เปิดรายงาน The Global Risks Report 2024 รวมความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเจอ เพื่อเตรียมตัวรับมือ | Techsauce

เปิดรายงาน The Global Risks Report 2024 รวมความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเจอ เพื่อเตรียมตัวรับมือ

ถ้ามองดูสถานการณ์ในปัจจุบัน โลกเราได้เผชิญกับวิกฤตมานับไม่ถ้วน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด พิษเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เทคโนโลยีล้ำหน้าและอันตราย และถ้ายังต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ต่อไป โลกจะเหลือเวลาอีกกี่ปีก่อนจะดับสิ้นไป ? World Economic Forum จึงได้จัดทำรายงาน Global Risks Report 2024 รวมความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเจอ เพื่อให้เราได้เตรียมตัวรับมือ

The Global Risks Report คืออะไร ?

ข้อมูลในรายงาน The Global Risks Report 2024 มาจาก Global Risks Perception Survey (GRPS) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านความเสี่ยงของ World Economic Forum 

โดยข้อมูลของ GRPS ประจำปีนี้ มาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงทั่วโลกจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,490 ราย ทั้งจากสถาบันการศึกษา ธุรกิจ รัฐบาล ชุมชนระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในช่วงระหว่างวันที่ 4 กันยายน - 9 ตุลาคม 2566 โดยความเสี่ยงจะถูกแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้

  1. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic) - สีฟ้า
  2. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) - สีเขียว 
  3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) - สีส้ม
  4. ความเสี่ยงด้านสังคม (Societal) - สีแดง
  5. ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological) - สีม่วง

‘Global Risks’ หรือ ‘ความเสี่ยงระดับโลก’ หมายถึง ความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์หรือสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าความเสี่ยงนั้น ๆ เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสัดส่วน GDP โลก ประชากร หรือทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

โลกจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ?

รายงาน Global Risks Report 2024 ได้สรุปความเสี่ยงและปัญหาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโลกทั้งในปี 2024 และคาดการณ์อนาคตใน 2 ปีข้างหน้าและอีก 10 ปีข้างหน้า มาดูกันว่าความเสี่ยงที่เจออยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลต่อระยะยาวอย่างไรบ้าง

ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโลกในปี 2024

สำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2024 ผู้ตอบแบบสำรวจจำเป็นต้องเลือก 5 อันดับ ที่พวกเขาคิดว่าน่าจะก่อให้เกิดปัญหาทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งความเสี่ยงที่ถูกเลือกว่าเสี่ยงสูงสุดในปี 2024 ก็คือ สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme weather) 

เนื่องจากปี 2023 มีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาในซีกโลกเหนือ บวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลกระทบยาวมาถึงปีนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจจึงมองว่าอาจก่อนให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้วขึ้นได้ เช่น คลื่นความร้อนที่รุนแรง ฝนขาด ไฟป่า และน้ำท่วม โดยผลการสำรวจทั้งหมด มีดังนี้

  1. สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme weather )
  2. ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนจาก AI (AI-generated misinformation and disinformation)
  3. การแบ่งขั้วทางสังคมหรือการเมือง (Societal and/or political polarization)
  4. วิกฤตค่าครองชีพ (Cost-of-living crisis)
  5. การโจมตีทางไซเบอร์ (Cyberattacks) 

ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโลกในปี 2026

จากการให้ผู้ตอบแบบสำรวจประเมินความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุด 5 อันดับแรก ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 ปี หรือภายในปี 2026 พบว่า มีความเสี่ยงเอนเอียงไปทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุด ได้แก่

  1. ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูล หรือ Misinformation and disinformation 
  2. สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว หรือ Extreme weather
  3. การแบ่งขั้วทางสังคม หรือ Societal polarization
  4. ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber insecurity
  5. ความขัดกันทางอาวุธระหว่างรัฐ หรือ Interstate armed conflict

ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโลกในปี 2034

ด้านความเสี่ยงในปี 2034 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า ชี้ชัดว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มองปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมติดอันดับความเสี่ยงมากถึง 4 อันดับจาก 5 อันดับแรก ซึ่งเป็น*ผลการสำรวจที่ใกล้เคียงกับปี 2023 มาก ได้แก่

  1. เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว หรือ Extreme weather events
  2. การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลก หรือ Critical change to Earth systems
  3. สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศล่มสลาย หรือ Biodiversity loss and ecosystem collapse
  4. ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ หรือ Natural resource shortages
  5. ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูล หรือ Misinformation and disinformation

5 อันดับภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

รายงานจาก World Economic Forum's 2023 Executive Opinion Survey (EOS) ซึ่งเป็นแบบสำรวจที่ความคิดเห็นของผู้บริหาร จัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายน - สิงหาคม 2023 ในหัวข้อ “ความเสี่ยง 5 ประการที่คุณคิดว่าจะเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อประเทศของคุณในอีกสองปีข้างหน้า” 

ผู้บริหารในไทยลงความเห็นว่าภัยคุกคาม 5 ประการนี้ สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยได้มากที่สุด ดังนี้

อันดับที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic downturn)

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว และมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตช้าลง ธุรกิจมีโอกาสกู้ยืมน้อยลง ธนาคารปล่อยเงินกู้ยากขึ้น หากเศรษฐกิจไม่เติบโตหรือหดตัวเป็นเวลานานมาก (เกิน 3 ปี) ก็จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติคือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Economic Depression)

อันดับที่ 2 ปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ ดิน (Pollution)

ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษ โดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงในไทย ถึงขั้นที่ภาครัฐต้องประกาศให้คนอยู่บ้าน Work From Home และหยุดเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดม PM2.5 ในเมืองต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

อันดับที่ 3 การขาดแคลนแรงงาน (Labour shortage)

การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง เมื่อแรงงานไม่เพียงพอ ธุรกิจอาจต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ทัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง 

อันดับที่ 4 หนี้ครัวเรือน (Household debt)

ไตรมาสแรกของปี 2024 หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ซึ่งอาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

อันดับที่ 5 ความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่งและรายได้ (Inequality)

รายงานกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) เผยว่า ในปี 2019 ประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อัตราความไม่เท่าเทียมกันของรายได้อยู่ที่ 43.3% ซึ่งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงสุด สาเหตุหลักมาจากมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างเมืองกับชนบท ไทยจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาทักษะแรงงาน การศึกษา เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

อ้างอิง: The Global Risks Report 2024

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีด้านโครงการระดับโลกของ MIT Sloan เผยเหตุผลที่สถาบันเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้ไทยเป็นฮับอาเซียน ในการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา การแก้ปั...

Responsive image

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่...