บริษัท Teladoc ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ Telemedicine (เทเลเมดิซีน) เจ้าดังที่มีฐานอยู่ที่นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขว่ายอดการใช้งาน Telemedicine ทะยานพุ่งสูงขึ้น ถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19
แน่นอนว่า Teladoc ไม่ใช่เจ้าใหญ่เจ้าเดียวที่ออกมาเปิดเผยตัวเลขนี้ ก่อนหน้านั้นผู้ครองตลาดนี้จากประเทศจีนอย่าง Ping An Good Doctor ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ยอดการใช้งานการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบของ Ping An นั้น เพิ่มสูงขึ้นถึง 900% จากยอดผู้ใช้งานเดิม และแม้แต่ Telemedicine โดยโรงพยาบาลเอง อย่าง Cleveland Clinic ยังออกมาเปิดเผยว่าระบบต้องรับโหลดจากคนที่กังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสและต้องการปรึกษาผ่านทางออนไลน์แทบไม่ทัน จนระบบล่มกันเลยทีเดียว
Telemedicine หรือ Telehealth หรือ Online Medical Consultation หรือ ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือ ปรึกษาหมอออนไลน์ และอีกหลากหลายชื่อเรียก นั่นคือ ระบบการปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอล โทร หรือแชท ผ่านระบบที่มีการ encrypted data ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล PDPA, GDPR และเป็นไปตาม HIPPA compliance ซึ่งถือว่ามีความละเอียดอ่อนแตกต่างจากระบบของการแชทหรือวิดีโอคอลผ่านแอปพลิเคชันแชทพูดคุยทั่วๆ ไป เนื่องจากเป็นข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคล
เดิมตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้บริการ Telemedicine ทั่วโลกนั้นไม่ได้สูงนัก จากการเก็บข้อมูลของ Statista ในช่วงปี 2013 (7 ปีก่อน) มีผู้ใช้งานเพียงสามแสนรายทั่วโลก และสูงขึ้นเป็นหนึ่งล้านคนในปี 2015 และที่เจ็ดล้านคนในปี 2018
แน่นอนว่าสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ทำให้ยอดผู้ใช้งาน Telemedicine เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะช่วยลดโหลดการมาโรงพยาบาลของกลุ่มเสี่ยงน้อย เปลี่ยนให้กลุ่มนี้ปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์แทน เพราะหนึ่งในหน้าที่ของ Telemedicine นั้น ได้ช่วยในส่วนของการ Triage แยกการคัดกรองกลุ่มคนที่เสี่ยงน้อย ให้ไม่เคลื่อนย้ายตัวเองจากที่อยู่ โดยไม่จำเป็น, ช่วยคนไข้ในขณะที่ต้อง self-quarantine 14 วันให้มีที่พึ่งพา, ยังช่วยคลายความกังวลจากความเครียดในการรับข่าวสารอีกด้วย
และทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่รับศึกหนักอยู่หน้างาน ไม่ Burden มากไปกว่านี้ และเอาแรงไว้เพื่อต่อสู้กับเคสที่ติดเชื้อหรือเสี่ยงสูงจริงๆ
การลดโหลดของฝูงชนที่ไปกองกันที่โรงพยาบาล ย่อมเกิดประโยชน์ในแง่ Supply chain อีกด้วย เพราะทำให้แพทย์ไม่ต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันตนเอง (Personal Protective Equipment: PPE) ไปกับเคสความเสี่ยงต่ำ เราจำเป็นต้องลดการขาดแคลนอุปกรณ์เหล่านี้ให้มากที่สุด และสงวนอุปกรณ์ไว้ใช้กับเคสที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ในหลายประเทศ เริ่มมีหลายบริษัท Tech Startup ที่ผลิต ชุดตรวจ Antibody testing เพื่อหาภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ (ต่างจากการตรวจยืนยันว่าพบเชื้อไวรัส หรือ ตรวจ PCR) จับมือกับบริษัท Telemedicine เพื่อส่งชุดตรวจแบบ Direct to consumer ไปที่บ้าน โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจด้วยตนเอง แล้วปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอล เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลตรวจและการดูแลตนเอง ดังตัวอย่างเช่น Scanwell Health จากอเมริกา platform provider ผู้ให้บริการตั้งแต่แบบสอบถามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 ออนไลน์ พร้อม ส่ง Covid-19 test kit (โดยความร่วมมือกับจีน) ในชื่อ myLAB Box ส่งตรงถึงมือที่บ้าน แล้วทำทดสอบได้จากน้ำลาย หลังทราบผลสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านเทเลเมด โดย partner กับบริษัท Lemonaid health ผู้ให้บริการ Telemedicine
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Telemedicine โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คือ การที่คนไข้สามารถเคลมการปรึกษาแพทย์ผ่านออนไลน์ได้ด้วยประกันสุขภาพของบริษัทประกัน (reimbursement) ทั้งยังสามารถรับยาตามแพทย์สั่งได้ที่ร้านยาอีกด้วย (ต้องบอกว่า เดิมในอเมริกา ผู้ป่วยต้องถือใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านยาอยู่แล้ว ไม่ได้รอรับที่โรงพยาบาลเหมือนกับของไทย) ในอเมริกา มี Telemedicine เจ้าดังอยู่หลายเจ้า เช่น Teladoc, MD live, Doctor on Demand เป็นต้น ถึงแม้หลายๆ บริษัทยังเข้าไปหาเงินลงทุนและอยู่ในตลาดหุ้นด้วย แต่การร่วมจ่ายโดยบริษัทประกันสุขภาพ ก็เป็นแรงจูงใจอย่างมาก ที่ทำให้คนหันมาใช้บริการเทเลเมดิซีน
หลายท่านคงคิดใช่ไหมว่า ถ้าอย่างนั้น การออกค่าใช้จ่ายให้โดยบริษัทประกัน คงทำให้ยอดการใช้งานพุ่งสูงขึ้น เพราะคนไข้ไม่ต้อง self-pay แต่จากการเปิดเผยตัวเลขของ FAIR health พบว่า จริงๆ ยอดการเคลมประกันจากการใช้งานเทเลเมดในปี 2018 นั้น มีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดการเคลมประกันสุขภาพในอเมริกาทั้งหมด เนื่องจากคนไข้ยังอยากพบหมอแบบเจอตัวเป็นๆ มากกว่านั่นเอง และหมอหลายท่านก็ไม่ถนัดในการใช้ virtual care
แต่ในสถานการณ์ไวรัสครั้งนี้ กลับพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งทำให้แม้แต่หมอเองยังเกิด train shift หันมาเป็นแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาผ่านช่องทางนี้กันมากขึ้น และเป็นที่น่าจับตาว่า ถ้าหากภาวะนี้ผ่านพ้นไปแล้ว กลุ่ม early adoption ยังจะสามารถเป็น further adoption ต่อไปอีกหรือไม่
ไทยเราเอง เมื่อปี 2019 มีกระแสการพัฒนาระบบ Telemedicine โดยภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น สตาร์ทอัพไทย Chiiwii (ชีวี), Samitivej Virtual Hospital จากโรงพยาบาลสมิติเวช เป็นต้น ในสถานการณ์ Covid-19 ได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ในนาม ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ โดยในกลุ่มผู้ให้บริการเทเลเมดิซีน ก็ได้นำการให้บริการมาลงสนามจริง และมีการใช้งานเกิดขึ้นจริง จนยอดใช้งานพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การปรึกษาแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และนักจิตวิทยา ที่เป็นเคสเกี่ยวกับ Covid-19 นั้น บางสตาร์ทอัพเปิดให้บริการฟรี เพื่อหวังว่าจะช่วยลดภาระแพทย์ที่อยู่หน้างานได้ และคัดกรองจนได้เคสที่เสี่ยงจริงๆ เท่านั้น ส่งต่อไปที่โรงพยาบาล นับว่าการออกมาร่วมแรงร่วมใจของแพลตฟอร์มการให้บริการเทลิเมดิซีนครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการต่อสู้กับเชื้อไวรัส และสร้างปรากฏการณ์ให้กับเทเลเมดิซีนในไทย แม้ว่าบริษัทสตาร์ทอัพ ยังต้องรองรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบความปลอดภัยในการเก็บข้อมูล จำนวนเวลาในการใช้วิดีโอคอล รวมไปถึงบุคลากรในทีม แต่ก็ยังพร้อมใจช่วยกันสู้ศึกในครั้งนี้
หมอมองว่า นี่เป็นจุดดี ที่เราจะหันมาเห็นประโยชน์ของการปรึกษาแพทย์ทางไกลจริงๆ เสียที ว่าในความเสี่ยงความกลัวของใหม่นั้น มี Benefit beyond Risk หรือไม่ และเราช้าไม่ได้ เราต้องไว และใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะไวรัสไม่มีวันหยุดพัก
ส่วนศึกครั้งนี้จะกลายเป็นสงครามที่ไม่มีวันชนะของมวลมนุษยชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราร่วมมือกัน ไม่ใช่การฝากความหวังไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง
บทความพิเศษโดย
พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด