ย้อนรอย Crypto และ ICO ในประเทศไทย | Techsauce

ย้อนรอย Crypto และ ICO ในประเทศไทย

จากที่เราเคยคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนว่า Cryptocurrency ได้กลายเป็นกระแสสังคมขนาดใหญ่ที่ใครๆ ต่างพูดกัน ในที่นี้แน่นอนว่าไม่ใช่หมายถึงคุณสมบัติและความสามารถของการนำ Blockchain มาใช้ แต่คือการที่เราได้เห็นบรรดานักลงทุนรายย่อยทั้งหลายหันมาให้ความสนใจในเรื่องราคาที่ดีดพุ่งสูงขึ้นในช่วงปลายปีก่อน และฟองสบู่ก็แตกลงครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว (ซึ่งบางคนก็อาจยังไม่รู้ตัว หลายคนยังคงติดดอยอยู่จากเหตุการณ์ครั้งนั้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น) Cryptocurrency ที่ทั่วโลกรู้จักกันดีมากสุดคือ Bitcoin  และของสัญชาติไทยเราก็มีเช่นกัน ในบทความนี้เราจะพาไปย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

ก่อนอื่นสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคย ไปทำความรู้จักกับ Cryptocurrency คร่าวๆ กันก่อนว่าคืออะไร

คุณสถาพน พัฒนะคูหา CEO and Founder of SmartContract (Thailand) Co, Ltd., and BLOCK M.D. ได้ให้คำอธิบายของ Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) ว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างข้ึนโดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน” เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิใดๆ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วน Token Digital (โทเคนดิจิทัล) หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “กําหนดสิทธิ” ของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการ หรือกําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “คริปโทเคอร์เรนซี” ก็คือเงินคริปโต เช่น Bitcoin ทั้ง Cryptocurrency และ Token Digital สามารถเรียกเหมาๆ รวมกันได้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” เมื่อเป็นสินทรัพย์แล้วก็ย่อมต้องมีเรื่องของกฎหมาย Cryptocurrency เข้ามาเกี่ยวข้อง

สำหรับ Cryptocurrency ที่มีทีมงานอยู่ในไทย อาทิ

  • Zcoin โดยผู้ก่อตั้ง และ Core Developer คือ ปรมินทร์ อินโสม
  • OmiseGO (OMG) จาก Startup ชื่อดังสาย FinTech Omise
  • SIX.Network นำโดยผู้ร่วมก่อตั้ง Ookbee กลุ่มทุนเกาหลี YDM และ Computerlogy
  • Carboneum จาก Startup ผู้ร่วมก่อตั้ง StockRadar
  • Everex - EVX Token
  • JFinCoin โดยกลุ่ม Jmart
  • Cryptovation

ICO รูปแบบการระดมทุนที่ร้อนแรงที่สุดแห่งปี

ICO เป็นรูปแบบการลงทุนที่เปรียบเสมือนกองไฟที่ล่อทั้งนักลงทุนรายย่อย และ startup ทั้งตัวจริงตัวปลอมแห่กันเข้ามามากที่สุดในประวัติการเท่าที่เคยมีรูปแบบการลงทุนเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ เรามาย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรากันดีกว่า

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า ICO คืออะไร

ICO คือ Initial Coin Offering ซึ่งเป็นวิธีในการระดมทุนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของของโปรเจกต์ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain โดยเอา coin/token ของระบบมาขายให้กับคนทั่วไป (offering) #แล้ว coin คืออะไร เกี่ยวอะไรกับบลอคเชน? สามารถศึกษาต่อได้ที่ มารู้จักกับ ICO ทางเลือกใหม่ในการระดมทุน

ICO ในไทยมีอะไรบ้าง?

OmiseGO

ที่ระดมสำเร็จก่อนเป็นรายแรกของไทยคือ OmiseGO (OMG) หลังจากที่ Omise ที่เป็น ระบบ Payment Gateway ก่อตั้งขึ้นโดย Jun Hasegawa ชาวญี่ปุ่น และ ดอน–อิศราดร หะริณสุต ในช่วงปี 2013 ผ่านไป 4 ปี ช่วงเดือนมิถุนายน 2017 ก็แตกไลน์ธุรกิจใหม่ นำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ พัฒนาบริการอยู่บน Ethereum อีกที เปิดตัวระดมทุนผ่านทาง ICO ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ภายใต้ชื่อ OmiseGo เครือข่ายที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง ค่าธรรมเนียมที่สูงและการทำธุรกรรมการเงิน โดย OmiseGO มาพร้อมแนวคิดที่สามารถแลกเปลี่ยนเงินหรืออะไรก็ตามที่มีมูลค่า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคาร (Unbank the Banked) โดย OmiseGo จะใช้ token ที่ชื่อ OMG เป็น Cryptocurrency ของเครือข่ายนี้ OmiseGo สามารถระดมทุนไปได้สูงถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (780 ล้านบาท)

