เจาะลึกตลาด E-Commerce แดนมังกร สมรภูมิที่ชิงชัยด้วย Ecosystem จาก Oscar Ramos แห่ง Chinaccelerator | Techsauce

เจาะลึกตลาด E-Commerce แดนมังกร สมรภูมิที่ชิงชัยด้วย Ecosystem จาก Oscar Ramos แห่ง Chinaccelerator

หากจะพูดถึงตลาด E-commerce ขนาดใหญ่ที่น่าสนใจที่สุดในนาทีนี้ คงหนีไม่พ้นตลาด E-commerce ในประเทศจีน ทั้งจากจำนวนเม็ดเงินที่หมุนเวียนและรูปแบบการแข่งขันที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งยากที่จะเจาะและประสบความสำเร็จ แต่ทั้งนี้ การบุกตลาดแดนมังกรก็ยังเป็นที่สนใจจาก Startup ต่างชาติจำนวนมาก ในงาน Techsauce Global Summit 2018 จึงได้จัด Session ที่เผยเบื้องลึกอันเข้มข้นของ E-commerce ในประเทศจีน จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงอย่าง Oscar Ramos, Partner & Program Director ของ Chinaccelerator มาฝากทุกท่านกัน

Oscar เกริ่นนำว่า เขามาอยู่ประเทศจีนตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน ในสมัยนั้น การบริการทางการเงินยังเป็นแบบ Offline อย่างมาก ยกตัวอย่างการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ ยังต้องพึ่งพาบริการ Cash on Delivery หรือรับส่งเงินสดอยู่ แต่เพียงเวลาไม่นาน จีนก็พัฒนาด้านวิธีการใช้จ่ายเงินชนิดก้าวกระโดด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญของตลาด E-commerce ในประเทศจีน และส่งให้จีนกลายเป็นผู้นำด้าน E-commerce ของโลก

ไม่เพียงแต่ Platform และเทคโนโลยีที่ปรับปรุงใหม่ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคก็มีส่วนผลักดันให้ตลาดเติบโตอย่างที่เห็น จากเดิมที่ E-commerce จีนจะเน้นการขายแบบ C2C ซึ่งได้สินค้ามีคุณภาพในราคาถูก แต่งานบริการมักไม่คงเส้นคงวา แต่เมื่อคนรุ่นใหม่ที่มี Mindset เน้นสินค้าที่มีคุณภาพควบคู่บริการที่ดี จึงหันไปใช้บริการซื้อขายใน Platform ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งการันตีคุณภาพของงานบริการได้ดีกว่านั่นเอง

ผู้บริโภคจีนปัจจุบันมีลักษณะเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ แต่เข้าใจความต้องการของตัวเองเป็นอย่างดี จึงทำให้ Platform ต่างๆ เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หากดูแล้วจะพบว่า Platform ต่างๆ ในประเทศจีนล้วนตกเป็นของยักษ์ใหญ่ด้าน IT 2 รายของประเทศจีน ซึ่งก็คือ Tencent และ Alibaba

ด้วยการครอบครอง Platform จำนวนมาก ทำให้ Tencent และ Alibaba มี Ecosystem เป็นของตัวเอง การขับเคี่ยวของทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่ในเวลานี้ จึงกลายเป็นสงครามที่สู้กันด้วย Ecosystem อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งคุณ Oscar ระบุว่าการแข่งขันด้าน Ecosystem ของจีนนั้นรุนแรงมาก ถึงขนาดปิดกั้น Ecosystem ของตัวเอง ไม่ให้เข้าถึง Platform ของอีกฝ่ายเลยทีเดียว

แต่ทั้งนี้ การครองครอง Ecosystem ก็ไม่ใช่วิธีประสบความสำเร็จใน E-commerce เสมอไปคุณ Oscar ยกตัวอย่างถึง Pin Duo Duo แอปพลิเคชันด้าน E-commerce ที่เติบโตเร็วที่สุดในจีนเวลานี้ โดยใช้วิธีที่แตกต่างออกไปอย่าง Social E-commerce ซึ่งใช้การนำเสนอสินค้าโดย Influencer ใน Social Media จากนั้นก็ปล่อยช่องทางจำหน่ายสินค้านั้นๆ ให้กับผู้บริโภค นับเป็นการร่วมช่องทางการโฆษณาและการขายไว้ในที่เดียว

นอกจากนี้ E-commerce จีนยังนิยมเล่นกับเทศกาลที่ค่อนข้าง Niche เช่นเทศกาลคนโสดตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่เริ่มต้นจากกลุ่มวัยรุ่นในมหาวิทยาลัย ซึ่ง Alibaba เคยทำแคมเปญนี้ในระดับประเทศและประสบความสำเร็จอย่างมาก

ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้ในประเทศจีน มีการซื้อของออนไลน์ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ โดยส่วนใหญ่จะซื้อผ่าน Smartphone เป็นสัดส่วนสูงกว่า PC และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

นอกเหนือจาก Tencent และ Alibaba แล้ว ยังมีบริษัทจากประเทศจีนที่ทำรายได้ติดอันดับโลก ทั้งยังมีบริการที่น่าสนใจ ได้แก่ Toutiao เว็บ Media ที่ใช้ AI Recommendation จัดเนื้อหาข่าวให้แต่ละคน, Meituan Duanping เว็บไซต์ E-commerce แบบ Offline to Online และ Didi Chuxing ผู้ให้บริการ Ride-Hailing อันดับ 2 ของโลก

ในด้านดี ประเทศจีนนับว่าตลาดมีความพร้อมรองรับการแข่งขันด้าน E-commerce แต่ในด้านเสียก็ต้องยอมรับว่าผู้ให้บริการในประเทศยังมี Unfair Advantage เหนือกว่าผู้เข้าแข่งขันใหม่ในประเทศอย่างมาก อีกทั้งยังเคยมีเคสกีดกันทางการค้ามากมาย ซึ่ง Oscar ให้ความเห็นว่า การจะป้องกันเรื่องนี้ จำเป็นต้องมี Partner ในประเทศจีนที่ดี ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในจีนอย่างราบรื่นและเป็นธรรมด้วย

ทั้งหมดนี้คือบทสรุป Keynote Session จากคุณ Oscar Ramos ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจในประเทศจีน โดยเฉพาะบทบาทปัจจุบันใน Chinaaccelerator ที่สนับสนุนทั้ง Startup ต่างชาติให้ลงทุนในประเทศจีน และ Startup จีนก้าวออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งเนื้อหานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเข้มข้นในงาน Techsauce Global Summit 2018 ที่น่าสนใจยังมีอีกมาก ซึ่งเราจะนำมาฝากในโอกาสต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...