ถอดรหัส Cyborg Health เทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ แห่งโลกอนาคตจาก MIT Media Lab | Techsauce

ถอดรหัส Cyborg Health เทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ แห่งโลกอนาคตจาก MIT Media Lab

จากการแพร่กระจายของโควิด-19 ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และหันมาดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นรวมถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามสุขภาพของตนเอง ปัจจุบันทางการแพทย์มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ประกอบการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งนักวิจัยจาก MIT Media Lab ยังศึกษาเทคโนโลยี Cyborg Health หรือการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเข้ากับมนุษย์เพื่อพัฒนาการรักษาสุขภาพในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงเปิดเผยแนวคิดการนำ Cyborg Health มาใช้รักษาสุขภาพของมนุษย์ในงานสัมมนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับภูมิภาค MIT Media Lab Southeast Asia Forum 2022 หัวข้อ Cyborg Health: From Dream Engineering to Nano-Robotics

วิทยากรจาก MIT Media Lab 

  • Pattie Maes ศาสตราจารย์ด้าน Media Arts & Sciences ของ MIT ผู้นำด้านการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interaction) และปัญญาประดิษฐ์
  • Deblina Sarkar ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของ MIT หัวหน้ากลุ่มวิจัย Nano-Cybernetic Biotrek เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ในร่างกายมนุษย์ และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร
  • พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ที่ MIT Media Lab เจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI (Human-AI Interaction), Bio-Digital (การผสมผสานระหว่างชีววิทยาเเละดิจิทัล) และการศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalized Education)

แนวคิด Smart Devices แบบใหม่เพื่อโลกอนาคต 

แม้ว่าปัจจุบันมนุษย์มีการใช้เทคโนโลยี smart device เช่น smart watch เพื่อวัดอัตรการเต้นของหัวใจ ความดัน และการนอนหลับ แต่อุปกรณ์เหล่านี้ทำได้เพียงช่วยติดตาม และบอกให้รู้ถึงสัญญาณของสุขภาพเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้น Pattie Maes ศาสตราจารย์ด้าน Media Arts & Sciences ของ MIT กล่าวว่า 

“อุปกรณ์เหล่านี้ควรช่วยให้สมองเราทำงานดีขึ้นในด้านความจำ, สมาธิ, ความมั่นใจ, ความอดทน, ความคิดสร้างสรรค์, การควบคุมอารมณ์ และการนอนหลับ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุเป้าหมาย แต่อุปกรณ์ในปัจจุบันกลับทำให้สิ่งเหล่านี้แย่ลง”

ทีมนักวิจัยของ Maes จึงมุ่งพัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัลแห่งอนาคตเพื่อเปลี่ยนมุมมองการรักษาสุขภาพ และช่วยให้การทำงานด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Fascia หน้ากากอัจฉริยะไร้สายสำหรับทำการศึกษาการนอนหลับ เพื่อทดลองสิ่งแทรกแซงต่าง ๆ เช่น การปล่อยเสียง คลื่นไฟฟ้า กลิ่นต่าง ๆ ออกมาในระดับและช่วงเวลาเหมาะสม โดยรวบรวมการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองจากการทำงานของเซลล์ประสาทสมองจากการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้า (EEG) การทำงานของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของดวงตา และอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อวัดระดับการนอนหลับในแต่ละเฟส และปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้น จนถึงการหลับลึกซึ่งสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการจำ และการรับรู้โดยตรง

Dormio ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์โดยการนึกถึงปัญหาที่ต้องการแก้ก่อนนอนหลับเพื่อจะฝันถึงทางออกของปัญหานั้น และรีบจดบันทึกความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในความฝันเมื่อตื่นมา ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ศิลปินและนักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น Thomas Edison และ Salvador Dali ใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ

AttentivU แว่นตาอัจฉริยะช่วยป้องกันการวอกแวก โดยตรวจจับคลื่นสมองและการเคลื่อนไหวของตา สามารถใช้ตรวจสอบได้ว่าผู้คนกำลังมีสมาธิจดจ่ออยู่หรือไม่ หากระดับความสนใจลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ ระบบจะแจ้งเตือนให้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ สามารถใช้การตั้งค่านี้ในรถยนต์เพื่อตรวจจับเมื่อคนขับเหนื่อยล้า และแจ้งให้ทราบว่าควรหยุดพักเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อีกด้วย 

และ SleepStim เครื่องช่วยจำอาศัยหลักการ conditioning โดยสามารถเสริมสร้างความทรงจำด้วยเทคนิคที่เรียกว่าการเปิดใช้งานหน่วยความจำเป้าหมายอีกครั้ง (targeted memory reactivation) เช่น เวลาทำอะไรบางอย่าง เครื่องจะปล่อยเสียงหรือกลิ่นออกมา และเมื่อถึงเวลากลางคืน พอเราหลับถึงเฟสที่เหมาะสม เครื่องจะปล่อยเสียงหรือกลิ่นออกมาซ้ำเพื่อให้ความจำฝังลงไปดีขึ้น

เข้าถึงผู้ป่วยที่หลากหลายด้วย Nano-Cybernetic Biotrek 

นอกจากการพัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อให้สมองของมนุษย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านต่าง ๆ แล้ว Davina Sarkar ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก MIT Media Lab หัวหน้ากลุ่มวิจัย Nano-Cybernetic Biotrek ได้เปิดเผยว่า 

“เรามุ่งหน้าพัฒนา Nano-Cybernetic Biotrek อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับนาโนที่เล็กพอจะเข้าไปทำงานในเซลล์สิ่งมีชีวิตได้เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร เพื่อให้การวินิจฉัย และการรักษาที่แม่นยำยิ่งขึ้น”

Nano-Cybernetic Biotrek เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กจนมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพื่อควบคุมระบบชีวภาพของมนุษย์เพื่อการรักษาที่ดีขึ้น อย่างการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อกระตุ้นสมองเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการสั่นและไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันในแต่ละวันได้ ในปัจจุบันรักษาโดยใส่อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัดหรือรักษาขนาดเซนติเมตรในสมอง และกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อหยุดการสั่น แต่ทันทีที่หยุดการกระตุ้น อาการจะเริ่มขึ้นอีกครั้งแล้วลามไปทั่วร่างกายจนใช้งานอวัยวะไม่ได้ อีกทั้งขนาดของอุปกรณ์กระตุ้นใหญ่เกินไปทำให้รุกรานพื้นที่ในสมอง เพราะฉะนั้นการนำเครื่องกระตุ้นขนาดนาโนที่ควบคุมจากระยะไกลมาใช้จะช่วยให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องรบกวนพื้นที่ในสมองมากนัก และสามารถเปิดใช้งานการกระตุ้นบริเวณต่าง ๆ ในสมองเพื่อเปิดใช้งานวงจรสมองขนาดใหญ่และเก็บเกี่ยวจังหวะของสมองเพื่อรักษาโรคนี้ได้

เทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้เพื่อย้อนกลับกระบวนการชราภาพ และรักษาโรคที่เกิดจากความชรา เช่น โรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากโปรตีนที่เรียงตัวผิดรูปในสมองนำไปสู่การทำลายเซลล์ประสาททำให้สูญเสียทักษะการรับรู้ และความทรงจำ โดยสามารถใช้เทคโนโลยีเครื่องกระตุ้นนาโนไร้สายเพื่อเก็บเกี่ยวจังหวะของสมองเพื่อให้สมองสามารถกำจัดพยาธิสภาพนี้ได้ด้วยตนเองทำให้หน่วยความจำและความสามารถในการรับรู้ดีขึ้น

เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีขนาดเล็กและใช้พื้นที่น้อยมาก จึงช่วยให้เกิดความเท่าเทียมโดยสามารถใช้กับทุกกลุ่มอายุได้ แม้แต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้ง่าย หรือผู้ที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบบุกรุกสูงได้ อีกทั้งสามารถใช้ได้ในกลุ่มคนที่มีสภาพทางเศรษญกิจที่หลากหลาย เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีราคาถูกมาก

แนวคิด Cyber Biome การทำงานร่วมกันของเครื่องจักรกับชีววิทยา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนมักจะรอให้ร่างกายส่งสัญญาณผิดปกติก่อนจึงไปหาหมอ หรือทานยารักษาโรค แต่ไม่ค่อยใส่ใจการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของตนให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการป่วย พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยสาขา Fluid Interfaces ที่ MIT Media Lab จึงนำเสนอโปรเจกต์ที่พัฒนาโดยใช้แนวคิดการทำงานระหว่างเครื่องจักรและชีววิทยาในร่างกายมนุษย์เพื่อช่วยดูแลสุขภาพร่างกายของมนุษย์ก่อนเกิดความเสี่ยงในการป่วย ได้แก่

โปรเจกต์ระดับ Prototype ที่พูดถึงเรื่องการแพทย์บนอวกาศ เนื่องจากบนอวกาศไม่มีทรัพยากรทางการแพทย์ แบคทีเรียจจึงมีความสำคัญในการช่วยสร้างวิธีทางการแพทย์แบบใหม่บนอวกาศ เนื่องจากสามารถนำแบคทีเรียมาผลิตโมเลกุลที่มีประโยชน์ต่อนักบินอวกาศ เช่น คาเฟอีนเพื่อให้ตื่นตัว เเซโรโทนินเพื่อให้หลับสบายขึ้น โดยมีสร้าง Wearable BioFab อุปกรณ์สำหรับนักบินอวกาศ ซึ่งเป็น "อวัยวะ" ไบโอดิจิทัลที่ตั้งโปรแกรมได้ ซึ่งประกอบด้วยแพลตฟอร์มการสังเคราะห์ทางชีวภาพที่ควบคุมด้วยระบบดิจิตอลบนร่างกายสำหรับการผลิตสารประกอบทางชีวภาพตามความต้องการเฉพาะบุคคลเพื่อดูแลสุขภาพของนักบินอวกาศในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศที่ไม่ค่อยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์

นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว ยังมีโปรเจกต์ระดับ experimental เกี่ยวกับ AI Healthcare โดยนำความสามารถในการสนทนาและตอบโต้ของ AI มาใช้เพื่อให้คำแนะนำ และสนทนาเหมือนเพื่อน หรือจิตแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพจิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น โดยทดลองเปรียบเทียบคำตอบที่สร้างจากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของ AI กับคำตอบของแพทย์สำหรับคำถามทางการแพทย์ ผลปรากฎว่าผู้คนเชื่อว่าคำตอบของ AI ในการสอบถามทางการแพทย์นั้นแม่นยำและถูกต้องมากกว่าคำตอบของแพทย์เอง ซึ่งสิ่งนี้น่ากลัวยิ่งกว่า คือเมื่อ AI ให้คำตอบทางการแพทย์ที่ผิดพลาด ผู้คนยังคงคิดว่ามันถูกต้องมากกว่าคำตอบที่ถูกต้องจากที่แพทย์ เนื่องจาก AI เชี่ยวชาญกระบวนการเขียนและตอบด้วยวิธีที่น่าเชื่อและเป็นมืออาชีพยิ่งกว่าหมอ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังและคิดให้มากขึ้นเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้

สุดท้ายคือโปรเจกต์ Hack Vax กระบวนการวางระบบศูนย์ฉีดวัคซีนให้ดียิ่งขึ้น โดยพัทน์ได้รับแรงบันดาลใจจากการไปรับวัคซีนด้วยตัวเองที่สถานบริการในที่เคมบริดจ์ ซึ่งเป็นการบริการที่น่าประทับใจ สะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากการให้ความสำคัญกับ User Journey เป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้น HacVax จึงใช้แนวคิด Human-Centered Design โดยทำความเข้าใจความต้องการเเละข้อจำกัดของมนุษย์เพื่อสร้าง User Journey ที่ตอบโจทย์ สะดวก และรวดเร็วในการเข้ารับวัคซีน ซึ่งมีการนำโมเดลนี้ไปใช้ครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ผู้คนสามารถเข้ารับวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วกว่า 700 คนต่อชั่วโมง และนำไปสู่การขยายโมเดลปรับใช้งานในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย

“จุดประสงค์ของ Cyborg ไม่ใช่การแทนที่มนุษย์ด้วยเทคโนโลยี แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้มีอิสระ ทั้งในการสำรวจ การสร้าง การคิด และการรู้สึก หากสามารถนำแนวคิดของ Cyborg ไปใช้ได้ จะช่วยให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงผู้คนได้หลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น” พัทน์กล่าว

ในอนาคตหากมีการนำเทคโนโลยีอย่าง Cyborg มาใช้เพื่อดูแลรักษาสุขภาพมนุษย์มากขึ้น แน่นอนว่าจะช่วยให้การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ใช่เพียงเฉพาะคนบางกลุ่มอีกต่อไป แต่สามารถเข้าถึงได้หลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในเพศ หรือวัยไหน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายเช่นกัน นอกจากนี้ยังช่วยให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัย หรือรักษาโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาในปัจจุบัน อย่างโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ในกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม : บทสรุปภาพรวมงาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum 2022 ฉายภาพอนาคตด้วยเทคโนโลยี ภายใต้ธีม ‘Beyond the Elephant in the Room’

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ชี้เป้า 5 เทรนด์การใช้ AI (Agent) พาธุรกิจโต ในปี 2025 โดย Salesforce

เผยแนวโน้มการใช้ AI เพื่อสร้างการเติบโตด้านรายได้ให้ธุรกิจ และอัปเดตความก้าวหน้าในการพัฒนา AI Agent ให้ทำงานได้อัตโนมัติ (Autonomous) โดย Salesforce...

Responsive image

‘ธนวัต สุตันติวรคุณ’ CEO ผู้ผันสู่โลกอนาคตจากระบบการเงินดั้งเดิม นำทีม Bitazza Thailand เสริมความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัล

คุณธนวัต สุตันติวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด หรือ Bitazza Thailand แพลตฟอร์มนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย มาเผยมุมมองเกี่ยวกับการบริหารธุร...

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...