ในช่วง Q2 ของปี 2017 นั่นเอง ในช่วงเดือนมีนาคม 2018 OmiseGo ประกาศจับมือ Global Brain VC จากประเทศญี่ปุ่น เปิดพื้นที่สำหรับนักพัฒนาและผู้ประกอบการ Tech Startup ที่กำลังพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี Blockchain โดยเฉพาะในชื่อ Neutrino (นิวทรีโน่) จากนั้นในเดือนเมษายน 2561 OmiseGO ได้ทำ MoU กับ Shinhan Card บริษัทใน เครือของ Shinhan Financial Group ผู้ให้บริการด้านการธนาคารและการชำระเงินชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้ นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ โดยแพลตฟอร์ม OmiseGO ซึ่งจะทำงานร่วมกับพลาสม่า (Plasma) ถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นแพลตฟอร์มแบบสาธารณะที่สร้างอยู่บนอิทีเรียม (Ethereum)

SIX.network

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา คนในวงการอุตสาหกรรมดิจิทัลครีเอทีฟในประเทศไทยก็ได้รู้จักกับ ICO ตัวใหม่ที่เกิดขึ้นและร้อนแรงไม่แพ้กันกับ SIX network ด้วยความร่วมมือกันของ Ookbee U, Yello Digital Media และ Computerlogy พร้อมระดมทุน ICO ในชื่อ ‘SIX’ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในวงการดิจิทัลคอนเทนต์ โดย SIX จะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับ Creative Workers และ Creative Supplychain เปิดให้ Pre-Sale ไปแล้วในช่วง 3-20 เมษายน 2018 ผ่านไปเพียงสองเดือนเท่านั้น ก็ได้ปิดการจำหน่ายลง โดยนายวัชระ เอมวัฒน์ Co-CEO, SIX Network เปิดเผยว่าการเปิดระดมทุนในครั้งนี้ มีนักลงทุนจาก 61 ประเทศทั่วโลก สามารถจำหน่าย SIX Token ได้ครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 520 ล้าน ถือเป็นยอดการระดมทุนที่สูงที่สุดในรูปแบบของ ICO ในไทย ทั้งนี้ต้องรอดูวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้นักลงทุนต่อ โดยล่าสุดได้เปิดตัว SIX Wallet แล้ว

และอย่างที่คุณสิทธิพล พรรณวิไล เจ้าของเว็บไซต์ Nuuneoi.com เคยกล่าวใน วิธีเลือก ICO น้ำดี ในวันที่บริบทกฎหมายไทยยังไม่ชัดเจนกับ Cryptocurrency ว่า จริงๆ แล้ว ICO ทั้งตลาดมีความเสี่ยงมาก บริษัทที่เปิดระดมทุนแบบ IPO เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่รายงานในตลาดหลักทรัพย์ได้ทั้งหมด แต่ ICO ข้อมูลทุกอย่างมันอยู่ใน Whitepaper เล่มเดียว เราไม่รู้เลยว่า Product จะเป็นอย่างไรในอนาคต และถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงแล้วก็ไม่รู้ได้ว่า Product ประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ Blockchain เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือไม่

จึงไม่แปลกที่จะมีดราม่าในวงการนี้เกิดขึ้น เพราะมีทั้งคนต้องการระดมทุน แต่ไม่ได้มีธุรกิจรองรับจริงเบื้องหลัง

ดราม่าในวงการ

กระบวนการภาครัฐ

เมื่อเทคโนโลยีมา ด้านภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย ก.ล.ต. ได้เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา พร้อมกับมีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นถึง 2 ครั้ง คือ เรื่อง ICO ถึง 15 ธันวาคม และ ถึง 22 มกราคม 2018 จนในที่สุดก็ออกมาเป็น ก.ล.ต. ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ผ่าน ICO และการให้ความเห็นชอบ ICO Portal เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้การได้รับอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจาก ก.ล.ต. ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการที่ระดมทุน ราคา หรือผลตอบแทน ผู้ลงทุนยังมีโอกาสขาดทุนหรืออาจมีช่องทางการเปลี่ยนมือโทเคนดิจิทัลที่จำกัด ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนและแน่ใจว่า สามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ก่อนตัดสินใจลงทุน

ช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนดี ก.ล.ต. ออกประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแล “สกุลเงินดิจิทัล” เพิ่มเติม พร้อมทั้ง เผยแนวทางกำกับ ICO อนุญาตแลกเปลี่ยนเงินบาทกับ 7 Cryptocurrency ล่าสุดแบบสดๆ ร้อนๆ ในเดือนสิงหาคม 2018 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับ 8 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารธนชาต, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จํากัด เปิดตัวโครงการ “อินทนนท์” ทดสอบระบบ Blockchain ต้นแบบของการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลจําลองที่ออกโดยธนาคารกลาง (Wholesale Central Bank Digital Currency: Wholesale CBDC) บนแพลตฟอร์ม Corda ของบริษัท R3 อีกทั้งเปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ก. มีผลใช้บังคับที่ได้ยื่นขออนุญาตตามบทเฉพาะกาล และสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จำนวน 7 ราย ได้แก่ BX, BITKUB, Cash2coin, TDAX, Coin Asset, Coins TH และ ThaiWM ส่วน JIB ที่เพิ่งมาลุยตลาด Cryptocurrency ด้วยการเปิดตัวบริษัท JIBEX (จิ๊บเอ็กซ์) ที่เปิดตัวเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการลงทุนและซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ก็คงต้องรอกฎหมายอนุมัติจากหน่วยงานที่ดูแลต่อไป

Update : 07/01/19 กลต เผยรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล Digital Asset 4 รายแล้ว

กรณีศึกษาของแบรนด์ไทยที่เปิดรองรับการใช้เงินผ่าน Cryptocurrency

เริ่มมีแบรนด์ที่สนใจเปิดรับการชำระเงินผ่าน Cryptocurrency อย่าง Major Cineplex แต่การรองรับสกุลเงินดิจิทัลยังคงเป็นสกุลเงินใหญ่ๆ ในต่างประเทศอย่าง BTC, BCH และ LTC ด้านธนาคารกรุงศรีเองก็มีแผนที่จะเปิดให้บริการบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Cryptocurrency ทั้งนี้ก็ยังอยู่ในช่วงศึกษากฏระเบียบของทาง กลต. ควบคู่กันไป

ในส่วนของ Startup ที่ต้องการระดมทุน ICO คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เคยให้สัมภาษณ์กับทาง Techsauce ไว้ว่า “ถ้าอยากจะทำจริง White Paper ที่ทำขึ้นมาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ส่วนของ ICO จริงๆแล้วไม่ยากเลย ขอแค่มี White Paper ดี Marketing ต้องมีดี เวลาจะทำ ICO ก็ต้องออกไปประกาศในตลาดว่าฉันทำ ICO และขอเตือนว่าตลาดนี้ไม่มีอะไรแน่นอน มันเป็นตลาดใหม่และเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้าใครที่โดนและมีผลกระทบ แน่นอนว่าถ้าคุณได้เงินไปแล้ว รัฐเกิดกำกับดูแลขึ้นมา ไม่คืนเงินอย่างประเทศจีนตอนนี้ ความลำบากเกิดขึ้นทันทีจริงๆ อยากให้ Startup ดูสถานการณ์ก่อนสักช่วงนึง ยังให้เน้นการลงทุนที่เป็นแบบตรงๆ Equity ในลักษณะเดิมไปก่อน ดูท่าทีของ ICO เพราะสถานะตอนนี้เมื่อเดือนที่ผ่านมา พุ่งลงไปหมดเลย มันมีความเสี่ยง รัฐบาลสั่งปิดไปหมดเลย” ด้านคุณ Jun Hasegawa, CEO ของ Omise ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “อย่าคิดว่าจะได้หาเงินง่ายๆ จาก ICO, อย่าพยายามใช้ระบบ blockchain เพื่อจะระดมทุนผ่าน ICO, อย่าประมาทพลังของ community นี้, ควรวางแผน และคิดให้รอบคอบก่อน”

สำหรับท่านที่ต้องการเข้ามาเป็น “ผู้ซื้อ” ในวงการนี้ เราขอให้ท่านศึกษาโมเดล และ White paper ให้ดี ที่สำคัญคือการดูทีมงานให้ละเอียดถี่ถ้วน ทั้ง Core team และ Adviser team

หมายเหตุจาก Techsauce: การลงข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ICO และ Cryptocurrency เป็นไปเพื่ออัพเดทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การชี้ชวนให้ลงทุนแต่ประการใด การลงทุนในช่องทางดังกล่าวเป็นวิจารณญาณและการตัดสินใจของผู้อ่านข่าวเอง “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...