ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกที่มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยไทยติดอันดับ 6 ของโลก ที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด คิดเป็นปริมาณราว 1.3 ล้านตันต่อปี ทำให้ในปี 2018 ภาครัฐได้ออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) มองว่า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทย ควรรับมือด้วยการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น bioplastic ซึ่งเราได้เริ่มเห็นเทรนด์การเพิ่มสัดส่วนการผลิต bioplastic และลดสัดส่วนการผลิตพลาสติกที่ยากต่อการนำมา recycle ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาจหาช่องทางในการผลิตผลิตภัณฑ์หรือภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้ชนิดอื่นทดแทนพลาสติก เช่น หลอดดูดน้ำจากสาหร่ายทะเลหรือผลิตจากข้าว ช้อนกินได้จากแป้งสาลี เป็นต้น
ขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำทั่วโลกประมาณปีละ 8 ล้านตัน โดยไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก Ocean Conservancy ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ศึกษาเรื่องการรักษาทรัพยากรทางทะเลคาดการณ์ว่า ขณะนี้ มีขยะพลาสติกไหลเวียนอยู่ในมหาสมุทร ทะเล และแหล่งน้ำทั่วโลกถึงกว่า 150 ล้านตัน สะสมต่อเนื่องจากปี 1950 ซึ่งปริมาณขยะดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกจากการจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ประสิทธิภาพและอัตราการนำพลาสติกไปรีไซเคิลที่ต่ำโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เป็นผลให้ขยะพลาสติกจำนวนมากไหลลงแหล่งน้ำ ออกสู่ทะเลและมหาสมุทรในที่สุด
สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษประมาณการว่า ขยะพลาสติกในไทยมีประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกกำจัดหรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ก็มีอีกราว 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล ทั้งนี้จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์เจียในปี 2015 พบว่าประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 6 ที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดรองจาก จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา ซึ่งขยะพลาสติกของไทยที่พบได้มากที่สุดในทะเล ได้แก่ ถุง(13%) หลอด(10%) ฝาพลาสติก(8%) และภาชนะบรระจุอาหาร (8%)
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 7 ชนิดภายในปี 2025 ซึ่งภาคเอกชนไทยได้เริ่มยกเลิกการใช้พลาสติกไปแล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2018 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกได้พิจารณาแผนปฏิบัติการลดและเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) จำนวน 7 ชนิด โดยวางเป้าหมายเป็นช่วงเวลา ระหว่างปี 2019-2025 ดังนี้
การเริ่มยกเลิกการใช้พลาสติกตั้งแต่ปี 2019 ประกอบด้วย
ในขณะที่ ภาคเอกชนไทยบางส่วนได้เริ่มยกเลิกการใช้พลาสติกแล้ว ตัวอย่างเช่น เครือ Anatara ที่เริ่มยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2018 เป็นต้นไป ตามนโยบายลดขยะพลาสติกของโรงแรม นอกจากนี้ร้านกาแฟ Starbucks ที่มีสาขาทั่วโลก ได้ประกาศเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2018 ที่จะเลิกใช้หลอดพลาสติกของทุกร้านภายในปี 2020
จากการกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกทั้ง 7 ชนิด พลาสติก LLDPE จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากถูกนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติก และฟิล์มสำหรับบรรจุภัณฑ์กว่า 55% ของการนำ LLDPE ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด
นอกจากนี้ LLDPE ยังเก็บเข้าสู่ระบบจัดการขยะยาก เพราะ LLDPE เป็นพลาสติกประเภทฟิล์มที่มีความอ่อนตัว เป็นอุปสรรคต่อการกำจัดเนื่องจากพลาสติกอ่อนนี้ติดอยู่ในล้อและเกียร์ ซึ่งสามารถทำลายเครื่องจักรสำหรับคัดแยกขวดกระป๋องและกระดาษในโรงงานแยกขยะ อีกทั้งยังยากต่อการนำกลับมาผลิตใหม่ เนื่องจากการนำไปใช้ครั้งแรกจะมีการพิมพ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์และโลโก้บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจากนโยบายลดและยกเลิกการใช้พลาสติกของไทย รวมถึงของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน และออสเตรเลีย คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลาสติกLLDPE มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงจากที่เคยเติบโตราว 5% ต่อปี ระหว่างปี 2010-2017 เหลือเพียง 1% ต่อปี
นอกจากนี้ ต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากต้องหาวัตถุดิบชนิดใหม่มาใช้ทดแทนพลาสติกของเดิมที่ถูกยกเลิกไป โดยจำเป็นต้องใช้งานได้เทียบเคียงวัสดุเดิมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการผลิตหลอดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เองจะสูงกว่าต้นทุนหลอดพลาสติกแบบดั้งเดิมอยู่ราว 1 เท่า นอกจากต้นทุนวัตถุดิบแล้ว ผู้ผลิตอาจต้องลงทุนในด้าน R&D เพื่อพัฒนาวัสดุที่เหมาะกับการใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการจะผลิตเอง อีกทั้งอาจต้องลงทุนในด้านการสื่อสารทางการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงคุณสมบัติโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การห้ามใช้ single-use plastic สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สามารถรีไซเคิลพลาสติกประเภท PET เพราะเป็นพลาสติกประเภทนำมาผลิตใหม่ได้ (re-material) เช่น พลาสติกประเภท PET ที่นำไปผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติก สามารถนำไปผ่านกระบวนการ Depolymerization เพื่อให้แตกตัวเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือ monomer ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็น polymer เพื่อสร้างเป็นพลาสติกใหม่ได้ หรือที่เรียกกระบวนการนี้ว่า Repolymerization โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ขวดน้ำพลาสติกถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกเป็น 100 ครั้ง
การเก็บพลาสติกชนิดดังกล่าวกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือการนำมาใช้ซ้ำ จึงสร้างโอกาสให้ทั้งผู้ผลิตพลาสติก PET รวมถึงธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก PET ดังจะเห็นได้จากบริษัท Loop Industry, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่มีความชำนาญด้านการรีไซเคิลพลาสติก PET โดยมีนวัตกรรมของตัวเองในการผลิตพลาสติกโพรีเอสเตอร์เรซินที่มีความบริสุทธิ์สูงพอที่จะนำไปใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร
ทั้งนี้ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลก ได้ร่วมหุ้นกับบริษัทดังกล่าวผ่านบริษัทย่อยของตนในสหรัฐฯ เพื่อตั้งบริษัท Indorama Loop Technologies, LLC โดยคาดว่าจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาผลิต บรรจุภัณฑ์ให้แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกได้ราวไตรมาสแรกของปี 2020
EIC มองว่า ผู้ประกอบการควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น bioplastic และเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก
ปัจจุบันมีพลาสติกเพียงประเภทเดียวที่สามารถนำกลับมา re-material ใหม่ได้ คือ PET ส่วนพลาสติกประเภทอื่นยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดีเท่า PET ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมีย่อมได้รับผลกระทบจากเทรนด์และมาตรการยกเลิกการใช้พลาสติก ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่จะต้องหาวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น bioplastic ที่ทำมาจากอ้อย และมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น 1 เท่าเป็นอย่างน้อยจากการเปลี่ยนไปผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจส่งผ่านไปยังผู้ซื้อได้บ้าง เช่น ผู้ซื้อในกลุ่มร้านอาหารที่ใช้หลอด กล่องใส่อาหารพลาสติก หรือร้านค้าปลีกที่ใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะต้องรับมือกับราคาของบรรจุภัณฑ์จากวัสดุใหม่ที่สูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตแบบnon-plastic เช่น กระดาษ ข้าว สามารถหาช่องทางในการเจาะเข้าสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารได้ เช่น ถุงกระดาษใส่น้ำตาล หลอดที่ทำจากข้าวหรือกระดาษ เป็นต้น
ภาพ Cover จาก Dustan Woodhouse/ Unsplash
ขอบคุณบทวิเคราะห์จาก EIC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด