การพัฒนาเทคโนโลยีช่วยให้ชาวจีนรอดพ้นวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไร? | Techsauce

การพัฒนาเทคโนโลยีช่วยให้ชาวจีนรอดพ้นวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไร?

เริ่มต้นปี 2020 หลายประเทศในเอเชียต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ แต่ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น Video Conference อย่าง Zoom, Application สำหรับการแชทและการทำงานร่วมกันทางออนไลน์อย่าง Slack และแอปบริการส่งอาหารและสินค้าต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 

บริษัทและเจ้าของเทคโนโลยีต่างๆ พยายามหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้คนจีนหลายล้านคนผ่านช่วงเวลาที่วิกฤตนี้ เรื่องราวเหล่านี้เป็นกรณีศีกษาว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำทางและช่วยคนจีนฝ่าฟันอุปสรรค และใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรในช่วงที่มีการระบาดของโรค เราหวังว่ากรณีศึกษาต่างๆ เหล่านี้จะช่วยจุดประกายความคิดท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากท่านสนใจในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งในกรณีศึกษาเหล่านี้ สามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ อาลีเพย์ 

ช่วงที่ 1 – การทำให้ชีวิตกลับคืนสู่ปกติ

การใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19  ทั่วโลกนับเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างยิ่ง แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย บริษัทเทคโนโลยีต่างๆได้นำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยให้คนจีนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด  

ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน

การทำงานและการศึกษาผ่านออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงนี้  ในประเทศจีน บุคลากรหลายล้านคนใช้เครื่องมือในการทำงานร่วมกัน เช่น DingTalk ของอาลีบาบา, WeChat Work and Meeting ของเท็นเซ็นต์, Feishu ของไบต์แดนซ์ และ WeLink ของหัวเว่ย  เครื่องมือเหล่านี้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น โควตาสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมและระยะเวลาในการโทร, การตรวจสุขภาพออนไลน์ และโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง

  • ในวันที่ 5 มีนาคม มายแบงค์ (MYbank) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในเครือแอนท์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ได้เปิดตัวการบริการกู้ยืมเงิน “Contactless Loans” ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารของจีนและองค์กรชั้นนำกว่า 100 แห่ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกรกว่า 10 ล้านรายทั่วประเทศจีน ผ่านโมเดลการกู้ยืม “310” ซึ่งอาลีเพย์และมายแบงค์เป็นผู้บุกเบิก โดยใช้เวลาเพียง 3 นาทีในการยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และอนุมัติทันทีภายใน 1 วินาที โดยทุกขั้นตอนดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติ หรือ Zero (0) Manual Intervention นับเป็นช่องทางที่สะดวกรวดเร็วสำหรับผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขาของธนาคารด้วยตนเอง 

การใช้ชีวิต 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซึ่งก่อให้เกิดข่าวลือมากมายในโลกออนไลน์ Ding Xiang Yuan ผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ยอดนิยมของจีน ภายใต้การสนับสนุนของบุคลากรทางการแพทย์ ได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อนำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ บริการตรวจเช็คอัพร่างกายทางออนไลน์ และการจัดการกับข่าวลือเกี่ยวกับไวรัส COVID-19  นอกจากนี้ Yikuang ซึ่งเป็นบริการในเครือ WeChat ผลงานของนักพัฒนาอิสระ และแอป Sspai.com ก็ช่วยจัดทำแผนที่เพื่อระบุเคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันในพื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้ข้อมูลจากทางการจีน

การเล่นและเรียนรู้

นักเรียนนักศึกษาชาวจีนหลายล้านคนจำเป็นต้องหยุดอยู่บ้านเป็นเวลานาน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้พวกเขาไม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  นักเรียนนักศึกษากว่า 50 ล้านคนในเมืองต่างๆ กว่า 300 เมืองของจีนได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งริเริ่มโดย DingTalk และ Youku โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์กว่า 600,000 คนเปิดสอนวิชาต่างๆ ผ่านระบบไลฟ์สตรีม

ช่วงที่ 2 – การต่อสู้กับเชื้อไวรัส COVID-19 

ขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศจีนพยายามฟื้นฟูวิถีชีวิตให้กลับคืนสู่ปกติ บริษัทเทคโนโลยีของจีนได้นำเสนอนวัตกรรมที่เหนือชั้นในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส COVID-19  โดยใช้โซลูชั่นที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดและค้นหาวิธีการรักษาโรค เช่น

  • Damo Academy ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของอาลีบาบา ได้พัฒนาระบบวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจจับเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ผ่านการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งนักวิจัยได้ฝึกฝนโมเดล AI โดยใช้ข้อมูลตัวอย่างจากเคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันกว่า 5,000 ราย ช่วยให้ระบบสามารถระบุความแตกต่างในภาพ CT Scan ระหว่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19  กับผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วไป โดยมีความแม่นยำสูงถึง 96% 
  • อาลีบาบา คลาวด์ (Alibaba Cloud) เปิดให้สถาบันวิจัยของรัฐเข้าใช้งานระบบประมวลผล AI ของบริษัทฯได้ฟรี เพื่อช่วยเร่งขั้นตอนการจัดลำดับยีนของไวรัส การวิจัยและพัฒนายารักษาโรค และการคัดกรองโปรตีน  ขณะเดียวกัน ไป่ตู้ (Baidu) ก็ได้เปิดแพลตฟอร์ม Smart Cloud Tiangong IoT สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ยับยั้งการแพร่ระบาด  ส่วนเท็นเซ็นต์ก็ได้เปิดให้ใช้งานระบบ Supercomputing เพื่อช่วยให้นักวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาโรค
  • DJI ผู้ผลิตโดรนของจีน นำเอาโดรนที่ใช้ในการพ่นสารเคมีในภาคการเกษตรมาใช้ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อ  นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งลำโพงไว้กับโดรนเพื่อช่วยในการแจ้งเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุมในพื้นที่หนาแน่น และมีการบินโดรนที่ติดป้ายประกาศแจ้งเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน  รวมถึงมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนไว้บนโดรนเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชน ช่วยให้คณะแพทย์สามารถระบุเคสที่ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว
  •  มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ยได้รับบริจาคหน้ากากอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ และเงินบริจาค ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินงาน โดยผ่านแพลตฟอร์ม Shanzong สำหรับการตรวจสอบติดตามเงินและสิ่งของบริจาคโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัทสตาร์ทอัพ Hyperchain และ China Xiong'an Group  นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่ให้ความช่วยเหลือทางออนไลน์ Xiang Hu Bao ของแอนท์ไฟแนนเชียล ก็ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบติดตามการจ่ายเงินเคลมประกันอย่างรวดเร็ว หลังจากที่มีการเพิ่ม COVID-19  ไว้ในรายชื่อโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถเคลมประกันได้สูงสุด 100,000 หยวน (14,320 ดอลลาร์ หรือประมาณ 460,000 บาท)

ช่วงที่ 3 – เรื่องราวสนุกๆ และผ่อนคลาย

ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ใกล้จะถึงจุดเปลี่ยน ชาวจีนจึงเริ่มมองหาวิธีผ่อนคลายจากภาวะความเครียดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น 

  • ที่กรุงปักกิ่ง ผับมีชื่อว่า Jing-A Brewing Co. ยังเปิดให้บริการโดยรับเฉพาะออเดอร์ที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มกลับบ้าน และให้บริการส่งอาหารถึงบ้าน รวมถึงรีฟิลสำหรับลูกค้าที่นำเหยือกแก้วใส่เบียร์มาเอง บาร์แห่งนี้มีสองสาขาในกรุงปักกิ่งได้ขยายเวลาให้บริการจัดส่งอาหารเป็น 11.00 น. ถึง 23.00 น.  ลูกค้าสามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Meituan และทางผับก็ยังให้ส่วนลดพิเศษสำหรับบริการจัดส่งเบียร์อีกด้วย

สำหรับประเทศไทย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ร่วมมือกันในการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และ 5G เพื่อช่วยควบคุมวิกฤตการณ์ COVID-19  โดยมีการใช้ 5G เพื่อปรับปรุงความสามารถของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ และช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สรุป AI อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดย Eric Grimson ศาสตราจารย์จาก MIT

ภายในงาน MIT Bangkok Symposium - Unleashing AI: Transforming Industries, Empowering Futures ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร. Eric Grimson อธิการบดีฝ่ายวิชาการ จากสถาบันเทคโนโลย...

Responsive image

รู้จักเทรนด์ Brand Chem กลยุทธ์ TikTok 2025 การตลาดที่ต้อง ‘เป็นเพื่อน’ กับผู้บริโภค

สำรวจ TikTok What's Next Report 2025 และแนวคิด Brand Chem ที่เปลี่ยนการตลาดด้วยความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ครีเอเตอร์ และชุมชน TikTok พร้อมเทรนด์สำคัญที่ขับเคลื่อนปี 2025...

Responsive image

ชี้เป้า 5 เทรนด์การใช้ AI (Agent) พาธุรกิจโต ในปี 2025 โดย Salesforce

เผยแนวโน้มการใช้ AI เพื่อสร้างการเติบโตด้านรายได้ให้ธุรกิจ และอัปเดตความก้าวหน้าในการพัฒนา AI Agent ให้ทำงานได้อัตโนมัติ (Autonomous) โดย Salesforce...