5 บทเรียนธุรกิจจาก Alibaba ที่สตาร์ทอัปต้องรู้ | Techsauce

5 บทเรียนธุรกิจจาก Alibaba ที่สตาร์ทอัปต้องรู้

รูปภาพจาก qz.com

สำหรับชื่อของ Alibaba ในวันนี้ คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ หนทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เส้นทางความสำเร็จของ Alibaba คือที่สิ่งควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง มาดูกันว่า 5 บทเรียนจาก Alibaba มีอะไรบ้าง และสตาร์ทอัปจะนำไปใช้ได้อย่างไร

อย่ายอมจำนนกับความล้มเหลว

ทุกคนรู้ว่า Alibaba คือธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามภายใต้การควบคุมของ Jack Ma แต่น้อยคนที่จะรู้จักสตาร์ทอัปเล็กๆ อย่าง ChinaPages ที่ไม่ได้รับความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน มันถูกก่อตั้งโดย Jack Ma เช่นกัน แม้กระทั่งในวันนี้ ก็มีไม่กี่คนที่จำได้ว่า Alibaba เคยล้มเหลวมาแล้วกับการพยายามเป็น Search engine

ประเด็นก็คือ คนที่ยิ่งใหญ่ และแม้แต่องค์กรที่ยอดเยี่ยม อาจจะเคยล้มเหลวมาก่อน Jack Ma ประสบความสำเร็จในหลายๆ อย่าง และล้มเหลวในหลายๆ อย่าง แม้แต่ข้อสอบในมหาวิทยาลัย เขาก็สอบตกมาแล้วถึง 2 ครั้ง

ย้อนกลับมาที่เส้นทางสายสตาร์ทอัปของคุณ แน่นอนว่ามันคงจะเผชิญหน้ากับความเฟลกันบ้าง แต่ถ้าอยากจะวินในระยะยาว เราก็ต้องเชื่ออย่างที่ Jack Ma เชื่อ ความฝันมันจะต้องเป็นจริงได้

จงเตรียมพร้อม

ในปี 2000 Alibaba ไม่ต้องการเงิน เพราะเพิ่งจะได้รับเงินจากการระดมทุนมาแล้ว แต่ Jack Ma ก็ตัดสินใจรับเงินลงทุนอีกรอบจาก Softbank เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทของเขามีความมั่นคงมากพอ

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตเกิดฟองสบู่แตก สตาร์ทอัปหลายๆ รายต้องเลิกกิจการ ถ้า Jack Ma ไม่ได้ระดมเงินทุนในเวลาที่เขาไม่ได้ต้องการมัน ในวันนี้ก็อาจจะไม่มีธุรกิจที่ชื่อว่า Alibaba

ไม่ได้บอกว่าสตาร์ทอัปควรจะเดินหน้ารับเงินแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่ถ้าคุณอยากให้บริษัทอยู่ในภาวะปลอดภัย ก็ควรเตรียมการสำหรับอนาคต โดยอาจจะคาดทำนายว่าตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างไร และธุรกิจจะทำอะไรกับตลาดได้บ้าง เพราะทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงของบางอุตสาหกรรมอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาแค่ไม่กี่วันเท่านั้น

ทำจุดแข็งของคู่แข่งให้กลายเป็นจุดอ่อน

เมื่อ Alibaba และ Taobao ประกาศสงครามกับ eBay แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่หน้าใหม่อย่าง Alibaba จะเอาชนะได้ หากเทียบกันด้วยงบประมาณด้านการตลาด แต่ Alibaba ก็ลากเอา eBay มาสู้กันในสนามของถ้อยคำ ซึ่งมันทำให้ Alibaba แทบไม่ต้องเสียเงินในการโปรโมทตัวเอง เพราะทุกครั้งที่ eBay ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะเอาชนะ Alibaba ได้อย่างไร แบรนด์ Alibaba ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แน่นอนว่าวิธีนี้จะเวิร์คก็ต่อเมื่อคุณแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของคุณดีกว่าคู่แข่ง  เพราะการรับรู้ในแบรนด์ก็ไม่มีค่า ถ้าโปรดักต์ของคุณไม่มีความสามารถในการแข่งขันด้วยตัวมันเอง และสำหรับสถานการณ์ของ Alibaba ในตอนนั้น มันคือบริษัทเล็กๆ ที่มีโปรดักต์ที่ดี แต่ไม่มีใครรู้จัก ซึ่งมันก็คงเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว

ถ้าคุณทำให้คู่แข่งที่แข็งแกร่งที่สุดพูดถึงคุณได้ นั่นแปลว่าคุณกำลังได้พื้นที่ในการโฆษณาตัวเองแบบฟรีๆ ถึงแม้เขาจะพูดว่าจะเอาชนะคุณได้อย่างไรก็เถอะ

