ ทั้ง BP ของสหราชอาณาจักร Equinor ของนอร์เวย์ และ Total ของฝรั่งเศส 

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันนี้ส่งผลให้บริษัทพลังงานเริ่มหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารงาน แต่กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่จริงจัง 

นอกจากนี้ทาง Follow This ยังได้มีการเสนอมติไปทางบริษัทพลังงานของสหรัฐอเมริกาให้ยอมรับข้อตกลงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยทาง ConocoPhillips และ Phillips 66 มีความเห็นชอบในเรื่องนี้ ยกเว้นเสียแต่ทาง Chevron ที่พยายามจะเพิกเฉย ทำให้ถูกหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบ

แม้ว่าจะมีการกำหนดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 แต่ในปัจจุบันบริษัทพลังงานยังคงมีความต้องการผลิตก๊าซ หรือน้ำมันอยู่ โดย Mark van Baal มองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ต้องเริ่มมาจากผู้บริหารของกลุ่มบริษัทพลังงาน ที่ต้องมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

ทั้งนี้ Mark van Baal ก็เชื่อว่าในอนาคต จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการผู้ผลิตพลังงานอย่างแน่นอน ด้วยนักลงทุนหลาย ๆ คนเริ่มหันมาตระหนักถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกและผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย

Shell กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม 

สำหรับ Shell บริษัทพลังงานข้ามชาติสัญชาติดัตช์และอังกฤษ ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย ที่ถูกเพ่งเล็งด้านนโยบายความยั่งยืน ที่ถึงแม้ว่า ความเคลื่อนไหวในการพยายามลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีความกระตือรือร้น และชัดเจนมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ได้ดึงเอานักลงทุนหลายรายมาช่วยสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2050 แต่ยังเลือกที่จะไปลงทุนระยะสั้นในผลิตภัณฑ์ก๊าซอยู่ดี ซึ่งก็มีความย้อนแย้งที่เป็นคำถามอยู่ไม่น้อย และดูเหมือนไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลก 

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเหตุกาณ์ความท้าทายในการประชุมผู้ถือหุ้นของ Exxon และ Chevron ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสิน สั่งให้ Shell ให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจัง โดยคำตัดสินครั้งนี้อาจเป็นแบบอย่างให้กระบวนการยุติธรรมประเทศอื่นนำไปปรับใช้กับบริษัทพลังงานทั่วโลก

โดยรายละเอียดคำพิพากษาในศาลเนเธอร์แลนด์ได้ระบุว่า Shell จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกจากระดับเดิมในปี 2019 ให้ได้ถึง 45% ภายในปี 2030 

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งเชลล์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อคำตัดสินว่าตนรู้สึก “ผิดหวัง” และมีแผนจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ทั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ถือหุ้น นักกิจกรรม และรัฐบาลได้ออกมากดดันเรียกร้องให้บริษัทพลังงานเลิกใช้พลังงานฟอสซิล และหันมาลงทุนในพลังงานสะอาดโดยด่วน

ก่อนหน้านี้ เชลล์ได้วางกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำ โดยพุ่งเป้าทยอยลดปริมาณคาร์บอนจากระดับเดิมในปี 2016 อย่างน้อย 6% ให้ได้ในปี 2023 ต่อมาอีก 20% ในปี 2030 45% ในปี 2035 และลดทั้งหมด 100% ภายในปี 2050 อย่างไรก็ดี ศาลกลับให้ความเห็นต่อนโยบายของเชลล์ว่าไม่เป็นรูปธรรมมากพอและเต็มไปด้วยเงื่อนไขซ่อนอยู่ 

อย่างไรก็ตามการที่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ถูกเพ่งเล็ง และตกเป็นเป้าหมายของนโยบายความยั่งยืน และความจริงจังในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างหนึ่งของโลก ที่ส่งผลกระทบให้หลายบริษัทหันกลับมาย้อนมองนโยบายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็ตาม 


อ้างอิง Reuters (1), (2), (3), NPR, BBC  ,TheGuardian 









อ้างอิง: Reuters (1), (2), (3), NPR, BBC

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บางจาก ได้สินเชื่อรายแรกในไทย 6,500 ล้านบาทเพื่อพัฒนา SAF จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

ธนาคารยูโอบี มอบสินเชื่อ 6,500 ล้านบาท สนับสนุนบางจากฯ พัฒนาโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) แห่งแรกในไทย ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 80% เพื่อเป้าหมาย Net Zero 20...

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...