รู้จัก TreeCard บัตรเดบิตรักษ์โลก แบ่งกำไร 80% สมทบทุนปลูกต้นไม้ทั่วโลก | Techsauce

รู้จัก TreeCard บัตรเดบิตรักษ์โลก แบ่งกำไร 80% สมทบทุนปลูกต้นไม้ทั่วโลก

ปัจจุบันการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคน โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ออกบัตรหลายเจ้าเริ่มพิจารณาถึงผลกระทบจากกิจกรรมทางการเงินและการบริโภคในอัตราที่สูงขึ้นของผู้คน “TreeCard” ร่วมกับบริษัท Ecosia หนึ่งในผู้ออก “บัตรเครดิตรักษ์โลก” ที่ต้องการขับเคลื่อนวงการ FinTech กับแนวคิดที่ว่าสถาบันการเงินช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

รู้จัก TreeCard บัตรเดบิตรักษ์โลก แบ่งกำไร 80% สมทบทุนปลูกต้นไม้ทั่วโลกภากจาก : https://www.treecard.org/#Everyday-spend-plants-trees 

TreeCard คืออะไร 

TreeCard คือ บริการบัตรเดบิต Mastercard เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้วัสดุ ไม้ เป็นวัสดุทดแทนในการผลิตบัตรเพื่อลดการใช้งานพลาสติก ก่อตั้งขึ้นโดย Jamie Cox นักธุรกิจชาวอังกฤษ ในปี 2020 โดยตัวบัตร TreeCard ทำมาจากต้นเชอร์รี่จากแหล่งปลูกที่ได้รับการรับรอง โดยต้นเชอร์รี่หนึ่งต้นสามารถผลิตบัตรเดบิตได้มากกว่า 300,000 ใบ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากพลาสติก ต่างจากบัตรทั่วไปที่ใช้ฟิล์มพลาสติกหลาย ๆ ชั้นมาประกบกัน (Laminated Plastics) และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงพลาสติกด้านในตัวบัตรก็ทำมาจากขวดรีไซเคิลด้วย

รู้จัก TreeCard บัตรเดบิตรักษ์โลก แบ่งกำไร 80% สมทบทุนปลูกต้นไม้ทั่วโลก

ทุกการชำระเงินด้วย TreeCard  (ทุกการใช้จ่าย 48 ปอนด์) บริษัทนำเงินในส่วนของกำไร 80% จากบริษัทที่เรียกเก็บจากร้านค้าไปปลูกต้นไม้ เรียกได้ว่าทุกการรูดชำระเงินยังได้สมทบทุนปลูกป่าอีกด้วย

TreeCard ให้คำมั่นกับผู้ใช้งานว่าบริษัทจะไม่ลงทุนในกิจกรรมทางการเงินที่จะก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าหรือในเชื้อเพลิงฟอสซิลเด็ดขาด สร้างความเชื่อมั่นกับผู้ใช้ว่าทุกการใช้จ่ายนั้นจะนำไปช่วยโลกอย่างครบวงจร 

ปัจจุบัน TreeCard ระดับ Beta เปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ครอบคลุมตัวบัตรและแอพลิเคชัน รองรับ Apple Pay, Google Pay และ Samsumg Pay ด้วย และสามารถใช้งานเป็น Virtual Debit Card ได้ ที่สำคัญ คือ ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน รวมถึงค่า Loading fee และค่าธรรมเนียมสกุลเงินต่างประเทศ 

โดยค่าธรรมเนียมเดียวที่เรียกเก็บคือค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรในกรณีที่บัตรของสูญหาย เสียหาย หรือถูกแฮ็ก โดยล่าสุดมีจำนวนลูกค้าที่ต่อคิวใช้งานมากกว่า 250,000 ราย และมีแผนจะขยายฐานผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยปักหมุดยุโรปเป็นภูมิภาคถัดไป

เป็นพันธมิตรกับ Ecosia ร่วมปลูกต้นไม้ทั่วโลก 

การร่วมมือกับพันธมิตรรายสำคัญอย่าง Ecosia ยังช่วยสนับสนุนภารกิจของ TreeCard ให้แกร่งมากยิ่งขึ้น เดิมที Ecosia นั้นจะนำรายได้จาก Advertisement ไปปลูกต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา Ecosia ได้ปลูกต้นไม้มากกว่า 150 ล้านต้นทั่วโลก และยังร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรปลูกต้นไม้ในท้องถิ่นเพื่อสานต่อเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

ภาพจาก :  https://www.treecard.org/#Everyday-spend-plants-trees 

โดยในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2021 Ecosia ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 9,000 ต้น และยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสนับสนุนชาวสวนยางที่สนใจเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นระบบวนเกษตรแบบยั่งยืน แทนการปลูกยางที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีเกษตรในปริมาณสูงมากกว่า ตามมาด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาแรงงาน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ตามที่กล่าวไปว่า TreeCard ยังผลักดันแนวคิดที่ว่าสถาบันการเงินช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้นั้น แล้วธนาคารมีส่วนอะไรกับการปล่อยมลพิษ ?

สถาบันการเงินช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ 

การบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของเราไม่ว่าจะเป็น การกินอาหาร การคมนาคมขนส่ง หรือแม้แต่การเปิดไฟ เปิดแอร์ ล้วนสร้างมลพิษทั้งสิ้น และตัวแปรที่จะทำให้เราเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ก็คือเงิน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นการผลิตน้ำมัน โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม ซึ่งก็ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมหาศาลที่ออกมาจากระบบของธนาคาร หรือธนาคารปล่อยกู้ให้ ดังนั้นสถาบันการเงินเองก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบกับปัญหาสภาพอากาศที่เกิดขึ้น

จากสถิติในปีที่ผ่านมา ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 60 แห่งอัดฉีดเงินมากถึง 742,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการจัดหาเงินทุนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดย JPMorgan Chase เป็นธนาคารที่อัดฉีดเงินเข้าไปมากที่สุด 

นอกจากนั้น JPMorgan Chase, Wells Fargo, Mizuho, MUFG และธนาคารในแคนาดาอีก 5 แห่งได้เพิ่มการจัดหาเงินทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2020 ถึง 2021 อีกทางหนึ่ง ธนาคารในจีน ได้แก่ China Merchants Bank และ Ping An Group เป็นผู้นำในการสนับสนุนเงินทุนแก่อุตสาหกรรมถ่านหิน ในปีที่ผ่านมา

แม้ปัจจุบันธนาคารทั่วโลกจะให้คำมั่นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ แต่จากสถิติอาจจะบอกได้ว่าพวกเขาไม่ได้ทำมากเท่าที่ควร เพราะยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลักในอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ นี่ยังไม่นับรวมกับอุตสาหกรรมขนาดย่อมทั่วไป หรือการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่ธนาคารล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินธนาคารจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

“เราไม่สามารถอยู่ในโลกที่เงินบำนาญของพวกเรา ธนาคารของเรา ลงทุนอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมที่ทำลายโลก…การเงินเป็นแกนหลักโดยตรงในการควบคุมเศรษฐกิจและการใช้จ่าย หากเราสามารถท้าทายอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง เราจะเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง และTreeCard นับเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค” Jamie Cox กล่าว

หาก TreeCard มีลูกค้าเยอะเท่าธนาคารใหญ่ ๆ ทั่วโลก เราก็จะสามารถช่วยลดปัญหาสภาพอากาศได้มากขึ้น เช่น หากมีลูกค้าเยอะเท่า JPMorgan Chase จะสามารถปลูกต้นไม้ได้ 4,300 ล้านต้นต่อปี หรือหากผู้ใช้งานเท่า Well Fargo พวกเขาจะปลูกต้นไม้ได้ถึง 2,400 ล้านต้นต่อปี TreeCard นับเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

คงเป็นเรื่องยากหากเราจะไม่กินเนื้อสัตว์ เดินไปทำงาน หรือปิดแอร์นอน เราคงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเราได้แบบเบ็ดเสร็จเพื่อช่วยโลก แต่สำหรับการใช้ TreeCard ก็เหมือนการใช้บัตรเดบิตทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจที่จะใช้งานมากขึ้น ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอะไร ไม่ต้องลำบาก และเปลี่ยนความรับผิดชอบไปที่ธุรกิจและผู้ผลิตแทน

ธุรกิจและนักลงทุนกำลังเข้าหาเทรนด์สิ่งแวดล้อม

ในสัมภาษณ์ของ Jamie Cox และ CNBC เขาพูดถึงผู้คนมากมายที่เปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาไปตามสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Cox มองว่า TreeCard เป็นซุปเปอร์แอปฯ ที่เน้นเรื่องสภาพอากาศ ที่นอกจากติดตามธุรกรรมการใช้จ่ายของเราแล้ว ยังมีข้อมูลให้ผู้ใช้เห็นภาพว่าการใช้จ่ายของพวกเขาสามารถปลูกต้นไม้ได้กี่ต้น และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกได้มากแค่ไหน

ล่าสุด TreeCard ระดมทุนได้ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี Valar Ventures ของ Peter Thiel เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด นอกจากนั้นยังมี EQT, Seedcamp และ World Fund ร่วมลงทุนด้วย ซึ่งดีลที่เกิดขึ้นนั้นย้ำถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นจาก VC Investor ทั้งหลาย ในบริษัทหรือธุรกิจที่จัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากข้อมูลของ Tech Nation เครือข่ายสตาร์ทอัพในสหราชอาณาจักร รายงานว่า เม็ดเงินที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับสภาพอากาศทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 111,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 โดยรวมแล้วการลงทุนใน Climate Tech คิดเป็น 15.3% ของการลงทุนทั้งหมดใน Tech Startup และ Scaleups ในปี 2021 และประเทศที่มีธุรกิจ Startup และ Scale Up ที่ทำเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา 14,300 ราย รองลงมาคือสหราชอาณาจักร 5,200 ราย

ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและเทรนด์ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รู้จัก TreeCard บัตรเดบิตรักษ์โลก แบ่งกำไร 80% สมทบทุนปลูกต้นไม้ทั่วโลก



อ้างอิง : treecard , good-with-money 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อาเซียนรับกรรม ในบทบาท ‘ถังขยะโลก’ สังเวยชีวิตคนสิ่งแวดล้อม ด้วยการค้าขยะผิดกฎหมาย

ประเทศอาเซียนรับกรรม กลายเป็นถังขยะโลก จากการ ‘ค้าขยะ’ ผิดกฎหมายที่มาจากยุโรป สะท้อนกฎหมายอ่อนแอ ไร้ระบบจัดการขยะแบบยั่งยืน...

Responsive image

ภาคธุรกิจเปิดเกมรุกสู่ Net Zero Transition มุ่งสร้างมูลค่าและ ROI ระยะยาว

รวมสาระสำคัญเพื่อการทำ 'Net Zero Transition' จาก Speakers ในงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition ซึ่งจัดขึ้นที่ SCBX NEXT TECH...

Responsive image

ปัญหาสภาพอากาศภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง AI จะช่วยโลกได้อย่างไร?

ผลกระทบมากกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราผลิตและใช้พลังงานและ AI มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปล...