David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน | Techsauce

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เมื่อ สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจระดับโลกภายใต้ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เข้ามาเปิดสำนักงานนอกสหรัฐอเมริกาเป็นแห่งที่สองในประเทศไทย (แห่งแรกอยู่ที่ชิลี) โดยเลือกปักหมุดทำ สำนักงานเอ็มไอที สโลน ประจำภูมิภาคอาเซียน (MSAO) ที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างอิมแพ็กหลากหลายด้านให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะให้บริการได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า 

คุยกับ David Capodilupo จาก MIT Sloan School of Management 

MIT SloanDavid Capodilupo, Assistant Dean, MIT Sloan School of Management
หลังจากคณะผู้บริหาร MIT Sloan กล่าวเปิดงาน เทคซอสได้พูดคุยกับ เดวิด คาโพดิลูโป (David Capodilupo) ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานนานาชาติในไทย เพื่อเป็นฮับของอาเซียนในหลากหลายประเด็น ดังนี้

เหตุผลสำคัญที่จัดตั้งสำนักงานต่างประเทศแห่งที่สอง ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

  1. ไทยสามารถเป็นฮับของ ASEAN Gateway ได้
  2. มีคนไทยเป็นศิษย์เก่าของ MIT Sloan จำนวนมาก และเป็นเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น
  3. MIT Sloan ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน (Donor) จากศิษย์เก่าชาวไทยเรื่อยมา เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น

"เรามีศิษย์เก่า (Alumni) ในไทยและในภูมิภาคนี้จำนวนมาก มีคอนเน็กชันในภูมิภาคนี้เยอะ และเราก็อยากเริ่มต้นตั้งสำนักงานที่กรุงเทพฯ ก่อน เพราะมีผู้ใจบุญ (Donor) จำนวนมากให้การสนับสนุน แต่อันที่จริง เราตั้งใจให้เป็น Hub เป็น Center ไม่ใช่แค่สำนักงาน และไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ อาจตั้งสำนักงานลูกในประเทศอื่นๆ ของอาเซียนต่อไป" เดวิดอธิบาย

รวมสิ่งที่จะเข้ามาทำ หลังตั้งสำนักงาน MIT Sloan ประจำภูมิภาคอาเซียน (MSAO) 

  • เข้ามาศึกษา วางแผน และจัดลำดับความสำคัญ ว่าจะทำวิจัยและพัฒนาด้านใดก่อน 
  • เข้ามาเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ (Action Learning) เพื่อประโยชน์ของนักศึกษา MIT ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้มีความต้องการในอนาคต
  • เข้ามาจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้ผู้คนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดประชุม การวางแผนทำโครงการต่างๆ การจัดงานสัมมนา
  • เข้ามาทำงานร่วมกับศิษย์เก่า ไม่ว่าศิษย์เก่าในไทยและต่างชาติ เพื่อทำให้งานด้านการศึกษาและพัฒนาสิ่งต่างๆ ของ MIT บรรลุเป้าหมายเร็วยิ่งขึ้น
  • เข้ามาเสริมแกร่งภาคธุรกิจ โดยช่วยให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียนนำไอเดียมาพัฒนาเป็นสินค้าหรือนวัตกรรมได้จริง ตลอดจนช่วยแนะนำด้านการหาตลาดและขยายตลาด
  • เข้ามาร่วมหาแนวทางพัฒนาเมืองให้เป็น 'เมืองยั่งยืน' ที่ผู้คนมีสุขภาพดี มีอายุยืนยาวขึ้น และช่วยให้ประชากรสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เดวิด อดีตคนทำงานในภาคการเงินที่ได้รับการทาบทามให้เข้ามาทำงานในภาคการศึกษา ณ MIT Sloan เล่าว่า "ก่อนมาตั้งสำนักงานในไทย MIT Sloan เข้ามาศึกษาประเด็นปัญหาในภูมิภาคอาเซียน ทั้งปัญหาที่โดดเด่นในแต่ละประเทศ ปัญหาและความท้าทายที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีร่วมกัน และเพื่อให้คณาจารย์กับนักศึกษาได้ลงพื้นที่จริง เราต้องจับมือกับทุกภาคส่วน ร่วมมือกันเป็นองคาพยพเพื่อปรับปรุงโลกให้ดีขึ้นและน่าอยู่ยิ่งขึ้น" 

