Startup Ecosystem จีน ถึงจุดต่ำสุด นักลงทุนหาย startup เกิดใหม่น้อย | Techsauce

Startup Ecosystem จีน ถึงจุดต่ำสุด นักลงทุนหาย startup เกิดใหม่น้อย

‘จีน’ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นตลาดส่งออกสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดของนักลงทุน…แต่ในตอนนี้ประเทศมหาอำนาจแห่งนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่!

‘ขาลง’ คือนิยามสะท้อนภาพรวมตลาด VC ของจีน

"ทั้งอุตสาหกรรมมันพังลงไปต่อหน้าต่อตาเราแล้ว"

ผู้บริหารระดับสูงของกรุงปักกิ่งเผยว่า จีนเคยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนร่วมทุน (Venture Capita, VC) รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น 

โดยเฉพาะช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เมื่อบริษัทอย่าง Alibaba และ Tencent เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก จีนจึงเป็นเหมือนสถานที่แห่งความหวังของนักลงทุนและผู้ประกอบการในอดีต แต่ตอนนี้ความหวังเหล่านั้นก็เลือนลางลง ความสำเร็จในระดับนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

นี่คือตัวเลขจาก ที่บ่งชี้ว่าตลาดการลงทุนในจีน กำลังอยู่ในช่วงขาลง 

ปี 2018: การลงทุนของ VC เฟื่องฟู มีบริษัท Startup กว่า 51,000 แห่งที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีน

ปี 2023: ตัวเลขลดลงเหลือเพียง 1,200 แห่ง และดูเหมือนว่าจะลดลงอีกในปีนี้

Keyu Jin รองศาสตราจารย์จาก London School of Economics เปิดเผยว่าอุตสาหกรรม Startup มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศจีน และการไหลออกของการลงทุนจากทั่วโลกและการลดลงอย่างมากของมูลค่าบริษัทจีนจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ

สาเหตุหลักของวิกฤต VC ในจีน

วิกฤตในภาคส่วนนี้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งได้รับผลกระทบจาก

1. เศรษฐกิจชะลอตัว 

เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลกระทบระยะยาวของการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดจากโควิด-19 ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์แตก และตลาดหุ้นที่อ่อนแอ ส่งผลให้นักลงทุนจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ถอนตัวเนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น และบริษัทต่างๆ จึงเติบโตและดึงดูดการลงทุนได้ยากขึ้น

2. นโยบายทางการเมือง

ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง รัฐบาลได้เข้มงวดการควบคุมธุรกิจเอกชนมากขึ้น เช่น การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีที่ถือว่าผูกขาดหรือไม่สอดคล้องกับค่านิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการตรวจสอบเงินและการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการ หรือลงทุนในบริษัทได้อย่างอิสระ

Desmond Shum นักธุรกิจชาวฮ่องกง ผู้เขียนหนังสือ Red Roulette และอดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ชี้ว่า รัฐบาลได้ “ปิดกั้น” ภาคเอกชน โดยเขาอธิบายว่าปัจจุบันธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องเผชิญกับถูกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่สามารถย้ายเงินของตนไปยังต่างประเทศได้ กิจกรรมทางการเงินและคำแถลงต่อสาธารณะชนต้องได้รับการตรวจสอบอยู่เสมอ จนเหมือนกับว่า “เงินของพวกเขาคือเงินของประเทศ”

สรุปสถานการณ์ Startup ในจีน 

ตลาดการลงทุนที่เคยเป็นเหมือนสววรค์ ปัจจุบันมันกำลังล่มสลายเพราะนโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวด 

Startup มุ่งเน้นชำระหนี้สิน

หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนภาพของ Startup ของจีนได้เด่นชัดนั่นคือ เรื่องราวของ Jack Ma แห่ง Alibaba และ Pony Ma จาก Tencent สองดาวเด่นที่สร้างแรงบรรดาลใจให้กับเหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในจีนให้พวกเขาพยายามสร้างบริษัทและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้

ภายในสิ้นปี 2020 บริษัท Alibaba และ Tencent มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของการเติบโตอย่างรวดเร็วของทั้ง 2 บริษัท แต่ทว่าในเดือนพฤศจิกายน 2020 ความฝันอันยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการชาวจีนหลายคนเริ่มพังทลาย ปักกิ่งได้ยกเลิกการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ของ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของ Alibaba 

การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba ถูกทางการสอบสวน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการปราบปรามอุตสาหกรรมเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ทำให้การลงทุนในจีนคาดเดาได้ยากขึ้นมาก ตั้งแต่นั้นมาความกระตือรือร้นและความหวังในตอนแรกที่จูงใจให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มต้นธุรกิจใหม่จึงค่อยจางหายไป เพราะบริษัท Startup ใหม่ๆ ต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่ยุ่งยากยิ่งขึ้น

และบริษัท Startup ที่เคยให้คำมั้นสัญญากับนักลงทุนว่าจะซื้อหุ้นคืนหากบริษัทของพวกเขาไม่สามารถเข้าตลาดหุ้นหรือลงขายได้ภายในกำหนดที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลายบริษัทประสบปัญหาและล้มเหลว บริษัททุนร่วมลงทุน (VC) จึงเริ่มใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อพยายามเรียกคืนการลงทุนที่สูญเสียไปจากบริษัทเหล่านี้

ในเดือนสิงหาคม วารสารธุรกิจ Caixin รายงานว่า Shenzhen Capital Group ซึ่งเป็นบริษัททุนร่วมลงทุนใหญ่ของรัฐในจีน ได้ยื่นฟ้องร้อง 41 คดีตั้งแต่ปี 2023 ส่วนใหญ่เป็นคดีที่ฟ้องบริษัทที่ไม่สามารถเข้าตลาดหุ้นหรือลงทุนซื้อหุ้นคืนตามที่สัญญาไว้ ปัจจุบัน นักลงทุนหุ้นส่วนจำกัด (LP) กำลังกดดันบริษัทให้คืนเงินมากขึ้นเนื่องจากมีปัญหาทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ภาคส่วนเงินร่วมลงทุนจึงมุ่งเน้นไปที่การกู้หนี้คืน ปัจจุบันตลาด VC จึงมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือในประเด็นการชำระหนี้เหล่านี้

แหล่งเงินทุนที่ VC สามารถเข้าถึงได้ลดลง

การลงทุนจาก Venture Capital (VC) กำลังเผชิญความท้าทายในการหาทุนมากขึ้น นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนจีนกำลังถอนตัวออกจากจีน ทำให้ทุนที่สนับสนุนโดยรัฐมีบทบาทมากขึ้น

นักลงทุนคนหนึ่งกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นักลงทุนอเมริกันให้ความสนใจในกองทุนจีนมาก แต่ตอนนี้พวกเขาหลีกเลี่ยงกองทุนเหล่านี้ กองทุนที่รัฐสนับสนุนตอนนี้ครองตลาดประมาณ 80% ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่กองทุน VC ส่วนตัวมีบทบาทมากกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ขัดแย้งกับวิธีการลงทุนของ VC 

หลายบริษัทการลงทุนเริ่มมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในบริษัทการผลิต เนื่องจากถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่า ในปี 2023 มีการก่อตั้งบริษัท Startup ในภาคการผลิตขั้นสูงมากกว่า 30% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมาเมื่อสาขาที่ได้รับความนิยมมากกว่า ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค และการศึกษา

นอกจากนี้รัฐบาลปักกิ่งพยายามลดเงินเดือนที่สูงเกินไปในอุตสาหกรรมการเงิน ส่งผลให้หลายกองทุนการเงินมีความตั้งใจน้อยลงในการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงแต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง รัฐบาลได้กำหนดเพดานเงินเดือนสำหรับผู้จัดการกองทุนที่ประมาณ 407,000 ดอลลาร์ต่อปี และยังบังคับให้บางกองทุนลดค่าธรรมเนียมการจัดการลงครึ่งหนึ่ง

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หลายบริษัทลงทุนกำลังลดขนาดลง เช่น Source Code Capital ซึ่งลงทุนใน ByteDance ได้ลดพนักงานลง 50 คนจาก 150 คนในปีที่แล้ว ขณะที่กองทุนใหญ่ ๆ เช่น HongShan และ Hillhouse ก็ลดการดำเนินงานในจีนเช่นกัน สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้บริหารในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า…

“เมื่อก่อนอุตสาหกรรมนี้เป็นเหมือนกอริลลาหนัก 10,000 ปอนด์ แต่ตอนนี้เรากำลังลดขนาดลงเหลือแค่ชิมแปนซีเท่านั้น”

การพัฒนานวัตกรรมชะลอตัวลง

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เคยเจริญรุ่งเรืองของจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก กำลังประสบกับการลดลงอย่างรวดเร็ว นักวิจารณ์เตือนว่าสิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการนวัตกรรมในอนาคต

Sebastian Mallaby นักวิจัยอาวุโสที่ Council on Foreign Relations อธิบายว่าการมุ่งเน้นไปที่การชำระหนี้สินทำให้การพัฒนานวัตกรรมชะลอตัวลง และอาจทำให้จีนไม่สามารถเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีได้

ด้าน Jin จาก London School of Economics กล่าวเสริมว่าการที่บริษัทเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยนักลงทุนที่มีทักษะ มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และรู้วิธีบริหารจัดการธุรกิจได้ดี ซึ่งปัจจุบันจีนนั้นขาดทั้งเงินทุนและนักลงทุนที่มีทักษะ

แม้แต่พื้นที่ที่ปักกิ่งถือว่ามีความสำคัญมากต่อความมั่นคงของชาติ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและยา ก็ยังประสบปัญหาในการได้รับเงินลงทุน เงินทุนสำหรับ Startup ลดลงกว่า 60% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับจุดพีคในปี 2021

ส่งผลให้ผู้ประกอบการใหม่ๆ เริ่มต้นบริษัทโดยใช้เงินของตนเองหรือเงินกู้จากเพื่อนและครอบครัว แทนที่จะหานักลงทุนภายนอก และมุ่งเน้นไปที่การขายออนไลน์ โดยสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาไม่แพง แทนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ และนำไปขายบนแพลตฟอร์ม เช่น Amazon, Shein หรือ Temu เป็นต้น

แม้ว่าหลายภาคส่วนของเทคโนโลยีจะประสบปัญหาด้านการระดมทุน แต่บางนักลงทุนยังคงสนใจใน Humanoid Robots และรถ EV บินได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลปักกิ่งได้ให้การสนับสนุนตามนโยบายล่าสุด

อย่างไรก็ตาม การทำเงินจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องยาก หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำงานได้ดีเท่ามนุษย์ และแท็กซี่บินยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากการควบคุมพื้นที่การบินที่เข้มงวดของกองทัพจีน ส่งผลให้หลายกองทุนการลงทุนที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2010 กำลังมองหาโอกาสในต่างประเทศแทน

บริษัทต่างๆ เช่น HongShan, Hillhouse Investment, 5Y Capital, ZhenFund, DCM Ventures, Linear Capital, Shunwei Capital, Genesis Capital และ Qiming Venture Partners กำลังทุ่มเงินลงทุนนอกประเทศจีนมากขึ้น โดยพวกเขากำลังมองหาโอกาสในตลาดอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ผู้บริหารระดับสูงในเซี่ยงไฮ้แสดงความกังวลว่า อุตสาหกรรมการลงทุนในจีนอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ เขารู้สึกเหมือนกำลังติดอยู่ในเรือที่กำลังจม ขณะที่ต้องพยายามประคองสถานการณ์ให้ลอยน้ำ

จากความรุ่งโรจน์สู่ความท้าทาย

จีน เคยเป็นหนึ่งในตลาดการลงทุนที่น่าตื่นเต้นและเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก แต่ตอนนี้ประเทศมหาอำนาจแห่งนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดการลงทุนร่วมทุน (VC) ที่เคยเฟื่องฟู

สาเหตุหลักของวิกฤตนี้ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์แตก และความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายทางการเมืองที่เข้มงวดของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

แม้ว่าบางภาคส่วนยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น Humanoid Robots และรถบินได้ แต่การทำเงินจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องยาก ทำให้บริษัททุนร่วมลงทุนที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2010 กำลังมองหาโอกาสในตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งหลายบริษัท เช่น HongShan, Hillhouse Investment และ Linear Capital กำลังขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

ด้วยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จีนต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการฟื้นฟูและพัฒนานวัตกรรมในอนาคต ขณะที่นักลงทุนและบริษัทต่างๆ กำลังปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดการลงทุนระดับโลก

อ้างอิง: Financial Times

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ชี้เป้า 5 เทรนด์การใช้ AI (Agent) พาธุรกิจโต ในปี 2025 โดย Salesforce

เผยแนวโน้มการใช้ AI เพื่อสร้างการเติบโตด้านรายได้ให้ธุรกิจ และอัปเดตความก้าวหน้าในการพัฒนา AI Agent ให้ทำงานได้อัตโนมัติ (Autonomous) โดย Salesforce...

Responsive image

‘ธนวัต สุตันติวรคุณ’ CEO ผู้ผันสู่โลกอนาคตจากระบบการเงินดั้งเดิม นำทีม Bitazza Thailand เสริมความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัล

คุณธนวัต สุตันติวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด หรือ Bitazza Thailand แพลตฟอร์มนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย มาเผยมุมมองเกี่ยวกับการบริหารธุร...

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...