ถึงแม้ว่าเป้าหมายของหลายประเทศทั่วโลก คือการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก แต่ในความเป็นจริง หลายประเทศทั่วโลกก็ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และน้ำมัน
ขณะที่การใช้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนนั้นยังติดปัญหาด้านพื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ เช่น พลังงานลมต้องใช้พื้นที่โล่งกว้างและมีลมพัดแรงมากพอจะนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าได้ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำนั้นทำได้ดีกับประเทศที่มีน้ำไหลผ่านอย่างอุดมสมบูรณ์ อีกส่วนหนึ่งคือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างพลังงานสะอาดด้วยลมและน้ำได้ยาก
แต่กับพลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นต้องเรียกว่าเป็นตัวเลือกเดียวที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างจริงจัง เพราะการดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้นั้นไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมาย เพียงแค่ใช้หลังคาบ้านตนเองก็สามารถผลิตไฟฟ้าเข้ามาทดแทนได้ทันที
จะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์รูฟเพื่อลดค่าไฟฟ้าไปจนถึงการขายไฟฟ้าคืนให้กับภาครัฐได้ เช่น เมื่อปี 2017 ประเทศอังกฤษ ได้มีโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 8 แสนครัวเรือนใน 5 ปี โดยรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดพร้อมรับซื้อไฟคืนเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนจน ซึ่งโครงการนี้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 160 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6.7 พันล้านบาท)
ด้านยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ก็มีการผลักดันให้ประชาชนติดโซลาร์รูฟในหลายๆ รัฐ และติดตั้งมิเตอร์ที่สามารถระบุหน่วยสุทธิจากการผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงการขายหน่วยคืนไปที่รัฐบาล ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกา ที่ออกนโยบายบังคับให้บ้านที่สร้างใหม่ทั้งหมดต้องติดตั้งแผงโซลาร์รูฟในปี 2020 ถึงแม้แผนดังกล่าวส่งผลให้ราคาการสร้างบ้านสูงขึ้นอีกราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
เยอรมนี เป็นอีกหนึ่งตลาดโซลาร์รูฟที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีบ้านที่อยู่อาศัยติดโซลาร์รูฟมากกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน ขณะที่ภาครัฐก็ออกมาสนับสนุนนโยบายการผลิตพลังงานเพื่อใช้เอง และนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ขณะที่ จีน ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย เป็นประเทศที่มีการเติบโตในตลาดโซลาร์มากที่สุด ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลจีนลงมาสนับสนุน พร้อมให้เงินอุดหนุนกับผู้ที่ทำโครงการโซลาร์ต่างๆ รวมไปถึงการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้จีนยังมีโครงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Peer-to-peer) อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยผลสำรวจล่าสุดจาก วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า คนไทยกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากถึง 37% เมื่อเทียบกับอันดับหนึ่งอย่างปัญหาค่าครองชีพ ที่ 44% นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยกว่า 62% ยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบกับคุณภาพชีวิต
ถึงแม้คนไทยจะกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายคนสนใจอยากติดตั้งโซลาร์รูฟที่บ้านของตัวเอง แต่การติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้คนยังไม่ติดตั้งนั้นมาจากการที่ต้องลงทุนด้านค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การปรับโครงสร้างของบ้านให้หลังคาสามารถรองรับน้ำหนักของแผงโซลาร์ได้ จนไปถึงค่าติดตั้งโซลาร์รูฟที่ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท
จากปัญหานี้เอง ทำให้ธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นองค์กรหนึ่งที่พยายามผลักดันให้เกิด Green Ecosystem เปิดตัวโครงการ SolarPlus ชวนคนไทย GO GREEN Together ด้วยการจับมือพันธมิตรติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนฟรี เพื่อผลิตและขายไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อน แล้วยังช่วยประหยัดค่าไฟ 20% ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ โดยเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาเอง เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น
สำหรับไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านใช้ไม่หมดก็จะถูกนำไปขายต่อผ่านแพลตฟอร์ม Peer to peer energy trading ให้แก่ผู้รับซื้อไฟฟ้า เช่น อาคารสำนักงาน หรือบ้านเรือนประชาชนที่สนใจสามารถซื้อไฟไปใช้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด โดยธนาคารกสิกรไทยมีบทบาทในการให้สินเชื่อแก่บริษัทผู้ลงทุนเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ธนาคารยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้งานในบ้านเรือนเข้ามาใช้ในเครือธนาคารกสิกรไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสีเขียวในระยะยาวอีกด้วย
“สำหรับธนาคารกสิกรไทยนั้นมีความมุ่งมั่นจะลดการใช้พลังงานภายในองค์กรให้ได้ 7-8% ทุกปี แต่การสร้างระบบนิเวศเหล่านี้กสิกรไทยไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จึงต้องชวนพาร์ทเนอร์ต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและจะช้าไปกว่านี้ไม่ได้ ในฐานะธนาคารจึงจำเป็นต้องทำมากกว่าสิ่งที่ธนาคารทำ เพื่อช่วยให้ประเทศใช้พลังงานสะอาด เข้าสู่สังคมสีเขียว สู่การเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 ตามเป้าหมายของประเทศไทย” หนึ่งในข้อความสำคัญที่ คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ SolarPlus
สำหรับพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมกับโครงการ SolarPlus นั้นมีทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด
โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาสนับสนุนแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading ที่พัฒนาโดยทีมงาน กฟผ. เพื่อเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าในประเทศไทย ให้สามารถซื้อขายได้จากบ้านคน
ด้าน พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จะเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่การทำสัญญากับลูกบ้าน การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบโซลาร์รูฟโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์เพื่อให้ลูกบ้านที่ผลิตกระแสไฟเหลือใช้สามารถจำหน่ายกลับเข้าไปในระบบไฟฟ้าได้แบบกระจายศูนย์ หรือ Peer to Peer Energy Trading
ขณะที่ ศุภาลัย เข้ามาสนับสนุนบทบาทการเลือกโครงการบ้านที่มีลูกบ้านย้ายเข้ามาอยู่มากและเป็นโครงการใหม่ที่หลังคาบ้านสามารถรองรับการติตดั้งโซลาร์รูฟได้ โดยในเบื้องต้นเลือกโครงการศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 เป็นโครงการแรก
ส่วน อินโนพาวเวอร์ เข้ามาสนับสนุนด้านแพลตฟอร์มให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ของโครงการพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายใบรับรอง Renewable Energy Certification (REC) ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้พัฒนาพลังงานสะอาด เพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ยังจับคู่เครดิตกับคนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด
สำหรับโครงการ SolarPlus มีเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนสังคมสู่การใช้พลังงานสะอาด เป็นสังคมสีเขียว โดยตั้งเป้าจะติดตั้งโซลาร์รูฟให้ได้ 500,000 หลังภายใน 5 ปี ช่วยคนไทยลดค่าไฟ 20% ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 240 ล้านต้น นี่จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะช่วยให้รักษาโลกของเรา เพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด