นอกเหนือจากความท้าทายในเชิงธุรกิจที่เหล่าบริษัทสตาร์ทอัพต้องเผชิญในยุคปัจจุบันแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านโยบายหรือกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐเองก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สตาร์ทอัพต้องเผชิญเช่นกัน ซึ่งในงาน Techsauce Global Summit 2017 ที่ผ่านมา มี 4 วิทยากรผู้มีบทบาทโดยตรงกับการสนับสนุนสตาร์ทอัพมาร่วมวงเสวนาและสะท้อนหลายประเด็นที่น่าสนใจ
“รัฐบาลที่ดีในยุคนี้คือรัฐบาลที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ” คุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย กล่าว และบอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าอย่างจริงจังและเปิดกว้างมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในและนอกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมไปถึง 'สาธารณประโยชน์' ที่รัฐบาลและประชาชนจะได้รับจากแนวคิด ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมที่ภาคเอกชนพัฒนาขึ้นด้วย
ทางด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT) กล่าวในอีกมุมหนึ่งว่า สิ่งที่ต้องเปลี่ยนสำหรับคนไทยคือ กรอบความคิด (Mindset)
“เราคงต้องถามก่อนว่าวิสัยทัศน์ของเราคืออะไร คนส่วนใหญ่มองว่าธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นเรื่องอันตรายเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป”
และทุกคนจะต้องเปิดกว้าง เปิดรับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิธีการใดๆ ที่นวัตกรรมจะเข้ามาช่วยได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีคำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่หากภาครัฐตระหนักถึงปัญหาต่างๆ มากพอก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้เมื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ ซึ่งบ่อยครั้งที่รัฐบาลไม่ได้มีคนที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องให้บริษัทมากมายเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและปรารถนาที่จะเข้ามาช่วย แต่น่าเสียดายที่รัฐมีอำนาจหน้าที่แต่ไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลเพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนโซลูชันไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างนครลอนดอนกับภาคเอกชนในการแก้ปัญหาจราจรและกล่าวถึงข้อดีให้ฟังว่า
ถ้ารัฐบาลเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่มคนที่มีความตั้งใจจะพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และกลุ่มคนเหล่านี้สามารถช่วยรัฐบาลวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อพูดถึงบทบาทของรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด Esther Loewy ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท Upround Ventures บริษัทที่องค์กรชั้นนำในเอเชียและนักลงทุนให้ความเชื่อถือเมื่อมองหาพันธมิตรด้านนวัตกรรมในอิสราเอล กล่าวเสริมว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้นต้องเริ่มที่การศึกษา ซึ่งการศึกษาในรูปแบบที่เธอกำลังพูดถึงนั้นไม่ควรจะให้ความสำคัญกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ควรสนับสนุนให้มีองค์ประกอบเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์เข้าไปด้วย เพราะทั้งหมดนี้จะนำไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ในอนาคต
Samer Karam ผู้ก่อตั้ง Seeqnce S.A.L. บริษัทเงินร่วมลงทุน (VC) จากเลบานอนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเผยว่า
“บริษัทสตาร์ทอัพสามารถได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ไม่ยากถ้าหากพวกเขามีไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งบางครั้ง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนผ่านกองทุนของรัฐได้โดยตรง อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็สามารถที่จะเชื่อมโยงบริษัทของคุณกับบริษัทลงทุนเจ้าอื่นได้”
"หรือหาวิธีที่ทำให้นักการเมืองมีความสุขสิ แล้วคุณก็จะได้สิ่งที่คุณต้องการ" Samer กล่าวแล้วเล่าเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเลบานอนตกลงจัดตั้ง Sovereign Fund ขึ้น โดยสามารถลงทุนให้สตาร์ทอัพผ่านทาง VCs, Accelerators ฯลฯ ซึ่ง Sovereign Fund นี้เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายตั๋วเงินคงคลังในชั่วข้ามคืนแล้วเกิดเป็นเม็ดเงิน 600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลเลบานอนก็นำเงินส่วนหนึ่งไปจัดงานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนด้วย
ข้ามไปดูแอปพลิเคชันที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง UBER และ GRAB เมื่อเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาด้านกฎหมายและการต่อต้านจากคนขับแท็กซี่จนกลายเป็นข่าวครึกโครมรายวัน ดร.สุรินทร์กล่าวถึงประเด็นนี้ในมุมของธุรกิจสตาร์ทอัพไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า
ถ้าสตาร์ทอัพสามารถสร้างคุณค่า (Values) ให้กับแบรนด์ของตนเองได้เหมือน UBER ด้วยการให้บริการอันน่าพึงพอใจต่อผู้ใช้ ถึงเวลานั้นผู้ใช้ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปก็จะสนับสนุนและปกป้องแบรนด์ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องรอแต่การสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
ซึ่ง Esther เรียกแนวทางปฏิบัติที่ ดร.สุรินทร์กล่าวถึงว่า 'Bottom Up Approach' คือวิธีการบริหารแบบล่างขึ้นบน กล่าวคือ ไม่ต้องรอให้รัฐบาลเป็นลูกค้าคนแรกและคนเดียวของบริษัท
อย่างไรก็ตาม คุณกรณ์เสนอเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่พวกเขากำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถนำแนวคิดของบริษัทสตาร์ทอัพมาต่อยอด และในทางกลับกันบริษัทสตาร์ทอัพเองก็ควรคำนึงถึงการสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่นกัน
“บริษัทสตาร์ทอัพไม่ควรปล่อยให้เรื่องข้อจำกัดของทางการเป็นอุปสรรค พวกเขาควรตระหนักเสมอว่ากำลังสร้างสรรค์สิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ให้แก่สังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าว
Mike Ducker ผู้อำนวยการของ TIGERS@MEKONG ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนากล่าวปิดท้ายว่า
"ถึงเวลาแล้วที่สตาร์ทอัพจะพึ่งพิงนโยบายของรัฐบาลให้น้อยที่สุดและค้นหาสิ่งที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น ความสนใจทางการเมือง แล้วใช้เวลาศึกษาความสนใจของกันและกัน โดยรัฐบาลต้องทำสิ่งที่ยากกว่า เช่น เรื่องการศึกษา การสร้างวัฒนธรรมที่เหมาะสม และการสร้างพื้นที่ให้ผู้อพยพที่ต้องการมีงานทำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อ Ecosystem ในแง่บวกหากภาครัฐเดินหน้าต่อ แม้ว่าจะยากสักหน่อย แต่ถ้าภาครัฐยังยึดมั่นทำสิ่งเดิมๆ แบบในอดีต ชาติอื่นๆ ก็จะก้าวหน้านำคุณไป"
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด