วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักสำหรับการทำแบบจำลองเครดิตที่ธนาคารใช้ในการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้อมูลเดิมที่เคยใช้ในการพิจารณาเครดิตอาทิเช่น ประวัติการทำงานและรายได้ กลายเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญในการเร่งให้เกิดการแห่ถอนเงินจากธนาคารอย่างฉับพลัน เมื่อได้ยินข่าวลือหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับธนาคารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธนาคารเผชิญกับความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องอย่างฉับพลันเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเงินจึงจำเป็นต้องปรับตัวและรับมือกับความเสี่ยงที่ซับซ้อนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บทบาทของหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยงหรือ CRO จึงทวีความสำคัญยิ่งขึ้น
CRO หรือ Chief Risk Officer เป็นผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งหมดขององค์กร โดยมีหน้าที่หลักในการระบุ ประเมิน ควบคุม และบรรเทาความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร ความเสี่ยงเหล่านี้อาจครอบคลุมทั้งความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านกฎหมาย และความเสี่ยงด้านชื่อเสียงองค์กร
โดยทั่วไปแล้ว CRO จะทำงานพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยง รวมถึงให้คำแนะนำแก่ทีมผู้บริหารและคณะกรรมการเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สำคัญและแนวทางในการจัดการ นอกจากนี้ CRO ยังมีบทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมความเสี่ยงที่แข็งแกร่งทั่วทั้งองค์กรเช่นกัน
ปัจจุบัน CRO ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่ใช่ทางการเงินที่มากขึ้นท่ามกลางแรงกดดันในการเพิ่มผลกำไร สภาพแวดล้อมความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันเช่นการเข้ามาของโซเชียลมีเดียและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มแรงกดดันและข้อกำหนดใหม่ๆ ให้กับ CRO อีกครั้งทำให้ CRO ต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
จากงานวิจัยของ McKinsey จากการสัมภาษณ์เชิงลึกและสำรวจ CRO ปัจจุบันและอดีตมากกว่า 30 รายของสถาบันการเงินหลักทั่วโลก โดยแต่ละรายมีประสบการณ์ในบทบาทนี้มาอย่างน้อย 5 ปี พบว่า CRO ที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันต้องมี 6 นิสัยสำคัญดังนี้:
1. กำหนดวิสัยทัศน์และส่งเสริมวัฒนธรรมที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่ชัดเจน: การเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ CRO เพื่อชี้นำทีมและองค์กรให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง จุดมุ่งหมายนี้ต้องไปไกลกว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเดียว แต่รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความตระหนักและความรับผิดชอบต่อความเสี่ยง แต่ต้องเชื่อมโยงกับกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร
สิ่งสำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนในองค์กรรู้ถึงความเสี่ยงและพร้อมที่จะรับมือกับมันได้อย่างมีวินัยและรอบคอบ เช่น การแบ่งปันเรื่องราวประวัติศาสตร์ขององค์กรในการจัดการความเสี่ยงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานเข้าใจว่าความเสี่ยงไม่ใช่เพียงหน้าที่หนึ่ง แต่เป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่องค์กรทำในทุกวัน
2. สร้างและพัฒนาผู้นำรุ่นต่อไป: CRO ที่ประสบความสำเร็จรู้ดีว่าการจัดการความเสี่ยงที่ดีต้องอาศัยทีมที่หลากหลายและพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต พวกเขามุ่งมั่นสร้างทีมที่มีความหลากหลายทั้งด้านความคิด ประสบการณ์ และภูมิหลัง โดยการสลับบทบาทของพนักงานระหว่างสายงาน เพื่อเพิ่มมุมมองและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้นำในอนาคต นอกจากนี้ การเปิดรับและให้ข้อเสนอแนะอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทีมเติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
3. นำด้วยการมีส่วนร่วม: CRO ต้องก้าวข้ามบทบาทของการเป็นเพียงผู้แจ้งข้อมูล แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้บริหารและที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ของคณะกรรมการ การมีส่วนร่วมกับผู้บริหารระดับ C-suite และคณะกรรมการ ช่วยให้การบริหารความเสี่ยงและความยืดหยุ่นขององค์กรนั้นสอดคล้องกับพันธกิจและเป้าหมายโดยรวมขององค์กร และยังสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอและเปิดโอกาสให้เกิดการโต้เถียงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้
4. สร้างความร่วมมือกับผู้นำองค์กร: CRO ต้องมองผู้นำองค์กรในฐานะพันธมิตร ไม่ใช่คู่ต่อสู้ การทำความเข้าใจเป้าหมายและข้อกังวลของผู้บริหาร ความโปร่งใสและการเตรียมข้อมูลที่ครบถ้วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
5. มุ่งเน้นสิ่งที่ CRO เท่านั้นที่ทำได้: CRO ที่ประสบความสำเร็จมุ่งเน้นบทบาทเฉพาะที่ตนเองเท่านั้นที่ทำได้ โดยใช้มุมมองครอบคลุมทั้งองค์กรเพื่อตรวจจับความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อความยืดหยุ่น รวมถึงนำเสนอวิสัยทัศน์ระยะยาวและจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อจัดการความเสี่ยง
ซึ่งต้องอาศัยข้อมูล ข้อเท็จจริง และการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อให้ภาพรวมที่ปราศจากอคติ แม้บางครั้งต้องเผชิญกับความไม่เป็นที่นิยม CRO จึงต้องมีความกล้าหาญ ยืนหยัด และเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและรับมือกับวิกฤตในอนาคต พร้อมทั้งบริหารทรัพยากรให้ตอบโจทย์กลยุทธ์ระยะยาวขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
6. พัฒนาตนเองและบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ: CRO ต้องไตร่ตรองถึงประสิทธิภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ จัดการเวลาและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ละเลยความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว และสร้างเครือข่ายที่ให้ปรึกษาและเพื่อนร่วมงาน จะช่วยให้ได้รับข้อมูลที่ทันสมัยและมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
CRO ในยุคปัจจุบันต้องเป็นมากกว่าผู้จัดการความเสี่ยง แต่ต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการพัฒนาทีม มีส่วนร่วมกับผู้บริหาร และพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เข้ามา การสร้าง CRO ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
อ้างอิง: mckinsey
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด