ถกยุทธศาสตร์ AI ไทย หนทางดึงไทยกลับเวทีโลก ควรเริ่มอย่างไร ? | Techsauce

ถกยุทธศาสตร์ AI ไทย หนทางดึงไทยกลับเวทีโลก ควรเริ่มอย่างไร ?

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า AI กลายเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย? ลองนึกภาพโรงงานที่ทำงานได้อัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง ระบบการแพทย์ที่วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เกษตรกรที่ใช้ AI เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ภาคการท่องเที่ยวที่มอบ CX ให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างตรงใจ นั่นคือภาพของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะสร้างโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย เราจะเตรียมคนไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร? Techsauce ชวนมาร่วมหาคำตอบจากหัวข้อ AI Roadmap for Thailand ยุทธศาสตร์ AI ไทย จากงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 

นำโดย ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร Postdoctoral Researcher at MIT Media Lab / Co-director of Advancing Human-AI Interaction Initiative, ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคุณกสิมะ ธารพิพิธชัย Head of AI Strategy at SCB 10X Co., Ltd. (SCB 10X) มาร่วมแบ่งปันมุมมอง และจุดประกายความคิด เพื่อสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทย 

ดำเนินการเสวนาโดย ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

บทบาทสำคัญของ AI ในประเทศไทย

คำถามสำคัญของ Session นี้คือ ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างไร ?

เริ่มต้นด้วยความเห็นจาก ดร.พัทน์ ชี้ว่า AI เป็นศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับทุกสาขาวิชา การพัฒนา AI จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายแขนง นอกจากนี้ยังได้เสนอ 3 เทรนด์สำคัญของ AI ในระดับโลกที่มีนัยยะต่อประเทศไทย ได้แก่:

  • Multidisciplinary Approach: AI ไม่ใช่แค่เรื่องของวิศวกรรมหรือธุรกิจอีกต่อไป แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายสาขา ทั้งจิตวิทยา นโยบาย ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนา AI ให้ตอบโจทย์สังคมอย่างรอบด้าน
  • Mechanistic Interpretability: การทำความเข้าใจกลไกการทำงานภายในของ AI ที่ซับซ้อน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันผลกระทบด้านลบ เช่น การบิดเบือนข้อมูลหรือการชี้นำที่ผิด
  • Climate Impact: การใช้ AI อย่างมหาศาลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนา AI ที่ประหยัดพลังงานและใช้น้ำน้อยลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ดร.สันติธาร มองว่า AI เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานลดลงในอนาคต AI จึงมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (efficiency), เพิ่มผลผลิต (productivity), และสร้างนวัตกรรม (innovation) ผ่านการนำไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น งานที่ซ้ำซาก (automation), การเสริมศักยภาพมนุษย์ (augmentation), และการสร้างสิ่งใหม่ (creation of innovation)

ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังสามารถช่วย Redesign Process ในการทำงาน เช่น ในภาคการศึกษา แทนที่จะให้ AI สอนเด็กโดยตรง ควรมุ่งใช้ AI เพื่อพัฒนาทักษะและการสอนของครู ทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวในภาคเอกชน คุณกสิมะ ได้เล่าถึงความพยายามในการพัฒนา AI ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ตัวอย่างที่โดดเด่นคือการพัฒนาโมเดลภาษาไทย “Typhoon” ซึ่งมีความสามารถในการเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างแม่นยำ อีกทั้งยังเปิดให้ใช้งานในรูปแบบ Open Source เพื่อส่งเสริมการพัฒนาต่อยอด สร้างโอกาสในการประยุกต์ใช้ AI ให้กว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

เสาหลักของกลยุทธ์ AI ระดับชาติ

หากประเทศไทยต้องการก้าวให้ทันโลก ทั้ง ดร.พัทน์, ดร.สันติธาร, และคุณกสิมะ ต่างเห็นพ้องกันว่า AI จะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยกลับมามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง โดยเสนอแนวทางผ่าน 3 เสาหลัก ที่จะช่วยให้ประเทศสามารถก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนี้: 

1. การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดร.พัทน์ ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาคนไทยทุกคนให้พร้อมรับมือกับยุค AI หรือ AI Readiness ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจและลดความกังวลเกี่ยวกับ AI ส่งเสริมให้มอง AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแย่งงาน

และปลูกฝังความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ AI ให้กับคนทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงบุคคลทั่วไป เพื่อให้สามารถใช้ AI ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ นอกจากนี้ควรที่จะต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ AI ให้กับคนไทยทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

2. การพัฒนาทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับ AI

ดร.สันติธาร เสนอโมเดลการพัฒนาทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ได้แก่

ระดับฐาน: ทักษะพื้นฐาน (AI Literacy) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบย่อย

  • P (Proficiency): ความคล่องแคล่วในการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน
  • I (Immunity): ความรู้เท่าทัน AI รู้ว่า AI ทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ ป้องกันการถูกหลอกหรือใช้ข้อมูลผิดๆ
  • D (Domain Knowledge): ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพของตนเอง ควบคู่กับการใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ในด้านนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์หุ้นที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและใช้ AI ช่วยวิเคราะห์
  • E (Empathy): การรักษาคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังไม่มี

ระดับกลาง: การออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ (Redesign Process) เพื่อให้ AI เข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ AI เป็นคู่คิดในการเขียนบทความ แทนที่จะใช้ AI เขียนบทความให้ทั้งหมด

ระดับบนสุด: การพัฒนา AI Talent โดยเฉพาะการพัฒนา AI ให้เข้าใจบริบทของไทย เช่น ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย และวัฒนธรรมไทย ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถสูง 

นอกจากนี้ ดร.สันติธาร  ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา AI ของไทยเอง โดยเปรียบเทียบกับการพัฒนาระบบปฏิบัติการมือถือ (iOS และ Android) ว่าไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันในการพัฒนา foundational model ได้ แต่สามารถโฟกัสที่การพัฒนา application หรือ AI เฉพาะทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของไทย เช่น ด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้จุดแข็งของไทยมาผสมผสานกับ AI เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

3. การการสนับสนุนจากภาครัฐ

คุณกสิมะเน้นย้ำบทบาทสำคัญของภาครัฐในการผลักดันการพัฒนา AI ในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนวิจัยและพัฒนา AI ที่ตอบโจทย์บริบทไทย พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูลและระบบคลาวด์ที่ปลอดภัย ควบคู่กับการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศที่อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของไทย 

นอกจากนี้ การออกกฎระเบียบที่สมดุล สนับสนุนนวัตกรรม แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัย จริยธรรม และความเป็นส่วนตัว จะช่วยวางรากฐานการพัฒนา AI อย่างยั่งยืน

บทบาทของภาครัฐในการพัฒนา AI

ดร.พัทน์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของโมเดล AI และความท้าทายในการพัฒนา โดยเฉพาะ Fundamental Model ที่ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และได้เสนอว่ารัฐบาลไทยควรมีนโยบายที่เจาะจง หรือ Targeted Policy มุ่งเป้าไปที่โอกาสและความท้าทายเฉพาะ ไม่ใช่การทำแบบหว่านแห ยกตัวอย่าง Roadmap ที่มักจะลิสต์สิ่งที่ต้องทำไว้มากมาย แต่ขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยได้เสนอไอเดียการทำโมเดลแปลภาษาหมูเด้ง เพื่อสื่อถึงการโฟกัสที่ชัดเจนและการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในประเทศ

ดร.สันติธารแนะนำให้ภาครัฐจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจหรือ Task Force เพื่อกำหนด Targeted policy โดยมุ่งเน้นที่ปัญหาและโอกาสของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเสริมอีกว่า ควรมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ใช้งาน และคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย พี่ต้นสนเน้นย้ำว่า การมีคนรุ่นใหม่ในทีมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ได้ดีกว่า Task Force จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและกำหนดนโยบาย AI ของประเทศ แก้ปัญหาการทำงานแบบแยกส่วน และสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมและการส่งเสริมนวัตกรรม

คุณกสิมะเสริมว่า นโยบายของรัฐควรมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนา AI มากกว่าการควบคุมหรือตั้งข้อจำกัด และกังวลว่านโยบายปัจจุบันที่อ้างอิงจากต่างประเทศ เช่น ยุโรปหรือแอฟริกา อาจไม่เหมาะสมกับบริบทของไทย ควรมีนโยบายที่ส่งเสริมการอบรมและพัฒนา เพื่อให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรม AI ในประเทศ

ประเทศไทยต้องกล้าเปลี่ยนอะไร?

