อินเดียเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ทำไมคนในชาติยังอดอยาก? | Techsauce

อินเดียเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ทำไมคนในชาติยังอดอยาก?

อินเดียหรือภารัตขึ้นชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่เป็นอันดับ 2 และในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูงกว่า 6.1% กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก 

Goldman Sachs เคยออกมาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2075 เศรษฐกิจของอินเดียจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน แซงหน้าญี่ปุ่น เยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกา จากความก้าวหน้าในนวัตกรรม การลงทุนจากนานาชาติ และเทคโนโลยีภายในประเทศ 

แต่รู้ไหมว่า ประเทศที่เลี้ยงปากท้องคนทั้งโลกได้และกำลังจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ กลับติดอันดับต้น ๆ ประเทศที่ประชากรหิวโหยและขาดแคลนอาหารมากที่สุดในโลก เป็นเพราะอะไรกัน ?

อินเดียเลี้ยงคนทั้งโลกได้ แต่ทำไมคนในประเทศยังหิวโหย?

หากพูดถึงอาหารที่อินเดียส่งออกมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ข้าว’ ในปี 2023 อินเดียส่งออกข้าวมากถึง 16.5 ล้านตัน ขึ้นแท่นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าประเทศไทยที่ส่งออกข้าวเพียง 8.2 ล้านตัน รั้งอันดับ 2 ของโลก

แต่ล่าสุดทาง Global Hunger Index ได้จัดอันดับประเทศที่มีระดับความหิวโหยรุนแรงที่สุดในโลก พบว่า อินเดียติดอันดับ 111 จาก 125 ประเทศ (ยิ่งรั้งท้ายตารางยิ่งมีระดับความหิวโหยอยู่ในขั้นรุงแรง) โดยมีคะแนนความอดอยาก (GHI) อยู่ที่ 28.7 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับรุนแรง

ในบรรดาประชากรอินเดียที่มีอยู่ราว 1.4 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก มีผู้คนที่ขาดสารอาหารและเผชิญกับความหิวโหยมากกว่า 190 ล้านคน 

*ค่า GHI มีเกณฑ์การวัดผลมาจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ ความหิวโหย, ภาวะเตี้ยแคระแกร็น, ภาวะผอม, การขาดสารอาหาร, และการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เป็นต้น

ทำไมคนในประเทศยังหิวโหย? สาเหตุหลักนั้นไม่ใช่ปัญหาความยากจนอย่างที่ใคร ๆ คิด แต่มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. ปัญหาด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (Logistics and supply chains)

โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาและคงคุณภาพของวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมา ต่อให้ประเทศอินเดียสามารถผลิตได้มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 2 เท่า แต่ยังมีโครงสร้างด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานไม่ดี ปัญหาความหิวโหยก็จะยังคงไม่หมดไป

ปัจจุบันการขนส่งของอินเดียต้องอาศัยการขนส่งทางถนนเป็นอย่างมาก ประมาณ 65% ในการขนย้ายสินค้า แต่ถนนภายในประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งอาจทำให้เกิดความแออัด ความล่าช้า และอาจเกิดความเสียหายต่อสินค้าได้ 

รวมถึงระบบห่วงโซ่อุปทานที่กระจัดกระจายระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก และผู้ขนส่ง ทำให้กว่าสินค้าจะถูกแปรรูปและจัดจำหน่ายสู่มือผู้บริโภค ก็มีบางส่วนที่สูญหายและเน่าเสียไปแล้ว

ตัวอย่างเช่น ถ้าอินเดียปลูกข้าวได้มากกว่า 30 ล้านตัน แต่ยังคงไม่ปรับปรุงปัจจัยด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน ข้าว 30 ล้านตันที่ได้มานี้อาจสูญหายไประหว่างการขนส่ง การแปรรูป รวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่ได้มาตราฐานก็ส่งผลให้ข้าวนี้เน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นเดียวกัน

ข้อมูลจากสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ปัญหานี้ทำให้อินเดียสูญเสียผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวไปเกือบ 40% นั่นหมายความว่าถ้าผลิตข้าวได้ 30 ล้านตัน แต่โครงสร้างพื้นฐานยังแย่อยู่ ปริมาณข้าวที่เหลือจากการผลิตจริง ๆ จะมีอยู่แค่ 18 ล้านตันเท่านั้น

2. ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง

ปัจจุบันชนชั้นกลางของอินเดียคิดเป็น 31% จากประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในอีก 7 ปีมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเป็น 38% และการที่ประเทศมีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อประชาชนมีฐานะที่ดีขึ้นก็เริ่มต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น

เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นสวนทางกับอาหารที่มีอยู่มันจึงส่งผลต่อปริมาณอาหารโดยรวมของประเทศ หรือพูดง่าย ๆ คือ มีคนที่ฐานะดีขึ้นและมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่อาหารภายในประเทศยังคงมีอยู่เท่าเดิม (แม้ผลิตเพิ่มขึ้นแต่จากปัญหาข้อที่ 1 จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้) ดังนั้น อาหารที่มีจึงไม่เพียงพอต่อคนทั้งชาตินั่นเอง

ค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ชนชั้นกลางในอินเดียใช้จ่ายสำหรับอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 บาท-3,000 บาท

เห็นได้ว่าจากทั้ง 2 ปัจจัยหลักนั้นส่งผลกระทบต่อปัญหาความขาดแคลนของอินเดียอย่างเป็นวงจร ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาอาจไม่สามารถเริ่มต้นเพียงแค่รัฐบาลฝ่ายเดียวได้ แต่ทุกภาคส่วน อาทิ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และชุมชน ต้องให้ความร่วมมือกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็พยายามออกนโยบายมากมายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

อ้างอิง: cnbc, globalhungerindex, theglobalstatistics, undp.org

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

โลกยิ่งร้อน คนจะยิ่งจน วิจัยเผยรายได้จะหาย 60% หากไม่รีบแก้

โลกยิ่งร้อน คนยิ่งจน การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์บนนิตยสาร Nature ชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกจะเลวร้ายขึ้นจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้รายได้เฉลี่ยทั่วโลกลดลงถึง 19% ใน...

Responsive image

อาเซียนรับกรรม ในบทบาท ‘ถังขยะโลก’ สังเวยชีวิตคนสิ่งแวดล้อม ด้วยการค้าขยะผิดกฎหมาย

ประเทศอาเซียนรับกรรม กลายเป็นถังขยะโลก จากการ ‘ค้าขยะ’ ผิดกฎหมายที่มาจากยุโรป สะท้อนกฎหมายอ่อนแอ ไร้ระบบจัดการขยะแบบยั่งยืน...