เน้นการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

Jack Ma ชอบพูดว่าทีมงานที่สร้าง Alibaba ไม่ใช่คนฉลาด มันอาจจะเป็นการพูดติดตลกครึ่งหนึ่ง แต่แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องจริง ตัวเขาเองเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่กลายมาเป็นซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยี ส่วนผู้ร่วมก่อตั้งหลายๆ คนก็มีพื้นเพคล้ายๆ กัน และในช่วงแรกของการก่อตั้ง Jack Ma ทำพลาดไปหนึ่งเรื่อง เมื่อเขาตัดสินใจจ้างทีมผู้จัดการ โดยพิจารณาจากเรซูเม่ที่ดูน่าสนใจ

ผู้จัดการพวกนี้ดูดีมากในกระดาษ แต่ทำงานร่วมกับทีมไม่ได้ และเมื่อพวกเขาถูกเลิกจ้าง Alibaba ก็กลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของทีมผู้ก่อตั้งอีกครั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาราบรื่นเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีเรซูเม่ไม่สมบูรณ์แบบ

เมื่อต้องจ้างคนมาทำงานในสตาร์ทอัป จงจำไว้ว่าความเข้ากันได้กับทีมและองค์กรควรจะมาเป็นอันดับต้นๆ แคนดิเดทที่มีประวัติสุดแสนจะเพอร์เฟคแต่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทีม อาจจะทำให้ทีมล่มจมไปด้วย

การจ้างคนเก่งๆ เป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทีมที่ดีย่อมมีค่ามากกว่าคนเก่งๆ เพียงคนเดียว และเมื่อมันเป็นเรื่องของธุรกิจ มันหมายถึงความอยู่รอด

แบ่งปันความมั่งคั่ง

Alibaba ก็เหมือนกับสตาร์ทอัปทุกราย มันเริ่มต้นแบบเล็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันก็พร้อมสำหรับการขาย IPO ในปี 2007 ว่ากันว่าในตอนนั้น Alibaba ต้องเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุพนักงานจำนวนมากไว้ได้ เพราะพวกเขาคือผู้ถือหุ้น

เป็นที่รู้กันดีว่า Jack Ma ใจกว้างเสมอเมื่อเป็นเรื่องหุ้นของบริษัท เพราะเขารู้ว่าในระยะยาวแล้วมันจะมีประโยชน์มาก เมื่อพนักงานเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร เขาจะทำงานหนักอย่างเต็มใจ และเมื่อทุกคนได้รับแรงกระตุ้นให้ทำงานหนัก องค์กรก็จะประสบความสำเร็จ ทุกคนก็จะร่ำรวยไปตามๆ กัน ดังนั้น การแบ่งหุ้นให้กับพนักงานจึงไม่ได้ทำให้ Jack Ma จนลง ตรงกันข้าม เขากลับรวยขึ้นด้วยซ้ำ

ต้องยอมรับว่าพนักงานที่ทำงานให้กับสตาร์ทอัปอาจจะมีชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันยาวนานกว่าปกติ และได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แต่การให้พวกเขาได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท จะทำให้พวกเขาอยู่กับคุณได้นานขึ้น และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนเดินหน้าไปหาความสำเร็จ แม้ในช่วงเวลาที่ธุรกิจจะต้องประหยัดทุกบาททุกสตางค์ก็ตาม

ที่มา : Tech in Asia

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส่องกฎหมายและนโยบายที่ดึง Silicon Valley มาลงทุนในอินโดนีเซีย

บทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะลึกกับ 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อินโดนีเซียได้รับความสนใจจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในช่วงเวลานี้...

Responsive image

Fortune จัดอันดับ 100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย ไทยติดอันดับ 14 คน มากสุดเป็นอันดับ 2!

นิตยสารฟอร์จูน (Fortune) ได้ประกาศรายชื่อ "100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย" ประจำปี 2024 การจัดอันดับนี้มุ่งเน้นยกย่อง "สตรีผู้สร้างนิยามใหม่แห่งความเป็นผู้นำ" ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวั...

Responsive image

ปฏิวัติการบริหารธุรกิจด้วย SAP on Cloud: ง่ายกว่า คุ้มค่ากว่า ปลอดภัยกว่า

แนะการใช้ SAP on Cloud อย่างชาญฉลาด โดย True IDC พาไปรู้จัก 'Huawei Cloud' ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่มี Data Center 3 โซนในไทย ที่พร้อมรองรับการทำงานของ SAP เป็นอย่างดี และ Pe...