MIT Sloan

องค์กร/หน่วยงานที่ MIT Sloan ต้องการสร้างความร่วมมือ ทำงาน และแก้ปัญหาร่วมกัน

  • ภาครัฐ
  • องค์กรไม่แสวงผลกำไร
  • สถาบันการศึกษา
  • นักวิชาการ
  • นักการศึกษา
  • ที่ปรึกษา
  • นักลงทุน
  • องค์กร (Corporate)
  • ผู้ประกอบการ

3 เรื่องหลักที่ MIT Sloan จะทำก่อน เพื่อสร้างอิมแพ็กต่อสังคม

  • 1. ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรน้ำ (Climate Change & Water Resource)
  • 2. พลังงาน (Energy)
  • 3. การดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล (Healthcare) 


"MIT Sloan เข้าไปสำรวจเรื่อง Climate Change และทรัพยากรน้ำในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย รวมถึงการจัดสรรน้ำเพื่อการชลประทาน การป้องกัน - การจัดการปัญหาอุทกภัย และสำหรับภูมิภาคอาเซียน การเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เราจะทำเรื่อง Climate Change และทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องแรก เพื่อหาแนวทางสร้าง Best Practices ให้อาเซียน และใช้เป็น Role Model ด้านการแก้ปัญหาในภูมิภาคอื่นต่อไป" เดวิดกล่าว

หมายความว่า MIT Sloan ให้ไทยเป็นเกตเวย์ของอาเซียน สู่การสร้าง Role Model ในการแก้ปัญหาทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภูมิภาคอื่นได้ต่อไป ทั้งยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า มี 'โครงการน้ำ' ที่ MIT Sloan จับมือกับภาคเอกชนแล้ว และจะเริ่มทำโครงการเร็วๆ นี้ โดยมี จอห์น อี เฟร์นันเดซ (John E. Fernandez) ศาสตราจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม และผู้อำนวยการกลุ่มเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism) เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ

นอกเหนือจากนี้ เดวิดกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เพราะกำลังส่งผลกระทบต่อสังคมโลกเช่นกัน นั่นคือ  'AI & Data Analytics' 

ตัวอย่างการผนึกกำลังระหว่าง MIT Sloan x ASEAN Region 

Kathryn Hawkes, Senior Associate Dean, External Engagement, MIT Sloan เปิดเผยว่า ในอาเซียนมีศิษย์เก่า MIT Sloan มากกว่า 1,900 คน การเข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ก็เชื่อว่า จะช่วยดึงดูดศิษย์เก่าให้เข้ามาในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดหรือสร้างประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคนี้ได้อีกมาก

เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตได้อย่างเต็มที่การพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหารจัดการและการเปิดรับแนวทางของธุรกิจระดับโลก จึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ MIT Sloan ซึ่งเป็นสถาบันที่มีองค์ความรู้ด้านธุรกิจในระดับโลกและพร้อมจะเป็นพันธมิตรอันแข็งแกร่งของภูมิภาคอาเซียน จึงเข้ามาผสานเครือข่ายศิษย์เก่าและพันธมิตรที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น สู่แนวทางความร่วมมือและร่วมผลักดันอนาคตของภูมิภาคอาเซียน โดยมีตัวอย่างดังนี้

การผนึกกำลังสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ความร่วมมือระหว่าง MIT Sloan กับผู้บริหารและองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนนั้นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund) ทั้งในรูปแบบการสมทบทุนและ/หรือเงินสนับสนุน จึงกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคอาเซียน ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางวิชาการและการวิจัยในภูมิภาค มากไปกว่านั้น การจัดกิจกรรมในอนาคตก็จะช่วยเพิ่มบทบาทของ MIT ในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดและข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการผนึกกำลังของสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลกเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้ภูมิภาคอาเซียนได้

การจัดทำโครงการ MIT Sloan Action Learning

MIT Sloan ยังคงขยายความร่วมมือไปทั่วภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ MIT Sloan Action Learning ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ โดยโครงการเหล่านี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาของ MIT Sloan นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลางในภูมิภาค ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเศรษฐกิจอาเซียน และยังช่วยให้เหล่าพันธมิตรได้เข้าใจทฤษฎีการจัดการ แนวทาง และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนของ MIT Sloan 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2545 โครงการ MIT Sloan Action Learning ได้ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อมากกว่า 600 โครงการ ครอบคลุม 5 ระดับหลักสูตรการศึกษา และได้ร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในประเทศกัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยตัวอย่างหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือก็เช่น

หลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Lab)

หลักสูตร ASEAN Lab ถือเป็นหลักสูตรแรกของ MIT Sloan ที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองและการตลาดเชิงพลวัตในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง นักศึกษายังจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรภายในประเทศในการรับมือกับความท้าทายด้านการบริหาร ทั้งนี้หลักสูตรนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง MIT และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้

หลักสูตร Thailand Summer Lab

หลักสูตร Thailand Summer Lab เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศิษย์เก่า เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษา MIT Sloan ได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนโครงการในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจผู้ประกอบการ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยหลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักศึกษาจากหลากหลายหลักสูตรปริญญาของ MIT Sloan และนักศึกษาระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนโครงการรายงานว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างดีเยี่ยม เห็นได้จากการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการมอบข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและแสดงขอบเขตที่ชัดเจนของการดำเนินงานในโครงการ 

การจัดสัมมนา

ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบัน MIT Sloan เคยร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อจัดการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ ‘Building Resilient Cities for the Future’ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญคณาจารย์จาก MIT และผู้นำในประเทศ มาร่วมกันนำเสนอแนวทางเชิงกลยุทธ์ การแสวงหาพันธมิตรร่วม และการเตรียมความพร้อมให้กับผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผ่านการปรับปรุงศูนย์กลางเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองใหม่ทั่วภูมิภาคอาเซียน 

งานวิจัยของสถาบัน

คณาจารย์จาก MIT Sloan กำลังดำเนินการจัดทำงานวิจัยอันล้ำสมัยในภูมิภาคอาเซียน โดยงานวิจัยของ จอห์น อี. เฟร์นันเดซ (John E. Fernandez) ศาสตราจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม และผู้อำนวยการกลุ่มเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism) และ มิโฮ เมซเซอเรียว (Miho Mazereeuw) รองศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม และผังเมืองและผู้ก่อตั้งโครงการ Urban Risk Lab ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประชุม 'Building Resilient Cities for the Future'

โครงการ Building Resilient Cities for Future to Thailand ของรองศาสตราจารย์มิโฮ เมซเซอเรียว มุ่งเน้นด้านการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายที่สุดของการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน ผ่านการค้นหานวัตกรรมในด้านเทคโนโลยี เทคนิค วัสดุ กระบวนการ และระบบต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ยังได้พัฒนาระบบให้สามารถติดตามความพร้อมของวัคซีนได้อีกด้วย 

ขณะเดียวกัน โครงการ The Urban Metabolism of Bangkok, the EEC and Korat ของศาสตราจารย์จอห์น อี. เฟร์นันเดซ ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างเครื่องมือวิเคราะห์และกระตุ้นความสนใจให้เกิดการขับเคลื่อนในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตเมืองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ โครงการวิจัยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund) โดยหากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม จะยิ่งช่วยเปิดโอกาสให้คณาจารย์จาก MIT Sloan สามารถขยายหัวข้องานวิจัยไปยังประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น

สถาบัน Asia School of Business 

สถาบัน Asia School of Business (ASB) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อตั้งขึ้นด้วยการสนับสนุนจากธนาคารกลางมาเลเซียและ MIT Sloan โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับโลกที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญและมุมมองเฉพาะของภูมิภาคให้เข้ากับเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยนักศึกษารุ่นแรกของสถาบัน ASB ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 

ความร่วมมือระหว่างสถาบัน ASB และ MIT Sloan เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตั้ง ASB โดยคณาจารย์อาวุโสจาก MIT Sloan จะร่วมทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สถาบัน ASB ทั้งในด้านคณาจารย์และหลักสูตร รวมถึงร่วมมือกับสถาบัน ASB ในการวิจัยที่เน้นหัวข้อสำคัญในภูมิภาค โดยทั้งคณาจารย์จากสถาบัน ASB และ MIT Sloan จะมีโอกาสได้ร่วมงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่...