ตามหาหงส์ดำ (Black Swan) ในโลกการเงิน | Techsauce

ตามหาหงส์ดำ (Black Swan) ในโลกการเงิน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดยคุณชาญณรงค์ จันทร์โส ภาพโดย blackswantrading.com

Black Swan ถ้าแปลตรงๆก็แปลว่า หงส์ดำ แต่สำหรับในโลกการเงินแล้ว มันหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ทำไมแค่คำธรรมดาสองคำถึงได้แปลเป็นความหมายแบบนี้ได้ เราต้องย้อนเวลากันซักหน่อย ในอดีตประมาณ 400 กว่าปีก่อน มีภาษิตโบราณของชาวตะวันตกที่ว่า "All Swans are White" ผู้คนสมัยนั้นเชื่อว่าหงส์ทุกตัวเป็นสีขาว ที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะว่าพวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน แต่แล้ววันหนึ่งมีชายผู้หนึ่งชื่อว่า Willem de Vlamingh เขาเป็นนักสำรวจชาวดัตช์ เขาสร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะเขาบังเอิญไปพบสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีอยู่จริงนั่นคือ "หงส์ดำ" อยู่แถวๆ(ทวีป)ออสเตรเลียฝั่งตะวันตก สิ่งที่คิดว่าไม่มีอยู่จริงกลับกลายเป็นมีอยู่จริง ถ้าเราเป็นคนสมัยนั้นคงจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าหงส์ทุกตัวเป็นสีขาวถ้าเราเห็นหงส์ตัวดำๆอยู่ตรงหน้า ตั้งแต่นั้นมาความเชื่อเก่าแก่ว่าหงส์ทุกตัวเป็นสีขาวจึงถูกทำลายลงและไม่มีใครพูดถึงอีกต่อไป

แต่ผู้ที่ทำให้คำว่า Black Swan ใช้กันอย่างกว้างขวางคือ Nicolas Nassim Taleb อดีตเทรดเดอร์ Wall Street นอกจากเขาจะเป็นเทรดเดอร์แล้วเขายังเป็นนักเขียนด้วย เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดในโลกซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ผู้คนต่างไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเรื่องราวของหงส์ดำในอดีตมันก็ตรงกับแนวคิดที่เขาต้องการจะสื่อพอดี เขาจึงนำคำว่า Black Swan มาเป็นตัวแทนของปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดเหล่านั้นและตั้งชื่อหนังสือของเขาว่า The Black Swan : The Impact of the Highly Improbable ในหนังสือเขาได้ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่แล้ววันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นและสร้างผลกระทบในวงกว้าง Taleb เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่า ปรากฎการณ์หงส์ดำ (Black Swan event)

ปรากฏการณ์หงส์ดำจะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

1) มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด

2) มันสร้างผลกระทบในวงกว้าง

3) แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราสามารถที่จะพิจารณาเพื่อหาคำตอบและหาคำพยากรณ์ต่อไปได้

เนื่องจากผมก็ลงทุนในตลาดหุ้น ผมก็เคยได้ยินคำว่า Black Swan มาบ้าง ตอนนั้นผมลองหาข้อมูลมาอ่านเพิ่มเล็กน้อยก็พบว่าเวลาที่คนในวงการการเงินพูดถึงปรากฏการณ์หงส์ดำ มันมักจะหมายถึงวิกฤตซะเป็นส่วนใหญ่

จริงๆถ้าดูองค์ประกอบของหงส์ดำข้างต้นก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ว่าทำไมต้องหมายถึงวิกฤต เพราะวิกฤตมันก็หมายถึงสิ่งที่ไม่คาดคิดและกระทบในวงกว้างนี่แหละ แต่วิกฤตก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ ถ้าเรารอดตายจากวิกฤต เราก็สามารถวิเคราะห์มันได้ว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไรและจะหาวิธีป้องกันมันได้อย่างไร ลองดูตัวอย่างวิกฤตที่ถูกยกว่าเป็นปรากฏการณ์หงส์ดำกันดูหน่อย

ภาพโดย The Daily Reckoning

วิกฤตต้มยำกุ้ง - คำสั่งลอยตัวค่าเงินบาททำให้ค่าเงินบาทมูลค่าลดลงกว่า 50% กระทันหัน หนี้สินพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัวและสร้างผลกระทบไปทั่วทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน

ฟองสบู่ดอทคอม - เหล่าบริษัทอินเตอร์เน็ตที่มูลค่าโตกันระเบิดแต่ไม่ทำกำไร ไม่มีทรัพย์สินในมือ สุดท้ายผู้คนก็นึกได้ว่าบริษัทแบบนี้ไม่เห็นจะน่าลงทุนตรงไหนจึงเทขายกันกระหน่ำ

เหตุการณ์ 9/11 - การใช้เครื่องบินดับเครื่องชนตึก World Trade Center ในวันที่ 11 กันยายน 2001 สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวอเมริกันและทั่วโลกว่าโศกนาฏกรรมมาเยือนได้ทุกเมื่อ

วิกฤตซับไพรม์ - การปล่อยกู้ที่ง่ายเกินไปทำให้เกิดหนี้เสียมากมาย และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนยากจะเข้าใจจนกลายเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะช่วงเวลานั้นทุกอย่าง ดูดี ไปหมด มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สังเกตเห็นสัญญาณอันตรายและเอาตัวรอดได้ แต่ถึงจะเป็นวิกฤตร้ายแรงขนาดไหนมันก็มีคำอธิบายว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมมันถึงร้ายแรงขนาดนี้

หงส์ดำมีกี่แบบ

จากการที่หงส์ดำถูกเอาไปเปรียบเทียบกับวิกฤตต่างๆทำให้เวลาที่ผู้คนได้ยินคำๆนี้เกิดความหวาดระแวง กลัวว่าจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นอีก ถ้าในแวดวงการเงินมีการพูดถึงหงส์ดำบ่อยขึ้นเรื่อยๆอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าความ_ิบหายจะมาเยือน แต่จริงๆแล้ว Taleb ก็ไม่ได้บอกว่าหงส์ดำหมายถึงแต่ความหมายแง่ลบเท่านั้น มันยังหมายถึงด้านบวกด้วย เพียงแต่ตัวอย่างวิกฤตที่ยกมามันเด่นซะจนกลบด้านดีๆของมันไปซะหมด

การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดและส่งผลกระทบ(ในทางที่ดี)อย่างกว้างขวาง Taleb เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่า หงส์ดำเชิงบวก (Positive Black Swan)

หงส์ดำตัวแรกอาจจะเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในวงการการเงิน แต่หงส์ดำเชิงบวกไม่เหมือนหงส์ดำตัวแรก มันอยู่ทั่วทุกหนแห่งและดูเป็นมิตรอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม คุณก็สามารถที่จะเจอหงส์ดำเชิงบวกได้ถ้าคุณมีความอึดและมีการวางแผนที่ดีพอ เหมือนที่บริษัทแห่งหนึ่งที่แม้จะใกล้ปิดตัวแต่ยังไม่ละความพยายามที่จะหาหงส์ดำที่จะมาพลิกฟื้นบริษัท แน่นอนว่าในที่สุดพวกเขาก็เจอหงส์ดำ แต่หงส์ดำที่มาช่วยพวกเขาก็ไม่ได้มีสีดำหรอก ใครมาเห็นเข้าก็ต้องบอกว่าสีแดงทั้งนั้น

สามหนุ่มไฟแรงกับการตามหาหงส์ดำของพวกเขา

ปี 2003 Niklas Hed, Jarno Väkeväinen และ Kim Dikert สามนักศึกษาจาก Helsinki University of Technology ได้เข้าร่วมรายการแข่งขันพัฒนาเกมบนมือถือที่มี Nokia และ Hewlett-Packard เป็นสปอนเซอร์ พวกเขาส่งเกม King of the Cabbage World เข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ จากชัยชนะที่ได้ลิ้มรสทำให้พวกเขาตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาชื่อว่า Relude พวกเขานำ King of the Cabbage World มาพัฒนาต่อและขายให้แก่บริษัท Sumea ปี 2005 พวกเขาได้รับเงินลงทุนรอบ First round จาก Angel Investor และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Rovio Mobile

รูปแบบการทำงานของพวกเขาเหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายคือ Build-Measure-Learn สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาและวัดผลว่ามันได้ผลลัพธ์ยังไงบ้าง จากนั้นนำผลลัพธ์ที่ได้มาเรียนรู้กันต่อ ในช่วงที่กำลังเรียนรู้นั้นอาจจะยังไม่มีรายได้ซึ่งก็ต้องอาศัยเงินลงทุนจากนักลงทุนกระเป๋าหนักที่เชื่อมั่นในตัวพวกเขามาช่วยผยุงให้บริษัทอยู่รอด

เป้าหมายของ Rovio คือสร้างเกมขึ้นมาและหวังว่ามันจะฮิตกันให้ทั่ว แต่หลังจากที่ขาย King of the Cabbage World ไปแล้ว พวกเขาก็ยังไม่สามารถสร้างเกมที่ฮิตได้ขนาดนั้น แต่พวกเขาก็ยังไม่หมดความมั่นใจและเดินหน้าสร้างเกมกันต่อไป พวกเขาคงจะหมุนกระบวนการ Build-Measure-Learn กันเร็วมากเพราะภายใน 3-4 ปี พวกเขาสร้างเกมมาแล้ว 51 เกม แต่น่าเศร้าที่ไม่เข้าเป้าซักเกมเดียว ปี 2009 ความ_ิบหายเริ่มมาเยือน เงินลงทุนที่ได้รับมาใกล้หมดแต่บริษัทยังทำภารกิจไม่สำเร็จ พวกเขาเหลือเงินที่จะสร้างเกมได้อีกเพียงเกมเดียวเท่านั้น พวกเขามีแค่สองทางเลือกคือไปต่อหรือหยุดตรงนี้ ถ้าพวกเขาตัดสินใจที่จะไปต่อ พวกเขาต้องหาหงส์ดำให้พบเท่านั้น

ภาพโดย Markus Spiske

หงส์ดำ(สีแดง)

คืนหนึ่งในปี 2009 Jaakko Iisalo ดีไซเนอร์ของ Rovio กำลังง่วนอยู่กับการออกแบบตัวละครอยู่คนเดียวในบ้าน เขาถนัดวาดรูปสัตว์ เขานั่งอยู่หน้าจอคอมและลงมือร่างภาพนกออกมาหลายๆแบบ เขาลองเติมจงอยปากเข้าไป จากนั้นลองเปลี่ยนรูปร่างมันให้เป็นตัวกลมๆแล้วระบายสีแดง เขาเติมคิ้วเข้าไป เขาวาดหางคิ้วชี้เฉียงขึ้นไปให้เหมือนกำลังโกรธ เขาวาดเสร็จแล้ว ดูเหมือนเขาจะได้นกตัวกลมสีแดง ไม่มีขา และทำหน้าบึ้งตึง "ไอเดียตอนที่วาดนกตัวนี้คือมันต้องบินไปทั่วและทำลายข้าวของ" Iisalo กล่าว ตอนที่วาดนกตัวนี้ออกมาเขาก็ไม่ได้คิดว่ามันจะโดนใจหลายๆคน แต่พอลองเอาไปให้พวกผู้บริหารดูกลับเป็นที่ฮืฮฮากันทั้งบริษัท

"ทันทีที่ผมเห็นเจ้านกตัวนี้ ผมก็ชอบมันเลย ผมรู้สึกว่าผมอยากเล่นเกมที่มีนกตัวนี้ให้เร็วที่สุด" Niklas Hed ว่างั้น ดูท่าพวกเขาจะจับหงส์ดำได้เข้าให้แล้ว ถึงมันจะไม่ใช่สีดำก็เถอะ พวกเขาเดินหน้าพัฒนาเกมกันต่อ พวกเขานั่งเค้นไอเดียว่ารูปแบบของเกมจะควรจะดำเนินไปในทางไหน ตอนแรกก็คิดจะให้ฝูงนกตั้งแถวเรียงคิวและพอกดแตะที่ตัวนก มันก็จะบินออกไป แต่เหมือนจะไม่เวิร์คเท่าไหร่

Iisalo จึงลองวาดหนังสติ๊กขนาดใหญ่ขึ้นมา พอมีหนังสติ๊กขึ้นมาปุ๊ป ทุกคนรู้ทันทีว่าในเกมต้องมีศัตรูด้วย Iisalo จึงวาดหมูตัวเขียว เขาเคยวาดรูปหมูเมื่อตอนอายุ 10 ขวบ ส่วนต้นแบบก็มาจากคนใกล้ตัว แม่ของเขานั่นเอง ส่วนเหตุผลที่กองทัพนกสู้กับกองทัพหมูก็คือ พวกหมูมันขโมยไข่ของพวกนกไป พวกเขาลงลึกในรายละเอียดกันต่อ ตั้งแต่สิ่งของที่อยู่ในด่าน การแตกหักของสิ่งของเมื่อโดนกระแทก พวกเขานำเรื่องแรงโน้มถ่วง ความเร็วในการบินมาคำนวณ พวกเขาต้องวางเกมแต่ละด่านไม่ให้ยากหรือง่ายจนเกินไป รวมถึงสิ่งที่ต้องเจอเวลาเล่นเกมไม่ผ่านด่านด้วย "มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะไม่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าโดนลงโทษเวลาที่ไม่ผ่านด่าน" Niklas กล่าว "ดังนั้นเวลาที่คุณเล่นด่านไหนไม่ผ่าน เราจะให้พวกหมูหัวเราะเยาะคุณ จากนั้นคุณก็จะคิดว่า ลองอีกรอบสิวะ"

ตัวละครหลักมีเอกลักษณ์ รูปแบบเกมเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ที่เหลือคือนำออกสู่ตลาดว่ามันจะฮิตอย่างที่คิดกันหรือไม่และเวลานี้ก็ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพราะการเปิดตัว iPhone ในปี 2007 ทำให้พวกเขารู้ว่าอุตสาหกรรมเกมจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงนั้น Niklas Hed ลงจากตำแหน่ง CEO และให้ Mikael Hed ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องรับตำแหน่งแทน และ Mikael ก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เขารู้ดีว่าท่ามกลางแอพลิเคชั่นที่จำนวนมากกว่า 300,000 แอพ พวกเขาจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นมากกว่าคนอื่น Apple จะเลือกสินค้าที่มีรูปลักษณ์ที่ชัดเจนเท่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าพวกเขาเลือกใช้นกสีแดงตัวหลักและใช้ชื่อว่า "Angry Birds" แทนที่จะเป็น Catapult (หนังสติ๊ก) และด้วยความร่วมมือกับบริษัท EA Chillingo บริษัทผู้พัฒนาเกมซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับ Apple จึงทำให้ Angry Birds บินได้อย่างราบรื่น

เดือนธันวาคม 2009 Angry Birds เกมที่ 52 ที่สร้างขึ้นโดย Rovio เปิดตัว มันถูกดาวน์โหลดไปกว่า 50 ล้านครั้งและขึ้นแท่นอันดับหนึ่งใน App Store มันทำให้ผู้คนติดงอมแงม แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron ก็ยังเล่นและติดไปช่วงหนึ่ง และด้วยหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของนกสีแดง มันส่งผลให้ผู้คนชื่นชอบกันไปทั่ว อย่างเช่น คุณแม่ของเด็กบางคนทำเค้กหน้า Angry Birds หรือไม่ก็ตัดชุด Angry Birds ให้ลูกใส่โชว์เพื่อนในวันฮาโลวีน หรือบางคนก็ทำซูชิหน้า Angry Birds ก็ยังมี (อันหลังสุดอาจจะมีแต่บ้านเราล่ะมั้ง)

Rovio ค้นพบหงส์ดำและรอดพ้นจากวิกฤต จากนั้นในปี 2011 Rovio ได้รับเงินลงทุนจำนวน 42 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจาก Venture Capitalist และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Rovio Entertainment ตอนนี้พวกเขาไม่ได้มองว่าตนเองเป็นแค่ผู้สร้างเกมอีกต่อไป แต่เปลี่ยนตัวตนให้เป็นบริษัทมีเดียที่จะใช้ Angry Birds เป็นตัวชูโรง "จนถึงตอนนี้ผมยังไม่อยากจะเชื่อว่ามันจะสำเร็จ Shigeru Miyamoto ดีไซน์เนอร์ของเกม Super Mario Bros. เคยถูกถามว่ามีเกมไหนบ้างที่เขาอยากทำขึ้นมา และเขาก็ตอบว่า Angry Birds" -- Jaakko Iisalo

หงส์ดำเป็นได้ทั้งสิ่งที่ทำลายชีวิตและสิ่งที่ช่วยชีวิตเราได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบแบบไหน

ถ้าคุณใช้ชีวิตแบบไร้ระเบียบไปวันๆ คุณอาจจะอยากเจอหงส์ดำตัวโหดๆ และมันก็คงบินมาหาคุณเข้าซักวัน ถ้าคุณชอบหงส์ดำตัวที่เป็นมิตรและทำเหมือนอย่างผู้คนที่ Rovio ทำ ที่ใช้ความอึดและการวางแผนที่ดี คุณก็สามารถค้นพบหงส์ดำเชิงบวกที่จะมาช่วยชีวิตคุณได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนเราก็ไม่อาจคาดคิดได้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ แต่ที่รู้แน่ๆคือมันสร้างผลกระทบในวงกว้างแน่นอน

 

ข้อมูลอ้างอิง theguardian.com, telegraph.co.uk,  wikipedia.org, adioma.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตะลุย Davos ส่อง 5 ประเด็นหลัก ใน World Economic Forum

สำรวจประเด็นสำคัญจากงาน World Economic Forum 2025 ที่ Davos เวทีประชุมระดับโลกที่รวมผู้นำหลากหลายวงการ เพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมบทบาทไทยในเวทีนานาชาติ...

Responsive image

สรุป AI อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดย Eric Grimson ศาสตราจารย์จาก MIT

ภายในงาน MIT Bangkok Symposium - Unleashing AI: Transforming Industries, Empowering Futures ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร. Eric Grimson อธิการบดีฝ่ายวิชาการ จากสถาบันเทคโนโลย...

Responsive image

รู้จักเทรนด์ Brand Chem กลยุทธ์ TikTok 2025 การตลาดที่ต้อง ‘เป็นเพื่อน’ กับผู้บริโภค

สำรวจ TikTok What's Next Report 2025 และแนวคิด Brand Chem ที่เปลี่ยนการตลาดด้วยความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ครีเอเตอร์ และชุมชน TikTok พร้อมเทรนด์สำคัญที่ขับเคลื่อนปี 2025...