Fast Fashion ตัวร้าย มาไวไปไวแต่ทิ้งร่องรอย ผลเสียต่อโลกเพียบ | Techsauce

Fast Fashion ตัวร้าย มาไวไปไวแต่ทิ้งร่องรอย ผลเสียต่อโลกเพียบ

หลายคนอาจจะเคยได้ยินถึงความเป็นปัญหาของ Fast fashion มาบ้างแล้ว แต่ให้ความสำคัญถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นมากพอหรือยัง? มารู้จักกับหนึ่งตัวเลือกที่ยั่งยืน เพื่อลดการบริโภคสินค้าเกินความจำเป็นจนก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

Fast fashion คืออะไร 

Fast fashion หรือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่น คือคำที่อธิบายถึงการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของเทรนด์แฟชั่นทำให้มีเสื้อผ้าราคาถูก ผลิตออกมาจำนวนมาก และมีคอลเลคชั่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง การผลิตที่รวดเร็ว และเทรนด์ที่เปลี่ยนไปไวในปัจจุบันส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

อุตสาหกรรม Fast fashion ส่งผลกระทบด้านลบมากมายไม่ว่าจะเป็น

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค แบรนด์เสื้อผ้าจึงหันไปใช้วัสดุสังเคราะห์มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน โดยมีรายงานว่าปัจจุบันมีการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นถึงสองเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่นั้นทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์หรือโพลีเอสเตอร์ (Polyester)

การผลิตเสื้อผ้าโดยปกติใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการใช้วัสดุสังเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ถึง 1.35% ของการใช้น้ำมันทั่วโลก 

ตามข้อมูลของสหประชาชาติ(UN) อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกมีการปล่อยมลพิษมากถึง 8-10% ซึ่งมีปริมาณมากกว่าการบินและการขนส่งรวมกันอีก และคาดว่ายอดขายเสื้อผ้าอาจเพิ่มขึ้นถึง 65% ภายในปี 2030

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่นส่วนใหญ่มาจากการใช้วัตถุดิบ (Raw materials) 

  • ใช้ฝ้ายจากพื้นที่การเกษตรกว่า 2.5% ทั่วโลก
  • ใช้น้ำผลิตใยสังเคราะห์ถึง 342 ล้านบาร์เรลต่อปี
  • ใช้สารเคมีในการย้อมผ้าถึง 43 ล้านตันต่อปี

ผลกระทบต่อเหล่าผู้ผลิต และแรงงาน

เนื่องจากธุรกิจเสื้อผ้า Fast fashion นี้เน้นความเร็วในการผลิตสินค้าตามกระแสในช่วงเวลานั้น ๆ ส่งผลให้ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากต่อการผลิต สิ่งที่พบคือพนักงานส่วนใหญ่มีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ทำงานหนัก เช่น คนงานในบังกลาเทศบางส่วนทำงานถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และถึงจะทำงานหนักเพียงใดแต่ค่าจ้างนั้นก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตาม มีคนงานเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่ได้รับค่าจ้างอย่างสมเหตุสมผล 

นอกจากนี้แล้ว พนักงานในโรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้ทางน้ำ ซึ่งในน้ำต่างก็มีสารปนเปื้อนอันตรายที่มาจากการขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายย่ำแย่ด้วยเช่นกัน

แบรนด์สินค้า Fast fashion สุดฮิตที่ทุกคนนิยมซื้อในปัจจุบั ได้แก่

Zara มีรายงานว่ามีสินค้าคอลเลกชั่นใหม่ ๆ ถึง 12,000 ชิ้นต่อปี มีโรงงานผลิตในบราซิลที่ขึ้นชื่อเรื่องใช้แรงงานคนเหมือนทาส แม้ว่าเร็ว ๆ นี้มีรายงานว่า Zara มีแนวทางผลิตสินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่นักวิจารณ์ยังมองว่าเป็นเพียงการ greenwashing เท่านั้น เพราะแบรนด์ยังคงสนับสนุนวัฒนธรรมการบริโภคเสื้อผ้าที่มากเกินไปจนสุดท้ายเสื้อผ้ากลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบ

H&M ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ก่อมลพิษมากที่สุดในวงการแฟชั่น มีรายงานว่าพนักงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควร และยังผลิตสินค้าที่เลียนแบบสินค้าระดับ hi-end เจ้าอื่น H&M ยังถูกกล่าวหาเรื่อง greenwashing เช่นเดียวกัน แม้ว่าบริษัทจะมีแคมเปญส่งเสริมให้ผู้บริโภครีไซเคิลเสื้อผ้าใช้ แต่ก็ยังมีแนวทางการปฏิบัติเรื่องความยั่งยืนที่คลุมเครืออยู่

Shein แบรนด์ที่กำลังเป็นกระแสสุด ๆ เพราะมีสินค้าที่หลากสไตล์ หลายไซส์ และราคาถูกเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น แต่ Shein ก็มีข่าวในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบสินค้าจากแบรนด์เสื้อผ้า hi-end หรือจาก small business เจ้าอื่นทั่วโลก อีกทั้งยังมีข่าวเกี่ยวกับสภาพการทำงานในโรงงาน และการใช้แรงงานเด็ก

อุตสาหกรรมแฟชั่นกับความยั่งยืน

ในช่วงหลังมานี้อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ตระหนักถึงปัญหาของ Fast fashion มากขึ้นและเริ่มมีการแก้ไขปัญหานี้ เมื่อพิจารณาถึงความต้องการของผู้บริโภคเกี่ยวกับความยั่งยืน จะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง ไม่ว่าจะเป็น การตระหนักรู้ถึงปัญหา วัสดุที่ใช้ในการผลิต หรือกระบวนการผลิต 

จากการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เกี่ยวกับบริโภคสินค้าที่ยั่งยืนจาก World Economic Forum พบว่าผู้บริโภคในทุกช่วงวัยเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืน บางส่วนกล่าวว่าพวกเขาจะเลือกแบรนด์ที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติหรือค่านิยมที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และจะเลิกอุดหนุนสินค้าที่มีแนวทางการปฏิบัติต่อความยั่งยืนต่ำหรือไม่ชัดเจน

และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมก็ได้พยายามอย่างหนักในการปรับใช้แนวทางที่ยั่งยืนกับสินค้าของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงความตระหนักของผู้บริโภคที่ส่งผลให้เกิดแรงผลักดันต่อผู้ผลิตทั่วโลกได้จริง เพื่อให้อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังเป็นผลดีกับตัวแบรนด์ต่อไปในอนาคตด้วย

Trend รักษ์โลก คนหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น 

นอกจากทางแบรนด์เสื้อผ้าจะปรับใช้แนวทางที่ยั่งยืนบ้างแล้ว ประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมยังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยรุ่นมากขึ้น การเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือ Thrifting จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการบริโภคสินค้า Fast fashion อีกด้วย

การนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ยังหมายถึงจะมีเสื้อผ้าที่ถูกฝังกลบน้อยลง และลดปริมาณมลพิษจากอุตสาหกรรม Thrifting ยังเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ในการชุบชีวิตใหม่ให้กับเสื้อผ้ามือสองอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเลย

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้การซื้อเสื้อผ้ามือสองเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน และเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการลดปริมาณขยะที่ถูกผลิตขึ้นมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี 

Buy less, choose well, make it last.

- Vivienne Westwood นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังที่แนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเสื้อผ้าอย่างมีสติด้วยการซื้อเท่าที่จำเป็น ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งจะช่วยลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น (over consumption) และลดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม 

และการเลือกซื้อสินค้ามือสองก็เป็นวิธีที่เธอแนะนำ เพราะจะทำให้เราเจอสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ ราคาไม่แพง และสวมใส่ได้นาน

นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีแคมเปญต่าง ๆ ที่รณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาและหยุดซื้อสินค้า Fast fashion เช่น แคมเปญ #WhoMadeMyClothes ที่รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญและให้คุณค่าความคิดสร้างสรรค์แก่ช่างผลิตเสื้อผ้า หรือเทรนด์ Slow Fashion เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากเส้นใยธรรมชาติ ผ่านการปลูกแบบออร์แกนิก และปราศจากสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งในประเทศไทยยังมีตลาดขายสินค้ามือสองมากมายทั่วประเทศ เช่น ตึกแดงจตุจักร ตลาดปัฐวิกรณ์ หรือ Shinjuku outlet และยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นพื้นที่ในการซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองอย่าง Loopers, Cleartoo และ Hangles เป็นต้น

ด้วยกระแสสังคมในยุคปัจจุบันที่กดดันให้เราต้องตามให้ทันอยู่เสมอ และเกิดเทรนด์แฟชั่นที่มาไวไปไวขึ้น เราในฐานะผู้บริโภคควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และหันมาใช้สินค้าอย่างเห็นคุณค่าและยั่งยืน 

ส่วนทางด้านผู้ผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ต้องรับผิดชอบและต้องมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของการผลิตเสื้อผ้าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว


อ้างอิง: bbc, entrepreneur, investopedia, forbes, npr, sd

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รักโลกต้องทำงาน 4 วัน ทั้งปลดล็อกชีวิตสมดุล และลดคาร์บอนปีละ 127 ล้านตัน

จะดีแค่ไหน หากการมีวันหยุดเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตสมดุลขึ้น แต่ยังช่วยรักษ์โลกได้อีกด้วย? รายงานล่าสุดเผยว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่เพียงเพิ่มเวลาว่างถึง 50% ...

Responsive image

ปัญหา Jobs Gap กำลังเปลี่ยนโลกแรงงาน อีก 10 ปีข้างหน้า 800 ล้านคนอาจไม่มีงานทำ

สำรวจความท้าทายด้านการจ้างงานในอนาคตเมื่อ AI เข้ามามีบทบาท พร้อมแนวทางแก้ไขช่องว่างงานกว่า 400 ล้านตำแหน่งทั่วโลกจากการเสวนาในงาน World Economic Forum 2025...

Responsive image

สรุป 35 ความเสี่ยงจาก Global Risks Report 2025 ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

เจาะลึก Global Risks Report 2025 โดย World Economic Forum วิเคราะห์ 35 ความเสี่ยงระดับโลกที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี พร้อมแนวโน้มสำคัญในปี 2025, 2027 แ...