DCT นำโดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ กับภารกิจดึงนักลงทุนต่างชาติลงทุนในไทย | Techsauce

DCT นำโดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ กับภารกิจดึงนักลงทุนต่างชาติลงทุนในไทย

เมื่อพูดถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแรกที่เป็นประตูสู่การทำธุรกิจที่ชาวต่างชาติและนักลงทุนนึกถึงคือ 'สิงคโปร์' การปักหมุดประเทศไทยเป็นประตูอีกบาน อาจยังเป็นภาพฝันสำหรับหลายคนรวมถึง Techsauce เองที่ก็อยากผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายองค์กร หลายหน่วยงาน ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อให้เป้าหมายนี้เป็นจริง หนึ่งในนั้นคือ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย  ที่มียุทธศาสตร์ในการผลักดันประเทศไทยเป็น Hub หรือศูนย์กลางของนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยสอดคล้องกับเทคโนโลยีด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ด้วย

หนึ่งในการเดินทางเพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้ DCT ได้เข้าร่วมงาน SVCA Conference 2023 ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมพบปะเจรจากับนักลงทุนในสิงคโปร์ถึงโอกาสในการมาลงทุนในประเทศไทย ด้วยเป้าหมายเดียวกันกับ Techsauce ที่ต้องการให้ไทยเป็น Digital Gateway ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราได้รับเชิญและร่วมเดินทางไปพร้อมกับทาง DCT เพื่อร่วมภารกิจนี้

เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์ ไทยมี Startup น้อย?

DCT นำโดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงตัวเลข Startup ไทยที่มีน้อยกว่าสิงคโปร์

"หากดูในด้านตัวเลขปัจจุบันประเทศไทยมี Tech Startup ค่อนข้างน้อย ด้วยจำนวนไม่ถึง 1,000 รายที่ แต่ที่สิงคโปร์มี Tech Startup ที่จดทะเบียนถึง 50,000 startup ซึ่งย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีก่อน ไทยอยู่ในอันดันต้นๆ ของการระดมทุนด้านเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาในประเทศไทยเหลือเพียง 6% จาก 14-15% ซึ่งก็ประกอบด้วยหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญคือเรื่องของ Incentive การดึงดูดทุนจากทั่วโลก ที่เราไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น ภาษีจากกำไรในการลงทุนใน Startup หรือ Capital Gains Tax เป็นต้น"

คุณศุภชัย ยังกล่าวถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Startup ที่ไม่ง่าย ทั้งธนาคารที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจทำให้ธุรกิจเล็กๆ เติบโตได้ยาก ในขณะที่ในระบบทุนนิยมของโลกมักจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสิ่งที่เรียกว่า VC เป็นกองทุนที่ความเสี่ยงสูง แต่ก็มีรีเทิร์นที่สูงด้วย

“เราอยากจะดึง VC ระดับโลกและระดับภูมิภาค หรือแม้กระทั่งในระดับประเทศเข้ามาเมืองไทย”

แก้ Capital Gains Tax แล้ว แต่ยังต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

หนึ่งในภารกิจที่ทาง DCT ได้ร่วมขับเคลื่อนจนสำเร็จแล้วคือเรื่องของ Capital Gains Tax ซึ่งจากเดิมที่ถ้าลงทุนไปแล้วได้กำไร ก็ต้องจ่ายภาษี 20% ในขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งหลายประเทศทั่วโลกที่เป็น Tech Hub ไม่มีการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้มากนัก

"บริษัทที่อยากเป็น Tech Startup ในไทยแล้วจะระดมทุน พอไปถามกองทุน กองทุนก็จะบอกว่า ให้ไปจดทะเบียนที่ประเทศอื่น เพราะว่าระบบ Incentive ด้านภาษีดีกว่า บริษัทไทยหลายๆ บริษัทจึงมาจดทะเบียนอยู่ที่สิงคโปร์ กลายเป็นบริษัทสิงคโปร์ไป" คุณศุภชัยเล่าถึงสาเหตุของการผลักดันเรื่อง Capital Gains Tax ซึ่งปัจจุบัน Startup สามารถลงทะเบียนเพื่อละเว้นภาษีส่วนนี้ได้ ทั้งนี้เรื่องนี้ยังต้องประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนรับรู้มากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย

ภารกิจเยือนสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของเอเชียที่เชื่อมต่อไปยังอินเดียได้ ถือเป็น Financial Hub ที่ใหญ่และน่าเชื่อถือโดยกองทุนทั่วโลก ซึ่งสามารถพบกับสมาคม กองทุน VC ที่ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเป็นกลไกในการ Transform สู่ Digital Economy ซึ่งประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาได้ถึง 13-14% แล้ว แต่ในท้ายที่สุดการจะไปถึง 100% หรือเกิน 50% ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ มี Incentive ที่เหมาะสมในการแข่งขัน ก็จะทำให้ทุนวิ่งเข้ามายังประเทศไทย 

ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ทาง DCT ได้เข้ามาสร้างความเข้าใจและชักจูงนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย ซึ่ง Capital Gains Tax สามารถขอเป็น 0% ได้ แข่งขันได้ รวมทั้งภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ที่อยู่ใน Tech Startup ก็จะมีภาษีที่ต่ำลงด้วย อีกทั้งยังถือโอกาสในการประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยมีจุดแข็งอะไรเป็นยุทธศาสตร์ สร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน เก็บ Feedback ไปปรับปรุงว่าประเทศไทยยังขาดตรงไหน ซึ่ง DCT ก็จะเป็นตัวช่วยในการเชื่อมกับภาคเอกชนในการแก้ไขต่อไป

ไทยจะแข่งขันได้อย่างไรในตลาดโลก? 

สิ่งแรกที่ต้องยอมรับนั้นคือ ทุน จะไหลไปสู่ระบบที่มี Incentive ที่ดี การที่ทุนจะไหลไปในระบบที่ดีก็จะทำให้เกิดคำถามว่า ทรัพยากร และ Talent อยู่ที่ไหน มีเพียงพอที่จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้มั้ย ในการอาศัยผู้ประกอบการ นวัตกร นักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมองว่าประเทศไทยมีความน่าสนใจในการลงทุน พร้อมกับระบบที่น่าลงทุน ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ธรรมาภิบาล องค์ความรู้การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถบุกเบิกเรื่องใหม่ๆ ได้ ซึ่งต้องสร้างระบบนิเวศให้คนอื่นเห็น 

สิงคโปร์เริ่มต้นสร้างระบบนิเวศจากระบบการศึกษาที่ดี แล้วเอาทุนมาผลักดันทรัพยากรบุคคลของเขา สำหรับประเทศไทยไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ยังคงต้องดำเนินการทั้งสองทาง คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ให้มีความพร้อมในกรอบความคิด องค์ความรู้ ธรรมาภิบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องดึง Talent จากทั่วโลกมาด้วย เพราะในสิงคโปร์มีชาวต่างชาติที่มาประกอบธุรกิจถึง 2 ล้านคน และในเวลาเดียวกันก็มี Incentive ด้วย 

ประเทศไทยต้องเชื้อเชิญผู้ประกอบการระดับภูมิภาค ระดับโลก อำนวยความสะดวก รวมถึงนวัตกร นักวิทยาศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักพฒนาด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ ในทุกๆ ด้าน นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและก็วิ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สามารถจับมือกันสร้างระบบนิเวศ ให้เป็น Hub ด้าน Tech Startup ได้ ซึ่งคือ SMEs ของอนาคต ในด้านการผลิตประเทศไทยดำเนินมาได้ไกลระยะหนึ่งแล้ว แต่ต้องปรับตัวและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพราะเป็น Digital Economy แล้ว ถ้าสามารถผลักดัน Tech Startup ในวันนี้ ในอนาคตก็จะกลายเป็น SMEs กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่เป็นผู้ประกอบการไร้พรมแดน

เดินหน้าคนเดียวไม่ได้ ต้องจับมือร่วมกัน

คุณศุภชัยยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในฐานะประธานสภาและผู้นำด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย สำหรับภาคเอกชนการปรบมือข้างเดียวจะไม่ดัง การเตรียมศักยภาพของประเทศต้องอาศัยผู้นำของภาครัฐที่มีตั้งแต่ระดับสูงสุดและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายที่ขับเคลื่อนอย่างชัดเจน เพราะบางครั้งการดำเนินงานจากหลายกระทรวง หลายกรม อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขับเคลื่อนได้ อาจจะไม่เทียบเท่าประเทศคู่แข่งที่ดึงดูดทุน ดึงดูดคน 

ถ้าประเทศไทยมีโครงสร้างและนโยบายชัดเจน รวดเร็ว ก็จะสร้างความมั่นใจได้อย่างมหาศาล ยกตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ภาครัฐ Subsidize รถที่นำเข้า และผลิตในประเทศ เมื่อมีนโยบายให้เห็นชัดแล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถมาลงทุนได้ เพราะโทนการสื่อสารจากผู้นำและนโยบายจากภาครัฐ และถ้าสมมติว่าภาครัฐออกมาบอกว่า ประเทศไทยมี  Match Fund สำหรับกองทุนที่มาลงทุนด้าน Tech ในประเทศไทย ก็จะเป็นแนวทางที่ทำให้กองทุนเห็นว่าภาครัฐ ไม่ปล่อยให้บริษัทต้องเสี่ยงอยู่เพียงลำพัง และการทำ Match Fund เป็นสิ่งที่ชาญฉลาด นอกจากจะได้ความมั่นใจแล้ว เงินที่ภาครัฐลงทุนและหมุนเวียนอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ก็จะให้กับบุคคลากรและบริษัทในประเทศ นับเป็นตัวอย่างว่านโยบายจากภาครัฐถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส่องกฎหมายและนโยบายที่ดึง Silicon Valley มาลงทุนในอินโดนีเซีย

บทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะลึกกับ 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อินโดนีเซียได้รับความสนใจจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในช่วงเวลานี้...

Responsive image

Fortune จัดอันดับ 100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย ไทยติดอันดับ 14 คน มากสุดเป็นอันดับ 2!

นิตยสารฟอร์จูน (Fortune) ได้ประกาศรายชื่อ "100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย" ประจำปี 2024 การจัดอันดับนี้มุ่งเน้นยกย่อง "สตรีผู้สร้างนิยามใหม่แห่งความเป็นผู้นำ" ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวั...

Responsive image

ปฏิวัติการบริหารธุรกิจด้วย SAP on Cloud: ง่ายกว่า คุ้มค่ากว่า ปลอดภัยกว่า

แนะการใช้ SAP on Cloud อย่างชาญฉลาด โดย True IDC พาไปรู้จัก 'Huawei Cloud' ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่มี Data Center 3 โซนในไทย ที่พร้อมรองรับการทำงานของ SAP เป็นอย่างดี และ Pe...