วิเคราะห์ 5 เหตุผลสู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจ startup ในอิสราเอล | Techsauce

วิเคราะห์ 5 เหตุผลสู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจ startup ในอิสราเอล

แม้จะมีประชากรเพียง 8 ล้านคน แต่ประเทศอิสราเอลมีบริษัท startup มากกว่า 6,000 บริษัท และสามารถดึงดูดเงินร่วมลงทุนต่อคนได้มากกว่าประเทศใดๆ ในโลก startup scene ของที่นี่ครอบคลุมตั้งแต่ศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีที่เมืองเทลอาวีฟ นครเยรูซาเลม ตลอดไปจนถึงเมืองทะเลทรายทางใต้อย่างเบียร์ชีบา

บทความนี้เป็นบทความแปลจากผู้เขียนคือ Dennis Mitzner เขาได้เล่าว่า เบื้องหลังความสำเร็จของ startup อิสราเอล เกิดมาจากปัจจัยช่วยส่งเสริมหลายๆ ข้อด้วยกัน

จากบทความ 10 Israeli startups to watch in 2015 ที่เขาได้เขียนก่อนหน้านี้ เราได้เห็น startup ที่น่าสนใจที่จะมาขับเคลื่อนและเขย่าวงการ startup ของโลกไปแล้ว และยิ่งน่าศึกษาเพิ่มเติมอีกว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้อิสราเอลประสบความสำเร็จในการสร้าง startup ecosystem ได้

อิสราเอลมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับเขตเศรษฐกิจซิลิคอนแวลีย์ แต่อิสราเอลก็มีลักษณะวัฒนธรรมที่พิเศษของตัวเองอยู่ ในงาน Product Hunt Meetup ที่เทลอาวีฟ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ John Rampton และ Murray Newlands เกี่ยวกับความคิดเห็นต่ออิสราเอล และวงการ startup  เมื่อเปรียบเทียบกับซิลิคอนแวลีย์

“อิสราเอลไม่ใช่ซิลิคอนแวลีย์ แต่กำลังจะเป็นในอนาคต” คุณ Rampton ผู้ก่อตั้ง Due กล่าว

“ซิลิคอนแวลีย์ ดึงดูดหลายสิบบริษัทเทคโนโลยีพันล้านที่ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อบริษัทเหล่านี้เปิดตัวสู่สาธารณะ เหล่าผู้ก่อตั้งก็เริ่มหันไปเริ่ม และลงทุนในบริษัทพันล้านอื่นๆต่อไป อิสราเอลเองยังต้องการเวลาอีกเพื่อจะไปถึงจุดนั้น”

“ที่อิสราเอลมีคนเก่งๆ เป็นแรงงานชั้นดีอยู่เยอะ แต่ยังต้องการเวลาและเงิน เพื่อที่จะไปได้ถึงขนาดซิลิคอนแวลีย์ อิสราเอลจะไปได้ไกลถึงจุดนั้น แต่ต้องใช้เวลาอีกซักพักกว่าจะเป็นได้ขนาดที่ซานฟรานซิสโกเป็นอยู่ในขณะนี้” คุณ Rampton เสริม

จริงๆ แล้ว อิสราเอลก็ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเทคโนโลยีของโลก ปัจจัยต่างๆต่อไปนี้ จะช่วยให้เราเห็นภาพความแข็งแกร่งของ startup ซีนในอิสราเอลได้อย่างชัดเจนขึ้น และอาจช่วยเปลี่ยนแปลงอิสราเอลไปสู่การเป็นประเทศแห่ง startup อย่างเต็มตัว

ปัจจัยสำคัญที่อิสราเอลเผชิญ

1. การทหาร

ความเหมือนกันของบริษัทอย่าง OutbrainStylit, Nice, และ Comverse ก็คือผู้ก่อตั้งของบริษัทเหล่านี้เคยทำงานอยู่ใน Unit 8200 ซึ่งเป็น หน่วยการข่าวทหาร ทำหน้าที่รวบรวมสัญญาณอัจฉริยะและการถอดรหัสโค้ด (SIGINT)

ถึงแม้ว่า Unit 8200 อาจจะเป็น incubator ที่มีอิทธิพลมากที่สุด แต่ Israel Defence Force (IDF) หรือ กองกำลังป้องกันอิสราเอลนี่แหละ ที่เป็นแหล่งผลิตผู้ก่อตั้งและซีอีโอมากมายในอิสราเอล ตั้งแต่อดีต Unit 8200 ถูกปิดเป็นความลับขั้นสูงสุดมาโดยตลอดจนกระทั่งสิบกว่าปีก่อน พอมาในปัจจุบันหน่วยนี้ได้เริ่มเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะต่างๆ และกลายเป็นแหล่งรวมทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ หรือรวมกลุ่มท็อปทาเล้นท์ในด้านวิศวกรรม การสื่อสาร และด้านอื่นๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี

Shmulik Grizim ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Webydo ซึ่งเคยทำงานเป็นทหารจู่โจม ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเว็บดีไซน์ Grizim เชื่อว่ากองทัพไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการออกแบบดีไซน์ อีกด้วย

“ในช่วงแรกเริ่ม เราพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่คำว่าเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันนี้เราได้เห็นบริษัทเชิงนวัตกรรมเติบโตขึ้นมาก อย่างเช่น Fiverr หรือ Houzz ความสำเร็จของบริษัทเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอิสราเอลได้ก้าวมาอีกขั้นในเชิงการตลาดและแบรนด์เช่นกัน” นาย Grizim กล่าว

Yaron Carni ผู้ก่อตั้ง Maverick Ventures, บริษัทบูทีค VC เชื่อว่า การทหาร เป็นส่วนสนับสนุนสำคัญของกิจการสำหรับผู้ประกอบการ

“ลักษณะพิเศษที่สุดลักษณะหนึ่งของ IDF คือ การที่คนเก่งๆ ได้รับการยอมรับ และสนับสนุนให้ก้าวหน้าได้อย่างเหมาะสมกับความรู้และทักษะของพวกเขา กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รับการยอมรับ คนที่ยศสูงกว่าก็ยังขอคำปรึกษาจากทหารที่อาวุโสน้อยกว่าเพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับความสามารถ แม้เป็นแค่นายทหารธรรมดา ก็สามารถสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้”

“ความจริงอีกข้อที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงได้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย และได้รับการประเมินจากผลงาน ไม่ใช่จากเพศ กิจการทหารกำลังก้าวไปสู่กิจการพลเรือนอย่างแข็งแรงในอนาคต” Carni กล่าว

2. การขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ

ในหนังสือ Future of Freedom ของนักวิจารณ์ทางการเมือง Fareed Zakaria ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า

ความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตัวขัดขวางการเมืองที่สมัยใหม่ และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

ถ้าไม่นับการค้นพบแหล่งแก๊สในระยะ 130 กิโลเมตรทางตะวันตกของ Haifa the Levantine basin อิสราเอลเคยต้องอาศัยแค่การนำเข้าแก๊ส และแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น Golda Meir เคยมีมุกขำๆ เกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอิสราเอลว่า “โมเสสฉุดลากพวกเราท่ามกลางทะเลทรายมา 40 ปี จนมาสู่สถานที่หนึ่งในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นที่ที่ไม่มีน้ำมัน”

“ตั้งแต่ในอดีตมาแล้ว ที่อิสราเอลต้องลำบากกับภาวะภัยแล้ง แต่ด้วยกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำที่จริงจัง ทำให้อิสราเอลแก้ปัญหาที่มีมายาวนานนี้ได้ ในปัจจุบันอิสราเอลกลายเป็นประเทศผู้นำด้านการจัดการกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ ซึ่งเราต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้อิสราเอลส่วนใหญมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง”

การจัดการป้องกันน้ำกลายเป็นอตุสาหกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และอาจจะกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของอิสราเอล ในการไปเยือนแคลิฟอเนียร์ครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรี Benjamin Netanyahu ได้เซ็นสัญญากับ ผู้ว่าการรัฐ Jerry Brown เพื่อส่งออกเทคโนโลยีการจัดการน้ำสำหรับช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในแคลิฟอเนียร์

3. ความจำเป็นในการพึ่งพาตนเอง

อิสราเอลตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ค่อนข้างวุ่นวายและมีพันธมิตรไม่มากนัก ทำให้ประเทศไม่สามารถพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศหรือการค้ารูปแบบปกติกับประเทศเพื่อนบ้านได้ อิสราเอลจึงต้องพัฒนากลไกการปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพึ่งพาตนเอง ทัศนคตินี้แพร่หลายในหมู่ประชากรอิสราเอลส่วนมาก รวมถึงเหล่าผู้ก่อตั้ง startup  และซีอีโอด้วย

“นี่เป็นเรื่องของการเอาตัวรอด เราต้องไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อิสราเอลแวดล้อมไปด้วยศัตรู และเราไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ นี่หมายถึงสินค้าอันดับหนึ่งของเราคือมันสมอง อิสราเอลเข้าใจดีว่าความสำเร็จไม่ได้วางอยู่บนจานเงินจานทอง เราจะชนะได้ก็ต่อเมื่อเราดีกว่า” Moshe Hogeg หุ้นส่วนผู้จัดการ และประธานบริษัทวีซี Singulariteam ในอิสราเอล

ถึงแม้อิสราเอลจะมีพันธมิตรคู่ค้ามากมายในยุโรปและอเมริกา แต่ภัยคุกคามทางการค้า การกีดกันการค้าทางเรือ และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ให้เห็นทั่วไป สถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยนี้ทำให้อิสราเอลต้องสร้างนิยามใหม่ของคำว่านวัตกรรม เพื่อสร้างสิ่งหนึ่งจากศูนย์

4. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ในหนังสือ The Culture of Military Innovation Dima Adamsky ให้ข้อคิดไว้ว่า แม้อิสราเอลจะเป็นประเทศที่หล่อหลอมระหว่างวัฒนธรรม ยิว ยูโรเปียน ลิแวนต์ไท และอเมริกัน แต่ก็ไม่ใช่ส่วนผสมที่ไม่เป็นรูปเป็นร่างจนสร้างความเป็นสามัญไม่ได้ เราสามารถเห็นความเป็นปัจเจกชนของอิสราเอลได้จาก การไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อกฎระเบียบและข้อบังคับ และในความไม่ค่อยยำเกรงต่ออำนาจหรืออิทธิพล”

เมื่อมีแรงต่อต้านแบบรวมหมู่ต่อผู้มีอำนาจ บวกกับมีทรัพยากรคนสามารถสูง ทำให้สร้างสังคมแห่งผู้ประกอบการขึ้นมา

สิ่งที่น่าสนใจคือ อิสราเอลเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมาก ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือการแบ่งเผ่าพันธุ์ แต่การแบ่งกลุ่มก้อนเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลถึงหน่วยธุรกิจเอกชน แม้การเล่นพรรคเล่นพวกหรือความจงรักภักดีต่อพวกพ้องยังคงมีอยู่ แต่หน่วยธุรกิจไฮเทคเหล่านี้มีลักษณะที่สามารถประสบสำเร็จได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว

อิสราเอลเองเข้าใจถึงพลังของความหลากหลาย และการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเหล่านี้ในโลกธุรกิจ บริษัทต่างๆ ที่จะสร้างธุรกิจระหว่างประเทศ ก็สามารถหาแรงงานฝีมือดีได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในอิสราเอลเต็มไปด้วยคนพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียได้ระดับเจ้าของภาษามากมาย และก็ยังสามารถหาคนที่พูดภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้ไม่ยาก

5. การอพยพ

ในหนังสือ Hitler’s Gift: The True Story of the Scientists Expelled By the Nazi Regime ของ Jean Medawar ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลที่ตามมาจากการทะยานขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ และผลกระทบต่อประเทศที่เป็นประชากรยิว จากความรุ่งโรจน์ของระบอบนาซีในตอนนั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวยิวกว่า 1500 คน หนีออกจากเยอรมนี และไปตั้งรกรากใน US academia และนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เองที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 20

สถานการณ์คล้ายๆกันกับช่วงปลายปี 1980 เมื่อมีการไหลทะลักเข้ามาของชาวยิวโซเวียตสู่อิสราเอล ตรงนี้ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 10 ปี ผู้อพยพกลุ่มนี้เคยถูกแบนในสหภาพโซเวียตจากข้อหาครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจ แต่ก่อนหน้านั้นชาวยิวโซเวียตเหล่านี้เป็นถึงแนวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และคณิตศาสตร์

ความสำเร็จในการหลอมรวมกันของประชากรกลุ่มใหญ่นั้นเป็นเหมือนปาฏิหาริย์ แต่ในปัจจุบันกลุ่มผู้อพยพ และลูกหลานของพวกเขาได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญแห่งเบื้องหลังความสำเร็จของอิสราเอล และยิ่งไปกว่านั้นคืออิสราเอลกำลังดึงดูดคนที่มีความสามารถจากทั่วโลกทั้ง อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส

“อิสราเอลเปรียบได้กับอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้อพยพที่ทะเยอทะยานมาตามหาฝัน ในความเห็นของผม ผู้อพยพเหล่านี้ทุกคนก็เป็นผู้ประกอบการคนหนึ่ง ชาวยิวเคยถูกจับมาลงโทษเพราะเป็นชนเผ่าเร่ร่อน แต่ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบ่มเพาะทักษะของพวกเขาจากรุ่นสู่รุ่น” Carni กล่าว

ก้าวสู่อนาคตที่โชติช่วง?

สถานการณ์ปัจจุบันของอิสราเอลเคยถูกสื่อออกมาให้เห็นจากบิดาแห่งอิสราเอลยุคใหม่ Theodor Herzl ผ่านหนังสือนิยายเกี่ยวกับดินแดนในอุดมคติ “Altneuland” ถูกตีพิมพ์ในปี 1902 เป็นเรื่องราวของผู้ชาย 2 คนผู้เบื่อหน่ายกับความเสื่อมโทรมของยุโรป และตัดสินใจเดินทางไปยังเกาะอันห่างไกลแห่งหนึ่งในแปซิฟิค ระหว่างทางไปเกาะ พวกเขาก็หยุดที่เมืองจัฟฟา (เขตชนบทในเทลอาวีฟ) เมืองเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมทะเล ต่อมาในระหว่างทางกลับจากทางเกาะ 20 ปีให้หลัง พวกเขาพบว่าเมืองจัฟฟาได้กลายเป็นเมืองเสรี เป็นสังคมยุคใหม่ที่ประกอบด้วยหลากหลายเชื้อชาติไปแล้ว

ถึงแม้คำทำนายของ Herzl ส่วนใหญ่จะกลายเป็นจริง แต่เราเพิ่งจะได้เห็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของอนาคต startup scene ในอิสราเอลเท่านั้น


 

ที่มาบทความ: TheNextWeb

สรุปสิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากความสำเร็จของอิสราเอล ก็คือความเจ็บปวดที่ประเทศต้องเผชิญ ก็เช่นเดียวกับ startup ที่ชีวิตแบบแมลงสาบ จะผลักดันให้เติบโตขึ้น หวังว่าเรื่องราวในบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพเกี่ยวกับอิสราเอลมากขึ้นค่ะ

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับอิสราเอลเพิ่มเติม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe...

Responsive image

AI ดมกลิ่นจาก osmo นวัตกรรมจมูกดิจิทัลเปลี่ยนโลก

หากเรามี AI ที่สามารถดมกลิ่นและแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร? นี่คือโจทย์ที่ Alex Wiltschko และทีม osmo กำลังพยายามพัฒนา...

Responsive image

รู้จัก AIS EEC ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ที่พร้อมช่วยธุรกิจไทยทำ Digital Transformation และเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS Business ขออาสาเป็นพันธมิตรช่วยธุรกิจไทยนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจหรือ AIS EEC เป็นศูนย์กลางเรียนรู้และ...