ดร.พัทน์เสนอให้กล้าสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และนโยบายที่มุ่งเน้นการลงทุนอย่างชาญฉลาด รัฐบาลต้องเลือกสนับสนุนโครงการ AI ที่มีศักยภาพสูง แม้จะดูแปลกใหม่หรือแตกต่างจากกระแสหลัก เช่น โครงการแปลภาษาหมูเด้ง ซึ่งสะท้อนการคิดนอกกรอบและตอบโจทย์เฉพาะของประเทศไทย ไม่ใช่แค่ตามกระแสโลก นอกจากนี้ยังเน้นความสำคัญของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความเข้าใจ AI อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับกรณีของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามาร่วมพัฒนา

คุณกสิมะ จากภาคเอกชนมองว่ารัฐบาลต้อง “ปล่อย” และ “เชื่อใจ” ภาคเอกชนมากขึ้น แทนที่จะควบคุมด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ภาคเอกชนมีความคล่องตัวและความเข้าใจตลาดมากกว่า สามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทักษะ และการสร้างเครือข่าย มากกว่าการออกกฎที่เป็นการปิดกั้น นอกจากนี้ การคัดลอกนโยบายต่างประเทศโดยไม่คำนึงถึงบริบทของไทยอาจส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์

ดร.สันติธาร ชี้ว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก Champion Mindset หรือจิตวิญญาณของแชมป์ ไปสู่ Challenger Mindset หรือจิตวิญญาณของผู้ท้าชิง เรามักติดกับดักความสำเร็จในอดีต กลัวความเปลี่ยนแปลง และมอง AI เป็นภัยคุกคาม แต่ผู้ท้าชิงมองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส เพราะไม่มีอะไรให้เสีย มีแต่สิ่งที่รอให้คว้ามา พวกเขากล้าที่จะลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความล้มเหลว และเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ ดร.สันติธารยังเน้นว่ารัฐบาลต้องสนับสนุน Startup และผู้ประกอบการด้าน AI อย่างจริงจัง พร้อมลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

ดังนั้น การจะก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน เราจำเป็นต้องสร้างความพร้อมในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาทักษะคนไทย การออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ และการสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของเรา หากเราสามารถใช้ AI อย่างชาญฉลาดและสมดุล ประเทศไทยจะไม่เพียงก้าวทันโลก แต่ยังสามารถเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รัฐบาลเวียดนามขยับ SME ได้เวลาทวงคืนตลาดแฟชั่นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Shein และ TEMU

รัฐบาลเวียดนามเตรียม "บล็อก" แอปพลิเคชันและโดเมนช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนอย่าง Shein และ Temu ถ้าไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน “อุ...

Responsive image

AI ไม่ได้แทนที่คุณ แต่จะช่วยให้คุณ 'ดีกว่าเดิม'

สำรวจแนวคิด "จิตวิทยาไซบอร์ก" ในการออกแบบระบบมนุษย์-AI เพื่อความรุ่งเรืองของมนุษย์ พร้อมบทบาทของ AI ในการพัฒนาไทยให้เป็น “AI Land” จากมุมมอง ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร ในงาน THE STANDARD ...

Responsive image

ปลดล็อกศักยภาพท่องเที่ยวไทยสู่ Global Destination ยกระดับประเทศผ่านเอกลักษณ์และความร่วมมือ

ร่วมวิเคราะห์เชิงลึกจากการเสวนาของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และ ดร. วิทวัส สิทธิเวคิน Moderator ใน session นี้ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายข...