ประเทศไทย ดินแดนสยามเมืองยิ้มที่อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ธรรมชาติที่งดงาม อาหารและวิถีชีวิตที่เปี่ยมเสน่ห์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนอย่างไม่ขาดสาย อย่างไรก็ตาม การจะเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก หรือ Global Destination ที่แท้จริง จำเป็นต้องอาศัยมากกว่าแค่ทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย และสะท้อนเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศ
ใน Session Building Global Destinations: The Future of Thai Retail ร่วมวิเคราะห์เชิงลึกจากการเสวนาของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และ ดร. วิทวัส สิทธิเวคิน Moderator ใน session นี้ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น Global Destination โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง การร่วมมือกันของภาครัฐ เอกชน และชุมชน รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อปลดล็อกศักยภาพของประเทศ และสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก
คุณชฎาทิพ ให้นิยาม Global Destination ว่าเป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามหรือห้างสรรพสินค้าหรูหรา แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์และจุดแข็งของประเทศ เป็นประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนสัมผัส รับรู้ จดจำ และอยากนำไปบอกต่อ เปรียบเสมือนเป็นเกตเวย์ที่ทำให้คนทั่วโลกเข้าใจประเทศไทยในเวลาที่มีอย่างจำกัด ดร. วิทวัส เสริมว่า Global Destination ที่แท้จริงต้องดึงดูดทั้งคนที่เคยมาและคนใหม่ๆ คุณชฎาทิพย์ ย้ำอีกครั้งว่า Global Destination คือประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนสัมผัสและจดจำ ไม่ใช่แค่การมาช้อปปิ้งหรือถ่ายรูปอย่างเดียว
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องอาศัยจากการวางแผนอย่างรอบคอบ ใช้สติปัญญา และความเข้าใจในความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของ The Dubai Mall และ Marina Bay Sands ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ
คุณชฎาทิพย้ำว่า Global Destination ไม่ใช่แค่การพัฒนาเมือง แต่รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง ดั้งนั้นการสร้าง Global Destination ต้องอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจค้าปลีก แต่รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐ และประชาชน
โดยคุณคุณชฎาทิพ ยกไอคอนสยามเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ด้วยการผนึกกำลังกับผู้ประกอบการจาก 77 จังหวัด สร้างโอกาสให้กับชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนำเสนอสินค้าและบริการที่สะท้อนความเป็นไทย รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) ให้กับลูกค้า และมีการทำงานร่วมกับชุมชนโดยรอบ
อีกความท้าทายสำคัญในการสร้าง Global Destination คือการรวมพลังทุกฝ่ายให้มีเป้าหมายเดียวกัน คุณชฎาทิพ ยกตัวอย่างการพัฒนาฝั่งธนบุรี ซึ่งเคยถูกมองว่าด้อยกว่าฝั่งพระนคร แต่ไอคอนสยามได้เปลี่ยนมุมมองและสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ โดยหัวใจสำคัญคือการเข้าใจความต้องการของชุมชน สร้างความเท่าเทียม และร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
ถึงแม้ภาคเอกชนและประชาชนจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน แต่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิด Global Destination โดยคุณชฎาทิพ เสนอแนะว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ฉับไว และจะต้องไม่เป็นแผนระยะยาวมากเกินไป พร้อมปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐต้องส่งเสริมการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น ท่องเที่ยว สุขภาพ และศิลปะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการยกระดับทักษะคนไทยและการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุน Soft Power ของไทย เช่น วัฒนธรรมและความเป็นมิตร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติ
คุณชฎาทิพ แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และน้ำใจของคนไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญ พร้อมทั้งกระตุ้นให้คนไทยมองเห็นคุณค่าของตัวเอง ร่วมมือกัน และภาคภูมิใจในความเป็นไทย เพื่อสร้าง Global Destination ที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยไม่ลืมที่จะเรียนรู้จากความสำเร็จของต่างประเทศ และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
สรุปแล้วการสร้าง Global Destination ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐ การลงทุนและการบริหารจัดการของภาคเอกชน ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น และความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและยั่งยืนให้กับผู้มาเยือน และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกอย่างแท้จริง
* เนื้อหาจาก Session Building Global Destinations: The Future of Thai Retail การสร้างจุดหมายระดับโลก อนาคตของค้าปลีกไทย ในงาน The Standard Economic Forum 2024
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด