3 ปัจจัยที่ทำให้ ‘สวีเดน’ กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ Startup ระดับโลก | Techsauce

3 ปัจจัยที่ทำให้ ‘สวีเดน’ กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ Startup ระดับโลก

ทำไมสวีเดนจึงประสบความสำเร็จอย่างมากในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดิจิทัลสร้างและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ดี? ..แต่ไม่ใช่แค่ดีเฉย ๆ ดีจนติดระดับ Top ของโลก โดยข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุ 3 ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้สวีเดนกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ Startup ระดับโลก Photo : Unif, Pixabay

รู้หรือไม่ว่าสตาร์ทอัพอย่าง Spotify, Minecraft และ Candy Crush Saga กำเนิดมาจากประเทศใด?

คำตอบก็คือ ประเทศ ‘สวีเดน’ นั่นเอง

นอกจากนี้ Skype ก็มี Co-Founder มาจากประเทศสวีเดน และ SoundCloud ก็เริ่มก่อตั้งในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก่อนที่ย้ายบริษัทมาอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันในเวลาต่อมา

หากจะบอกว่าสวีเดนเป็นเหมือนบ้านของเหล่าบริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของทวีปยุโรป ก็ไม่ผิดนัก เพราะมีความเป็นรองจาก Silicon Valley เท่านั้น และมี Unicorn ที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำไมสวีเดนจึงประสบความสำเร็จอย่างมากในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดิจิทัลสร้างและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้? คงเป็นเพราะ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้จากบทความนี้ครับ

การเก็บภาษีที่สูง แต่ที่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาก็สูงเช่นกัน

Photo : PYMNTS.com

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าประเทศที่มีรัฐบาลขนาดใหญ่และมีการเสียภาษีเป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดผู้ประกอบการน้อยลง แต่สวีเดนไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะธุรกิจด้านเทคโนโลยีในสวีเดนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและสังคม ซึ่งสามารถใช้บริการได้อย่างเต็มที่

โครงสร้างพื้นฐานอย่างอินเทอร์เน็ต ก็ถือว่าดีมาก เห็นได้จากความเร็วอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์และเกาหลีใต้อีกด้วย

ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ Fiber optic ความเร็วสูงถึง 100 เมกะบิตต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่ของสวีเดนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว และรัฐบาลสวีเดนเตรียมวางแผนขยายพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่สวีเดน 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 การวางแผนดังกล่าวทำให้ได้รับการตอบรับเป็นจากประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งทุกวันนี้ ประชากรมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ในสวีเดนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 84 เปอร์เซ็นต์

Sebastian Siemiatkowski CEO ของ Klarna สตาร์ทอัพด้าน E-Commerce ที่มีมูลค่าบริษัทสูงสุดในยุโรป เริ่มเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ / Photo : affarsvarlden.se

ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สวีเดนมีนโยบายสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ในยุค 1990 รัฐบาลสวีเดนมีนโยบายอุดหนุนให้ทุกบ้านซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC อีกด้วย

โดย Sebastian Siemiatkowski CEO และ ผู้ก่อตั้งของ Klarna สตาร์ทอัพด้าน E-Commerce มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงกับให้เครดิตนโยบายดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นนโยบายที่มีวิสัยทัศน์มาก ทำให้เขาสามารถเขียนโปรแกรมได้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

ทั้งหมดที่เล่ามา ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ประเทศสวีเดนติด Top 5 ของรายงานที่ชื่อว่า “The Global Competitiveness Report 2017” โดยในรายงานระบุว่าสวีเดนเป็นประเทศทีมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อเศรษฐกิจในระดับจุลภาคเป็นอย่างดี

โดยนโยบายด้านสุขภาพที่ให้แก่ประชาชนแบบฟรี ๆ และให้เรียนถึงระดับสูง ๆ ได้นั้น มาจากภาษีของประชาชนที่จ่ายให้แก่ภาครัฐ โดยให้สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ปัจจัยทางด้านภาษีที่ The Global Competitiveness Report 2017 ระบุว่าเป็นกำแพงสำหรับการทำธุรกิจในสวีเดน แต่รัฐมนตรีกระทรวงผู้ประกอบการและนวัตกรรมอย่าง Mikael Damberg ระบุว่านโยบายการจัดวางระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีอิสระที่จะทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้น

ระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) หมายถึง ระบบที่คอยรองรับประชาชนที่ตกจากตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมทั้ง 3 ชั้นนั้นเพื่อเป็นตาข่ายขั้นสุดท้ายที่คอยรองรับประชาชนที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจะมี 3 ชั้นด้วยกัน ได้แก่ ระบบประกันสังคม (Social Security System), ระบบการออมแบบผูกพันโดยบังคับ (Compulsory Contractual/Saving) และ ระบบการออมแบบผูกพันโดยสมัครใจ (Voluntary Contractual Saving)

โดยเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่เยอรมันมีให้แก่ประชาชน ที่บางประเทศไม่มี ก็อย่างเช่น การให้สิทธิ์แก่บิดาเพื่อลาไปดูแลบุตร (Paternity Leave) ซึ่งปกติจะมีแต่การให้สิทธิ์แก่มารดาเพื่อลาไปคลอดบุตร (Maternity Leave) ซึ่งเป็นสิทธิที่เปิดกว้างทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และสร้างความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ประชาชนมากขึ้น

การผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ

Photo : Melker Dahlstrand, Sveriges riksdag

ความสำเร็จของสวีเดนในฐานะเป็น Hub ของ Tech Startup ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาพกว้างๆ ของเศรษฐกิจในประเทศสวีเดนที่เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่ยุค 1990 หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 1990-1994

หลายคนคงแปลกใจว่าสวีเดนมีวิกฤติทางการเงินด้วยหรือ? เพราะถือเป็นประเทศต้นแบบด้านรัฐสวัสดิการและมีธรรมาภิบาลดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของสวีเดนเลยก็ว่าได้

แต่จุดเด่นดังกล่าวเอง ส่งผลให้สวีเดนกลายสภาพมาเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะที่สูงมานานหลายสิบปี

จนเมื่อประมาณปลายปี ค.ศ.1980 สวีเดนได้เริ่มคลายความเข้มงวดที่มีต่อสถาบันทางการเงินหลังจากคงอยู่มานานถึง 50 ปี ผลก็คือสถาบันทางการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างคะนองมือเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้

สินทรัพย์ต่าง ๆ ในช่วงนั้นราคาทะยานขึ้นสูงอย่างประวัติการณ์ ขยายตัวในลักษณะของฟองสบู่ พอฟองสบู่ขยายตัวใหญ่ขึ้นมาก ๆ เข้า

ในที่สุดฟองสบู่มันก็แตกในที่สุด

สินทรัพย์ต่าง ๆ ลดมูลค่าลงกลับกลายเป็นของด้อยค่าไปในทันที  เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้ผลนักธุรกิจและประชาชนก็ต่างไม่มีเงินใช้หนี้ที่กู้มา

ธนาคารก็เริ่มล้มลงเป็นแถบ ๆ และลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน

ในที่สุดจึงเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายบริหารให้อิสระกับภาคธุรกิจมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุมมักจะทำให้การจัดการมวลรวมของระบบธุรกิจขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นภายหลังการเกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจ ภาครัฐก็เข้ามาจัดการระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ผูกขาดเกินไปหรือปล่อยจนเกินไป

โดยเริ่มเปลี่ยนจากบริการของภาครัฐที่ให้อยู่เจ้าเดียว มาเป็นเปิดตลาดให้เอกชนเข้าร่วมให้บริการและเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันของภาคเอกชนด้วยกัน

บริการสาธารณะที่เคยถูกผูกขาด ก็ถูกยกเลิกการควบคุมจากภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่, ไฟฟ้า, โทรศัพท์, รถไฟ และบริการการบินภายในประเทศ แม้แต่บริการสาธารณะอื่น ๆ อย่าง บ้านพักคนชรา, โรงเรียนระดับประถม, โรงเรียนระดับมัธยม และ โรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ก็ถูกเปลี่ยให้บริษัทเอกชนเข้ามาจัดการและบริหารทั้งหมด

ทำให้ในปี 1993 สวีเดนออกกฎหมายที่ชื่อว่า Competition Act เพื่อป้องกันการควบรวมกิจการขนาดใหญ่และป้องกันการเกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง

อีกทั้งการเก็บภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคล (องค์กร ห้าง ร้าน ธุรกิจต่าง ๆ) ก็ลดลงจาก 52 เปอร์เซ็นต์ (ในปี 1990) ปัจจุบันเหลือเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้อยู่ 38.9 เปอร์เซ็นต์

นักวิชาการชาวสวีเดนได้ออกรายงานโดยระบุว่าสวีเดนมีผู้ประกอบการมากกว่าสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยรายงานระบุว่าธุรกิจในสวีเดนที่มีอายุบริษัทไม่เกิน 5 ปี คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ

ในขณะเดียวกันอัตราส่วนของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในสหรัฐอเมริกาก็ลดลงจากประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ เหลือไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว

นอกจากนี้รัฐบาลสวีเดนยังทางช่วยเหลือบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่กังวลว่าการเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินไปจะทำให้บริษัทตัวเองไม่สามารถดึงดูดในนักลงทุนในระดับโลกได้ ด้วยการลดภาษีสำหรับเหล่าบริษัท Startup (ที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 10 ปี มีพนักงานไม่เกิน 50 คน และมีรายได้-งบดุลไม่เกิน 80 ล้านโครนาสวีเดน) ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ มักจะใช้วิธีนี้เพื่อดึงดูดธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Startup ที่มีความสามารถแต่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะสู้กับบริษัทใหญ่ได้

ความเชื่อมั่นจากจุดย่อย ๆ กลายเป็นความเชื่อมั่นในภาพใหญ่

Photo : City Press

องค์ประกอบของความสำเร็จของ Startup ในสวีเดน อาจมาจากองค์ประกอบที่มีคุณภาพในสังคมสวีเดนอันหนึ่ง นั่นคือเรื่องของ “ความเชื่อมั่น” (Trust)

ผลการศึกษาจากหน่วยงานทีได้รับทุนสนับสนุนจาก EU ระบุว่า สวีเดนเป็นรองจากเดนมาร์กในเรื่องของ  “Intrapreneurship” (ความเป็นผู้ประกอบการภายใน)

Intrapreneurship (ความเป็นผู้ประกอบการภายใน) หมายถึง การร่วมมือและสร้างสรรค์ผลงานให้กับองค์กรโดยเริ่มมาจากตัวของพนักงานเองเลย

โดย Intrapreneurship จะประสบผลสำเร็จเมื่อเกิดความเชื่อมั่นในระดับสูงสุดตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับสังคม

ซึ่งพนักงานในองค์กรจะเริ่มมีความคิดริเริ่มหรือความคิดสร้างสรรค์เมื่อพวกเขาได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างหรือผู้นำองค์กร พร้อมกับมีอิสระจากบทบาทของตนเองมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พนักงานมีแนวโน้มทำงานร่วมกันได้มากขึ้นเมื่อพวกเขาไว้ใจเพื่อนร่วมงานของพวกเขา

ผลการศึกษาดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า บรรดานายจ้างหรือบรรดาผู้ประกอบการต่าง ๆ  จะมีความเชื่อมั่นต่อลูกน้องมากขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในระดับที่สูงอีกด้วย

เรียบเรียงข้อมูลจาก j21 Investmentory และ World Economic Forum

สรุป

“ความเชื่อมั่น” ที่เข้มแข็ง หยั่งรากลึกลงไปในวัฒนธรรมของสวีเดน คงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวสวีเดนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลตัวเอง รวมไปถึงการลงทุนให้กับเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่เข้มแข็ง ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยในระหว่างที่ทำงาน

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นในระดับสูงก็ยังเกิดมาจากการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ พร้อมกับการสร้างให้บริษัทใหญ่ไว้ใจต่อบริษัท Startup เล็ก ๆ  ที่มากพอต่อการทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...