สำหรับวงการธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ตลาดส่งอาหารเดลิเวอรี่ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากในช่วงล็อคดาวน์เนื่องจากการส่งอาหารเดลิเวอรี่เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม และตลาดมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า จำนวนครั้งในการส่งอาหารเดลิเวอรี่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 78-84 ตลาดเดลิเวอรี่และร้านอาหารจึงเป็นตลาดที่ยังน่าจับตามองในปัจจุบัน
วันนี้เราจะมาดูกันว่าพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในวงการร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งในช่วงล็อกดาวน์และหลังล็อคดาวน์ และมี insight อะไรบ้างที่น่าสนใจ
1. “เดลิเวอรี่” “ส่งอาหาร” มีการเสิร์ชสูงสุดในช่วงล็อคดาวน์
อาจจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในช่วงล็อคดาวน์ สองธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากกว่าช่วงปกติคือการส่งอาหารเดลิเวอรี่ และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งถ้าหากเรามาดูคำค้นหา “เดลิเวอรี่”, “ส่งอาหาร”, “อาหารเดลิเวอรี่” และ “สั่งอาหารออนไลน์” คำค้นหาทั้งสี่ถูกค้นหาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม และถูกค้นหาสูงสุด ช่วงวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาใช้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงปกติ เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถออกหาซื้ออาหารได้ตามปกติ
2. “ร้านอาหาร” “ร้านกาแฟ” และ “คาเฟ่” ถูกค้นหามากขึ้นหลังล็อคดาวน์
ในทางกลับกัน ผู้บริโภคเสิร์ชหา “ร้านกาแฟ”, “คาเฟ่”, และ “ร้านอาหาร” ลดลงในช่วงล็อคดาวน์เนื่องจากไม่สามารถออกจากบ้านได้ โดยการค้นหาเริ่มลดลงในช่วงกลางเดือนมีนาคม และการค้นหาเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงปกติในปลายเดือนมิถุนายนเมื่อรัฐบาลประกาศผ่อนล็อคดาวน์
จาก insights ทั้งสองข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นผันแปรไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในช่วงล็อคดาวน์ไม่สามารถออกมาหาทานอาหาร กาแฟนอกบ้านได้ การส่งเดลิเวอรี่อาหารและเครื่องดื่มถึงหน้าบ้านด้วยบริการจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงได้รับความนิยม และเมื่อรัฐบาลประกาศคลายล็อคดาวน์ ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิต ทานอาหารข้างนอกบ้านเป็นปกติ
ที่น่าสนใจก็คือ การค้นหาเกี่ยวกับร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านกาแฟ มีคนค้นหาหลังล็อคดาวน์มากกว่าช่วงก่อนล็อคดาวน์ ( มกราคม - กุมภาพันธ์ ) เสียอีก นี่อาจจะบอกเป็นนัยว่า ผู้บริโภคต้องการออกมาผ่อนคลาย ทานอาหารข้างนอกบ้าน ไปร้านน้ำปั่นกับเพื่อนและครอบครัว เพื่อลดความเครียดจากการกักตัวอยู่บ้านนั่นเอง
3. คนค้นหา “ร้านกาแฟ”, “คาเฟ่”, และ “ร้านอาหาร” เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว
ในช่วงหลังการผ่านล็อคดาวน์ รัฐบาลประกาศวันหยุดยาวเพิ่มในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ระหว่างวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม, 26 กรกฏาคม - 1 สิงหาคม และ 9 - 15 สิงหาคม ในช่วงดังกล่าวมีการค้นหาเกี่ยวกับ “ร้านกาแฟ”, “คาเฟ่” และ “ร้านอาหาร” เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ หมายความว่าผู้บริโภคหันมาค้นหาเกี่ยวกับการทานอาหารข้างนอกบ้านมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะออกมาทานอาหาร ไปร้านคาเฟ่เพื่อพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว
4. อาหารยอดนิยมสำหรับคนไทย “หน่อไม้” ได้รับความนิยมขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงล็อคดาวน์ผู้อ่านนิยมทานอาหารอะไรกันบ้าง? “กากหมู”, “บราวนี่”, “หมูกรอบ” และ “หน่อไม้” ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และจำนวนการค้นหาลดลงในช่วงเวลาต่อไป
แต่ “หน่อไม้” โดยข้อมูลจากทางกูเกิ้ลเผยว่า อาหารที่มีส่วนผสมของหน่อไม้ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก โดยในประเทศไทย ความสนใจในการเสิร์ชหาหน่อไม้เพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม และความสนใจยังสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีวี่แววที่จะลดการค้นหาลงในช่วงนี้
5. หม้อทอดไร้น้ำมัน ความนิยมลดต่ำลง ผู้บริโภคยังต้องการกันอยู่ไหม?
หม้อทอดน้ำมันเป็นหนึ่งอุปกรณ์ทำอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา โดยการค้นหาเพิ่มสูงสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน เนื่องด้วยกระแสการทำอาหารด้วยหม้อทอดน้ำมันมาแรง บวกกับกระแสรักสุขภาพ จึงทำให้ผู้บริโภคต่างค้นหาเพื่อได้อุปกรณ์นี้มาใช้
อย่างไรก็ตาม หม้อทอดไร้น้ำมัน ดูเหมือนจะเป็นกระแสเพียงชั่วคราว การค้นหาของหม้อทอดไร้น้ำมันลดต่ำลง แล้วหม้อทอดไร้น้ำมันของคุณผู้อ่านล่ะ? ยังใช้มันอยู่หรือไม่?
และนี่ก็คือเทรนด์การค้นหาที่น่าสนใจในตลาดอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี เทรนด์อะไรที่จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอีกบ้าง เราต้องติดตามกันต่อไป
วิธีการเก็บข้อมูล
ข้อมูลข้างต้นอ้างอิงจาก Google Trends ซึ่งเป็นเทรนด์การค้นหาของผู้บริโภคในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงปัจจุบัน โดยการค้นหาวัดผลเป็นตัวเลข 0 - 100 โดย 100 คือมีผู้ค้นหามากที่สุด และ 0 คือมีผู้ค้นหาน้อยที่สุด
เรียบเรียงและค้นคว้าข้อมูลโดย กันต์พจน์ สุริวงศ์ Digital Marketer บริษัทสโตร์ฮับ (ระบบบริหารจัดการหน้าร้านสำหรับร้านค้าปลีกและร้านอาหาร & Beep Delivery ฟู้ดเดลิเวอรี่)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด