เปิดโลก Synthetic Biology วิศวกรรมชีวิต ออกแบบสายพันธุ์ใหม่จาก DNA เทคโนโลยีแห่งอนาคตกำหนดชะตาโลก | Techsauce

เปิดโลก Synthetic Biology วิศวกรรมชีวิต ออกแบบสายพันธุ์ใหม่จาก DNA เทคโนโลยีแห่งอนาคตกำหนดชะตาโลก

สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute) ได้จัดการประชุมสุดยอด Sydney Dialogue ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกด้านนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสำคัญ เทคโนโลยีเกิดใหม่ และเทคโนโลยีทางไซเบอร์ พร้อมทั้งออกรายงาน THE SYDNEY DIALOGUE - TECHNOLOGY EXPLAINERS ที่เจาะลึกถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ เทคโนโลยีใหม่ และไซเบอร์ซึ่งมีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลก

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรวจ Synthetic Biology เทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างวิศวกรรมและชีววิทยา ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญหรือผลกระทบต่อโลกอย่างไร ไปทำความรู้จักกัน!

Synthetic Biology คืออะไร ?

Synthetic Biology หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า SynBio โดยในภาษาไทยเราเรียกสิ่งนี้ว่า ชีววิทยาสังเคราะห์ คือ การออกแบบและสร้างระบบชีวภาพและส่วนประกอบภายในสิ่งมีชีวิต โดยการปรับแต่งระดับ DNA เพื่อให้เซลล์ทำงานในรูปแบบใหม่ หรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและความสามารถที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ผสมผสานชีววิทยาเข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหรือออกแบบสิ่งมีชีวิตใหม่เพื่อทำหน้าที่เฉพาะ 

โดยสิ่งที่ทำให้ SynBio แตกต่างจากวิศวกรรมพันธุกรรมแบบดั้งเดิมก็คือ นักวิทยาศาสตร์ใน SynBio ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยีนทีละตัว แต่จะสร้างรหัสพันธุกรรม (Genomes) ใหม่ทั้งหมดเพื่อสร้างระบบชีวภาพที่สามารถสร้างหรือดัดแปลงสิ่งมีชีวิตเพื่อให้สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ได้ 

นอกจากนี้ SynBio เป็นสาขาที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในชีวิตของเรา โดยสามารถนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น อาหาร, พลังงาน, วัสดุ, และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วัคซีน mRNA ที่ใช้รับมือกับโควิด-19 ซึ่งถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคนิคนี้ นอกจากนี้ SynBio ยังมีประโชน์ต่อการสร้างเชื้อเพลิงชีวภาพที่ปล่อยคาร์บอนต่ำซึ่งส่งผลดีต่อโลก

แม้ว่า SynBio จะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น ความปลอดภัยและการป้องกันการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด, ผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลในอนาคต รวมถึงความเป็นส่วนตัวและกฎระเบียบ เนื่องจาก SynBio เกี่ยวข้องกับข้อมูลพันธุกรรมที่อ่อนไหว จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

SynBio พัฒนาไปถึงจุดไหนแล้ว ?

  • ในปี 2019 เกิดความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่: นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่มี DNA ซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นในห้องแล็บทั้งหมด ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถออกแบบ DNA ด้วยความแม่นยำสูงและควบคุมได้
  • ในปัจจุบันใช้ Machine learning มาช่วย: ปัจจุบัน การเรียนรู้ของเครื่องจักร (ML) ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลทางชีววิทยาจำนวนมากเพื่อค้นหารูปแบบและความเชื่อมโยงที่ซ่อนอยู่ได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าที่มนุษย์สามารถทำได้ด้วยตนเอง รูปแบบเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถออกแบบระบบทางชีววิทยาที่ซับซ้อนและก้าวหน้ายิ่งขึ้น และทำการเปลี่ยนแปลงยีนได้อย่างแม่นยำ

แม้ SynBio ก้าวหน้าไปมาก แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องการขยายขนาดการผลิต SynBio ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากระบบชีวภาพ (เช่น เซลล์หรือแบคทีเรีย) มักจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความเป็นกรด (pH) เมื่อขยายการผลิต การรักษาเสถียรภาพทุกอย่างก็จะยากขึ้น ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดหรือความไม่สม่ำเสมอมากขึ้น

รู้จักผู้เล่นหลักใน SynBio

ชีววิทยาสังเคราะห์เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยในช่วงต้นปีนี้ CSIRO ประเมินมูลค่าอุตสาหกรรมนี้ไว้ว่า ในปี 2021 จะมีมูลค่าเกือบ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.06 แสนล้านบาท และอาจสูงถึง 767 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยสูงถึง 25 ล้านล้านบาทภายในปี 2040 โดยมีผู้เล่นหลักๆ ในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่:

  • Ginkgo Bioworks มุ่งเน้นในการทำให้กระบวนการออกแบบและปรับเปลี่ยนสิ่งมีชีวิต เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Twist Bioscience เชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์ DNA 
  • Codexis ผลิตเอนไซม์เฉพาะทาง

ในระดับประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน และสหภาพยุโรป ต่างทุ่มเงินให้กับการวิจัยและพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 โดยในปี 2022 สหราชอาณาจักรและเยอรมนีเป็นประเทศที่สนับสนุนการวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) มากที่สุดในยุโรป 

  • สหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่ม Investing in America Agenda ของประธานาธิบดีไบเดน โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ุราว 6 หมื่นล้านบาท) เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพและการผลิตทางชีวภาพ เงินทุนนี้มุ่งเน้นไปที่การค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการผลิตสารเคมี ยา เชื้อเพลิง และวัสดุต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากน้ำมัน (ปิโตรเลียม)
  • สหราชอาณาจักร ได้เปิดตัวแผนงานที่เรียกว่า National Vision for Engineering Biology ประจำปี 2023 โดยจะลงทุน 2 พันล้านปอนด์ (ราว 8.7 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เงินจำนวนนี้จะช่วยเปลี่ยนแนวคิดทางชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) ให้กลายเป็นโซลูชันในชีวิตจริง อาทิ การพัฒนาสารเคมีและวัสดุที่ยั่งยืน, การปรับปรุงความมั่นคงทางอาหาร, ระบบดูแลสุขภาพ, การสร้างบุคลากรที่มีทักษะ, รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบทั่วทั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
  • จีน ให้ทุนสนับสนุนด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) ผ่านแหล่งต่างๆ เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล นักลงทุนเอกชน VC และเงินสนับสนุนจากบริษัทเอกชน เงินทุนทั้งหมดนี้มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนา SynBio แม้ว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายจริงจะไม่ชัดเจน แต่แนวนโยบายของจีน เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 และกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา แสดงให้เห็นว่าจีนมุ่งมั่นที่จะเติบโตและลงทุนในสาขานี้
  • ออสเตรเลีย ในช่วงสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ทุนวิจัย 44.5 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนโครงการ SynBio และนักลงทุนได้นำเงิน 363 ล้านดอลลาร์ไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การใช้ในด้านอาหารและการเกษตร การลงทุนครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ SynBio ของออสเตรเลียและสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ Synthetic Biology Roadmap ฉบับปรับปรุงของออสเตรเลียยังคาดว่า SynBio อาจสร้างรายได้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ภายในปี 2040

SynBio จะพัฒนาไปทางไหนต่อ ?

กฏระเบียบ

แม้ว่า SynBio จะเป็นสาขาใหม่ แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้กฎเดิมที่ใช้ควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) เนื่องจากหลายผลิตภัณฑ์ของ SynBio มีความคล้ายคลึงกับ DNA ธรรมชาติหรือเทคโนโลยี DNA ที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน จึงยังไม่จำเป็นต้องสร้างกฎใหม่อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของ SynBio ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นพ้องว่าควรมีกฎระเบียบที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้เท่าทันนวัตกรรมใหม่ๆ และดูแลให้การใช้เทคโนโลยีเป็นไปอย่างปลอดภัย

ความปลอดภัยทางชีวภาพ, ความมั่นคงทางชีวภาพ, และจริยธรรม

เมื่อข้อมูลทางพันธุกรรมเริ่มมีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์ ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการใช้ข้อมูลในทางที่ผิดก็เพิ่มขึ้น เช่น ข้อมูลพันธุกรรมอาจถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเสี่ยงของชีววิทยาสังเคราะห์คือ ในปี 2002 นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างไวรัสโปลิโอขึ้นใหม่ในห้องทดลอง และนับจากนั้นมีไวรัสอันตรายอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมาอีก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้สร้างอาวุธชีวภาพได้

เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อกังวลทั้งในด้าน ความปลอดภัยทางชีวภาพและ ความมั่นคงทางชีวภาพ โดยกลัวว่าอาวุธชีวภาพอาจถูกสร้างขึ้น หรือ "ไบโอแฮกเกอร์" อาจใช้เทคโนโลยีนี้นอกเหนือจากการควบคุม เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์มีราคาถูกลง ใช้งานง่ายขึ้น และเข้าถึงได้มากขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้จึงทวีความรุนแรงมากขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...