เมื่อตอนที่ฉันเป็นนักเรียนในปี 1988 ฉันเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และฉันแย้งว่า AI สามารถตรวจจับรูปแบบได้ดีกว่าการตรวจด้วยตา
ในช่วง 30 ปีต่อจากนั้น หัวข้อนี้แทบจะไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป ยกเว้นในโลกของวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ จนเมื่อปีกว่ามานี่เอง ที่ AI ปรากฏตัวบนเวทีสาธารณะ และมาพร้อมกับเครื่องมือ AI เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่สามารถใช้สร้างเนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภาพ และเนื้อหาอื่นๆ ได้อย่างฉลาด
ที่จริงแล้ว AI อยู่รอบๆ เรามาระยะหนึ่งแล้ว การค้นหาเว็บแบบง่ายๆ ก็มีความเกี่ยวข้องกับ AI หรือการใช้แชทบอท นั่นก็คือ AI แต่เราจะเห็นการเติบโตแบบทวีคูณ ก็ต่อเมื่อมีการนำ AI มาใช้เพิ่มขึ้น และการใช้งานเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณจะกำหนดรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตที่เป็นพื้นฐานของเรา นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบมากกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราผลิตและใช้พลังงาน
ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนก็คือ แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ AI อยู่มากมายก็ตาม แต่ AI ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง และก็ไม่ใช่ตัวช่วยที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างฉับพลันกับการจำกัดภาวะโลกร้อนให้หยุดอยู่ที่ไม่เกิน 1.5°C เหมือนช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
ดังนั้น การเกิดขึ้นของ AI จะต้องไม่เบี่ยงเบนความสนใจของเราจากการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ เช่น พลังงานทดแทน ยานพาหนะไฟฟ้าและปั๊มความร้อน ตลอดจนซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติและการจัดการอาคารที่ช่วยปรับปรุงกระบวนการและการใช้พลังงานในอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หากมองถึงอาคารและอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 37% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและพลังงานทั่วโลก ตามรายงานล่าสุดจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
อาคารใหม่ทุกหลังที่สร้างขึ้นในปัจจุบันสามารถเป็น Net Zero ได้จริง โดยใช้การผสมผสานพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น (เช่น พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา) รวมถึงเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมการใช้พลังงานได้สูงสุด นี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ที่ต้องพึ่งพาการพัฒนา AI ในอนาคต แต่เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ที่เรานำมาใช้ในอาคาร IntenCity ของเราในเมืองเกรอน็อบล์ ประเทศฝรั่งเศส และเรายังช่วยให้อีกหลายๆ อาคารนำแนวทางนี้มาปรับใช้ด้วยเช่นกัน
ในทำนองเดียวกัน เราจำเป็นต้องเร่งนำเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและให้คาร์บอนต่ำ มาปรับใช้กับบรรดาอาคารที่มีอยู่ในการติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดทั้งต้นทุน รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากและเร็วกว่าที่หลายคนเคยรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องรอเครื่องมือ AI ใหม่ เพราะเรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ทันที
ความตื่นเต้นมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ AI เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเมื่อจับคู่เทคโนโลยีดังกล่าว เข้ากับ AR (augmented reality) VR (virtual reality) รวมถึง digital twins และ IoT จะยิ่งทำให้ AI ช่วยให้เราเข้าถึงประสิทธิภาพได้มากขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น และเมื่อเป็นเรื่องของพลังงาน การที่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ลดลง
ตัวอย่างเช่น ไมโครกริดเป็นเครือข่ายไฟฟ้าแบบครบวงจรที่จ่ายไฟให้กับบ้าน ธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยใช้เครื่องกำเนิดพลังงานส่วนตัว (ตามหลักการเป็นพลังงานหมุนเวียน) และการกักเก็บพลังงานในรูปของแบตเตอรี่ โดยซอฟต์แวร์อัจฉริยะสามารถเชื่อมต่อองค์ประกอบต่างๆ เข้ากับระบบสายส่ง (Utility grids) ได้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและต้นทุนของพลังงาน อีกทั้งช่วยคาดการณ์ เพื่อให้สามารถใช้พลังงานอย่างเหมาะสมได้แบบอัตโนมัติ ทั้งเรื่องการผลิต การกักเก็บและนำมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจได้ง่าย ถึงเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้ ตลอดจนการปล่อย CO2
เราจำเป็นต้องมองเพื่อให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของ AI และศูนย์ข้อมูลที่เป็นขุมพลังนั้น จำเป็นต้องอาศัยน้ำและพลังงาน รวมถึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไรบ้าง เราคาดการณ์ว่าในขณะที่โลกเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล การใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าภายในปี 2571 และสัดส่วนในการใช้งานที่มาจาก AI จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดในเวลานั้น โดยเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์
สิ่งสำคัญก็คือ การใช้ AI จะต้องไม่นำไปสู่ปัญหาด้านพลังงานหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพซอฟต์แวร์การประมวลผลอย่างต่อเนื่อง จะช่วยจัดการกับความท้าทายนี้ โดยการปรับเปลี่ยนการออกแบบและการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล เช่น การเปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ดีเซลให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำความสะอาดสตอเรจ และใช้การระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ เป็นต้น
บางคนชอบ AI ในขณะที่บางคนกลัว AI แต่ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม พลังการเปลี่ยนแปลงของ AI นั้นยิ่งใหญ่กว่าการถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตในทศวรรษ 1990 เสียอีก และ AI ก็เหมือนกับอินเทอร์เน็ต นั่นคือ จะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อถูกนำมาใช้งานอย่างมีจรรยาบรรณและรับผิดชอบ โดยให้ขุมพลังที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ความคล่องตัวในการทำงาน มากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายปลายทางของผลลัพธ์ เป็นตัวช่วยมากกว่าการนำมาทดแทนผลลัพธ์จากมนุษย์ที่จำเป็นจะต้องผ่านการรับรองคุณภาพสูงสุด
นอกจากนี้ ยังไม่ควรให้ AI มาเบี่ยงเบนเราจากการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วในตอนนี้ เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มี AI ก็ตาม เราก็ยังสามารถติดตั้งฟาร์มกังหันลมและสถานีชาร์จ EV ได้มากขึ้น และใช้เครื่องมือดิจิทัลที่มีอยู่ปรับปรุงวิธีการออกแบบ สร้างและดำเนินการด้านอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากมาย รวมถึงการบำรุงรักษา
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม AI จะเป็นตัวเร่งที่จำเป็นและให้ขุมพลังแก่เทคโนโลยีที่มีอยู่ ช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ช่วยสนับสนุนความมุ่งมั่นพยายามของเราในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บทความโดย : ปีเตอร์ เฮอร์เว็ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชไนเดอร์ อิเล็คทริค
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด