นับว่าเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาหลายยุคสมัย ว่าด้วยเรื่องของจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนพนักงานชายแล้ว จำนวนพนักงานหญิงยังคงมีน้อยอยู่ อีกทั้งยังคงเผชิญความท้าทายในการเติบโตด้านหน้าที่การงานในระดับสูง
หนึ่งใน Panel Discussion ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายในองค์กรจาก Techsauce Global Summit 2019 นาทีนี้คงไม่มีเหมาะสมที่จะพูดเรื่องนี้มากไปกว่า Alexandra Reich ผู้นำด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ขณะนี้เธอดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของดีแทค (dtac) อีกทั้งยังมี Lalitha Wemel ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ Techstars ซึ่งจะพาเราไปหาโซลูชั่นว่า องค์กรจะส่งเสริมความหลากหลายให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร ทำไมการรับฟังทุกเสียงในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จ และนี่คือไฮไลท์บางส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างการสนทนาในครั้งนี้
Alexandra เล่าถึงประสบการณ์การทำงานของเธอในช่วยวัยยี่สิบต้นๆ เริ่มจากงานสายวาณิชธนกิจ (Investment Banking) เธอให้ความเห็นว่าการย้ายเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิตอลเป็นเรื่องง่ายกว่า เมื่อเทียบกับช่วงทำงานในอุตสาหกรรมการเงิน
"ฉันเริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเองเมื่อปีค.ศ. 1988 ซึ่งจะเรียกว่าเป็น startup ก็ได้ เราทำการพัฒนาโปรแกรมโต้ตอบบทสนทนาสำหรับประเทศที่พูดภาษาเยอรมันเป็นหลัก คนในทีมที่ทำงานที่นั่นมีความหลากหลาย ตั้งแต่รุ่นอาวุโสไปจนถึงวัยหนุ่มสาว ทั้งผู้ไม่มีประสบการณ์และมีประสบการณ์ ทั้งหญิงและชาย รวมทั้งคนจากหลากหลายประเทศ"
"ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากบรรดาคนหนุ่มสาว พวกเขามีมุมมองที่แตกต่างออกไป ความหลากหลายเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้นำเองและต่อบริษัท อีกทั้งยังมีอะไรอีกมากที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากผู้คน ซึ่งจากประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า ความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จ"
"เมื่อช่วงที่ฉันทำงานในยุโรปให้กับบริษัท Telco ขนาดใหญ่ คนที่ทำงานในทีมถอดแบบจากผู้นำทีมแทบไม่มีผิด พวกเขาเล่นกีฬาเดียวกัน มีภรรยารูปลักษณ์คล้ายกัน ทำอะไรเหมือนๆ กัน ราวกับว่าโคลนกันมา ซึ่งมันเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมออกมา"
"ที่ดีแทค เรามีทีมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติ อายุ และพื้นเพ ความแตกต่างทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถมีบทสนทนาที่ยอดเยี่ยม มันเป็นอะไรที่สนุกสนาน ความหลากหลายไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเพศสภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรม อายุ และเชื้อชาติ ซึ่งก็ได้มีการศึกษามาแล้วว่า พนักงานที่อยู่ในบริษัทที่มีความหลากหลายจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าบริษัทที่ไม่มีเรื่องความหลากหลายในบริษัทเลย"
องค์กรที่มีการแบ่งตามลำดับชั้นอยู่มักจะสูญเสียการได้ยินเสียงของคนสำคัญ เสียงของคนตัวเล็กที่สุดคือเสียงที่จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากที่สุด
"จากประสบการณ์ฉันพบว่าที่ยุโรปและเอเชียนั้นไม่ได้ต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตาม ประเทศออสเตรียและสวิสเซอร์แลนด์นั้นค่อนข้างต่างออกไป ในฐานะที่คุณเป็นผู้หญิงที่อยู่ในประเทศไทย คุณจะได้รับการปฏิบัติด้วยความให้เกียรติ คุณจะรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอีกทั้งความเป็นกันเอง คุณสามารถนำในแบบของคุณได้ ที่เอเชียนั้นความเคารพที่ผู้คนมีต่อผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร พวกเขาจะปฏิบัติกับคุณด้วยความเคารพ"
"ฉันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเมื่อเวลาที่ผู้หญิงรู้สึกสบายใจ และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และรับตำแหน่งผู้นำทั้งในทีมและในบริษัท สไตล์ความเป็นผู้นำของผู้หญิงทำให้การนำธุรกิจเป็นไปอย่างฉลาด"
ผู้ชายเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งสามารถทำให้บริษัทใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันสไตล์การนำของผู้หญิงจะช่วยส่งเสริมในด้านการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการช่วยทำให้บริษัทดีขึ้น
Alexandra เล่าว่าเธอฟังพอดคาสต์ทุกวัน แต่ไม่ได้ฟังรายการไหนที่เกี่ยวกับความหลากหลายเป็นพิเศษ แต่จะเธอฟังรายการที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากกว่า
"ฉันเชื่อว่าการที่ฉันใช้ชีวิตในความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำเป็นตัวทำให้ฉันมีอาชีพที่น่าทึ่ง คำแนะนำของฉันก็คงเป็นให้ลองทำหลายๆ อย่าง รับฟังมุมมอง ความเห็นจากคนอื่นว่าพวกเขาคิดอย่างไร เปิดโอกาสให้บทบาทที่คุณมีในองค์กรเป็นตัวช่วยสอนคุณ อย่าหยุดเรียนรู้ จงรับฟัง และขอให้มีความซื่อสัตย์กับตัวเอง"
แม้ว่าจะไม่มีวิธีที่เร็วที่สุดในการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป หากเรามีผู้นำอย่าง Alexandra เป็นแบบอย่างของผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้ได้เห็นกันมากขึ้น รวมทั้งหากเราช่วยกันสนับสนุนและผลักดันผู้หญิงให้เข้ามามีบทบาทผู้นำอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานและในสังคมของเรา
ชมวิดีโอแบบเต็มๆ ได้ที่นี่:
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด